สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
วิจารณ์ 30+ โสด ออนเซลส์
  สรดิเทพ ศุภจรรยา / 13 ตุลาคม 2554
  LINK : เมนูข้อมููล 30 บวกโสด ออนเซลส์  
 
Share |
Print 
 

 

 

ด้วยสังคม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ผู้หญิงไทยครองความโสดกันนานขึ้น ทำให้อัตราการเพิ่มจำนวนของสาวๆกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่วงการภาพยนตร์ไทยจะเริ่มสะท้อนความคิด ความต้องการ และความวิตกกังวล(เรื่องความโสด)ของพวกเธอ ผ่านทางตัวหนัง อย่าง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ที่ประสบความสำเร็จทางรายได้อย่างสวยงามเมื่อ 2 ปีก่อน จนถึง “30+ โสด On Sale” หนังล่าสุดของค่ายสหมงคลฟิล์ม และ “30 กำลังแจ๋ว” ของค่ายเอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ ที่กำลังจ่อคิวเข้าฉายตามกันมาติดๆ

และด้วยความที่ทั้ง 3 เรื่องเป็นหนังรักของสาว (โสด) วัย 30 เหมือนกัน จึงเป็นไปได้ยาก ที่จะห้ามไม่ให้ทั้งคนดูและผู้เขียนนำเอาทั้ง 3 เรื่องนี้มาเปรียบเทียบกันตรงๆ ยิ่งไปกว่านั้น จากความสำเร็จของ “รถไฟฟ้าฯ” ทำให้คนดูตั้งความคาดหวังจากหนังอีกทั้ง 2 เรื่องไว้สูงไม่แพ้กัน

เมื่อลองนำมาเปรียบเทียบกันจริงๆ ในขณะที่ “รถไฟฟ้าฯ” มีความพอดีของบท จังหวะการแสดง และการคัดเลือกนักแสดง “30+ โสด On Sale” ยังขาดๆเกินๆในหลายๆด้าน

ในแง่ของบท “รถไฟฟ้าฯ” ให้ความสำคัญที่ตัวนางเอกคนเดียว เธอเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ส่วน พระเอก เพื่อนๆ ครอบครัว งาน ทั้งหมดเป็นเพียงตัวประกอบที่โคจรรอบๆตัวเธอ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนดูเข้าถึงตัวละครได้ไม่ยากเท่าไรนัก เพราะเขาสามารถมองเห็นความเป็นตัวเอง ความคิด-ความฝัน ที่อยู่ในตัวละครของ คริส หอวัง แต่สำหรับ “30+ โสด On Sale” หนังให้น้ำหนักกับบทของนางเอกน้อยเกินไป ทั้งยังเพิ่มเรื่องของพระเอกและเพื่อนนางเอกเข้ามาอีกมาก จนทำให้ตัวหนังกลายเป็นเหมือนหนังรักโรแมนติกคอมมะดี้ธรรมดาเรื่องหนึ่งที่บังเอิญนางเอกอายุเกิน 30 เท่านั้นเอง

จริงๆ “30+ โสด On Sale” เริ่มเรื่องได้ดี พลอย-เฌอมาลย์ แสดงเป็น อิง สาวยุคใหม่ สวย มั่นใจ การงานรุ่ง แต่ดันมาถูกแฟนหนุ่มที่คบหากันมานาน บอกเลิกอย่างไม่ทันตั้งตัว ลองไปนั่งปฏิบัติธรรมก็แล้ว เดทกับผู้ชายใหม่ๆก็แล้ว “คาน” ก็ยังคงถามหาไม่หยุด จนมาได้ที่พึ่งสุดท้ายที่สาวๆมักจะใช้เป็นที่พักพิงทางใจเวลาหมดหนทาง นั่นคือ หมอดู ซึ่งทำให้อิงได้เจอกับ จืด (เป้-อารักษ์) พ่อค้าขายหมูปิ้งที่ดูดวงเป็นงานอดิเรก และจากความใกล้ชิดก็เริ่มพัฒนากลายมาเป็นความผูกพัน

