คราวที่แล้ว ดิฉันได้วิจารณ์ จันดาราปฐมบท โดยใช้มุมมองศิลปะเปรียบเทียบกับงานประพันธ์ต้นฉบับของอุษณีย์ เพลิงธรรม และภาพยนตร์ฉบับนนทรีย์ นิมิบุตร
เพื่อความเป็นธรรม คราวนี้เราจะตัดมุมมองดังกล่าวทิ้งให้หมด แต่พิจารณาเฉพาะตัวภาพยนตร์ในส่วนของหม่อมน้อย เพราะการสร้างภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันเน้น การตีความใหม่ ซึ่งเราก็น่าจะให้โอกาสกับหม่อมน้อยในส่วนนี้
ผลปรากฎว่า อาการมันยิ่งหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะในส่วนของภาคปัจฉิมบท
คราวที่แล้ว จันดาราปฐมบท ยังมีมุมมองในเชิงจิตวิทยาหรือปมโอดิปุสโผล่มาให้เห็น ให้เราเข้าใจ คราวนี้มันแทบไม่มีอะไรเลย ไม่รู้ว่าหนังจะไปทางไหน และมีโจทย์อะไรในใจผู้กำกับที่ใช้กำหนดแนวทางของหนัง
เพราะหนังเต็มไปด้วยการเล่าเรื่องที่ไร้ทิศทาง ความไร้เหตุและผลของบทกับองค์ประกอบ ความไม่สมดุลย์ในการพัฒนาตัวละคร การแสดงอันอ่อนหัด ไม่ต้องพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของต้นฉบับที่ถูกทำลายแทบทั้งหมด
อันที่จริงแล้ว ปีนี้มีภาพยนตร์ที่ใช้ศาสตร์ของการตีความใหม่หลายเรื่อง ซึ่งทุกครั้งผู้กำกับต่างมีโจทย์หรือแกนในการวางกรอบความหมายใหม่ อาทิ พี่มากพระโขนง ก็ เน้นการเล่าตำนานแม่นาคในมุมมองของพ่อมาก รวมทั้งใช้กรอบของหนังตลก ขณะที่ คู่กรรมฉบับเรียวกิตติกร ก็เน้นมุมมองของโกโบริพร้อมโจทย์แนวหนังรักเกาหลี
แต่จันดารา ปัจฉิมบท เป็นหนังที่ไม่มีทิศทาง ไร้แกนหรือโจทย์ในการตีความใหม่นี้
เมื่อครั้งที่ชม จันดาราปฐมบท นั้น อดรู้สึกไม่ได้ว่ากำลังดูละครโศกนาฎกรรมแบบกรีก แต่ไม่ชัดเจน เพราะความรู้เรื่องโศกนาฏกรรมกรีกของตนเองเริ่มจางหายไป จนกระทั่งกลับมาทำการบ้านใหม่ ก่อนไปชมหนังภาคล่าสุด ก็ให้เห็นว่าครึ่งแรกของภาคสุดท้ายนั้นมีมิติของละครโศกนาฏกรรมแบบกรีก (Greek tragedy) เป็นโจทย์นำทางในการตีความใหม่
เพียงแต่การบังคับให้ดำเนินตามโจทย์ใหม่นี้ไม่สัมฤทธิ์ผล
ตามแนวทางของละครโศกนาฏกรรมกรีกนั้น นิยมใช้เรื่องราวของคนมีชื่อเสียงหรือผู้มีอำนาจมาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายที่บุคคลหนึ่งจะพึงประสบ ผู้ชมในฐานะผู้ร่วมเหตุการณ์ ก็จะรับรู้ถึงโศกนาฏกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย และยอมรับว่ามันเป็นบัญชาจากพระเจ้า แล้วผู้ชมก็จะเข้าใจว่าทำไมตัวละครจะต้องก่ออาชญากรรมเช่นนั้น แนวละครเช่นนี้มักจะมีจุดเริ่มต้นด้วยบทเกริ่น หรือ prologue ที่ตัวละครจะมากล่าวแนะนำเรื่องและเบื้องหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังตามมา ก่อนที่จะตามมาด้วยตอนต่อ parados (มักจะแบ่งออกเป็น 3 องค์) และตอนจบที่เรียกว่า exodus
จันดารา ทั้งปฐมบทและปัจฉิมบท ต่างดำเนินตามแนวทางของโศกนาฏกรรมกรีกทั้งหมด ตั้งแต่ภาพแรกที่จันในวัยชรามาแนะนำและเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา จันเองก็เป็นคนมีอำนาจในสังคม โศกนาฏกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา ล้วนเป็นกรรมตามหลักพุทธ ไม่แตกต่างจากบัญชาของพระเจ้าในคริสต์ศาสนา
แต่ปัญหาก็คือหม่อมน้อยประสบความล้มเหลวในการสร้างพลังโศกนาฏกรรมแบบกรีกทุกอย่าง จนไม่สามารถทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในลิขิตแห่งพระเจ้าหรือกรรมตามศาสนาพุทธ
