
ก่อนอื่นดิฉันขอบอกก่อนสักนิดว่า สิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้ เป็นมุมมองส่วนตัวล้วน ๆ มุมมองของคนที่เคยเลือกเมืองนอกเพื่อจะหนีจากเมืองไทย และเพราะเงินที่มีอยู่จำกัด ก็เลยต้องใช้ชีวิตเป็นพวกแบกเป้ไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้อาจจะไม่เหมือนใคร และคงจะเป็นที่ถูกด่าอย่างแน่นอน
หนีตามกาลิเลโอ เป็นหนังที่ดิฉันตั้งตารอคอยและคาดหวังมากที่สุด เพราะฉะนั้นแม้เมื่อน้องณ็อบจะรีบเขียนวิจารณ์มาให้ แต่ดิฉันก็รีบไปดูหนังตั้งแต่วันแรก พอดูแล้ว ก็ต้องรีบเขียนทันทีเหมือนกัน
“ในหนังไทยละครไทยหลายเรื่อง มักจะใช้สนามบินในฉากจบที่แฮ็ปปี้เอ็นดิ้งเสมอ แต่ในชีวิตจริงของคนหลาย ๆ คน สนามบิน คือ การเริ่มต้น ”
ดิฉันเปิดสมุดบันทึกที่เคยเขียนไว้ในวันนั้นขึ้นมาดูอีกครั้ง วันที่ตัดสินใจหนีออกจากเมืองไทย
"ฉันกอดเนา …เพื่อนสนิทคนเดียวที่แอบฝืนคำสั่งไปส่ง เป็นครั้งสุดท้าย ปล่อยเธอออก เดินมุ่งไปยังประตูผู้โดยสารขาออก อย่างแน่วแน่ ศรีษะก้มต่ำ ไม่หันไปมองเนา …เพียงเพื่อที่จะไม่ให้ใครเห็น หยดน้ำตาหยดหนึ่งกำลังกระทบกับปลายเท้า
เราต่างมีประสบการณ์ที่จะหนีไปตายเอาดาบหน้าเหมือนกัน ประกอบกับเรื่องย่อที่ได้อ่านมาก่อนหน้านั้น ทำให้ดิฉันคาดหวังว่า หนีตามกาลิเลโอ จะเสนอภาพของคนที่มีแผล แล้วพยายามจะ “ก้าวผ่าน” วันเวลาแห่งความเจ็บปวดนั้น โดยใช้สนามต่างแดนเป็นที่รักษาเยียวยา ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการลงโทษตนเองเสียมากกว่า
และถ้าหนังไปเน้นธีมตรงนั้นแล้ว หนังจะออกมาเป็นอีกแบบ เราเท่านั้นเองคือผู้ที่แบกเมืองไทยไปกับเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยลืม เพียงแต่เราเปลี่ยนสถานที่และเวลาที่จะคิดถึงมัน จนกว่า ถึงวันที่เราจะค้นพบจุดสว่างในชีวิต เผชิญหน้ากับมันด้วยตัวของเราเอง
ในช่วงที่หนีจากเมืองไทยนั้น ดิฉันเคยดูหนัง Happy Together ของหว่องกาไวในความรู้สึกที่เปลี่ยนไป เคยเสียน้ำตาอย่างหนักเมื่อเหลียงเฉาเหว่ยบอกว่า เขาเลือกทำงานกะกลางคืนในโรงแล่เนื้อ เพียงเพราะว่ามันเป็นเวลาเดียวกับฮ่องกง และถ้ามองไปทางที่ตั้งของฮ่องกง ซึ่งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ฮ่องกงในขณะนั้นกำลังตีลังกา สวนทางกับอาร์เจนติน่า
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เขาคนนี้กลับนึกถึงบ้านตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อถึงฉากจบ ...เขาเลือกที่จะโทรศัพท์กลับหาพ่อ เขายิ้ม และตัดสินใจกลับบ้าน
นั่นแหล่ะคือความรู้สึกของคนเหงา ที่คิดถึงบ้านอย่างหนัก คนที่อยู่ไกลบ้านจะเหมือนกันหมด …คิดถึงบ้านเป็นเรื่องสามัญประจำวัน บางครั้งใช้วิธีทำงานหนักให้ลืม บางคนใช้วิธีกินเหล้าเมายา ขณะที่บางคนก็ใช้วิธีแปลก ๆ ที่อาจจะไม่รู้จักตนเอง ดิฉันพบว่า หลายเมืองที่ดิฉันไปอยู่ ฉันมักจะเช่าบ้านที่อยู่ใกล้สนามบิน หรือสถานีรถไฟเสมอ ที่เซาท์แฮมตัน ฉันต้องขี่จักรยานไปสนามบินเล็ก ๆ ทุกอาทิตย์ ซึ่งไม่มีอะไรเลย เพียงเพื่อที่จะไปดูเครื่องบิน เพราะมันเป็นสัญญลักษณ์อย่างเดียวที่เชื่อมต่อเรากับที่บ้าน ที่กัวลาลัมเปอร์ ฉันมักจะเดินไปสถานีรถไฟเสมอ เพียงเพื่อจะเห็นคำว่า "หาดใหญ่"
แล้ว หนีตามกาลิเลโอ นำเสนออะไร
หนังดูจะเน้นความทุกข์ยากและความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนของสาวในต่างแดน บวกกับความรักใหม่ของตัวละครเสียมากกว่า
เพราะหนังเน้นถึงซับพล็อต 3 อย่าง ทำให้การเก็บรายละเอียดบางอย่างหายไป
