สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
บทวิจารณ์ “Timeline จดหมาย ความทรงจำ”
  สรดิเทพ ศุภจรรยา / 13 ก.พ. 2557
  เมนูข้อมูล
 
Share |
Print   
       
 

“Timeline จดหมาย ความทรงจำ” หนังรักเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร เล่าถึงเด็กหนุ่มชื่อ แทน ที่เสียพ่อไปตั้งแต่ยังไม่เกิด และเป็นลูกคนเดียวของเจ้าของไร่สตรอเบอร์รี่ที่เชียงใหม่ ถึงแม้แม่จะคาดหวังให้แทนเรียนคณะเกษตรที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน แต่แทนกลับเลือกเข้าเรียนคณะวารสารที่กรุงเทพ ซึ่งทำให้ต้องไปอยู่ไกลบ้านเป็นครั้งแรกและทำให้ได้พบกับนางเอกที่เป็นเพื่อนร่วมชั้น ที่มาช่วยให้แทนเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต ความรัก และความฝัน

ผมเชื่อว่าหลายคนเลือกที่จะไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะเป็นหนังที่เรียกน้ำตาที่สุดตั้งแต่เรื่อง “The Letter จดหมายรัก” และหลายคนก็เลือกที่จะไปดูเพราะได้นักแสดงหนุ่มเนื้อหอมที่สุดแห่งปีอย่าง เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข มาแสดงเป็นพระเอก แต่ผมอยากจะเสนออีกเหตุผลหนึ่งที่ควรไปชมเรื่องนี้ เพราะนี่เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ลงตัวอย่างน่าประหลาดใจ

 

 

ความขัดแย้งที่ว่านี้ก็อย่างเช่นบทของแม่ เพราะแกนหลักของเรื่องนี้คือแทน คำสามคำที่เป็นชื่อเรื่องมีความเกี่ยวข้องกับพระเอกมากที่สุด แต่ช่วงที่แทนเรียนอยู่กรุงเทพ บทกลับให้น้ำหนักกับแม่ค่อนข้างเยอะ จนผมนั่งสงสัยมาตลอดว่าทำไมต้องให้เห็นแม่ลำบากแบกรับภาระหารายได้เสริมโดยการทำแยมสตรอเบอร์รี่ขาย เห็นแม่เครียดเรื่องที่ดิน เห็นแม่นั่งทานข้าวคนเดียวแต่จัดจานสามใบไว้เป็นตัวแทนลูกและสามี และเห็นอาวัฒน์ (ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ในบทที่เงียบแต่ทรงพลัง) ที่เป็นเพื่อนสนิทและลูกค้ารายใหญ่ มาจีบ

 


 

แต่ทั้งหมดมาลงตัวตอนท้าย เพื่อเป็นการย้ำและให้น้ำหนักกับคำสอนของแม่ว่า ถึงแม้การมาทำไร่ที่เชียงใหม่ไม่ใช่ความฝันของตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่ตัวเองยินดีทำเพื่อคนที่เรารัก และการที่ได้ทำเพื่อคนที่เรารักก็ทำให้เรามีความสุขไปด้วย ป๊อก-ปิยธิดา วรมุสิก ใช้ความสามารถน้ำตาสั่งได้ ตีบทแตกอย่างง่ายดาย ทุกฉากที่เธอกอดเสื้อคลุมสามี หรือมองรูปสามี คนดูรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดที่เธอต้องอยู่กับมันทุกวัน

ความขัดแย้งอีกอย่างหนึ่งคือบทของนางเอกเพื่อนร่วมชั้น จูน (เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ) หญิงสาวที่สดใส เต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีความมั่นใจสูง รู้ว่าตัวเองชอบอะไรและชอบใคร และกำลังเดินเทางตามความฝันอย่างไม่แคร์ใคร แต่พอได้เจอแทนคนที่เธอแอบชอบ กลับกลายเป็นคนที่ไม่กล้า โลเล และกลัวที่จะสารภาพรัก

แต่ทั้งหมดมาลงตัวตรงที่ จูนสะท้อนถึงผู้หญิงหลายๆคนในยุคนี้ ที่มีทั้งความมั่นใจ มุ่งมั่น ทะเยอทะยาน แต่ก็อ่อนไหวเรื่องความรัก เต้ยถ่ายทอดออกมาได้ดีเยี่ยมจนทำให้เชื่อในความขัดแย้งในตัวละครนี้ ฉากสารภาพรักตอนท้ายคือฉากสุดฝีมือของเต้ย ที่ต้องมีทั้งความกล้าๆ กลัวๆ แม้จะเดินหน้าพุ่งชนแต่ก็ยังไว้ฟอร์ม

 


 

อีกความขัดแย้งหนึ่งคือการคัดเลือกเจมส์จิมาแสดงเป็น แทน ตัวเอกของเรื่อง ผมคงเป็นหนึ่งในไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เคยดูละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ เลยไม่ได้ติดภาพเจมส์จิเป็นคุณชายพุฒิภัทร แต่เขายังไม่สามารถทำให้ผมเชื่อได้ว่าแทนเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ากรุงเทพครั้งแรก ดื่มเหล้าครั้งแรก หลงรักสาวครั้งแรก และอกหักครั้งแรก หลายๆฉากที่ต้องทำอารมณ์เศร้าร้องไห้ยังดูเหมือนเจมส์จิต้องบีบคั้นมันออกมาอย่างไม่เป็นธรรมชาติ และหลายฉากต้องมีแพลงประกอบช่วยเพื่อดึงอารมณ์นั้นๆออกมาสู่คนดู แต่พอช่วงที่ต้องแสดงบทขี้เล่นเช่นตอนปั่นจักรยานกับจูนหรือเล่นกับลูกหมา หรือบทขี้อ้อนกับแม่ กลับดูเป็นธรรมชาติดี

ความขัดแย้งสุดท้ายอาจจะมาจากคนดูเอง เพราะเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการสูญเสียคนรักเหมือนกัน มีการสื่อสารผ่านจดหมายเหมือนกัน และไปถ่ายทำที่เชียงใหม่เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเรื่อง “The Letter จดหมายรัก” หนังรักที่ทำคนดูร้องไห้ท่วมโรงเมื่อ 10 ปีก่อน ที่นนทรีย์ นิมิบุตรก็เป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย

แต่ “Timeline” ได้ปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากกว่า “The Letter” เน้นอดีตและความรักจากคนที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ “Timeline” เน้นปัจจุบัน เพิ่มประเด็นเรื่องความฝัน ความหลงไหล ความสัมพันธ์ครอบครัว และข้อคิดที่ว่าชีวิตคนเราอาจสั้นกว่าที่คิด จึงควรรีบทำสิ่งที่ตัวเองชอบและเห็นว่าถูกต้อง

“Timeline จดหมาย ความทรงจำ” เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่สมบูรณ์ทุกอย่างแถมมีหลายข้อขัดแย้ง แต่ก็มีจุดเด่นหลายจุดคุ้มค่าการไปดู และถ้าตัดสินใจแล้วที่จะไปดู ก็อย่าลืมพกผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ไปด้วยนะครับ

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.