แต่แทนที่บทจะยังคงเน้นที่ตัวอิงและด้านอื่นๆของเธอ เช่น ครอบครัว (พ่อแม่คาดหวังให้อิงรีบแต่งงานหรือเปล่า) เพื่อน (ไปงานแต่งงานบ่อยมากหรือเปล่า) และงาน (การสละโสดเป็นอุปสรรคต่อการก้าวหน้าหรือเปล่า) เธอหายไปจากจอหลายครั้ง เรากลับเห็นจืดมากขึ้น ความรู้สึกลับๆที่มีให้อิง (ฉากเล่นกีตาร์) การแข่งขันชนะใจอิงกับหนุ่มไฮโซมาดเท่ (ฉากงานแต่งงานเพื่อน) ครอบครัวที่เหมือนจะมีน้องสาวกันแค่ 2 คน (ฉากกินข้าวที่บ้าน) และการที่ถูกเพื่อนอิงจีบ (ฉากเพื่อนอิงมาดูดวง) ทำให้หนังที่เนื้อเรื่องควรจะเป็นของผู้หญิงวัยใกล้ 30 กลายเป็นหนังรักของคน 2 คนแทน

จังหวะการเดินเรื่องยังมีสะดุดบ้าง บางฉากที่ควรจะตัดให้สั้นกลับถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไป อย่างฉากที่อิงไล่แฟนเก่าลงจากรถก็ยังคงเล่ายาวต่อ แต่ไปเน้นที่ตัวแฟนเก่าเป็นหลัก ฉากที่อิงเดินแฟชั่นเล็กๆในคอนโดตัวเองก็ดูยาวจนเกินไปและไม่ได้เพิ่มอะไรให้พล็อตเรื่องเลย หรือฉากที่อิงควงจืดไปซื้อรองเท้าก็เหมือนจะตั้งใจให้ขำแต่ก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไร เช่นกัน

ในแง่ของการแสดง พลอย โอเวอร์แอคติ้งในหลายๆฉาก ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ร้องไห้ตาบวมอยู่บนเตียงกินพิซซ่าอย่างไม่กลัวอ้วน หรือตอนทำท่างอนทะเลาะกับจืดในตอนแรกที่มาดูดวง เธอใส่อารมณ์เกินสถานการณ์จนทำให้ตัวละครเป็นเหมือนตัวการ์ตูนล้อเลียน แต่บางฉากเธอก็สื่ออารมณ์ได้ดี อย่างตอนที่โทรศัพท์ไปด่าแฟนเก่าในห้องน้ำ หรือตอนที่สองจิตสองใจว่าจะลบอีเมล์จากแฟนเก่าออกจากอินบ็อกซ์ดีหรือเปล่า ส่วน เป้-อารักษ์ แสดงแนวกวนๆได้ดี อย่างในฉากที่ดูดวงให้อิงในตอนต้นเรื่อง แต่เขาก็ยังไม่สามารถสื่ออารมณ์ได้เต็มที่ในฉากที่เป็นดราม่า

 



ในแง่ของตัวนักแสดงเอง พลอยดูไม่เหมาะกับบทนี้ เธอดูสวย เก่ง และมั่นใจมากกว่าที่หญิงไทยส่วนมากจะมองตัวเองเป็นแบบตัวละครนั้น บวกกับการที่พระเอกซึ่งไม่ได้เป็นคนหล่อมากมาย จะมาชอบเธอก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ต่างกันกับ คริส ใน “รถไฟฟ้าฯ” ที่คนดูเข้าถึงได้เพราะเธอไม่ได้สวยมากแต่มีความหมวยน่ารักใสๆ ตลกๆ อย่างที่หญิงไทยส่วนมากมองตัวเองเป็นอย่างนั้น และการที่สุดหล่ออย่าง เคน ธีรเดช มาชอบเธอได้นั้นมันก็เหมือนฝันที่เป็นจริง

จะว่าไปแล้ว “รถไฟฟ้าฯ” เป็นเรื่องที่ขายความฝัน ว่าสักวันจะมีโอกาสได้คบกับหนุ่ม “หล่อทะลุแป้ง” อย่าง เคน ธีรเดช บ้าง แต่ “30+ โสด On Sale” ขายความเป็นจริง ว่าคนที่ใช่ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟคที่สุดแต่อาจเป็นคนที่อยู่ใกล้ๆตัวเรานี่เอง ก็เป็นคนละมุมมองแล้วแต่ใครจะชอบ ความฝันย่อมมีพลังมากกว่าความจริง แต่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องยอมรับมันให้ได้

“30+ โสด On Sale” หนังเจาะกลุ่มสาว (โสด) วัยใกล้ 30 ที่ให้เสียงหัวเราะบ้าง ซึ้งบ้าง แต่ขาดๆเกินๆในหลายๆด้าน จึงยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เราคงต้องรอดูต่อไปว่า หนังอีกเรื่องที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มสาว (โสด) วัย 30 เหมือนกัน จะเป็นอย่างไร

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.