สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

ไทย / English
หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
นางไม้ ฉบับไทย งานที่ดูง่ายที่สุดของเป็นเอก
  อัญชลี ชัยวรพร / 2 กรกฏาคม 2552
   
 

 

คุณคิดว่า อะไรคือความแตกต่างของ นางไม้ ฉบับเมืองคานส์ และฉบับไทย  นอกจากความยาวที่สั้นกว่าเดิมถึง 15 นาทีในฉบับคืนถิ่น

สิ่งที่เห็นได้ชัดในฉบับหลังก็คือ นางไม้ในเวอร์ชั่นไทยเน้นตำนานความเป็นผีีมากกว่า และผู้กำกับเป็นเอกก็ตั้งใจที่จะเสนอมิติลึกลับนี้ออกมาอย่างชัดเจน  จนทำให้ประเด็นชู้สาวที่เคยเห็นอย่างใน พลอย ถูกลดความสำคัญลง

และที่สำคัญก็คือ ความไม่ชัดเจนของหนังที่เห็นในเวอร์ชั่นคานส์นั้น ได้ถูกแก้ไขออกทั้งหมด โดยการใช้เสียงประกอบหรือซาวน์เอ็ฟเฟ็คกับการตัดต่อ เพื่อแสดงให้เห็นการมาเยือนของผีและรายละเอียดเรื่องความสัมพันธ์ของนพ กับ นางไม้

เสียงประกอบหรือซาวนด์เอ็ฟเฟ็คมีมากกว่าเดิม  จนทำให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อไรผีจะมา  เมื่อไรคือสัญญาณของสาวนางไม้เจ้า

เห็นได้ชัดในช่วงซีเควนซ์แรกนั้น ซึ่งเหมือนกันทั้งฉบับเมืองคานส์และฉบับไทย     แตกต่างกันก็เพียงว่า ฉบับเมืองคานส์นั้นไม่มีเสียงประกอบ มีแต่เสียงธรรมชาติเท่านั้น  ขณะที่ฉบับเมืองไทย เราจะได้ยินเสียงหายใจ แสดงการเยือนของนางไม้ออกมาอย่างชัดเจน

และนั่นเป็นเพียงบางส่วนขององค์ประกอบที่เป็นเอกตั้งใจจะนำเสนอหนังให้เข้าใจง่าย  ภาพหลายภาพที่เพิ่มเข้าไปในฉบับหลังก็เพื่อจุดประสงค์อันนี้  ไม่ว่าจะเป็นฉากซากนางไม้ที่ถูกนางเอกทำร้าย หรือฉากที่ "นางไม้" กำลังนอนกับนพ

นางไม้ เวอร์ชั่นไทย จึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานหนังของเป็นเอกที่เข้าใจง่ายที่สุด  ซึ่งก็ยังอาจจะยากสำหรับคนทั่วไป แต่มันก็ดูง่ายสำหรับดิฉัน (อาจจะเป็นเพราะดูเป็นรอบที่สามแล้วก็ได้)

แต่มันขาดเสน่ห์ของความลึกลับไป และทำให้เสน่ห์ของการใช้ภาพที่เห็นในฉบับเมืองคานส์นั้นสูญหายไป

ฉากจบเป็นอีกจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นมิติในเรื่องความสัมพันธ์ของสามีภรรยาสูญหายไป ในฉบับเมืองคานส์นั้น ฉบับเดิมนั้น หลังจากที่นางเอกนั่งรถกลับกรุงเทพคู่กับชู้รักของเธอนั้น เขาถามเธอว่าจะทำอย่างไรต่อ เธอบอกว่าจะรอนพ ขณะที่ฉบับไทยนั้น ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร

กล่าวกันว่า เป็นเอกชอบหนังเวอร์ชั่นใหม่นี้มากกว่า ถึงขนาดจะให้ฟอร์ติสสิโม่ฉายหนังเวอร์ชั่นนี้ไปทั่วโลก  แต่สำหรับดิฉัน ซึ่งดูหนังมา 3 รอบแล้ว ชอบผสม ๆ กัน โดยรวมตนเองชอบเรื่องความกระชับของเวอร์ชั่นใหม่  เพราะเวอร์ชั่นคานส์นั้นช้ามาก แต่ตนเองชอบเสน่ห์ของมิติลึกลับที่ไม่ชัดเจนในเวอร์ชั่นคานส์ เพราะชอบอ่าน ชอบภาพ ชอบค้นหาความหมายของมัน

อันนี้ก็ต้องแล้วแต่คุณผู้อ่านว่าจะชอบอันไหน ตอนนี้ที่ SF World Cinema ยังฉายเวอร์ชั่นคานส์อยู่ค่ะ

   
นางไม้  การเยี่ยมเยียนของงานเก่าในรูปแบบใหม่
 

26 พฤษภาคม 2552 / อัญชลี ชัยวรพร

  ©thaicinema.org
  LINK : เปิดตัว นางไม้ ที่เมืองคานส์
   
 


ดิฉันมักจะมีปฎิกิริยาที่ค่อนข้างจะี่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครสักหน่อยกับผลงานของเป็นเอก รัตนเรืองในช่วง 4-5 ปีหลังนี้   ดิฉันจะไม่ชอบผลงานล่าสุดใหม่ของเขาทันที ต้องรอผลงานใหม่ออกมา ถึงจะเข้าใจในผลงานก่อนหน้านั้น

แต่พอมาถึงผลงานล่าสุด “นางไม้” คราวนี้เปลี่ยนไป “นางไม้” เข้าใจง่ายกว่าเดิม ไม่ต้องรอให้เป็นเอกทำหนังเรื่องใหม่เสร็จก่อน

นางไม้ เป็นผลงานของเป็นเอกที่เข้าใจง่ายขึ้น (สำหรับดิฉัน)   เพราะหนังมีเนื้อหาเช่นเดียวกับ “พลอย” เรื่องราวความขัดแย้งในคู่สามีภรรยาที่เกิดขึ้น แต่กว่าที่พวกเขาจะรู้สึกตัวก็ต่อเมื่อต้องสูญเสียอีกคนไป ขณะที่ความเข้าใจผิดใน“พลอย” เป็นอาการสะลึมสะลือของคนง่วงนอน  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมือง ในโรงแรมแห่งหนึ่ง หลังจากที่ฝ่ายสามีเกิดใจดี ให้ความช่วยเหลือกับเด็กสาวที่ไม่มีที่นอน ภรรยายังพักผ่อนไม่ได้เต็มที่ เพราะเพิ่งลงจากเครื่องบิน ทำให้เกิดอาการฟุ้งซ่าน สร้างภาพขึ้นมาเองระหว่างความจริงกับความฝัน จนคนดูงง ๆ ไม่รู้ว่าอันไหนเป็นอันไหน

แต่ นางไม้ เกิดขึ้นในป่า โดยมี ผี หรือ นางไม้ เป็นมือที่สาม และแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ความขัดแย้งใน นางไม้ เกิดขึ้น เพราะฝ่ายเมีย หรือ เมย์ ไปมีชู้ก่อน

หลาย ๆ อย่างใน นางไม้ จึงจะไปคล้าย ๆ กับ พลอย ไม่ว่าจะเป็นจินตนาการของนางเอก (เมย์) ที่คิดว่า นพ กลับมาอยู่กับตัวเองแล้ว หลังจากที่เขาหายสาบสูญไปในป่า  ขณะที่ พลอย เป็นเรื่องราวสลับไปมาระหว่างความจริงไม่จริง กับความฝัน อันเกิดจากความเบลอของคนที่เพิ่งลงจากเครื่องบิน

ถ้าจะว่าไปแล้ว นางไม้ คือการเยี่ยมเยียนของเนื้อหาในหนังในละครไทยที่เราเคยคุ้น ๆ กันอยู่แล้ว  เพียงแต่เสนอในรูปแบบใหม่ ในเชิงศิลปะ เรื่องราวความแตกแยกของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เรามักจะเห็นเป็นประจำในละครไทย ขณะที่ผีก็เป็นหนังยอดนิยมในบ้านเราอยู่แล้ว