ความทุกข์ยากของภาพไทยในต่างแดนดูเหมือนจะชัดเจนมากที่สุดในฉากที่อังกฤษ ซึ่งหนังก็ได้เก็บรายละเอียดตรงนี้ได้เกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “โฮมลง” (หมายถึง Home Office ซึ่งเป็นกองควบคุมคนต่างด้าวที่อังกฤษ) ความพยายามที่จะต้องหนีการถูกจับอยู่ทุกฝีก้าว การเอาเปรียบของเจ้าของร้านอาหารไทยในต่างแดน ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะบางคนก็เป็นเพียงอดีตเมียเช่าฝรั่งที่ได้ดี ก็เลยอาจจะกดขี่คนไทยด้วยกัน หรือแม้แต่การทำงานในร้านอาหารไทยที่รวมไปถึงขัดส้วม
พอมาถึงปารีส หนังเปลี่ยนไปเน้นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและความรักใหม่แทน โดยมีสถานที่เป็นเพียงตัวเสริมที่จะดำเนินเรื่องเท่านั้น ซับพล็อตตรงนี้มันก็ไม่ได้แตกต่างกันถ้าจะมาเกิดที่กรุงเทพหรือเมืองไทย
เช่นเดียวกับเวนิซ ที่ยังคงเน้นประเด็นความยากจนและมิตรภาพเป็นตัวดำเนินหลัก
ปัญหาของ หนีตามกาลิเลโอ ก็คือ บทมีรายละเอียดดี ๆ บางอย่างมากเกินไป แล้วคนเขียนรู้สึกเสียดาย แค่เอ่ยถึง ไม่ได้นำมาเน้น มาขยาย ทำให้ความรู้สึกที่เราจะเกิดขึ้นตรงนั้น มันไม่เต็มที่
ตั้งแต่ความรู้สึกจากพ่อของเชอรี่ที่ไม่พูด ไม่ยิ้ม เหมือนไม่รู้สึกอะไร แตกต่างจากพ่อของนุ่นที่สั่งห้ามไว้อย่างชัดเจน แต่จริง ๆ แล้ว พ่อไม่อยากให้เชอรี่ไปเลย
ตัวละครอย่างพี่ (ลืมชื่อค่ะ) ซึ่งทำงานในครัวที่ร้านไทย ที่บันทึกวันเวลาที่อยู่ในอังกฤษเป็นวัน แทนที่จะเป็นปี มันแสดงความคิดถึงบ้าน เขามาอยู่ที่นั่นนานเกินไป
ตัวละครอย่างตั้ม (เร) ที่เลือกใช้ชีวิตแบบแปลก ๆ ในปารีส
ชีวิตที่ต้องระมัดระวังในการเดินทางแบบพวกแบกเป้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในโฮสเต็ล ซึ่งดิฉันว่าค่อนข้างจะผิวเผิน จริง ๆ แล้ว เรื่องขโมยนั้นก็มีจริงอยู่ แต่โฮสเต็ลก็ไม่ได้มีแง่ลบที่เต็มไปด้วยพวกกุ๊ยเพียงอย่างเดียว โฮสเต็ลก็มีนักเดินทางที่จะมาช่วยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้เราอีก
จริง ๆ แล้ว ดิฉันอยากบอกว่า ในดินแดนที่เราไม่รู้จักใครนั้น นักท่องเที่ยวด้วยกันนี้แหล่ะที่เราจะเชื่อใจได้มากที่สุด เวลาจะถ่ายรูปทีไร ดิฉันจะหาคนที่เป็นทัวริสต์ด้วยกันนั้นแหล่ะถ่ายรูปให้
ความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวละคร 2 คนแทบไม่เห็นเลย ถ้าไม่เพราะเชอรี่พูดเอง หรือการที่เชอรี่บันทึกเวลาในการถ่ายวิดีโอที่เวนิซเป็นเวลาไทย
ความรู้สึกเปรียบเทียบเรื่องงานของเชอรี่ เมื่อเจอเพื่อนที่ปารีส จนทำให้ต้องโทรศัพท์หาพ่อเป็นครั้งแรก
เรื่องดี ๆ เหล่านี้ถูกบดบังไว้หมดเพราะธีมเรื่องมิตรภาพและความยากลำบากแทน ซึ่งเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่จะเข้าถึงคนดูกลุ่มเป้าหมายของหนังได้ง่าย
ถ้ามาพิจารณาถึงโจทย์ของหนังที่ทางผู้กำกับต้องการเน้นนั้น หนังมันก็ทำได้ภายใต้กรอบอย่างนั้น เพียงแต่ว่าหนังยาวไป การปูพื้นฐานของตัวละครในกรุงเทพมันไม่จำเป็นบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องตั้ม แฟนของนุ่นในกรุงเทพ
คือ วิธีการดำเนินเรื่องมันเหมือนแค่แตะ ๆ ไว้ แล้วก็ผ่านไป ดิฉันไม่รู้ว่า คนที่ประสบการณ์ต่างแดนโชกโชนคนอื่นจะร้องไห้หรือไม่ แต่คนดูที่ชอบเรื่องมิตรภาพ คงรู้สึกกับหนังอย่างเต็มที่
ส่วนที่ดิฉันชอบในหนังเรื่องนี้ กลับเป็นเรื่องการถ่ายภาพ และผู้จัดองค์ประกอบศิลป์เสียมากกว่า ภายใต้ข้อจำกัดทั้งสถานที่และเวลา มุมกล้องในหนังเรื่องนี้มีจุดน่าสนใจหลายอย่าง
เช่นเดียวกับ ภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่ค่อยมีหนังไทยดี ๆ ในปีนี้ หนีตามกาลิเลโอ คงจะขึ้นชั้นหนังดีประจำปีเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ว่า ถ้ามองในระดับโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้แล้ว มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สรุป ดิฉันแก่เกินไปสำหรับหนังเรื่องนี้ : ) |