สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ “อก 3 ศอก 2 กำปั้น”

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 1 พฤศจิกายน 2550
  ©thaicinema.org
   
 

ก่อนที่จะมากำกับเรื่อง “อก 3 ศอก 2 กำปั้น” (ซึ่งมีชื่อเดิมที่เข้าท่ากว่าอย่าง “พาหุยุทธ์”) ปิติ จตุรภัทธ เคยมีผลงานมาแล้วสองเรื่อง คือ “โคลนนิ่ง คนก็อปปี้คน” ไซไฟ-ทริลเลอร์ และ “ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน” หนังแนวหายนะที่มีเรื่องรักโรแมนติกเป็นแกนหลัก  สิ่งหนึ่งที่หนังสองเรื่องข้างต้นนี้เป็น คือต้องการที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าหนังไทยเรื่องอื่นๆ  มีความพยายามทั้งในส่วนของการเล่าเรื่องและเทคนิคการสร้างให้เหมือนหนังฮอลลีวู๊ดมากที่สุด  แต่ลงท้ายแล้วก็ลงเอยด้วยความเหมือนแค่เปลือกนอก  รายละเอียดเต็มไปด้วยช่องโหว่ (อย่างเช่น “โคลนนิ่ง” ที่เทคโนโลยีในหนังไกลเกินกว่าจะมาเกิดกับคนไทยและทำให้คนดูรู้สึกเชื่อในสิ่งที่เห็นได้) และเทคนิคพิเศษก็ขาดความสมจริง (ชัดเจนที่สุดก็คือ “ตะลุมพุก” ที่ภาพคลื่นยักษ์นั้นไม่อาจทำให้สมจริงพอเพียงที่จะเชื่อได้) และพอผู้กำกับให้ความสำคัญต่อเทคนิค  การแสดงก็ดูจะด้อยไปด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่สองเรื่องนี้เหมือนกันก็คือ แทบจะไม่มีความสนุกให้จับต้องได้เลย  เพราะการเล่าเรื่องของหนังเป็นไปตาม “สูตรสำเร็จ” ในแนวทางที่แต่ล่ะเรื่องยืนอยู่  ไม่มีอะไรเหนือแก่การคาดเดาระหว่างทาง  เหตุผลทั้งหมดทำให้ภาพรวมของหนังทั้งสองเรื่องไม่สู้ดีนัก

แต่ใน “อก 3 ศอก 2 กำปั้น” ดูเหมือนคุณปิติจะลดความทะเยอทะยานให้หนังเป็นฮอลลีวู๊ดลง  เขาหันมาทำหนังที่ง่ายขึ้นทั้งในแง่ของการสร้างและการเล่าเรื่อง  อันที่จริง สามารถพูดได้เลยว่าเขาทำหนังที่สนุกขึ้น มีการแสดงของนักแสดงหลายคนที่ทำให้หนังมีรสชาติบ้าง และที่สำคัญคือคิวบู๊ที่อาจจะไม่มีอะไรใหม่ก็จริง  แต่การได้เห็นนักแสดงนำเล่นบทเหล่านี้ด้วยตัวเอง  รวมถึงความสมจริงในการออกท่าออกทาง  ผู้ชมก็น่าจะรู้สึกสนุกตามคิวบู๊เหล่านี้ได้ไม่ยาก แต่หนังเรื่องนี้ก็ยังมีข้อบกพร่องในหลายๆ อย่างอยู่ดี  เช่น การตัดต่อภาพที่ดูเหมือนจะให้ความรู้สึกกระโดดและกระตุกในหลายๆ คัต  หรืองานด้านภาพที่บางครั้งก็ดูหม่นๆ มืดเกินไปหรือภาพที่ควรจะชัดบางทีก็ดูเบล่อจนมองไม่เห็นรายละเอียดในฉากนั้นๆ     

    

หนังมีเรื่องราวคร่าวๆ ที่สามารถเดาไปจนถึงตอนจบได้ง่ายๆ  พระเอกเป็นคนหนุ่มจิตใจดีลูกศิษย์วัด เขากับเพื่อนทำมาหากินกับนักท่องเที่ยวฝรั่ง  มีที่สิงสถิตเป็นบาร์เล็กๆ ซึ่งก็จัดชกมวยบนเวทีเรียกลูกค้า พระเอกกับเพื่อนที่เป็นมวยไปเป็นคู่ซ้อมโดยเน้นไปที่การให้ฝรั่งได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งมากกว่า จนกระทั่งเหล่าร้ายมาเยือนเพื่อหวังยึดบาร์ไปทำเป็นค่ายมวย  ข่มเห่งรังแกเพื่อนๆ ของพระเอกจนพระเอกทนไม่ได้ และต้องงัดเอาแม่ไม้มวยไทยมาต่อสู้  

