
คนที่อายุ 25 ปีขึ้นไป คงจะเคยได้ยินตำนานผีจ้างหนังที่ป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี กันทั่วหน้า เหตุเกิดเมื่อปี 2532 ที่มีผู้ติดต่อบริษัทหนังเร่แห่งหนึ่งให้ไปฉายหนังกลางแปลงที่ป่าคำชะโนด ตอนหัวค่ำไม่เห็นผู้คน ไม่มีร้านขายของ แต่พอตกสามทุ่มเมื่อหนังเริ่มฉายก็เห็นผู้คนจำนวนมาก แต่พวกเขานั่งดูอย่างเงียบสงบไม่ว่าจะฉายหนังแนวไหน และเมื่อหนังฉายจบตอนตีสี่ คนดูก็หายตัวไปอย่างรวดเรียว และในบางเวอร์ชั่นที่ผมได้ยินมา พอคนฉายหนังกลับไปที่เดิมในวันรุ่งขึ้นก็พบว่าสถานที่แห่งนั้นคือสุสาน และค่าจ้างที่ได้รับมาคืนก่อนก็กลายเป็นก้อนหินทั้งหมด
ตั้งแต่ได้ยินมาว่าจะสร้างหนังเกี่ยวกับตำนานนี้ ผมก็อดสงสัยมาตลอดไม่ได้ว่าจะประยุกต์ / ขยาย / ใส่ เรื่องราวอย่างไร ที่จะทำให้เรื่องเล่า 2-3 นาทีนี้ กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งได้ และคำตอบที่ผมได้จากรอบพิเศษที่ผ่านมา ก็ค่คือไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผมหวังเท่าไรนัก
ผีจ้างหนัง อาถรรพณ์ป่าคำชะโนด เริ่มเรื่องได้อย่างน่าติดตาม โดยให้ตัวเอกของเรื่อง หมอยุทธ (อิง-อชิตะ ปราโมช ณ อยุธยา) เป็นตัวแทนคนสมัยใหม่หลายๆคน ที่เชื่อว่าปรากฏการเหนือธรรมชาติต่างๆ สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้เขาสนใจที่จะอธิบายตำนานผีจ้างหนังที่ป่าคำชะโนด ด้วยการจำลองสถานการณ์ทุกอย่างให้เหมือนกับเหตุการณ์คราวนั้น เช่น เดินทางไปฉายหนังกลางแปลงที่เดียวกัน ในวันเดียวกัน และใช้ฟิลม์ภาพยนตร์ตัวเดียวกัน และในตอนไคลแมกซ์หนังก็เล่นกับคนดูได้อย่างน่าสนใจ ประมาณว่าคนดูผีหรือผีดูคน
ผมคาดหวังว่าผู้กำกับน่าจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้มากกว่านี้
ปัญหาก็คือ ช่วงกลางระหว่างฉากแรกกับฉากไคลแมกซ์ กลับเต็มไปด้วยฉากผีหลอกที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เหมือนอย่างที่เห็นในหนังผีทั่วไป ไม่ช่วยทำให้บทภาพยนตร์คืบหน้า อีกทั้งยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับ คน ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีความสำคัญอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก

ผีเริ่มออกมาตั้งแต่ฉากที่หมอยุทธและเพื่อนร่วมทีมได้เจอ และดูฟิลม์หนังที่เคยฉายในป่าคำชะโนด แต่ด้วยความที่หนังมีตัวละครเอก 5 คน แต่ละคนไม่ได้อยู่ในฉากเดียวกันด้วยเหตุผลบางอย่าง (คู่หนึ่งเป็นสามีภรรยา อีกคู่เป็นแฟนกัน) ผู้ชมจึงต้องเจอฉากผีหลอกของแต่ละคน คูณห้าเพื่อครบทุกคน มิหนำซ้ำผีที่โผล่มาหลอกแต่ละครั้งก็ดูไม่มีสาเหตุ ไม่มีการขู่ไม่ให้มายุ่งกับโลกวิญญาณ ไม่มีการขอความช่วยเหลือ ไม่มีการสื่อสารใดๆระหว่างสองภพนี้ สรุปแล้วผีโผล่มาเพื่อหลอกคนดูอย่างเดียว ไม่ได้มีส่วนช่วยดำเนินเรื่อง
