ประมาณสิบปีที่แล้วเคยมีคนกล่าวไว้ว่างานประพันธ์หรือเรื่องเล่าที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังเป็นละครมากที่สุด เห็นจะไม่มีอะไรเกินผีปอบ ซึ่งคงหนีไม่พ้นหนังเกรดบีบ้านผีปอบที่ทำถึงสิบกว่าภาค แต่ถ้าดูความเคลื่อนไหวของวงการหนังในช่วงสิบปีที่ผ่านมาแล้ว แม่นาคพระโขนงน่าจะเป็นงานประพันธ์หรือเรื่องเล่าที่ถูกนำมาสร้างเป็นงานศิลปะการแสดงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบหนัง ละครโทรทัศน์ หรือละครเวที
หลังจากนนทรีย์ นิมิบุตรสร้าง นางนาก เมื่อสิบห้าปีที่แล้ว แม่นาคก็ถูกนำมาทำเป็นแม่นาคสามมิติ แอนิเมชั่นนาค และเป็นละครเวทีอีกสองครั้ง โดยดรีมบ็อกซ์และเอ็กแซกท์ซีเนริโอ แต่ไม่มีครั้งใดที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นการตีความใหม่ เหมือนอย่างเวอร์ชั่นล่าสุดที่จะเล่าตำนานนี้ในมุมมองของพี่มากพระโขนง
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว การตีความใหม่ของตำนานแม่นาคนั้น เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่สุดอยู่สามเวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นหนังทดลอง แม่นาค โดยพิมพกา โตวิระ ที่นำเสนอว่าแม่นาคถูกกระทำบนจอภาพยนตร์มากที่สุด เวอร์ชั่น นางนาก โดยนนทรีย์ นิมิบุตร ซึ่งเปลี่ยนจากธีมไล่ล่าและวิ่งหนีระหว่างผีกับคน มาเน้นเรื่องราวความรัก เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นสารคดีที่มีความเป็นจริงไปได้ ไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นที่อย่างพระโขนงหรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แถมยังเสนอโครงสร้างแม่นาคใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ จากผมยาวกลายเป็นผมสั้น จากแม่นาค กลายเป็น นางนาก
อีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่น่าสนใจคือตำนานแม่นาคฉบับละครเวทีโดยดรีมบ็อกซ์นั้น ได้ให้ที่มาที่ไปของแม่นาคอย่างชัดเจน ว่าแม่นาคเป็นลูกคนรวยที่หนีตามพ่อมากมา มีเรื่องชนชั้นเข้ามาเกี่ยว เธออ่านออกเขียนได้ แต่มันไร้ประโยชน์เมื่อมาอยู่กับแม่ผัว ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผัวเมียคู่นี้ต้องแยกไปอยู่ตามลำพัง มีการกลั่นแกล้งไม่ให้หมอตำแยมาทำคลอดจนแม่นาคตายไปในที่สุด รวมทั้งต้นตอของข่าวลือความร้ายของผีแม่นาคนั้นมาจากแม่ผัวของตัวเอง
ทุกครั้งที่มีการเล่าขานตำนานแม่นาค พ่อมากเป็นเพียงตัวประกอบ อาจจะมีมิติอยู่บ้างก็เวอร์ชั่นนนทรีย์ที่ให้ภาพพ่อมากในสนามรบและขณะเจ็บป่วยต้องเข้าทำการรักษากับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต หรือเวอร์ชั่นละครเวทีของดรีมบ็อกซ์ ที่ทำให้พ่อมากอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างเมียกับแม่ รวมทั้งอาการตัดพ้อที่รู้ว่าแม่ของตนอยู่เบื้องหลังการตายของเมียตัวเอง
