The One Ticket ตัวพ่อเรียกพ่อ หนังคอมเมดี้อารมณ์ดี ที่สอบตกเรื่องมุขตลก แต่สอบผ่านเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ที่สามารถเรียกน้ำตาคนดูได้ไม่น้อย
แดน-วรเวช ดานุวงศ์ รับบทพ่อมือใหม่ ที่ดูไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไหร่ นอนตื่นสาย ตื่นมาก็เล่นเกมส์ออนไลน์ ไม่ทำความสะอาดบ้าน ปล่อยให้ลูกสาววัย 6 ขวบ จัดการตัวเอง ไปโรงเรียนเอง อ่านนิทานก่อนนอนเอง แม้จะทำอาชีพนักเขียนการ์ตูนแต่ก็ส่งต้นฉบับสายประจำจนบรรณาธิการเอือมระอา และเมื่อทำพลาดไม่ได้เอาเงินที่ลูกสาวเก็บออมไว้ไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตศิลปินญี่ปุ่นสุดโปรดตามที่ลูกได้ขอไว้ ก็เลยต้องดิ้นรนหาวิธีอื่นเพื่อให้ได้บัตรใบนี้มา ตั้งแต่ไปเล่นเกมส์ชิงตั๋ว หาซื้อบัตรผี จนซ้อมเต้นเพื่อเข้าประกวด cover dance ชิงรางวัล
จุดพีคสุดของหนังคือฉากที่แสดงให้เห็นถึงการเสียสละของคนที่เป็นพ่อคนหนึ่งที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ยอมเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ขายรถ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อลูกสาว
แดน พัฒนาการแสดงขึ้นมาก ในบทนี้ที่ต้องแบกรับเกือบทั้งเรื่อง มีเสน่ห์ในฉากที่ต้องตลกกวนๆ และมีแววตาความมุ่งมั่นในฉากดราม่าที่ต้องทำเพื่อลูก ส่วนน้องยูเค-ณัฐธยาน์ องค์ศรีตระกูล โดดเด่นมากในบทลูกสาว โลกสดใสขึ้นทันทีที่ยิ้ม เข้าขากับนักแสดงผู้ใหญ่ได้โดยไม่มีเขิน และฉากที่ต้องร้องไห้ก็บีบคั้นหัวใจคนดูอย่างมาก
จริงๆมีแค่เรื่องราวของสองพ่อลูกนี้ก็เพียงพอแล้ว หนังกลับเพิ่มตัวละครอื่น ที่นอกจากจะไม่ช่วยดำเนินเรื่องแล้วยังทำให้โทนหนังและอารมณ์ของคนดูสดุด เพราะต้องสลับกับฉากที่ตลกฝืดและไร้สาระ อย่างเช่นเพื่อนร่วมทีม cover dance ที่ประกอบไปด้วยนักมวยลิ้นห้อย หนุ่มบ้าทานไข่ สาวสำเนียงอีสาน และครูสอนเต้นแอโรบิคที่สับสนทางเพศ ทั้งหมดปล่อยมุขที่ไม่ตลก ไม่มีการใช้ความสามารถเฉพาะตัวช่วยเรื่องเต้น ราวกับว่าไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มคนนี้ก็ได้ ส่วนเพื่อนสนิท รับบทโดย กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ (ณัฐวุฒิ ศรีหมอก) ดูมีความขัดแย้งในตัวเองในแง่ของคำพูดและการกระทำ บางฉากเป็นคนหยาบคาย แต่ในบางฉากก็มีคำคมพูดให้กำลังใจพระเอกขึ้นมาง่ายๆ
ฉากเต้น cover dance ที่เป็นฉากไคลแมกซ์ ดูไม่สมจริง ทั้งวัยและการแต่งตัวของพระเอกและพวกไม่ใช่แนวที่จะหาได้ตามงานแข่งขันประเภทนี้ แต่คนดูกลับไม่แปลกใจ พิธีกรก็ไม่พูดอะไร และอยู่ดีๆก็สามารถไปแข่งเวทีใหญ่ได้โดยไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ และที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ พอแข่งเสร็จก็ปิดประเด็นการเต้นทันที ทั้งๆที่ปูทางเรื่องนี้มานาน
บท ตัวละครสมทบ และมุขตลกแป๊ก ไม่สามารถทำให้ The One Ticket ตัวพ่อเรียกพ่อ เป็นหนังคอมเมดี้ฟีลกู๊ดตามที่ผู้สร้างตั้งใจได้ แต่ในแง่ของการถ่ายทอดความรักของพ่อและความสัมพันธ์กับลูก ทำออกมาได้ดีกินใจเกินคาด |