Day 4 / 16 พฤษภาคม 2558
Carol
Todd Haynes เป็นผู้กำกับที่ทำหนังน้อยมาก แต่ละเรื่องห่างกันโดยเฉลี่ยถึง 3 – 4 ปี ผลงานล่าสุด Carol ห่างนานถึงแปดปี (น้อง ๆ หัวเฉี่ยวเฉี้ยนเลยทีเดียว) เลยทีเดียว Carol จึงกลายเป็นหนังทั้งที่น่าสนใจและน่าเบื่อในเวลาเดียวกัน
หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคนสองวัยในนิวยอร์คช่วงต้นทศวรรษ 1950 แครอลมีครอบครัวแล้วและมีลูกสาวตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เธอน่าจะมีชีวิตที่ดีสมบูรณ์แบบ สามีก็รัก แต่แครอลกลับไม่มีความสุขในชีวิตและรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างหายไปจากชีวิต จนเธอมาพบกันสาวน้องเธอรีส พนักงานขายสินค้าในห้างดัง และความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคนก็เริ่มต้นจากวันคริสต์มาสวันนั้น ...ยาวนานเกินกว่ากฎสังคมใด ๆ จะมาขวางกั้น แม้เมื่อพ้นหลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นแล้ว แครอลต้องแยกตัวออกไปเพราะกฎสังคม
หลายปีผ่านไป เธอรีสพัฒนาตนเองจนกลายเป็นช่างภาพให้กับนิตยสารดังจนได้ เธอทั้งสองพบกันอีกครั้ง ไม่มีใครมีสิทธิ์ทางชนชั้นเหนือกว่าใคร เหลือแต่สิ่งที่ค้้างอยู่ในใจของคนทั้งสอง....
หนังสร้างมาจากผลงานชิ้นเดียวของนักเขียนนวนิยายอาชญากรรมชื่อดัง โดยเนื้อเรื่องแล้วมันไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากนัก เรื่องแบบนี้มีให้เห็นกันมากในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเหลือสิ่งเดียวที่จะทำให้หนังมีจุดที่น่าสนใจ ท็อดด์สร้างพลังให้กับหนังเรื่องนี้ด้วยการสานความสัมพันธ์ของคนทั้งสองอันเหนียวแน่นและการแสดงอันชั้นเลิศของ Cate Blanchett ในบทของผู้หญิงวัยกลางคนบนความขัดแย้งในจิตใจ มันดูเงียบเหงาและรื่นเริงในเวลาเดียวกัน หลาย ๆ ฉากทำให้เรารู้สึกร่วมกับความรู้สึกเหล่านี้ที่ถ่ายทอดออกมา
ตากล้องทำงานได้เลิศมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นความแตกต่างจาก Thelma & Louise ตอนที่ตัวละครสองคนเริ่มออกเดินทาง อดนึกถึงหนังเรื่องนั้นไม่ได้ แต่มันก็ไม่ใช่อย่างที่เห็นจริง
แต่ตามสไตล์ของหนังท็อดด์ มันไม่มีอะไรใหม่ ดู ๆ ไปก็เบื่อ เขาเล่าเรื่องได้ดีล่ะในฐานะผู้กำกับมือโปรที่นาน ๆ ทำหนังดี แต่มันยังขาดความแปลกใหม่เช่นเดียวกับหนังอเมริกันหลายเรื่อง พูดกับง่าย ๆ มันเป็นหนังดี แต่คงไม่ขึ้นชั้นคลาสิค
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
My Mother - "แม่ครับ ผมรักแม่ครับ" สุดยอดความเป็นมอเร็ตตี้
