สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
์ “ฤดูที่ฉันเหงา”
 

แชมป์ + ณ๊อบ / 11 พ.ค. 2556

  เมนูฤดูที่ฉันเหงา
 
Share |
Print   
 

 



ฝนกับความเหงา เป็นของคู่กัน เหมือนกับช้อนกับส้อม ส้มตำกับข้าวเหนียว ขนมจีบกับซาลาเปา วิสกี้กับโซดา (เอ๊ะ ทำไมมีแต่ของกิน) ฝนกับความเหงา เป็นคู่หูอันตรายที่ทำให้คนโสดทั้งโลกอ่อนไหวได้ และยิ่งคนโสดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับหน้าฝนที่กำลังมา “ฤดูที่ฉันเหงา” หนังโรแมนติก-คอมมะดี้ ผลงานกำกับชิ้นที่ 2 ของศิลปินหนุ่มมีฝีมืออย่าง แดน-วรเวช ดานุวงศ์ จึงหวังที่จะโดนใจ และให้กำลังใจคนโสดในช่วงนี้

“ฤดูที่ฉันเหงา” เป็นเรื่องราวของคนเหงา 5 คน คุง (แจ๊ค-เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) เด็กโข่งที่แอบหลงรัก นารา (นารา เทพนุภา) เด็กสาววัยเดียวกัน แต่เธอไปชอบช่างตัดผมสุดหล่อ เดซี่ (โทนี่ รากแก่น) ซึ่งไปชอบสาวสวยอีกคนชื่อ แจม (แป้งโกะ-จินตนัดดา ลัมะกานนท์) เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆที่มีแดนแสดงเป็นหนุ่มกีต้าร์ขี้เหงา

เพราะใช้สไตล์การกำกับ อารมณ์ และการดำเนินเรื่องเหมือน “คืนวันเสาร์ถึงเช้าวันจันทร์” ผลงานเรื่องก่อนหน้านี้ของแดน ที่เน้นตัวละครที่ไม่มีความซับซ้อน ฉากตลกสลับเศร้า วลีเด็ดๆ และเพลงประกอบเพิ่มอารมณ์ “ฤดู” เลยออกมาเหมือนเรื่องก่อน ที่รู้สึกขาดๆเกินๆในบางด้าน

ที่ว่าขาดๆเกินๆก็อย่างเช่นตัวตลกที่ออกมาผิดเวลา เช่นตอนที่แดนกำลังเล่าถึงผู้หญิงที่เขาชอบแต่ไม่เคยได้บอกรัก คุงก็มีบทตลกแทรก ทำให้อารมณ์ที่กำลังซึ้งของแดนสะดุด หรืออีกฉากหนึ่งที่เดซี่กำลังจีบแจมในร้านตัดผม ผู้ช่วยก็พูดแทรกบ่อยครั้งจนไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือซึ้งดี และหนังก็ตัดเข้าเป็น MV หลายครั้ง ทั้งๆที่น่าจะไปขยายความเบื้องหลังและความรู้สึกของตัวละครได้ โดยเฉพาะความเป็นเพื่อนระหว่างแดนและคุง

คู่เดซี่และแจมมีความพอดีที่สุด โดยเฉพาะการค่อยๆเปิดเผยความรู้สึก เบื้องหลัง จนสุดท้ายสามารถรวบรัดสรุปมาได้ดี โทนี่พัฒนาการแสดงมากขึ้นกว่าเรื่องก่อนๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบทให้โอกาสได้แสดงอารมณ์มากกว่าเรื่องก่อนๆ แต่การแสดงของแป้งโกะเหมือนตั้งใจปั้นในแต่ละฉากเกินไป จึงดูขัดธรรมชาติไปบ้าง

 

ถึงแม้การพัฒนาการให้ส่วนของเรื่องและบทภาพยนตร์ไม่มีมากนัก แต่ในส่วนของการเล่าเรื่องด้วยภาพดูแล้วเนื้องานพัฒนามากขึ้น เริ่มจากจังหวะภาพทำออกมาได้ดีและมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ทำให้ชวนติดตามในแต่ละฉากนั้นๆ ติดเล็กน้อยในจังหวะภาพเปลี่ยนฉาก ซึ่งขาดภาพก่อนหน้าคอยส่งอารมณ์นำ ส่งผลให้ขาดอารมณ์ร่วม และเลือกใช้ ESTABLISHING (ภาพหลังคา, สายไฟและภาพ stock อื่นๆ) มาขั้นเยอะมาก จนดูเกลื่อนกลาดไร้ความหมาย สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการกำกับภาพของหนังเรื่องนี้น่าเป็นกรณีศึกษาได้สำหรับเรื่องการถ่ายภาพฉากฝนตกตอนกลางคืน เพราะถ่ายออกมาสมบูรณ์ มุมภาพสวยงามมีมิติ ต้องขอชมผู้จัดเอฟเฟคฝนด้วย ที่ทำได้ดูสมจริง

ปัญหาทางเทคนิคระหว่างถ่ายทำ ทำให้จังหวะหนังหลุดไปบ้าง เช่น แสงกระโดด คือแสงไม่สม่ำเสมอเมื่อเปลี่ยนภาพจากมุมใกล้และมุมไกลออกไป รวมทั้งการบันทึกเสียงไม่ชัดในฉากฝนตก ที่มีความยากในตัวมันอยู่แล้ว ซึ่งเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้น่าจะแก้ไขเสียงใหม่ในช่วงหลังการถ่ายทำด้วยคือ พากย์เสียงใหม่ทับ (ADR: Automated Dialog Replacement) แต่ออกมายังไม่สมบูรณ์นัก ความจริงแล้วสองปัญหานี้เกิดขึ้นได้กับหนังทั่วไป แต่ในเรื่องนี้เห็นเด่นชัด เพราะเกิดในฉากสำคัญและต้องใช้อารมณ์ร่วมอย่างสูงจากคนดู

 

ศิลปกรรมตกแต่งสถานที่ตามถนนหนทาง ร้านขายของ บ้านของนักดนตรี รวมทั้งร้านตัดผมตกแต่งได้เข้ากันอย่างลงตัว ผู้กำกับตั้งใจให้งานออกมาแบบโรแมนติกฉบับซูชิ เราจึงจะเห็นภาพหนัง งานสร้างและสถานที่ที่มีกลิ่นไอของความเป็นญี่ปุ่นชนบท

มนต์เสน่ห์สำคัญ ซึ่งน่าจะเป็นจุดแข็งของผู้กำกับนักร้องคนนี้คือเพลง แม้ครั้งนี้เพลงหลักไม่ได้แต่งขึ้นมาใหม่ แต่ก็สามารถเลือกและใช้เพลงหลักได้อย่างฉลาด รวมทั้งวางจังหวะเพลงได้เยี่ยม กลายเป็นจุดสำคัญที่สร้างพลังให้กับหนัง

“ฤดูที่ฉันเหงา” อาจไม่สามารถครองใจคนโสดในฤดูฝนนี้ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็สามารถให้ความบรรเทิงในวันฝนตกไม่มีอะไรทำได้ไม่ยาก


   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.