สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

องค์บาก 3

  LINK บทบาทและคาแรคเตอรนักแสดงทั้งหมด      
  สัมภาษณ์ พันนา ฤทธิไกร
  องค์บาก 3 ในต่างแดน
   
 

 

 

 

 

กำหนดฉาย                          5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
แนวภาพยนตร์                      แอ็คชั่น โชว์ศิลปะการต่อสู้
ผู้สร้างและจัดจำหน่าย           สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
ดำเนินงานสร้าง                     ไอยรา ฟิล์ม
อำนวยการสร้างบริหาร           สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง                    อัครพล เตชะรัตนประเสริฐ
กำกับภาพยนตร์                     จา พนม ยีรัมย์      
เรื่อง                                      จา พนม ยีรัมย์
บทภาพยนตร์                          จา พนม ยีรัมย์
กำกับภาพ                               ณัฐวุฒิ กิตติคุณ
ควบคุมฉากการต่อสู้                 พันนา ฤทธิไกร
ออกแบบและกำกับฉากการต่อสู้         พนม ยีรัมย์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย                    ชาติชาย ไชยยนต์
เทคนิคพิเศษทางด้านภาพ                  บริษัท เซอร์เรียล สตูดิโอ
นักแสดงนำ          จา พนม ยีรัมย์, พริมรตา เดชอุดม, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง, ชุมพร เทพพิทักษ์

 

 

 

เรื่องย่อ

“แม้ร่างกายจะดับสลาย แต่หากดวงจิตยังเข้มแข็งไม่ดับสูญ
หนทางแห่งชีวิตจักถือกำเนิดใหม่ขึ้นอีกครา
เพียงหลอมรวมจิตศรัทธาอันมุ่งมั่น เรียนรู้จิตสับประยุทธ์ 
จงต่อสู้ด้านมืดในใจตน  นำไปสู่การค้นพบ ก่อเกิด “นาฏยุทธ์”
ศาสตร์และศิลปะการต่อสู้อันทรงอานุภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”  

หลังจากพ่ายแพ้แก่ ภูติสางกา (เดี่ยว ชูพงษ์) สูญเสียทั้ง 2 บิดา ออกญาสีหเดโช (สันติสุข พรหมศิริ)  และ เชอนัง (สรพงษ์ ชาตรี) รวมทั้งบรรดาพี่น้องแห่งชุมโจรผาปีกครุฑ ทุกศาสตร์ยุทธ์ที่ถูกบ่มเพาะฝึกฝนมาทั้งชีวิตของเทียน (จา พนม ยีรัมย์) ล้วนถูกทำลายย่อยยับจนหมดสิ้น ต้องโทษฑัณฑ์ถูกทรมานพิการเจียนตาย เหลือเพียงแค่ลมหายใจอันรวยริน ฤาชีวิตทั้งมวลล้วนจบสิ้นลง ดั่งคำทำนาย เมื่อครั้งถือกำเนิด ยามใดจับต้องศาสตรา ชีวิตจักมืดมนต้องโทษทุกข์แสนสาหัส  ท่ามกลางบ่วงกรรมที่ยังคงดำเนินเกี่ยวพันสืบเนื่องต่อไป บัดนี้ร่างที่ไร้ชีวิตของบุรุษนักสู้ผู้เป็นตำนานได้รับความช่วยเหลือถูกลำเลียงขนย้ายส่งต่อไปยังหมู่บ้านอโรคยา ที่ในอดีต เทียน และ พิม (จ๊ะจ๋า พริมตา เดชอุดม) เคยใช้ชีวิตเติบโตเรียนรู้เรื่องสมุนไพรใบยาบ่มเพาะสมาธิ ซึมซับวิชาโขนนาฏศิลป์ โดยมีเหล่าผู้คนในหมู่บ้านทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กผู้เฒ่าผู้แก่ หรือกระทั่งคนบ้าที่ไร้สติแต่ไม่เคยมีพิษภัยกับใครอย่าง ไอ้เหม็น (หม่ำ จ๊กมก) ก็ต่างมาร่วมกันหลอมจิตศรัทธารวมเป็นหนึ่งช่วยกันหล่อพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเพื่อส่งจิตระลึกให้เทียนฟื้นคืนสติกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ขณะที่พิมเองได้นำเอาท่วงท่าการร่ายรำดัดตัวตามรูปแบบของนาฏศิลป์โขนโบราณ มาช่วยใน

