Day 6
Marguerite & Julien นิทานปรัมปราที่แหวกแนว
มาถึงตอนนี้สรุปได้อย่างหนึ่งว่าหนังสายทางการปีนี้ของคานส์ไม่ค่อยดีเท่าไร มีหนังที่ทำให้เรางงว่าเข้ามาได้ยังไงอยู่หลายเรื่อง Marguerite & Julien ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ผู้เขียนคงจะสนุกกับหนังเรื่องนี้มากกว่านี้ ถ้าเผอิญไม่มีหนังเรื่อง Tale of Tales เข้ามาก่อนหน้านี้ Marguerite & Julien มีวิธีการดำเนินเรื่องที่คล้ายกัน โดยใช้วิธีการเล่านิทานแบบอีสปเข้ามานำเสนอ (แถมในเรื่องก็ยังเล่าให้เด็กสาวฟังก่อนนอนอีกนั่นแหล่ะ) แต่เนื้อเรื่องนั้นถือได้ว่าทำลายโครงสร้างนิทานปรัมปราอย่างสิ้นเชิง
หนังเล่าเรื่องชีวิตความรักของพี่น้องสายเลือดเดียวกันอย่าง Marguerite & Julien ฝ่ายหลังเป็นพี่ชาย ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกัน และสัญญาว่าจะรักกันจนวันตาย ทำเอาพ่อแม่และบาทหลวงประจำตระกูลเริ่มเห็น พวกเขาตัดสินใจแยกทั้งสองออกจากกัน จูเลียนถูกส่งไปเรียนในเมืองหลวง และไม่เคยได้รับอนุญาตให้กลับบ้านอีกต่อไปเลย เมื่อถึงคราวปิดเทอม เขาก็ไปเรียนพิเศษทางศิลปะบ้าง การเงินบ้าง
จวบจนกระทั่งคนทั้งสองเติบโตกันเป็นหนุ่มสาว แต่แม้ว่าจะห่างไกลกันเท่าไร ความรักของคนทั้งสองก็ยังมั่นคงต่อกันอยู่ มาร์เกอริตปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ชายทุกคน และเมื่อถึงคราวที่จูเลียนกลับบ้าน ความรักที่คนทั้งสองมีต่อกันก็ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง และไม่สามารถหยุดยั้งอีกต่อไปได้
หนังออกจะธรรมดามากค่ะ นอกจากประเด็น incest มันไม่มีอะไรใหม่ อาจจะแหวกแนวไปบ้าง ก็ตรงเนื้อเรื่องและกลุ่มผู้ฟังในหนังเรื่องนี้คือเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ซึ่งถ้าเป็นสังคมเอเชีย หนังเรื่องนี้จะต้องถูกเซ็นเซอร์อย่างแน่นอนค่ะ
ก็ดูกันสนุก ๆ ไม่คิดอะไรมาก ถ้าหนังจะได้รางวัลอะไรไป ก็คงเพราะกรรมการไม่รู้จะให้รางวัลกับหนังเรื่องไหน ก็เลยส่ง ๆ ไปล่ะ
The Measure of A Man หนังสวนทาง
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวสั้นที่สุดจากหนังประกวดที่ฉายมาก่อนหน้านี้ ด้วยความยาวเพียง 93 นาที ทำให้ดิฉันรู้สึกค่อยยังชั่วเป็นอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้หนังบางเรื่องนั้นดี แต่ยาวเกินเหตุด้วยกันทั้งสิ้น
สำหรับ The Measure of a Man มีความชัดเจนในสิ่งที่ต้องการนำเสนอตั้งแต่แรก หนังเล่าเรื่องสภาพชีวิตของชายวัยห้าสิบที่ตกงาน แต่ต้องรับผิดชอบดูแลภรรยาและลูกพิการ เขาพยายามที่จะประคับประคองสภาพการเงินของครอบครัวให้ผ่านไปได้ จนในที่สุดได้งานทำเป็นยามในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง เขาน่าจะดีใจที่ได้งานและช่วยครอบครัวได้ในที่สุด แต่สิ่งที่เขาเผชิญหน้า มันโหดร้ายเสียยิ่งกว่า
Stephen Brize ผู้กำกับวัยห้าสิบคนนี้เคยทำหนังมาแล้ว 5 เรื่อง แต่เพิ่งมีผลงานชิ้นนี้ได้เข้าสายประกวด เขาค่อนข้างจัดเจนในวิถีทางที่เล่าเรื่อง เขาใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมและความคิดของตัวละครหลัก ดังนั้นภาพต่าง ๆ มักจะนำเสนอในฉากที่เน้นการพูดตลอดทั้งเรื่อง จนกลายเป็นหนังทำนอง talking head ไป และใช้มุมกล้องระดับกลางหรือ middle-shot ตลอด โดยจะมีฉากที่ปล่อยให้ตัวละครดำเนินเพียงตัวเดียวอยู่น้อยมาก ดังนั้นภาพส่วนใหญ่จะมีบทสนทนาตลอด หลาย ๆ ตอนมักจะสะท้อนผ่านกระจกหรือกล้อง เพื่อแสดงให้เห็นสภาวะของการถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา
แต่ลักษณะนี้มันเริ่มน่าเบื่อหลังจากหนังดำเนินไปครึ่งหนึ่ง และปีนี้ดิฉันมีความเบื่อมากในการดูฉากซ้ำซาก ดิฉันเริ่มคิดว่าสงสัยต้องเดินออกอีกแน่ ๆ
...แต่ปรากฎว่าสถานการณ์เริ่มพลิกค่ะ ประมาณ 20 นาทีสุดท้าย บทเริ่มเปลี่ยน มันไม่ได้แสดงให้เห็นสภาพความยากลำบากของตัวละครหลักอีกต่อไป แต่มันได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงในสังคมฝรั่งเศสร่วมสมัย กับปัญหาความยากจน ปัญหาแรงงาน จนตัวละครหลักต้องต่อสู้ภายในจิตใจตัวเอง ระหว่างความมั่นคงในชีวิตกับมโนธรรมในใจเขา
ฉากจบที่ใช้ลองช็อตเป็นครั้งแรก ทำให้รู้สึกสะเทือนในหัวใจ
|