สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

รักแห่งสยาม อัศจรรย์แห่งรัก

  สรดิเทพ ศุภจรรยา / 22 พฤศจิกายน 2550
  ©thaicinema.org
  ข้อมูลและภาพข่าวของหนัง
   
 


เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จักชื่อของผู้กำกับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เป็นอย่างดี  กับผลงานก้องโลก (จริง ๆ นะครับ) อย่าง 13 เกมสยอง

และเมื่อเขามีผลงานชิ้นที่สาม  ซึ่งแตกต่างจาก 13 เกมสยอง อย่างสิ้นเชิง  ผมคิดว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป  เราคงจะต้องจำชื่อเขาให้ดี

มะเดี่ยว ไม่ใช่ผู้กำกับแบบ one-hit wonder ….ก็ประเภทตีหัวเข้าบ้าน  ทำหนังเยี่ยมหนึ่งเรื่องแล้วก็หายไป แต่ผมคิดว่าเขาคือหนึ่งในผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ ด้วยการเขียนบทภาพยนตร์ที่ลึกซึ้ง ลงตัว และเข้าถึงอารมณ์ผู้ชมได้อย่างดี และการกล้านำเสนอเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการปิดบัง หรือปรานีปรานอมใดๆ ซึ่งจริงๆเราเริ่มเห็นตั้งแต่ “13 เกมสยอง” ผลงานชั้นเยี่ยมเรื่องที่แล้วของเขา ที่โดดเด่นทั้งวิธีการเล่าเรื่อง  พร้อมแฝงการวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมเมืองปัจจุบันได้อย่างตรงจุด

และในผลงานล่าสุดของเขา “รักแห่งสยาม” ก็เช่นกัน มะเดี่ยวเลือกที่จะนำเสนอความจริงในสังคมไทยแบบไม่เคลือบน้ำตาล ไม่ปกปิดจุดล่อแหลม ไม่ครุมเครือ และอาจจะค่อนข้างเครียดไปสักนิดสำหรับหนังรักวัยรุ่น แต่เป็นแง่มุมชีวิตที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และอาจได้เกิดขึ้นจริงแล้วกับหลายๆคน

มิว (พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) เด็กหนุ่มนักดนตรีที่จมอยู่กับความเหงา  ตั้งแต่เสียอาม่าไปเมื่อหลายปีที่ก่อน  เขา มีปัญหากับการเขียนเพลงรักเพื่อนำไปเสนอค่ายเพลง   จนกระทั่งได้พบกับ โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) เพื่อนสนิทในวัยเด็กที่ย้ายบ้านไปหลายปี   โต้งเปรียบเสมือนความสุขในวัยเด็กชิ้นสุดท้ายที่เขาถวิลหามาตลอด   จนบางครั้งมิวเริ่มมีความรู้สึกที่เกินเลยความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนในบางครั้ง  

หญิง (ตาล-กัญญา รัตนเพชร) เด็กสาวข้างบ้านที่แอบชอบมิวมาตลอด แต่ไม่กล้าที่จะบอกเขา  เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับความรู้สึกเดียวกันกลับคืนมาหรือเปล่า ในขณะเดียวกัน แม่ของโต้ง (สินจัย เปล่งพานิช) ก็ยังคงดูแลสามีของเธอ (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าเขาจะเป็นคนไม่ได้เรื่อง ติดเหล้า และจมอยู่กับการโทษตัวเองสำหรับการหายสาบสูญของลูกสาวคนโตและพี่สาวของโต้ง