ประการแรก ความไร้เหตุและผลของบทกับองค์ประกอบ ซึ่งเยอะมากโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของภาคปัจฉิมบท ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหตุผลที่นายจอม กล่าวอ้างในการลักพาตัวดารา แม่ของจันนั้น มันช่างไร้สาระอย่างถึงที่สุด เช่นเดียวกับเหตุผลที่คุณบุญเลื่องยอมรับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศของคุณแก้ว กลายเป็นผู้ใหญ่ถูกกระทำ ยังไม่รวมหน้าตาและเครื่องแต่งกายของเหล่าโจรที่เป็นลูกครึ่ง (พอจะเข้าใจอยู่ว่าต้องการให้้คนดูรู้สึกว่าทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นพ่อของไอ้จันทั้งสิ้น) ชวนให้นึกถึงเคาบอยฉบับ ฟ้าทะลายโจร (แต่เหล่าลูกสมุนใน ฟ้าทะลายโจร หน้าตาเป็นโจรห้าร้อยกว่าสมุนของคุณจอมมากนะคะ)
รวมทั้งบทพูดหลาย ๆ ตอนที่น่าจะเป็นคำพูดของตลกคาเฟ่มากกว่าจะหลุดจากปากของคุณจันหรือคุณบุญเลื่อง ดิฉันหัวเราะก๊ากทันทีที่คุณจันบอกให้คุณบุญเลื่องช่วยเอาน้ำแข็งถูหลังให้หน่อย แถมฉากสุดท้ายที่คุณบุญเลื่องบอกลาคุณจัน ยังหยอกแกมเอ็นดูว่าให้หาสาว ๆ มาช่วยเอาน้ำแข็งถูหลังให้
การถูหลังด้วยน้ำแข็งกลายเป็นเรื่องสามัญประจำบ้าน "พิจิตรรักษา" ไป
แถมรูปคุณท้าวพิจิตรรักษาที่ย้ำเตือน ภารกิจแห่งชาติ ที่จันจะต้องทำเพื่อล้างแค้นให้บรรพบุรุษนั้น มันทำให้คนหัวเราะกันทั้งโรงทุกครั้งที่เห็น
ความไม่สมดุลย์ในการพัฒนาตัวละครกับการแสดงอันอ่อนหัดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ แม้แต่ตัวจัน ดาราเอง ในภาคปฐมบท จันยังดูบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา แต่ในภาคนี้ ดูเหมือนจันจะมีพัฒนาการทางด้านจิต ด้วยการแสวงหาธรรมะ ก่อนที่จะมาเลวร้ายเพราะคำสอนของคุณท้าว อ้าว ตอนหลังกลับมาตลกอีก
บทของคุณแก้วก็อีกหนึ่ง ดิฉันจำได้ว่าภาคที่แล้วเธอเป็นรักร่วมเพศ แต่ตอนจันถูกไล่ออกจากบ้าน เธอก็มั่วกับหนุ่มผู้ชายในบ้าน ตอนหลังเธอมารักกับลูกพี่ลูกน้องจนท้อง อ้าวตอนหลังยิ่งอาการหนัก กลายเป็น ทอม ไปเลย
ตกลงคุณจันกับคุณแก้วจะเอาอย่างไรคะ บุญเขื่องตามไม่ทันค่ะ
หลาย ๆ ตอนในหนังทำได้ดี แต่เพราะเน้นผิดทาง จนทำให้อารมณ์ที่น่าจะดีกลับหล่นหายไป ยกตัวอย่างง่าย ๆ ความรู้สึกของจันเมื่อทราบความจริงเรื่องที่แม่ถูกข่มขืนนั้น ถ้าไม่ให้จันร้องไห้ฟูมฟาย แต่ทำให้เป็นความขมขื่นในใจของเขา มันจะสร้างพลังให้กับคนดูมากกว่า
ดิฉันจำได้ว่า ตอนดูหนังฉบับนนทรีย์นั้น ตัวเองร้องไห้กับฉากนี้ ซึ่งมีเพียงคำบอกเล่าำของจัน ก่อนที่จะตัดมาที่แม่ถูกโจรห้าร้อยเรียงคิวเข้ามาหา ผู้หญิงยังไงก็เป็นเหยื่อการกระทำของผู้ชาย นั่นคือความรู้สึกของดิฉันในตอนนั้น ก่อนที่น้ำตาจะไหลออกมาอย่างเงียบ ๆ ...เป็นความขมขื่นในชะตาของผู้หญิง ไม่แตกต่างจากความรู้สึกของจันกับกำเนิดของตน
ถ้าจะมีสิ่งดีในหนัง (อ่า ยังหาได้อีกแน่ะ) คงจะเป็นความหมายที่แฝงในหนัง (ซึ่งไม่รู้ใครจะอ่านออกได้อย่างดิฉันหรือเปล่า) เห็นจะเป็นเรื่องการรับกรรมของเด็กที่เกิดจากการกระทำของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจัน คุณแก้ว หรือแม้แต่ปรีย์
เพราะการกระทำที่เลวร้ายของผู้ใหญ่ เด็กทุกคนกลายเป็นผู้รับกรรม จนี่บ้านหลังนี้ไร้ผู้สืบสกุลในที่สุด
อีกจุดหนึ่งคือการเมืองเรื่องเพศในหนังเรื่องนี้ ผู้กุมอำนาจในบ้านวิสนันท์และพิจิตรรักษา ซึ่งแต่เดิมอยู่ในมือของผู้หญิงอย่างดารา (แม่ของจัน) และคุณท้าวพิจิตรรักษา นั้นเคยร่มเย็นและอยู่เย็นเป็นสุข แต่หลังจากที่ตกอยู่ในมือของคุณหลวง และจันแล้ว
บ้านถึงจุดล่มสลาย
หลังจากดูหนังแล้ว ดิฉันคิดว่าหม่อมน้อยควรจะหยุดเร่งทำหนังสักพัก อันที่จริงหม่อมก็ยังเป็นคนมีฝีมือ ที่โผล่ออกมาให้เห็นเป็นจุด ๆ แต่เพราะหม่อมเร่งทำหนังมากเกินไปใน 2-3 ปีนี้ ผลงานก็เลยกลายเป็นอะไรอันแสนพิลึกพิลั่น
กลายเป็น จันดาราฉบับขบขันไปในที่สุด
|