สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ เดอะดาวน์

 

สรดิเทพ ศุภจรรยา / 17 ต.ค. 2558

 
Share |
Print   
       
 

เดอะดาวน์ หนังสารคดีที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและน้ำตา จากเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยให้คนดูเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของคนร่วมสังคมมากขึ้น

กลุ่มคนที่พูดถึงนี้คือบุคคลที่มีอาการดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ตามที่แพทย์ในหนังได้อธิบายไว้ในตอนต้น ดาวน์ซินโดรมเป็น “อุบัติเหตุทางพันธุกรรม” ที่เกิดจากการมีโครโมโซม 21 เกินมา ทำให้มีการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาล่าช้า โอกาสเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ 1 ต่อ 1,000 ครั้ง หมายความว่าในแต่ละปีจะมีเด็กดาวน์เกิดมาเกือบ 800 คนในประเทศไทย แต่ก่อนสังคมใช้คำว่า “ปัญญาอ่อน” เป็นตราบาปของบุคคลเหล่านี้ เพราะคนที่มีอาการดาวน์มักมีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะที่ทำให้เห็นได้ง่าย ถึงแม้เดี๋ยวนี้คำนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว แต่คนส่วนมากในสังคมยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ หลายคนอาจไม่เคยได้รู้จักคนที่มีอาการดาวน์ซินโดรมด้วยซ้ำ

เดอะดาวน์ คือหนังที่จะมาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เป็นภาพยนตร์สารคดีตามติดชีวิต 5 คนที่มีอาการดาวน์ซินโดรม “แพน” สาวออฟฟิศบริษัทเอไอเอส “แบงค์” พนักงานร้านยูนิโคล่ที่ชอบร้องเต้นเพลงลูกทุ่ง “เบียร์” สาวเสิร์ฟร้านสตาร์บัคส์ และ “ออม-อัน” แฝดสาววัยมัธยมที่เป็นนักกีฬาบอชชี

หนังทำได้ดีในการถ่ายทอดชีวิตประจำวันอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นว่าบุคคลที่มีอาการดาวน์ซินโดรมก็สามารถดูแลตัวเองได้ สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ สามารถทำงานเลี้ยงชีพตัวเองและช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ และพวกเขาก็ดูเป็นคนอารมณ์ดี ตั้งใจเรียน ขยันทำงาน ไร้พิษภัย ไม่เคยโกหกหรือคิดร้ายกับคนอื่น ซึ่งทำให้ผู้ดำเนินเรื่องต้องตั้งคำถามให้คนดูคิดหนักในตอนท้ายว่า โลกเราจะน่าอยู่ขึ้นหรือไม่หากทุกคนเป็นแบบนี้

ทั้งห้าคน มีชีวิตที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ แพนเป็นสาวที่ชอบกินเป็นพิเศษและมักจะพูดถึงเรื่องอาหารและขนมหวานได้ตลอดเวลา แต่จะเปลี่ยนเรื่องทันทีหากมีใครทักว่าอ้วน ส่วนแบงค์มีลีลาการเต้นและร้องเพลงลูกทุ่งที่เรียกว่าเป็นสไตล์เฉพาะตัวมากๆ

การเลี้ยงเด็กดาวน์นั้นลำบากและใช้ความอดทนสูง จึงต้องขอชื่นชมจากใจจริงว่าครอบครัว ครู และเพื่อนร่วมงาน คุณคือฮีโร่ที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ เป็นบุคคลที่พร้อมจะมอบความรักแบบไม่มีเงื่อนไขให้ตลอดเวลา พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างและเดินไปพร้อมกันในจังหวะของเขา ทุกบทสัมภาษณ์ของพ่อแม่จะเต็มไปด้วยความซึ้งประทับใจและเรียกน้ำตาคนดูได้ไม่ยาก อย่างเช่นตอนที่คุณแม่เล่าให้ฟังถึงครั้งแรกที่ลูกซึ่งมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กอื่นก็สามารถเรียก “แม่” ได้ไม่ต่างจากเด็กอื่น

จุดด้อยของหนังเรื่องนี้ คือการดำเนินเรื่องแบบไม่มีบทหรือเค้าโครงเรื่อง แม้ว่าจะมีการแบ่งช่วงและตั้งชื่อบทเหมือนกับเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แต่ก็ไม่ไม่ช่วยอะไรมาก หลายครั้งหนังวกไปวนมา บางตอนยืดเยื้อ และบางตอนดูไม่จำเป็น สิ่งที่จะมาแก้จุดนี้ได้คือการมอบภารกิจให้ทั้งห้าคนทำ และอาจจะนำเรื่องความใฝ่ฝันของแต่ละคนมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ให้แบงค์ไปประกวดร้องเพลงหรือให้ออมกับอันไปแห่งกีฬาบอชชี ซึ่งจะช่วยให้หนังมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นและยังสามารถตรึงคนดูไว้ให้ลุ้นไปกับพวกเขา

ถึงแม้ เดอะดาวน์ จะไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นหนังที่ถ่ายทอดชีวิต ความรัก และความใฝ่ฝันของบุคคลที่มีอาการดาวน์ซินโดรมได้อย่างตลกและซึ้งใจในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในภาพยนตร์ไทย

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.