เวอร์ชั่นล่าสุดของบรรจง ปิสัญธนากุล น่าจะมีมิติและมุมมองของพี่มากมากที่สุดอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มาเพียงในตอนท้ายเท่านั้น โดยตลอดทั้งเรื่องนั้นก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองเพื่อน 4 คนของพี่มาก
หรือถ้าจะกล่าวโดยนัย นี่เป็นเรื่องราวของเพื่อนพี่มากกับประสบการณ์เจอผี โดยมีตำนานแม่นาคเป็นพล็อตรอง ซึ่งก็เป็นไปตามความตั้งใจของผู้กำกับและทีมงานที่ต้องการนำตัวละครทั้งสี่ที่เคยประสบความสำเร็จจากเรื่องสั้น คนกอง ใน 4 แพร่งมาเล่นในหนังฉบับยาว
พล็อตหลักของเรื่องนี้อยู่ที่การรับรู้ความจริงของเพื่อนพี่มากว่าแม่นาคเป็นผี หรือใครเป็นผีกันแน่ และเมื่อรู้แล้ว จะเล่าให้พี่มากรู้ได้อย่างไร ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าหนังจะเริ่มฉากแรกจากการตายของแม่นาคทันที จากนั้นมาล้วนเป็นเรื่องราวของพี่มากกับเพื่อนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพี่มากกับเพื่อนในสนามรบ การเดินทางกลับมาบ้าน และการพบปะกับชาวบ้านในฐานะผู้มาเยือน
พล็อตเพียงแค่นี้ก็ดำเนินไปได้มากกว่าค่อนเรื่อง เพราะหนังมีจุดประสงค์ให้เป็นหนังตลก ซึ่งทีมงานก็ทำได้สนุก หลายตอนชวนให้นึกถึง คนกอง ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ใครจะนอนริม ใครเป็นผีตัวจริง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าแม้จะมีความคล้ายคลึงกับของเก่าบ้าง แต่สถานการณ์ที่พลิกตลบไปตลบมานั้น ก็ยังเรียกเสียงหัวเราะได้เหมือนเดิม
บรรจงยังคงคุมโทนหนังได้สนุก ทั้งในเรื่องของบท การแสดงของนักแสดงหลักทั้ง 4 คน รวมทั้งการตัดต่อที่รองรับมุขตลกเหล่านั้นได้ หนังจึงเรียกเสียงฮาได้จากคนดูทุกเพศทุกวัย บรรจงรู้จักดึงจุดเด่นของนักแสดงสามคนหลักมาใช้ เขาคุมจังหวะของหนังได้ดีกว่าตอน คนกอง ด้วยซ้ำ
ในคนกองนั้น สถานการณ์ที่พลิกไปพลิกมาอย่างมากมายนั้น มันมากเกินไป จนทำให้รู้สึกเบื่อ ตอนนั้นอดรำพึงในใจไม่ได้ว่า จะพลิกไปถึงไหน เบื่อแล้ว แต่ใน พี่มากพระโขนง เขารู้จักตัดการพลิกของสถานการณ์ให้น้อยลง มีความพอเหมาะพอควรเลยทีเดียว
แต่เพราะตัวละครที่มีมากไป จึงทำให้ควาามสำคัญของตัวละครหลายคนหล่นหายไปบ้าง ไม่ต้องแปลกใจนักว่า ตัวพี่มากแทบจะไม่โดดเด่นอะไรเลยมากกว่าครึ่งเรื่อง หลายครั้งอดรู้สึกไม่ได้ว่ามาริโอ้ไม่มีพัฒนาการในการแสดงเลย บทพี่มากก็ไม่แตกต่างจากต๋องในรักเกิดในตลาดสด จนกระทั่งฉากสุดท้ายนั่นแหล่ะ เราถึงจะเห็นฝีมือของเขาโผล่มาให้เห็นบ้าง