ฉากผีหลอกบางฉากทำให้เกิดคำถาม โดยไม่มีการเฉลยในตอนจบ เช่น หมอยุทธและเพื่อนออกมาจากโรงภาพยนตร์ร้างได้อย่างไร หนังเปลี่ยนฉากอย่างดื้อๆ แถมให้คำตอบคนดูอย่างง่ายๆว่า ไม่มีใครจำได้ อีกทั้งคำเฉลยของปริศนาอาถรรพณ์ป่าคำชะโนดในตอนจบ ก็ดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับป่าคำชะโนดสักเท่าไหร่นัก
นอกจากนี้ หนังพยายามผูกปมเกี่ยวกับ คน เช่น ที่มาของบาดแผลใต้ตาของ อร (ตอง-ภัครมัย โปรตระนันท์) แฟนสาวหมอยุทธ หรือความสัมพันธ์ระหว่างอรกับโรจน์ (นะโม ทองกำเหนิด) เด็กในทีมงานหมอยุทธ ที่เริ่มให้เห็นตั้งแต่ฉากแรกๆของหนัง อรพยายามจะฆ่าตัวตาย แต่โรจน์มาช่วยไว้ทัน ทว่าประเด็นนี้กลับไม่ถูกเน้นและสุดท้ายก็เป็นได้แค่ข้อมูลเสริม แบบรู้ไว้ใช่ว่า แต่ไม่สำคัญอะไรกับปริศนาป่าคำชะโนด
ด้วยบทที่ย่ำอยู่กับที่บ้าง หลงทางบ้างอย่างนี้ บางทีผมก็รู้สึกว่าอยากจะออกไปโยนโบล์วสักหนึ่งเกม ร้องคาราโอเกะสักหนึ่งรอบ แล้วกลับเข้ามาดูก็คงไม่พลาดอะไรมาก
ส่วนที่ผมชอบในหนัง เห็นจะเป็นการที่ผู้กำกับใส่ลูกเล่นให้องค์ประกอบภาพในซีนต่างๆ เพื่อสื่อถึงธีมของหนังว่ามีเส้นคั่นบางเส้นที่ไม่ควรข้าม เช่น กำแพงวัดแบ่งครึ่งกลางฉากที่มีพระมาเตือนเพื่อนหมอยุทธ หรือหน้าต่างโรงพยาบาลที่ขวางกั้นเวลานะโมมองอร หรือกระจกรถแท็กซี่เวลาอรคุยกับนะโม หรือลูกเล่นที่สื่อถึงความหลอน เช่นฉากสะพานหัวช้างใกล้สยามที่ปราศจากรถ หรือเงาของตัวละครหลักทั้งห้าตอนเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์ร้าง ตลอดเรื่องหนังคุมโทนมืดนี้อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งฉากตอนกลางวันยังเกิดขึ้นในเวลาพลบค่ำ รุ่งเช้า หรือฟ้ามืดใกล้ฝนตก
สำหรับคนที่ชอบดูหนังผีที่มีผีโผล่มาบ่อยๆ เรื่องนี้ล่ะใช่เลย เพราะผีออกมาแบบ nonstop ไม่มีพักเหนื่อย และคนดูก็น่าจะเดาถูกว่าผีจะออกมาเมื่อไหร่ เพราะทุกครั้ง ตัวละครจะอยู่คนเดียวในที่มืด มีเสียงดนตรีระทึกขวัญโหมโรง ตามด้วยเงาดำแวบไปมา และมีแขน/มือ/เล็บ/ผม กระโจนเข้ามาในจอพร้อมเสียงประกอบชวนสะดุ้งจากเก้าอี้
แต่ถ้าหากคุณต้องการหนังผีที่เด่นกว่าหนังผีทั่วๆไปที่ท่วมวงการภาพยนตร์ไทยทุกวันนี้ หนังผีใหม่ๆที่หักมุมและเป็นมากกว่าหนังผี ผีจ้างหนัง อาถรรพณ์ป่าคำชะโนด อาจจะไม่ถูกใจคุณนัก |