วานิชชิ่ง พอยท์ คือจุดในภาพที่เส้นขนานมาบรรจบกัน เหมือนกับผู้ชายสามคนในหนัง ที่ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างเส้นทางเดินชีวิต มาบรรจบกันในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
วานิชชิ่ง พอยท์ เป็นหนังยาวเรื่องแรกของ เก่ง-จักรวาล นิลธำรงค์ ผู้กำกับหนังสั้นแนวทดลอง ที่ได้รางวัลไทเกอร์อวอร์ดจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเทอร์ดัมที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อต้นปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่สี่ที่ผู้กำกับชาวไทยไปคว้ารางวัลนี้มา หลังจาก อาทิตย์ อัสสรัตน์ ได้จากเรื่อง วันเดอร์ฟูลทาวน์ ในปี 2008 อโนชา สุวิชากรพงศ์ ได้จากเรื่อง เจ้านกกระจอก ในปี 2010 และ ศิวโรจณ์ คงสกุล ได้จากเรื่อง ที่รัก ในปี 2011
และถ้าคุ้นเคยกับหนังเหล่านี้ก็จะเดาได้ว่า วานิชชิ่ง พอยท์ เป็นภาพยนตร์ที่ต้องใช้สมาธิสูงมากในการรับชม เพราะมีบทพูดน้อย มีการเล่าเรื่องที่ไม่ได้ดำเนินตามลำดับเวลา และมีการแทรกโลกความจริงเข้ามาในเรื่องแต่ง
หนังเล่าถึงชายหนุ่มนักข่าว (ดรันภพ สุริยาวงษ์) ที่เดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อถ่ายภาพการทำแผนประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืน ระหว่างนั้นเขาไปใช้บริการทางเพศที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่มีเถ้าแก่ (องอาจ เจียมเจริญพรกุล) แอบอัดคลิปเป็นวิดีโอเทป ด้วยความไม่สบายใจ เถ้าแก่ไปปรึกษากับพระ (ชาลี เชื้อใหญ่) ที่วัดแถวบ้าน และพระท่านก็เล่าเรื่องฝันประหลาดให้ฟังว่า ในฝันท่านเป็นจิตวิญญาณไปอยู่ในร่างชายอื่นและกำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวอย่างเร่าร้อน
ทั้งสามตัวละครหลัก ดูแตกต่างกันเมื่อมองแบบผิวเผิน แต่เหมือนกันเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ เช่นประเด็นเรื่องความใคร่ ความรู้สึกถูกกักขัง และอัตลักษณ์ตัวตนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เห็นได้จาก ชายหนุ่มที่เดินตามถนนอย่างโดดเดี่ยวตอนกลางดึกและเข้าไปซื้อบริการทางเพศกับโสเภณีสูงอายุที่เล่าเรื่องอดีตของเขาและของโรงแรมให้ฟัง หรือเถ้าแก่ที่ตัดขาดจากพ่อแม่ของเขาแล้วหนีมาตั้งรกรากที่ต่างจังหวัด แต่กลับทานข้าวกับครอบครัวใหม่อย่างอึดอัดเพราะกำลังนอกใจภรรยาไปมีชู้กับพนักงานบัญชีของโรงงานตัวเอง ส่วนพระกำลังหลบอดีตบางอย่างของตัวเองมาอยู่ที่วัดแต่ก็ยังฝันว่ามีเพศสัมพันธ์กับหญิงแปลกหน้า
ทั้งหมดนี้ ผู้กำกับใช้ภาพ เสียง เพลงประกอบ และสัญลักษณ์ต่างๆ ดึงดูดคนดูเข้าไปสู่เบื้องลึกของตัวละครทั้งสามอย่างช้าๆ เปิดเผยชิ้นส่วนสำคัญที่ซ่อนอยู่ให้คนดูค่อยๆปะติดปะต่อ และชักชวนให้คนดูคิดตามและตีความเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครอย่างอิสระ ก่อนที่จะใช้ฉากไคลแมกซ์ที่เป็นอุบัติเหตุทางรถยนตร์ พาคนดูเป็นวงกลมกลับสู่ฉากแรก ที่เป็นภาพจากหนังสือพิมพ์บันทึกเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรถยนตร์เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงกับพ่อแม่ของผู้กำกับเอง
ถ้าหากไม่คุ้นเคยกับหนังแนวทดลองแบบนี้ อาจจะรู้สึกหงุดหงิดขัดใจได้ เพราะหนังให้อิสระการตีความกับคนดูอย่างมาก หลายฉากเต็มไปด้วยความคลุมเครือและสร้างข้อสงสัย เช่น เกิดอะไรขึ้นกับลูกสาวของเถ้าแก่ อดีตทหารพรานมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ และฉากสุดท้ายของพระเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นอกจากนี้ หนังยังคาดหวังให้คนดูรู้เรื่องเกี่ยวกับหนังสั้นเรื่องก่อนๆของผู้กำกับด้วย เพราะบางตัวละครจากเรื่องก่อนๆของเขา เช่นผู้หญิงพันปี ก็มาปรากฏตัวในฉากสำคัญด้วย
เก่ง-จักรวาล มีสไตล์การกำกับที่น่าสนใจ ใช้เทคนิคลองเทคค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะฉากบทพูดคนเดียวของเถ้าแก่กับพระที่เป็นการเล่าเรื่องที่ยาวมากแต่ยังสามารถตรึงคนดูไว้ได้ตลอด หรือในฉากที่เถ้าแก่ไปตามหาลูกสาวในป่าที่กล้องเลื่อนลอยไปมา จากข้างหน้ามาข้างหลังและสุดท้ายลอยขึ้นไปบนฟ้า
วานิชชิ่ง พอยท์ เป็นหนังที่ท้าทายคนดูด้วยเนื้อหาที่ซับซ้อนและน่าติดตาม การเล่าเรื่องที่ผสมผสานภาพเสียงและเพลงอย่างลงตัวและมีศิลปะ และการตั้งคำถามประเด็นปรัชญาชีวิตได้อย่างลึกซึ้งและน่าค้นหา ถ้าลองให้โอกาสดู นี่คือประสบการณ์ภาพยนตร์ไทยที่แปลกใหม่ที่สุดของปีนี้
|