การรักษาบำบัดร่างกายที่เสื่อมสลายโดยมีครูบัว (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ที่ปัจจุบันกลายเป็นพระบัวเปิดทางให้เทียนได้เริ่มต้นเข้าสู่สมาธิเพื่อฝึกควบคุมร่างกาย กล่อมเกลาสภาวะจิตให้นิ่ง เรียนรู้และต่อสู้กับด้านมืดในใจ เพื่อบรรลุถึงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่หลับใหล หลอมหลวมเข้ากับ “พลังศรัทธาอันแรงกล้า” จากธาตุธรรมชาติทั้ง 4 “ดิน น้ำ ลม ไฟ” ผสมผสาน จนก่อเกิดการค้นพบ “นาฏยุทธ์” ศาสตร์และศิลปะการต่อสู้อันทรงอานุภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

ในขณะที่แผนการณ์ต่างๆ ของพระยาราชเสนา (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) ล้วนแต่บรรลุตามความประสงค์แทบทั้งสิ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือ การก้าวขึ้นสู่ความเป็นจอมราชันย์ที่พร้อมสยบทุกสิ่ง  และแน่นอนว่าเมื่อรวมเหล่านักฆ่ามากฝีมือ และบรรดาไพร่พลที่มีอยู่รายล้อมรอบตัวอันมากมายมหาศาลด้วยแล้ว ภายใต้ผืนนภา และเหนือพื้นพสุธาอันกว้างใหญ่ไพศาลย่อมไร้ซึ่งผู้กล้ารายใดที่คิดจะต่อกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ “ภูติสางกา” ฑูตสังหารที่มาพร้อมกับ “ภูติยุทธ์” ศาสตร์การต่อสู้ที่ไร้รูปแบบและร่องรอย อยู่เคียงข้างและรวมเป็นหนึ่งเดียวด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าทุกสรรพสิ่งล้วนสยบนิ่งอยู่แทบเท้าเลยทีเดียว

และทันทีที่พระยาราชเสนารู้ว่าบัดนี้เทียนได้รับการชุบชีวิตจากชาวหมู่บ้านคณะโขนด้วยแล้ว คำสั่งเลือดและการระดมเหล่าทหารและขุมกำลังทั้งหมดถูกส่งไปเพื่อทำลายร้างและเข่นฆ่าผู้คนในหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที  โดยที่ตัวพิมเองถูกทหารจับตัวกลับไปยังพระราชวังเพื่อสำเร็จโทษอาญาคชฑัณฑ์ (ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ) ต่อหน้าหมู่ทาสและกลุ่มประชาชนทั้งหมด

ทำให้เทียนที่บัดนี้กำลังเรียนรู้และก้าวเข้าสู่วิถีสมาธิอันสงบนิ่ง ต้องยอมละตัวเองออกจากดวงจิตอันบริสุทธ์เพื่อเผชิญกับวิบากกรรมและขวากหนามที่เป็นอุปสรรคซึ่งถูกลิขิตไว้อย่างไม่จบสิ้น จากเหล่าอริราชแลศัตรูอันชั่วร้ายที่ยังคงหมายที่จะคร่าเอาชีวิตเทียน ไม่ว่าจะเป็น “ภูติสางกา” หรือ “พระยาราชเสนา” เอง ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่า “ความแค้นและพลังจากด้านมืดในจิตของ”ของเทียนเอง ก็พร้อมที่จะถาโถมเข้าครอบงำ ทำลายและทำร้ายเทียนตลอดเวลา ทางเดียวที่จะเอาชนะกรรมที่เริ่มก่อตัวขึ้น นั่นคือต้องเผชิญหน้าและเรียนรู้ที่จะควบคุมและเอาชนะจิตใจตนเองให้ได้

เตรียมพบกับการเผชิญหน้าและศึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต กับอภิมหาภาพยนตร์แอ็คชั่นที่คนทั้งโลกรอคอยกับบทสรุปของ  “องค์บาก 3” จุดกำเนิดขององค์บาก ตำนานการต่อสู้แห่งจิตวิญญาณ หลอมรวมพลังศรัทธาอันมุ่งมั่นที่ไม่เคยดับสูญของบุรุษผู้เกิดมาเพื่อเป็นตำนาน

 

 

รายละเอียดเกร็ดที่น่าสนใจของ “องค์บาก

1. โทนี่ จา (จา พนม ยีรัมย์) ต้นตำรับพระเอกแอ็คชั่นฮีโร่อันดับ 1 ที่คนทั้งโลกต่างยอมรับในความสามารถคือตัวจริง เสียงจริงที่ประกาศศักดาความยิ่งไหญ่บนแผ่นฟิล์มเจ้าของสโลแกนไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน  ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่โลกรู้จักพระเอกแอ็คชั่นจากภาพยนตร์ (ที่นำแสดงอย่างเต็มตัว) เพียง 3 เรื่องสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทและใส่ใจในคุณภาพของตัวเนื้องานที่กว่าจะออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ทุกคนรอคอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี่คือผลงานที่กลั่นมาจาก ตัวตน มุมมอง ไอเดีย แนวคิด และประสบการณ์ทั้งหมดที่บ่มเพาะอยู่ในตัวของแอ็คชั่นฮีโร่ทั้งในฐานะนักแสดงแอ็คชั่นเบอร์1ขวัญใจคอหนังแอ็คชั่นและผู้กำกับภาพยนตร์ที่มากล้นไปด้วยความสามารถ

