
ในโลกของการเดินทาง มีบางมิติที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ ถ้าไม่เคยใช้ชีวิิตแบบโชกโชนจริง ๆ .....หลายคนเดินทางเพราะเลือดผจญภัยในตัว ขณะที่หลายคนเลือกเพราะเป็นความใฝ่ฝันที่จะต้องก้าวให้ถึง และอีกหลายคนเลือกเพราะต้องการ หนี
หนีอะไรบางอย่างที่บางคน หรือจะเรียกได้ว่าส่วนใหญ่ไม่เคยพ้น ท่ามกลางบรรยากาศใหม่ ๆ ที่อาจสร้างความตื่นตาตื่นใจ หรือกระตุ้นให้ระวังตัว อาจทำให้้เขา ลืม เรื่องราวเหล่านั้นไปได้ ชั่วขณะ ...โดยไม่รู้ตัวเลยว่า ยิ่งหนี ก็ยิ่งตาม เพราะพวกเขานั่นแหล่ะ คือ ผู้ แบก แผลเหล่านั้นติดตัวไปตลอดเวลา
หลายคนไม่เคยค้นพบชนวนเหตุเหล่านี้ และยังคงหนีไปตลอดชีวิต
ขณะที่อีกหลายคน ค้นพบมัน และ เผชิญหน้า กับมันในที่สุด ซึ่งบางครั้ง มันไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ใกล้ตัวเกินกว่าที่เขาคิด
และเท่าที่ผ่านมา หนังการเดินทางของไทยในรอบหลายปีไม่เคยสะท้อนให้เห็นสิ่งเหล่านี้ได้เลย ด้วยโจทย์บางอย่างที่บังคับให้ผู้สร้างและผู้เขียนบทยับยั้งที่จะรวมสิ่งเหล่านี้ไว้
การเดินทางสู่ ชัมบาลา เมื่อวานนี้ จึงเต็มไปด้วยความไม่คาดหวัง (เพราะความใหม่และอายุของผู้กำกับ) และตั้งแง่ (เพราะคิดว่าสตูดิโอคงไม่กล้ามาจับประเด็นที่ไม่น่าจะทำเงินเหล่านี้)
ตั้งแง่ไปตั้งแง่มา บางสิ่งบางอย่างก็ทะลักออกมาในฉากที่ทิน (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) นอนเมามองฟ้าและ แผล ในใจเริ่มถูกเปิด
หลังจากนั้น อาการตั้งแง่ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นศิโรราบ
บนเส้นทางการกำักับโดยปัญจพงศ์ คงคาน้อย อาจจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิด แต่ในเส้นทางของนักเดินทาง เขาสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของนักเดินทางได้อย่างดีเยี่ยม
โดยเฉพาะเมื่อหนังเดินมาถึงช่วงครึ่งหลัง
ช่วงแรกของหนังดูเหมือนสารคดีท่องเที่ยวที่เผอิญมีพิธีกรเป็นพี่น้องสองคนที่ชอบทะเลาะกัน
ช่วงหลังถ่ายทอดให้เห็นทั้งความสูญเสีย ความเจ็บปวด และการเผชิญหน้าของนักเดินทางกลุ่มหนึ่งได้อย่างละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง
เพียงแต่ว่าเรื่องราวที่เป็นปมในใจและการแก้ปมของทินและวุฒิ มีลักษณะเหมือนละครมากไปหน่อย ยิ่งให้ "ชัมบาลา" ดินแดนใกล้สวรรค์มากที่สุด กลายเป็นจุดแก้ปมในใจของคนทั้งสอง ดูเปราะบางอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเป็นอย่างไร คงต้องไปดูกันเองอีกที
เพราะในชีวิตจริงนั้น ปมและการแก้ปัญหาของนักเดินทางหลายคนนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องแค่นิดเดียวที่พวกเขาไม่อาจสลัดให้พ้นจากตัวได้ และบางครั้งก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่น่าเชื่อว่าคน ๆ หนึ่งจะแบกรับมันไหว
รวมทั้งจิตวิญญาณ ความเชื่อแบบทิเบตนั้น ยังถ่ายทอดออกมาไม่สะดุดใจเท่าที่ควร ถ้าไม่ใช่คนที่เคยผ่านวัดมาก่อน อาจจะไม่เข้าใจเลยก็ว่าได้ มองไปว่าเป็นความงมงายด้วยซ้ำ
แต่อยากบอกว่า ในช่วงที่เผชิญกับปัญหาในชีวิต หลายคนก็เลือกงมงายไม่แตกต่างกันนักหรอกค่ะ ดูดี ๆ
นอกจากธีมหลักที่สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของนักเดินทางตัวจริง ผู้เขียนชอบในความสัมพันธ์ของพี่น้องสองคน ซึ่งถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก เราเห็นความคุ้นเคยแบบพี่น้อง แบบรู้ทันกัน โดยเฉพาะตอนที่วุฒิรำพึงกับตัวเอง เมื่อเห็นพี่ชายคว้าเจนไว้เองทั้งที่บอกว่าจะจีบให้
.ชวนให้นึกถึงตอนแม่กัดพวกเราว่า กล้าพูดกันนะลูก ๆ แต่ม่าม๊าไม่กล้าฟัง (จริง ๆ แล้ว ม่าม๊าบอกว่า "พวกมรึงกล้าพูด แต่กรูไม่กล้าฟัง)
ภาษาไทยเขาเรียกว่าอะไรคะ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า intimacy
แบบนี้เลยล่ะค่ะ

นักแสดงหลักทั้ง 4 คน ไม่ว่าจะเป็น ทิน (อนันดา) วุฒิ (ซันนี่) น้ำ (ฝน) และเจน (โอชา) ถ่ายทอดบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ แต่อาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นนะคะ ชอบบทของน้ำมาก ใช่เลยล่ะ เวลาไปถึงไหน อารมณ์แบบนั้นเลย อยากโทรหาใครบางคน อยากตะโกนลั่นคนเดียว
แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจน่ะว่า คนดูทั่วไปที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้ จะเห็น จะเข้าใจอย่างที่ตัวเองเห็นหรือเปล่า เพราะเรื่องหลายเรื่องในชีวิต มันต้องเจอเองจริง ๆ ถึงจะเข้าใจ
ในฐานะคนดูหนัง ชัมบาลามีมิติบางอย่างที่ละเอียดอ่อน น่าสัมผัส แม้อาจจะมีจุดล้าสมัยที่เป็นขนบอยู่บ้าง
แต่ในฐาะนะนักเดินทาง ชัมบาลา คือหนังการเดินทางของไทยที่ดีที่สุดในรอบหลายปี
|