สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ไม่ได้ขอให้มารัก - Insects in the Backyard ฉบับใหม่
  อัญชลี ชัยวรพร / 9 กุมภาพันธ์ 2555
  LINK : เมนูข้อมููลหนัง   
 
Share |
Print 
 

 

 

ไม่ได้ขอให้มารัก หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า It gets better ของ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับชื่อดังหลังจากที่ต้องต่อสู้กับผลงาน Insects in the Backyard ถูกแบนห้ามฉายในประเทศไทย   หลังจากนั้นเธอยังคงวนเวียนทำทั้งหนังตลาดอย่าง รักนะมหาสารคาม ก่อนที่จะกลับมาจับงานอินดี้อีกครั้งกับผลงานเรื่อง ไม่ได้ขอให้มารัก โดยเปิดบริษัทเอง ก่อนที่จะให้เอ็มพิคเจอร์สจัดจำหน่าย

หนังพูดถึงชีวิตของคนสามคนที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย ไม่ว่าจะเป็นกะเทยแก่ที่ชื่อสายธาร กับการเดินทางขึ้นเหนือ กลับไปแอบมองชายแก่ เจ้าของร้านขายของชำเล็ก ๆ จนไปมีความสัมพันธ์กับหนุ่มข้างบ้านนามว่าไฟ

เรื่องที่สองเป็นของชายหนุ่มหน้าตาดี “ต้นไม้” ที่เติบโตในอเมริกา ซึ่งเดินทางมารับมรดกกิจการบาร์โชว์กะเทยของพ่อ ที่เขาไม่เคยพบหน้าเลย จนเขาแอบไปมีความสัมพันธ์กับกะเทยทอมในบาร์

และเรื่องสุดท้าย เรื่องของเด็กหนุ่มวัยมัธยมชื่อดิน ซึ่งถูกพ่อจับบวช เพราะกลัวว่าเขาจะเป็นกะเทย แรกเริ่มนั้นเขาปฏิเสธ แต่เมื่อเห็นพระพี่เลี้ยงหน้าตาดี  ก็เลยรับปากว่าจะบวชทันที

ตอนแรกที่ดูหนัง  ชวนให้คิดว่านี่เป็นหนังสั้นที่พูดถึงการต่อสู้กับตัวตนของเพศที่สามและการยอมรับของคนใกล้ตัวและสังคม ผ่านกะเทยสามวัย คือ วัยรุ่น และวัยชรา ซึ่งการตัดต่อและการผสมทั้งสามเรื่องก็ดูจะไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี รายละเอียดที่น่าจะเป็นความลับบางอย่างของตัวละคร ก็เดาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

จนกระทั่งเมื่อมาถึงฉากใกล้จบ และหนังได้เผยปมความลับบางอย่างของตัวละคร หนังได้พลิกสถานการณ์ไปอย่างสิ้นเชิง

ไม่ได้ขอให้มารัก ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หนังพูดถึงปัญหาที่เพศที่สามต้องเจอ และไม่ได้เป็นเพียงหนังสั้น 3 เรื่องที่เอามาต่อกัน แต่ได้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของพ่อ – ลูก และการต่อสู้กับตัวตนที่ตนสมควรจะเป็น กับตัวตนที่ตนเองอยากเป็นของเพศที่สามในเมืองไทย ซึ่งเดินทางสวนกับความสัมพันธ์อันบิดเบี้ยวของพ่อ – ลูกใน Insects in the Backyard อย่างสิ้นเชิง

หรือถ้าจะพูดในอีกแง่หนึ่ง ไม่ได้ขอให้มารัก คือ Insects in the Backyard ฉบับตรงกันข้ามกัน จากพ่อ – ลูกที่มีปัญหาในจิตใจ มาเป็นพ่อและลูกที่ต่างเป็นผู้เสียสละด้วยกัน จากการเผชิญหน้าความจริงของพ่อ ที่ต้องการเป็นทั้งเพศที่สามและหัวหน้าครอบครัวในขณะเดียวกัน มาเป็นความลับของพ่อกะเทยที่ต้องเก็บไว้เป็นความลับ อกะเทยที่ต้องปกปิดและหนีจากคนใกล้ตัว และโดยท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกะเทยพ่อที่มีปัญหาจากการเปิดเผยตัวตนของตนเอง ี่ต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ….พวกเขาต่างมีจุดร่วมกันทั้งสิ้น ต่างก็เป็นแมลงในสวนหลังบ้านของคนใกล้ตัว หรืออีกนัยหนึ่งพวกเขายังคงต้องเป็น Insects in the Backyard เสมอ

เพราะโดยนัยจากเรื่องทั้งสองเรื่องของ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน นั้น การเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงกับคนใกล้ตัวนั้น ดูจะยากที่สุด ขณะที่สังคมโดยรวม เราไม่รังเกียจที่เห็นกะเทย เราไปดูการแสดงการโชว์ของเขาได้ แต่ถ้าคนใกล้ตัวต้องเป็นกะเทยแล้ว ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ธัญญวรินทร์พัฒนาการทำหนังดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากหนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ทั้ง Insects in the Backyard หรือ รักนะมหาสารคามเอง ที่มีรอยตะเข็บเยอะมาก และจากข้อได้เปรียบที่เธอสามารถทำหนังได้ทั้งสองแบบ  เธอก็สามารถผสมอารมณ์ที่ได้จากหนังทั้งสองเรื่อง ทั้งตลก โรแมนติกและเศร้าดราม่า มารวมกันในผลงานเรื่องใหม่นี้มากขึ้น พร้อมแก้ปัญหารอยรั่วต่าง ๆ ที่เคยเห็นใน Insects in the Backyard