2. ความเป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นไทยฟอร์มยักษ์ระดับโลกเรื่องที่ 4 (องค์บาก พ.ศ.2546, ต้มยำกุ้ง พ.ศ.2548, องค์บาก2 พ.ศ.2551) ในชีวิตของ โทนี่ จา ที่ทุกคนรอคอย  ด้วยความยิ่งใหญ่ สุดพิถีพิถัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “องค์บาก 2-3” ที่ใช้เวลาในการถ่ายทำนานถึง 3 ปีเต็ม เปิดกล้องตั้งแต่ต.ค. พ.ศ.2549  อลังการงานสร้างด้วยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิตทุ่มทุนสร้างฉากและการถ่ายทำให้เป็นที่สุดของภาพยนตร์แอ็คชั่นศิลปะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย 

3. เนรมิตทุกฉากการถ่ายทำสุดอลังการภายใต้โลเกชั่นที่สวยงามตระการตาแทบทุกภาคของประเทศตั้งแต่เหนือ ตะวันออก อีสาน จรดใต้ เพื่อเติมเต็มทุกภาพแห่งจินตนาการให้โลดแล่นอย่างยิ่งใหญ่ลงบนแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหมู่บ้านของชาวคณะโขนที่สระบุรี, นครราชสีมา, เนรมิตพระราชวังของพระยาราชเสนาขนาดเทียบเท่าตึกเป็นสิบๆ ชั้นขนาดมหึมาบนพื้นที่ 25 ไร่ที่จังหวัดระยองสำหรับไฮไลท์ฉากการต่อสู้บนหลังช้างอันยิ่งใหญ่, ยกกองขึ้นไปถ่ายทำไกลถึงภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย, ผาเจ๊ก จ.อุบลราชธานี หรือเลือกลงใต้ใช้โลเกชั่น น้ำตก ถ้ำมรกต จ.กระบี่ เพื่อถ่ายทำฉากการฝึกการร่ายรำท่วงท่านาฏยุทธ์, รวมไปถึงการบินไปศึกษาการสร้างลายสลักหินโดยจำลองท่วงท่าการร่ายรำโขนต่างๆ จากปราสาทหินในประเทศกัมพูชา ฯลฯ

4. ระดมทีมนักแสดงชั้นแนวหน้าของเมืองไทยกลับมาสร้างความเข้มข้นเพื่อสานต่อบทสรุปของตำนานองค์พระหน้าบากอย่างยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ศรัณยู วงษ์กระจ่างในบทพระยาราชเสนา ที่ครั้งนี้ผู้ชมจะได้สัมผัสถึงตัวตน ความเป็นมนุษย์และด้านอ่อนแอของศัตรูผู้ซึ่งเป็นต้นตอความคลั่งแค้นของเทียน (จาพนม), นิรุตติ์ ศิริจรรยา กับบทครูบัวแห่งหมู่บ้านคณะโขน พ่อคนที่สองผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาโขน การร่ายรำ และเป็นผู้นำเทียนเข้าสู่จิตอันบริสุทธ์ และใน องค์บาก3 ครูบัวได้บรรลุเข้าสู่เส้นทางธรรม จนกลายเป็นพระบัว, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา กับบท “ไอ้เหม็น” ชายบ้าประจำหมู่บ้าน มอมแมมในสายตาคนทั่วไป แต่ไม่มีพิษสงกับผู้ใด หนำซ้ำเบื้องลึกมีแต่จิตใจดีงาม หม่ำ จ๊กมก ถ่ายทอดการแสดงในบทไอ้เหม็นที่พร้อมเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในบทบาทที่สร้างสีสันที่สุดของ “องค์บาก”, เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง พระเอกนักบู๊รุ่นน้องของ โทนี่ จา กับบทบาทที่เข้มข้น ดำมืดและน่าเกรงขามที่สุดกับตัวละคร ภูติสางกา ศัตรูตัวฉกาจ คู่ปรับที่ร้ายกาจที่สุดของเทียน, พริมรตา เดชอุดม รับบทพิม หญิงสาวผู้งดงามทั้งร่างกายและจิตใจ ขัดเกลาและยับยั้งความเคียดแค้นที่ฝังลึกในจิตใจของเทียนและหยิบยื่นความอ่อนโยน ปรับเปลี่ยนความโกรธเกลียดให้แปรเปลี่ยนเป็นความรัก ฯลฯ