หนังที่เน้นศิลปะป้องกันตัวส่วนใหญ่ก็มักจะผูกโครงเรื่องหลวมๆ เพื่อจะได้ปูเหตุการณ์ไปสู่การต่อสู้และโชว์ทักษะด้านแอ็คชั่นของนักแสดงนำ “อก 3 ศอก 2 กำปั้น” ก็เป็นเช่นนั้น  หนังเลือกที่จะปูความเป็นมาของตัวละครแต่ล่ะตัวไม่รีบร้อนพาตัวเองไปสู่การต่อยตีใดๆ  ดูเหมือนผู้กำกับจะมองออกว่าอะไรที่สามารถเป็นช่องโหว่ที่ทำให้คนดูตั้งคำถามได้  เขาจึงพยายามที่จะอุดรูรั่วทั้งหลายให้หมด  การปูเรื่องในช่วงต้นก็สามารถทำเช่นนั้นได้พอสมควร เช่น อธิบายความสัมพันธของพระเอกกับตัวละครอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การที่พระเอกออกหน้าต่อสู้  แต่คนดูก็ยังสามารถค้นเจอความไม่เป็นเหตุเป็นผลง่ายๆ ได้บ้าง เช่น ทำไมจู่ๆ ครูมวยอย่างครูแปลง ถึงมาสอนวิชามวยเพิ่มให้แก่พระเอก  เหมือนจะเพราะว่าพระเอกเป็นคนดี แต่การอธิบายตรงนี้ก็ดูเบาบางเหลือเกิน  อีกคำถามหนึ่ง อาจจะมีคนถามว่า  มีบาร์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวมาชกมวยอย่างในเรื่องนี้จริงๆ หรือ? แล้วทำไมเวลาที่ตัวละครในหนังมีเรื่องกัน ไม่เห็นมีตำรวจเลยสักคน ราวกับเกาะในหนังเป็นแดนเถื่อนชอบกล  แต่เชื่อว่าระหว่างที่ดูหนังเรื่องนี้ หลายๆ คนคงจะมองข้ามข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปได้  โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังเรื่องนี้ซึ่งเชื่อว่ามีสองแบบ คือ คนที่อยากดูฉากแอ็คชั่นเป็นหลัก และคนที่อยากดูเหล่าสาวๆ ที่นุ่งน้อยห่มน้อยกันตลอดเรื่อง

ในส่วนการแสดงของนักแสดง อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่ามีบางส่วนที่ช่วยทำให้หนังมีสีสันขึ้นมาบ้าง  ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ (อดีต)เจ้าพ่อหนังวีซีดีแนวหวาบหวิว สุระ ธีระกล กับบทชัย เขาถือได้ว่าเป็น “ตัวตามพระ” แบบในขนบหนังแต่ดั้งเดิมมา และทำหน้าที่ได้ดียิ่งในส่วนของการสร้างอารมณ์ขันให้แก่หนัง การแสดงของเขาโอเวอร์แอ็คติ้งตลอด แต่มันก็เข้ากับภาพรวมของการแสดงโดยคนอื่นๆ ด้วย แต่สุระดูจะแสดงด้วยความผ่อนคลายมากกว่า  ยิ่งพระเอกซึ่งรับบทโดยธัญญ์ ธนากร  แสดงอารมณ์และถ่ายทอดบทของตนได้ไม่ดีนัก  การแสดงของสุระจึงกลายเป็นการขโมยซีนไปโดยปริยาย  ส่วนนักแสดงคนอื่นๆ อย่างดาว นางเอกของเรื่องก็ดูแข็งๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ  นอกนั้นก็ไม่มีใครดีใครแย่เป็นพิเศษ   

แต่ไม่ว่าการแสดงตามบทของธีระกับธัญญ์ รวมถึงนักแสดงคนอื่นจะเป็นอย่างไร  สิ่งหนึ่งที่น่าชมก็คือความทุ่มเทในฉากมวยไทย  เชื่อว่ากว่าที่จะได้เห็นในหนังนักแสดงคงต้องผ่านการฝึกซ้อมกันมามาก  แต่สำหรับหนังที่ตามรอย “องค์บาก”  ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่กำลังจะตามมาในไม่ช้า  ความที่คิวบู๊ทั้งหลายเหมือนผ่านตาไปแล้ว  ทำให้นึกเปรียบเทียบกับหนังกำลังภายในและหนังกังฟูของฮ่องกง  ที่วันหนึ่งก็มาถึงจุดเสื่อมถอยด้านความนิยมเพราะไม่มีอะไรแปลกใหม่เหลือให้ดูกันอีกแล้ว  เว้นเสียแต่ว่าจะคิดสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่แตกต่างออกจากเดิม

สรุปแล้วนี่ไม่ใช่หนังขี้ริ้วขี้เหร่อะไร  มันพอจะมีความบันเทิงในแบบเพลินๆ ให้คนดูได้บ้าง ในขณะเดียวกันพลาดไปก็ไม่ได้น่าเสียดายอะไร

   
  ©thaicinema.org
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.