ด้วยบทที่ออกจะเครียดอย่างนี้ “รักแห่งสยาม” จึงไม่ใช่หนังรักกุ๊กกิ๊กสดใสสไตล์วัยรุ่น  ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและมุขตลกอย่าง “Seasons Change”   ถึงแม้โปสเตอร์ ตัวอย่างภาพยนตร์ และเพลงประกอบอาจทำให้รู้สึกอย่างนั้น แต่ “รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์ดราม่าเกี่ยวกับความรักที่สามารถนำไปสู่ความผิดหวังและความเจ็บปวด ถ้าคนที่เรารักจากเราไป  หรือไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราหวัง ความรักนั่นแหละที่จะเป็นกำลังใจพาเราผ่านพ้นความทุกข์ทรมานไปได้   ตราบใดที่เรายังรักเขาอยู่ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม

เราอาจจะต้องใช้เวลาสักนิด  ในการรู้จักตัวละครของหนัง  (หนังเรื่องนี้มีความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง) แต่หนังก็จะทำให้เรารู้จักพวกเขาเป็นการส่วนตัว ทำให้เราเข้าใจและเห็นใจกับการกระทำและการตัดสินใจของตัวละคร  ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่พ่อจะเสียความศรัทธาในศาสนา   เหตุผลที่แม่ต้องไปพูดกับมิวเรื่องโต้ง  (บอกตรงนี้ไม่ได้ครับ)  ทำไมมิวโดดไม่ไปซ้อมดนตรี  หรือทำไม จูน (พลอย เฌอมาลย์) ผู้จัดการวงของมิว ยอมปลอมตัวเป็น แตง พี่สาวโต้งที่หายสาบสูญไป  เพื่อให้พ่อมีอาการทางจิตดีขึ้น ที่อาจจะมีปัญหาหน่อยก็ตรงเหตุผลที่โต้งเริ่มปลีกตัวออกห่างแฟนสาวในตอนต้นเรื่อง และตอนที่มิวคืนดีกับเพื่อนร่วมวงในช่วงท้าย มันตัดความทิ้งเร็วไปหน่อยครับ

โดยรวมแล้ว ทุกตัวละครในเรื่องนี้มีมิติ มีปูมหลังที่สามารถทำให้คนดูเข้าถึงและมีอารมณ์ร่วมไปกับความเจ็บปวดและความต้องการความรักของพวกเขาได้

และที่น่าประทับใจมากที่สุดคือบทสรุปของตัวละครเหล่านี้ในตอนท้ายเรื่อง  หนังได้แสดงให้เห็นการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของทั้งตัวละครเด็กและผู้ใหญ่ โดยที่ไม่นำเสนอในทางสั่งสอนหรือการตัดสินถูก-ผิด และที่สำคัญ  แง่มุมบางอย่างและบางฉากที่น่าจะเป็นเป้านิ่งให้กับคนดูประเภทอนุรักษ์นิยมวิพากษ์วิจารณ์ได้  บอกตรงนี้ไม่ได้ครับ  ต้องไปดูกันเองครับ

สินจัย, กบ-ทรงสิทธิ์,และพลอย เฌอมาลย์ พิสูจน์ให้เราเห็นอีกครั้งว่าทำไมพวกเขาถึงเป็นนักแสดงชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ส่วนนักแสดงรุ่นเล็กก็ถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีสำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกของพวกเขา และส่วนตัวขอชื่นชมน้องพิชผู้รับบทเป็นมิว ที่มีความสามารถเปี่ยมล้นเกินอายุในการถ่ายทอดอารมณ์ของหนังในหลายช่วง ผ่านบทเพลงที่เขาทั้งร้องทั้งแต่งเอง

“รักแห่งสยาม” อาจถูกมาร์เก็ตติ้งให้ดูเหมือนหนังรักวัยรุ่นใสๆ แต่จริงๆแล้วเป็นภาพยนตร์ที่ผสมผสานเรื่องความรักและความเจ็บปวดจากความรักอย่างลงตัว โดยไม่โหดร้ายเกินกว่าที่จะเรียกรอยยิ้มได้ และไม่หวานซึ้งเกินกว่าที่จะเรียกน้ำตาได้ นี่คือหนังรักที่น่าติดตาม น่าจดจำ และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

   
  ©thaicinema.org
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.