สำหรับในประเด็นที่ว่าหนังมีการตีความใหม่นั้น ผู้เขียนไม่ได้คิดว่า พี่มากพระโขนง มีการตีความใหม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ จะมีก็เพียงสิบนาทีหลังเท่านั้น ก่อนหน้านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราเคยเห็นมาแล้วทั้งสิ้น เรื่องการเผชิญหน้าความจริงที่ว่าแม่นาคเป็นผี หรือการพยายามบอกความจริงกับพี่มากนั้น มันก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นฉากเล็ก ๆ ไม่สำคัญ ไม่ได้นำมาขยายและทำให้มันมีคุณภาพเท่ากับยุคจีทีเอช แม้แต่ประเด็นเรื่องความรักของคนทั้งสองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีเพียงสิบนาทีหลังเท่านั้นที่ถือได้ว่าเป็นมุมมองของพี่มากอย่างแท้จริง
การตีความใหม่ของตำนานแม่นาคจริง ๆ นั้น คือ เวอร์ชั่นนางนาก ของนนทรีย์ นิมิบุตร ที่ทำลายโครงสร้างตำนานวิ่งหนีระหว่างคนกับผีทั้งหมด นางนากไม่ใช่ผีน่ากลัวอีกต่อไป แต่เธอดูน่าสงสาร และนางนากเป็นเรื่องเล่าที่มีความเป็นจริงได้สูง เป็นการทำลายโครงสร้างเดิมทั้งหมด (deconstruction)
พี่มากพระโขนง น่าจะอยู่ในลักษณะของการเขียนใหม่ ขยายและเน้นจุดเก่าบางเรื่อง พร้อมทั้งเสนอมุมมองพี่มากในตอนจบ
่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจกลับไม่ใช่การเขียนที่่ผสมมุมมองใหม่ในตอนจบ แต่มันอยู่ที่การมองผ่านจากสายตาของคนข้างนอกที่เดินทางมาในหมู่บ้าน ซึ่งก็คือเพื่อนพ่อมากทั้ง 4 คน เพราะฉะนั้นเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นแม่นาคเจออะไรแปลก ๆ เช่นถูกขโมยของ ถูกจีบ ซึ่งก็เพื่อตอบโจทย์ที่ต้องการทำให้เป็นหนังตลก ไม่ใช่เป็นผีที่น่ากลัวเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตำนานแม่นาคเลยก็ว่าได้
และเพราะว่าการเผชิญหน้ากับผีแม่นาคครั้งนี้เป็นคนภายนอกส่วนใหญ่ จึงทำให้เกิดการยอมรับผีตนนี้เกิดขึ้นได้ในที่สุด เพราะทั้งผีและคนที่ถูกผีหลอก ต่างก็เป็นคนนอกของชุมชนนั้น ซึ่งจุดนี้มีความน่าสนใจกว่าและสามารถนำไปวิเคราะห์ในเชิงวิชาการขั้นสูงได้
หรือจะกล่าวได้อีกนัยว่า พี่มากพระโขนง เป็นการรื้อฟื้นประเภทหนังที่เคยได้รับความนิยมมาตลอดในวัฒนธรรมการดูหนังของคนไทย (ได้แก่ หนังผี หนังบู๊ หนังตลก และหนังดราม่า ก่อนที่หนังดราม่าจะเสื่อมความนิยมลง แต่ไปลงที่จอแก้วแทน) มาจัดระเบียบใหม่ แทรกมุมมองใหม่ลงไป ซึ่งในเวอร์ชั่นนี้คือการเล่าผ่านสายตาของผู้ชายและคนภายนอก และปรับให้เป็นหนังคุณภาพ
และนี่คือเหตุผลที่ทำให้หนังกวาดเงินไปกว่าร้อยล้านใน 4 วันแรก
-----
- ข้อมูลเกี่ยวกับแม่นาคพระโขนงในระดับสากล ตำนานผีตายทั้งกลมและกลับมาใหม่นั้น เป็นวัฒนธรรมร่วมของเอเชีย ซึ่งพบในหลาย ๆ ประเทศ และมีหนังผีที่คล้ายกับแม่นาคในหนังเอเชียหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
- นางนาก ของนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นที่นิยมในมาเลเซียมาก จนคนทั่วไปที่ไม่ใช่คอหนังก็รู้จัก และผู้กำกับหญิงมาเลเซียได้นำตำนานผีแม่นาคฉบับมาเลย์ ขึ้นมาสร้างตาม แต่เจออุปสรรคของศาสนาอิสลามที่ไม่สนับสนุนการนับถือผี จนถูกเซ็นเซอร์ตัดจนแทบไม่เหลืออะไร
- หลังจาก นางนาก มีอาจารย์จากญี่ปุ่นมาค้นคว้าในเรื่องนี้ เพราะตำนานนี้ไปคล้ายผีที่ญี่ปุ่น |