มันเริ่มจากชีวิตประจำวันช่วงหนึ่งของผู้กำกับหญิงคนหนึ่งที่เผอิญต้องมารับผิดชอบหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานกำกับของเธอที่่ต้องเผอิญมาเจอกับนักแสดงอเมริกันที่เวิ่นเว้อ แถมยังพูดภาษาอิตาเลียนไม่ได้ในช่วงที่แม่ของเธอกำลังป่วยหนัก มาร์กาเร็ตต้าเจอปัญหาครั้งใหญ่ในความพยายามที่จะทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักในชีวิตแบบฝรั่งที่เป็นครอบครัวเดี่ยว มาร์กาเร็ตต้าต้องผลัดกันมาดูแลแม่กับพี่ชายอีกคนซึ่งเป็นอาจารย์ชายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (นำแสดงโดยแนนนี่ มอเร็ตตี้เอง)
จากบรรยากาศในตอนแรกที่ดูน่ารำคาญของมาร์กาเร็ตต้าที่อยู่ในเข้าข่ายไม่น่าเชื่อ กะอีแค่ต้องทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เธอก็จัดการอะไรในชีวิตไม่ได้เลย แม้เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่ได้เห็นจะยากอะไรอย่างท่อประปาแตก หาบิลล์ค่าไฟ เธอก็จัดการอะไรไม่ได้เลย ...จนผู้เขียนเกือบเดินออกจากโรง
แต่แล้วเมื่อค่อย ๆ ดูไปจนถึงจบ ดิฉันกลับกลายเป็นเห็นว่าหนังเต็มไปด้วยพลังของแนนนี่ มอเร็ตตี้แทรกอยู่ไปทั่วหนัง และแนนนี่เองอาจจะทำหนังเรื่องนี้อุทิศให้แม่ของเขา แม้ว่าเขามิได้เป็นนักแสดงหลักในหนังเรื่องนี้ เป็นแค่ดาราสมทบที่เล่นเป็นพี่ชายของมาร์กาเร็ตต้า ... ทุกอย่างในหนังเรื่องนี้คือแนนนี่ หรือถ้าจะกล่าวไม่ผิดเลย คือ My Mother is Nanni Moretti.
เพียงแต่ว่าเขาแจกจ่ายรายละเอียดที่เป็นตัวเขากระจายไปทั่วในหนัง ภาระหนักที่รุมเร้าเขาทั้งในฐานะผู้กำกับที่ต้องดูแลแม่ส่งไปให้มาร์กาเร็ตต้า มุขตลกขำขันในตัวเขาส่งไปให้นักแสดงอเมริกันแบรี่ ฮิกกิ้น (นำแสดงโดยจอห์น เทอเทอโร) ทั้งการที่ชอบทำหนังที่สะท้อนชีวิตความเป็นจริงก็เห็นในหนังที่มาร์การเร็ตต้ากำกับ และที่สำคัญคือการรักแม่ของเขาที่มีแม่ก็เห็นได้จากบทที่เขารับเองกับผู้กำกับมาร์การเร็ตต้านั่นเอง
แม่เป็นคนที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาเสมอ ดังนั้นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แม่เป็น เขาก็โยนให้ตัวละครที่เป็นลูกศิษย์ของแม่เป็นคนกล่าว "มาโรมทีไร ผมจะแวะมาคุยกับอาจารย์เสมอ อาจารย์ทำให้ผมรู้สึกว่าผมมีความสำคัญเสมอ"
ทุกอย่างในหนังได้สะท้อนมุมความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแนนนี่ มอเร็ตตี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นคำพูดของผู้กำกับมาร์กาเร็ตต้าที่พร่ำบอกนักแสดงว่า "อย่าเล่นเป็นนักแสดงคนนั้น แต่เล่นเป็นตัวละครที่อยู่ข้าง ๆ นักแสดงคนนั้น" แท้ที่จริงแล้ว มันได้บอกนัยทั้งหมดว่าผู้กำกับเรื่องนี้คือเขานั่นเอง โดยเฉพาะความจริงที่ว่าเขาเองก็เป็นพี่ชายของผู้กำกับที่กำลังสูญเสียแม่เช่นเดียวกัน
ดูหนังแล้วคิดถึงแม่และรักแนนนี่มากกว่าเดิม
|