สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

Fast and Furious 7 แอ็คชั่นรวมมิตร

  อัญชลี ชัยวรพร / 3 เมษายน. 2558
 
Share |
Print   
       
 

 

ขอบอกก่อนว่าดิฉันไม่เคยดู Fast and Furious ภาคใด ๆ ก่อนหน้านั้นนะคะ  เพราะฉะนั้นบทวิจารณ์ชิ้นนี้ขอเน้นเฉพาะสิ่งที่เห็นจากภาคที่ 7 นี้เพียงภาคเดียว  ซึ่งเมื่อดูแล้ว  บอกได้ว่านี่เป็นหนังสูตรแอ็คชั่นอเมริกันแบบธรรมดามาก  ผสมผสานสูตรสำเร็จของแอ็คชั่นหลายรูปแบบ  เน้นแต่ความหายนะของร่างกายและสิ่งของ  ความมันส์  ความรวดเร็ว  แอ็คชั่นไม่ใช่งานศิลปะในภาพยนตร์เรื่องนี้

แอ็คชั่นอเมริกันนั้น  แบ่งได้เป็นหลายรูปแบบ  ส่วนใหญ่เป็นไปตามพื้นฐานการต่อสู้และการใช้ร่างกายในฐานะพลังของการต่อสู้  แบบแรกนั้นจะเน้นร่างกายในการสร้างพละกำลัง คือ ตัวใหญ่อย่างเดียว  อย่างที่เห็นในผลงานของอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ หรือซิลเวสเตอร์ สตาโลน  ยุคหนึ่งเป็นที่นิยมมากถึงกับมีการเฟ้นหาผู้ชนะการประกวดเพาะกายหรือเล่มกล้ามให้มาเล่นหนัง  บรู๊ซ วิลลิสก็เข้าข่ายดาราแอ็คชั่นในลักษณะดังกล่าว  แต่ร่างกายไม่ใช่อาวุธต่อสู้เพียงอย่างเดียว  แต่ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างปืนเป็นต้น  ในหนังแอ็คชั่นเหล่านี้  ร่างกายคือฐานของอำนาจ

ด้วยเหตุนี้ ดาราที่รู้จักศิลปะการต่อสู้กังฟูอย่างบรู๊ซ ลีจะโด่งดังที่นั่นมาก  ก่อนที่ ฌอง คล็อด แวน แดมม์ จะฝึกฝนศิลปะการต่อสู้เหล่านี้  จนเป็นหนึ่งในดาราฮอลลีวู้ดที่มีความสามารถเช่นเดียวกัน  จนกระทั่งวงการฮอลลีวู้ดเริ่มเปิดรับผู้กำกับและนักออกแบบศิลปการต่อสู้จากฮ่องกงเข้าไปมาก  จึงเห็นดาราฮ่องกงหลายคนไปโด่งดังที่นั่น  ทั้งเจ็ต ลีหรือเฉินหลง  ก่อนที่จะตามมาด้วยจา พนมในที่สุด

Fast & Furious 7 ผสมผสานงานอย่างหลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นการโชว์หุ่นที่ใหญ่โตอย่างที่เคยเห็นจากดารานักเพาะกาย   การวางแผนและชั้นเชิงอย่างที่เห็นในแม็คไกเวอร์  หรือแอ็คชั่นเน้นอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างเจมส์ บอนด์  ไม่ใช่แอ็คชั่นที่เน้นความสามารถทางศิลปะการต่อสู้กังฟูแบบบรู๊ซ ลีหรือจา พนม  ทั้งเรื่องจึงมีเพียงจา พนมที่มีศิลปะในการต่อสู้  แต่ศิลปะหมัดมวยของจา พนม ดูไม่จุใจ  เป็นเพียงส่วนประกอบไปอย่างน่าเสียดาย

การปะทะของรถดูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้กำกับในการออกแบบฉากต่อสู้  โดยมิได้คิดจากความตั้งใจให้มันเป็นศิลปะ  แต่ต้องการให้มันออกมา “แรง” “เร็ว” และ “ตื่นตาตื่นใจ” (ฉากทะลุ 3 ตึกที่อาบูดาบีนี่เห็นชัด ๆ  เขาต้องการให้มันดูอลังการ  ไม่ได้ดูให้สวย  ถ้าเขาต้องการให้สวย  เขาจะไม่ทำออกมาแบบนี้  ลองนึกถึงหนังเรื่อง Drive ซึ่งเน้นการต่อสู้ด้วยรถและปืนดูสิ  เรื่องนั้นต่างหากที่เน้นการออกแบบฉากการต่อสู้จากการปะทะของรถให้สวยงาม

หนังเข้าสูตรหนังอเมริกันอย่างสมบูรณ์แบบที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นหลัก  ตัวละครทุกตัวมีตัวตนอย่างชัดเจน  และทำทุกอย่างเพื่อนำไปสู่ความสงบสุขของครอบครัว  ซึ่งผิดจากหนังแอ็คชั่นทางฮ่องกงยุคแรก ๆ ที่ตัวละครมักเป็นนักฆ่าไม่มีตัวตน  ต้องหลบซ่อนอยู่เสมอ 

จุดดีของหนังเรื่องนี้ในฐานะคนไทย  ก็ต้องบอกว่าฉากการต่อสู้ของจา พนม นั่นแหล่ะ  มันเต็มไปด้วยความหมายและงดงาม  แต่มันสั้นมาก 

อีกจุดหนึ่งคือความผูกพันแบบเพื่อน  ซึ่งไม่ค่อยเห็นนักในหนังแอ็คชั่น  ชวนให้คิดว่ามีลักษณะแบบหนังแก๊งค์สเตอร์อยู่นิด ๆ  เพียงแต่ว่าได้ปรับมาเน้นความสำคัญแบบเพื่อนและพี่น้องกันเสียมากกว่า 
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.