 

 

5. ความเข้มข้นของเรื่องราวที่ดำเนินมาสู่บทสรุปแห่งชะตากรรมของ “เทียน” ชายหนุ่มผู้มีรอยบากแห่งความคลั่งแค้นฝังลึกถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจ หลังจากที่ต้องสูญเสียทุกสิ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ยุทธ์แห่งศิลปะการต่อสู้ และผู้คนอันเป็นที่รักที่อยู่ร่ายล้อมรอบตัว จากจุดที่มืดมิดและต่ำสุดของชีวิต สู่การเดินทางเข้าสู่อีกด้านของสภาวะแห่งจิต ด้านสว่าง ที่สงบนิ่ง พร้อมกับการเผชิญหน้ากับบททดสอบที่สำคัญที่สุดในชีวิต ที่ว่ากันว่าทั้งสวยงามและน่าหวาดสะพรึงที่สุด  อันนำไปสู่จุดกำเนิดของตำนานองค์พระหน้าบากอันศักดิ์สิทธ์ที่ทุกคนศรัทธา

6. ระดมทีมงานระดับหัวกะทิชั้นแนวหน้าผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยระดับโลก อาทิ ณัฐวุฒิ กิติคุณ ผู้กำกับภาพมือหนึ่งของเมืองไทย (นางนาก, โหมโรง, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, องค์บาก, ต้มยำกุ้ง, องค์บาก2, จันดารา) บทภาพยนตร์ โดย จา พนม ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ โดยบรรพต งามขำ (ปืนใหญ่จอมสลัด) ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย ชาติชาย ไชยยนต์ (ปืนใหญ่จอมสลัด, องค์บาก2)

7. หลากหลายรูปแบบของแอ็คชั่นการต่อสู้ที่ถูกคิดค้นสร้างสรรค์มาเพื่อปฏิวัติทิศทางใหม่ของภาพ
ยนตร์แอ็คชั่นที่สวยงาม ทรงพลัง และน่าตื่นตาจากการออกแบบและกำกับฉากการต่อสู้โดย โทนี่ จา

- “นาฏยุทธ์” การผสมผสานระหว่างการร่ายรำโขนในท่วงท่าต่างๆ อาทิ ท่าพระ, ยักษ์, ลิง, นาคราช,
สิงห์, คชสาร และครุฑ ฯลฯ การจำลองจากลายจำหลัก แกะสลักของขอมโบราณในรูปแบบต่างๆ ผ่านกระบวนการค้นคิด ออกแบบ ปรับเปลี่ยนกลายเป็นท่วงท่าแห่งการต่อสู้ในแบบฉบับของ “โทนี่ จา”           

 

 

- “ภูติยุทธ์”   รูปแบบการต่อสู้ของ “ภูติสางกา” (รับบทโดยเดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง) ผู้มาพร้อมกับท่วงท่าการต่อสู้ที่แปลก พิสดาร ผ่านร่างแทนคล้ายดั่งกลุ่มหมอกควัน “อวิชชา” แห่งความชั่วร้าย

- จับตาดูความอลังการของฉากบูชายันต์เหล่าผู้คนอันบริสุทธิ์กลางนครแห่งเทพจาก “ภูติสางกา”เหล่าผู้คนที่ต้องโทษอาญาคชฑัณฑ์ (ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ) โดยจับคนใส่ลูกตะกร้อขนาดยักษ์แล้วให้ช้างเตะจนถึงแก่ความตาย

 

 

- เทียน (โทนี่ จา) ที่ถูกเปลวเพลิงแห่งความแค้นถาโถมระเบิดโทสะกลายเป็นท่วงท่าของ “นาฎยุทธ์” แห่งความดุร้ายบุกเดี่ยวตะลุยเข่นฆ่าเหล่าองค์รักษ์ตายเกลื่อนนครแห่งเทพ ท่ามกลางไฟที่เผาผลาญไปทั่วราชวัง

- ครั้งแรกและครั้งเดียวในโลกภาพยนตร์กับการต่อสู้อย่างเต็มรูปแบบระหว่าง 2 ซูเปอร์สตาร์แอ็คชั่นเบอร์1แห่งยุค โทนี่จา (“นาฏยุทธ์”) V.S. เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง (“ภูติยุทธ์”) ภายใต้รูปแบบการดีไซน์แอ็คชั่นการต่อสู้ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในโลกภาพยนตร์

 

 

 

  บทบาทและคาแรคเตอร์ “องค์บาก3”
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.