
สมิง พรานล่าพราน หนังแอ็คชั่นเรื่องแรกของผู้กำกับโฆษณา นรินทร์ วิศิษฏ์ศักดิ์ ได้คะแนนเต็มความตั้งใจที่จะเป็นหนังสอดแทรกปรัชญาชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นซีรีย์ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องความเชื่อเรื่องลี้ลับในป่าดงดิบไทยในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นภาพยนตร์แนวผจญภัยที่สรรเสริญนวนิยายสุดคลาสสิคของไทย เพชรพระอุมา แต่ด้วยข้อบกพร่องของบทที่ให้ตัวละครมีมิติเดียว การดำเนินเรื่องที่สับสน และการแสดงที่ขาดอารมณ์ ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่สามารถบรรลุความตั้งใจเหล่านั้นได้
สมิง กล่าวถึงแม่ลูกเสือสมิงคู่หนึ่งที่ตามความเชื่อไทย สามารถแปลงร่างเป็นคนเพื่อออกล่าเหยื่อ แต่ในคืนหนึ่งระหว่างการล่าเหยื่อ ลูกเสือถูกนายพรานฆ่าตาย แม่เสือเลยจะตอบโต้โดยการฆ่าลูกของนายพราน แต่เมียนายพรานกลับถูกฆ่าแทน จึงเกิดเป็นวงจรการอาฆาตล้างแค้นของสองฝ่ายอย่างไม่สิ้นสุด
ในช่วงแรกของหนัง มีฉากสลับภาพนายพรานและแม่เสือกำลังลูบใบหน้าและร้องไห้ต่อหน้าศพของคนรัก เปรียบเสมือนว่าความรักและความแค้นทำให้ทั้งสองไม่ต่างกัน แต่หลังจากนั้นบทดำเนินไปอีกทิศทางหนึ่ง มีการเพิ่มตัวละครขึ้นมากมาย ทั้งนายพรานต่างหมู่บ้าน หมอผีเขมร นักค้าสัตว์ชาวฝรั่ง ห้าพี่น้องชาวจีน ซึ่งทั้งหมดต้องการจะล่าแม่เสือสมิงตัวนี้ ในขณะที่แม่เสือเองก็ตามล่าชาวบ้านไปทีละคนโดยไม่มีสาเหตุว่าจะล่ามนุษย์ไปทำไม จึงทำให้ประเด็นเรื่องวงจรอุบาทว์ความแค้นเลือนหาย หากบทเน้นที่นายพรานคนแรกและแม่เสือคู่เดียว เน้นที่ปูมหลังของทั้งสองว่าเหตุการณ์อะไรที่ผลักดันให้หลุดเข้ามาในวงจรนี้ได้ และเน้นที่ความสูญเสียที่ทั้งคู่ต้องเผชิญเพราะการกระทำนี้ แนวกัปตันอาฮับกับปลาวาฬในนวนิยาย Moby-Dick ของชาวอเมริกัน เฮอร์มัน เมลวิลล์ จะทำให้ตัวละครมีมิติมากขึ้นและเนื้อเรื่องมีประเด็นที่ให้ข้อคิดกับคนดู

ภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องลี้ลับในป่า มีไม่มาก อย่างเช่น นางไม้ ของเป็นเอก รัตนเรือง หรือตอนหลาวชะโอน ใน 5 แพร่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องใช้ความสามารถทางคอมพิวเตอร์กราฟิกส์สร้างภูตผีปีศาจและสัตว์ในตำนาน ซึ่ง สมิง ทำได้ดีทีเดียว เสือในเรื่องนี้ดูสมจริง มีความเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ มีรายละเอียดของเส้นขนและนัยน์ตา อาจดีไม่เท่าเสือในหนังฮอลลีวู้ด Life of Pi แต่ก็ดีที่สุดในบรรดาหนังไทยที่ผ่านมา
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือการดำเนินเรื่องด้วยตัวละครที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้หนุ่ม (แต่ตอนหลังได้ลาออกมาเป็นนายพรานเต็มตัว) ซึ่งทำให้นึกถึงนวนิยาย เพชรพระอุมา ของพนมเทียน (นามปากกาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) ที่พระเอกก็ออกจากรับราชการตำรวจมาเป็นนายพรานในป่า และมีการผจญภัยหลายต่อหลายตอน อีกทั้งหนังเรื่องนี้มีการจบทิ้งท้ายแบบหนังซุปเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล ที่เผยให้เห็นตัวละครใหม่ที่อาจจะปรากฏในเรื่องต่อๆไป คล้ายกับว่า สมิง เป็นแค่ภาคแรกของซีรีย์เรื่องลี้ลับในป่าตามความเชื่อพื้นบ้านไทย ที่มีนายพรานหนุ่มคนนี้เป็นพระเอก
เรื่องนี้ใช้นักแสดงใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งทำให้การถ่ายทอดอารมณ์ในหลายๆฉากยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะฉากเศร้าที่อารมณ์ยังไม่ได้ หรือฉากที่ต้องรู้สึกหวาดกลัวเสือสมิงกลับหน้านิ่ง และต้องมีการใช้เสียงประกอบช่วยสร้างอความน่าตื่นเต้นแทน
สมิง พรานล่าพราน มีมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการทำเป็นหนังเรื่องการผจญภัยผสมความเชื่อเรื่องลี้ลับในป่าดงดิบที่ไม่ค่อยมีใครทำมาก่อน แต่น่าเสียดายที่หลายๆอย่างยังไม่ตกผลึกดี ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ยังไม่น่าพอใจนัก |