ถ้า บัซ เลอแมน จะนำเนื้อหาเก่า ๆ โรมิโอและจูเลียต มาสร้างใหม่โดยใช้กรอบของความเป็นร่วมสมัย หรือโซเฟีย คอปโปล่า ก็สร้างโจทย์ให้ตัวเองกับเรื่องราวของพระนางมารี อังตัวแนตต์ ได้ ทำไมเป็นเอกจะนำเนื้อหาที่เราถือว่า “น้ำเน่า” ในสังคมไทยมาทำใหม่ไม่ได้

โดยคราวนี้มีโจทย์ใหม่ที่จะต้องไม่น้ำเน่า และเสนออีกแง่มุมหนึ่ง หึงหวงจะต้องไม่ตบตีกัน  และชู้ใหม่เป็นผี  และผีในหนัง่จะต้องไม่น่ากลัวต่อไป แต่ดูลึกลับ  น่าสงสาร

หรืออีกนัยหนึ่ง นางไม้ เป็น the others ของทุก ๆ อย่างที่เราเคยเห็นมาก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นละครไทย หนังผี และแนวทางหนังของเป็นเอกเอง  ที่คราวนี้มาทำเนื้อหาที่เป็น exotic มากขึ้น  โดยมุ่งเข้าป่า  ไม่ใช่เรื่องราวของคนเมืองอย่างที่เคยเป็น

นางไม้ เป็นผลงานของเป็นเอกที่ชัดเจนขึ้น และภาษาภาพยนตร์อ่านง่ายขึ้น โดยเฉพาะมุมกล้องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งต้องยกความดีให้กับตากล้องคู่ใจ ….ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ที่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่เป็นความคิดของผู้กำกับได้ดี จนสามารถสร้างบรรยากาศและแนวหนังตามความต้องการของผู้กำกับได้ดี

หนังดูลึกลับตั้งแต่ต้น ทำให้ภาพของนางไม้นั้นอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้ เราไม่เห็นตัวนางไม้จริง ๆ ตลอดทั้งเรื่อง สิบนาทีแรกของหนังที่ใช้ภาพลองเทคโดยไม่ตัด ดูเหมือนจะส่งสัญญาณนัย ๆถึงความลึกลับของภูติสาว  กล้องอาจจะเป็นตัวแทนของนางไม้ด้วยซ้ำ ภาพอื่น ๆ ของนางไม้ในหนังก็มักจะใช้ long shot หรือ extreme long shot ทำให้ภาพของนางไม้ดูคลุมเครือ ลึกลับ

เช่นเดียวกับบรรยากาศของหนัง  ภาพหลาย ๆ อย่างในหนังจะใช้แสงต่ำ (low-key lighting) มืด ๆ ทึม ๆ เหมือนกับในห้องพักโรงแรมใน พลอย พอถึง นางไม้ ก็จะเป็นในป่านั่นเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถ่ายทำในระบบ day-for-night แทน

นางไม้ จึงกลายเป็นหนังที่มีเสน่ห์ ที่ทำให้เราต้องค้นหาอยู่เรื่อย ไม่ได้ยากเหมือนกับ พลอย ดิฉันจึงดูหนังเรื่องนี้ถึงสองรอบในวันเดียวกันที่คานส์ (และเกือบไปดูรอบที่สามในวันรุ่งขึ้น)

การดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า จึงจำเป็นต้องใช้สมาธิมาก ๆ เพราะฉะนั้น อาจจะทำให้หลับไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

โดยสรุปแล้ว ดิฉันคิดว่า นี่เป็นหนังของเป็นเอกที่น่าค้นหาและติดตามอีกเรื่องหนึ่ง และถ้ามาฉายบ้านเราในเดือนหน้านี้ ดิฉันก็คงจะไปดูเพื่อค้นหาอีกต่อไป  เหมือนเวลาเราเข้่าป่า มันมีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เราลุ่มหลง

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.