โดยเฉพาะในเรื่องการแสดง การที่เธอตัดสินใจให้คนอื่นเล่นหนัง และเธอเป็นผู้กำกับเองนั้น ทำให้เธอสามารถพัฒนาการกำกับการแสดงของคนอื่นได้อย่างเต็มที่ เพราะใน Insects in the Backyard นั้น การแสดงที่ดูจะมีปัญหาที่สุดก็คือตัวของกอล์ฟเองที่รับบทเป็นพ่อ

 


นักแสดงส่วนใหญ่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี เพราะคัดเลือกจากเพศที่สามโดยตรง แต่ที่ขอปรบมือให้ก็คือ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล กับบทกะเทยแก่ จริง ๆ แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูการแสดงของเพ็ญพักตร์ตั้งแต่สมัยสาว ๆ (อ่า แต่ความจริงแล้ว เป็นรุ่นน้องของเธอหลายปีค่ะ) ตอนนั้นคิดว่าเธอเป็นคนเล่นหนังไม่เป็นเลย มีแต่โชว์วับ ๆ แวม ๆ อย่างเดียว แม้เมื่อเธอเริ่มพัฒนาการแสดงได้ดีขึ้นในช่วงหลัง ๆ แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนที่บทจะส่งตัวเธอได้มากขนาดนี้ คิดว่าปีหน้านี้ เพ็ญพักตร์น่าจะติดรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

นิค พาวิช ทรัพย์รุ่งโรจน์ ที่รับบทเป็นดิน เด็กวัยมัธยมซึ่งพ่อส่งไปบวชที่วัด ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่น่าจับตามอง แรก ๆ ดูเขาก็ธรรมดานะคะ แต่พอไปจนถึงฉากที่เขาต้องต่อสู้กับตัวตนของตนเองอยู่ในใจนั้น มันสะท้อนให้เห็นโศกนาฎกรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มคนหนึ่ง

หลายคนจะต้องมองข้ามไปก็คือ อาร์ กฤษตฌาพนธ์ ธนะนารา ผู้รับบทเป็นหลวงพี่แสง ซึ่งดินแอบหลงรักนั้น บทน้อยก็จริง แต่พอเขาออกมาทีไร กลายเป็นคนขโมยซีนไปภายใต้ความเงียบ นิ่งงัน ไม่รู้นะคะ ในฐานะคนที่เคยไปอยู่วัด เห็นเขาทีไร ก็เชื่อว่าเป็นพระจริง ๆ

หนังมีปัญหาบางจุดในเรื่องความไม่คงที่ในการคุมการผลิต รวมทั้งความยาวที่มากเกินไปในช่วงกลางของหนัง แรกสุดก็คือเพลงประกอบที่ใช้   บางเพลงก็ดูจะขัดหู ไม่เข้ากับเรื่อง   บางเพลงก็ไพเราะ   อีกจุดหนึ่งก็คือการตัดต่อของหนังในช่วงแรกนั้นดีมาก ไม่คาดคิด ฉับไว และหลอกคนดูอย่างเราได้ แต่เมื่อมาถึงช่วงครึ่งหลัง การตัดต่อเริ่มอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเนื้อเรื่องที่เริ่มเฉลยความลับของเรื่อง ซึ่งบทในช่วงการเปิดเผยไคล์แมกซ์นั้น ไม่จำเป็นต้องซ้ำภาพเดิมอีกหลายภาพหรอกค่ะ แค่เปิดเผยความจริง มันก็ทำให้เราหวนรำลึกถึงภาพบางภาพที่ทิ้งไว้ได้อย่างดี ไม่จำเป็นต้องไปเฉลยหรอกค่ะว่า สายธารร้องไห้ทำไมเมื่อหนุ่มไฟป้อนไส้อั่วให้กิน เป็นต้น

ดิฉันไม่ได้ดูผลงานของกอล์ฟทุกเรื่องนะคะ แต่ก็ตามดูไม่ต่ำกว่า 4 เรื่องได้ ไม่ได้ขอให้มารัก เป็นผลงานที่ดีที่สุดของเธอ และได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เธอสามารถทำหนังดราม่าได้ และสามารถผสมผสานการเล่าเรื่องแบบไม่เป็นแนเรทีฟอย่างกลุ่มอินดี้ในไทยชอบทำกันในขณะนี้ มาเล่าให้เราดูได้ง่ายๆ จากเนื้อหาของพ่อลูกแบบที่สังคมต้องการให้เป็นและการแก้ไขในการกำกับ ไม่ได้ขอให้มารัก คือ Insects in the Backyard ฉบับทำดีนั่นเอง

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.