สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์  “โอปปาติก” (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 23 ตุลาคม 2550
  ©thaicinema.org
   
 


ก่อนที่จะวิจารณ์เรื่องหนัง  อดไม่ได้ที่จะขอวิจารณ์ชื่อเรื่องซะก่อน  เข้าใจดีครับว่า “โอปปาติก” เป็นชื่อที่มีความหมายต่อเรื่อง เป็นคำเฉพาะที่มีความหมายในทางพุทธศาสนา  แต่ผมเชื่อว่าการเรียกชื่อสร้างความลำบากให้แก่ใครหลายคน ไม่งั้นทางค่ายหนังก็คงไม่เติมวงเล็บต่อท้ายสะกดชื่อหนังให้ถูก  ส่วนตัวสงสัยตรงที่ว่าทำไมไม่เขียนชื่อตามการสะกดเสียตั้งแต่แรก  หรือไม่ก็ตั้งชื่อด้วยคำอื่นที่เรียกง่ายกว่านี้   เพราะชื่อหนังที่อ่านยากแบบนี้สามารถทำให้คนลดความอยากจะดูหนังลงไปได้ไม่น้อย 

ถ้าใครได้ตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของหนังเรื่องนี้  ก็น่าจะรู้ว่าใช้เวลาในการสร้างนานถึง 3 ปี  ซึ่งแทบจะไม่มีหนังไทยยุคใหม่ๆ เรื่องไหนเป็นกัน (ถ้าไม่ใช่ฟอร์มยักษ์ระดับ”สุริโยทัย” หรือ “นเรศวร”) มีเสียงเล่าลือกันว่าระหว่างถ่ายทำหนังประสบปัญหามากมาย  มีการตัดต่อแล้วเสร็จระดับหนึ่งแต่ก็ต้องถ่ายซ่อมเพื่อแก้ไขการเล่าเรื่อง  จนในที่สุดก็ได้ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายคงจะพอใจและออกฉายในโรง น่าเสียดายที่จะต้องบอกว่า สามปีที่ผ่านไปนั่นดูจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย   ไม่สมกับทุนสร้าง 80 ล้านบาทดังที่ประกาศไว้ในโฆษณา  จะว่าไปก็น่าเห็นใจผู้กำกับ คุณธนกร พงษ์สุวรรณไม่น้อย ที่ต้องเสียเวลาและพลังงานในชีวิตเพื่อหนังสักเรื่องมากมายขนาดนี้   ผมเชื่อว่าเขาคงมีเจตนาที่จะสอดแทรกเนื้อหาสาระอะไรบางอย่างลงไปในหนังเรื่องนี้  เพียงแต่สิ่งที่เขาต้องการจะบอกแก่คนดู มันไม่ปรากฏให้จับต้องได้เลย แถมหลายๆ ครั้งโดยเฉพาะช่วงต้นเรื่อง  มีการให้ตัวละครพูดอธิบายที่มาที่ไปของเรื่อง รวมถึงหลักปรัชญาศาสนาต่างๆ มากมายยาวนาน  ซึ่งลงท้ายแล้วชวนให้สับสน  ยากที่จะตามข้อมูลต่างๆ ที่ถูกใส่เข้ามาได้ทัน

“โอปปาติก” ในเรื่องอธิบายว่าเป็นสิ่งที่เกิดมาโดยไม่ต้องมีการเติบโต คือมาถึงก็โตเต็มที่เลย  และก็ยังอธิบายต่อว่า การฆ่าตัวตายทำให้กลายเป็นโอปปาติกได้  แต่ก็เป็นทางลัดไปสู่การเป็นโอปปาติกที่ไม่สู้ดีนักเพราะจะนำมาซึ่งคำสาปและความเจ็บปวด  และผมคิดว่าการฆ่าตัวตายและความทุกข์จากการชดใช้บาป คือสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะถ่ายทอดและสื่อไปยังคงดู แต่ปัญหาก็คือภาพตรงนี้มันไม่ชัดเจนเลย นอกจากตัวละครไปศลของชาคริต แย้มนาม ที่กลายเป็นโอปปาติกด้วยการฆ่าตัวตายและต้องพบความเจ็บปวดทุกครั้งที่ฆ่าคน  ตัวอื่นๆ ก็ไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของผลกรรมต่างๆ เท่าไหร่  บทจีรัสย์ของเต๋า นอกจากต้องลอกคราบเพื่อคืนชีพแล้ว  ก็ดูไม่ทุกข์ร้อนอะไรอีก  หรือเตชิตของลีโอ พุฒ ที่จะค่อยๆ เสียประสาทสัมผัสทั้งห้าเพื่อแลกกับพลังอ่านใจคน  ก็ไม่ได้แสดงความเจ็บปวดอะไรเมื่อต้องสูญเสียสิ่งต่างๆ   


ผมคิดว่าคงไม่ใช่แค่เพราะหนังแสดงภาพความเจ็บปวดของตัวละครเหล่านี้ไม่มากพอ  แต่บทที่มีหลากหลายตัวละครทำให้เกิดการกระจายเฉลี่ยน้ำหนัก ที่แน่นอนว่าย่อมจะไม่เท่ากัน  และเชื่อว่าน่าจะส่งผลไปสู่การแสดงของนักแสดง  คนที่ชัดเจนที่สุดคืออธิป นานาที่เล่นเป็นรามิล ผู้สามารถสั่งเจตภูมิออกมาสู้แทนได้  เขาดูเหมือนจะถ่ายทอดความเจ็บปวดใดๆ ที่ตัวละครนี้ต้องประสบได้ไม่ดีนัก  อันที่จริงนอกจากเรื่องการแสดงความเจ็บปวดของตัวละคร  เขาก็ไม่สามารถถ่ายทอดด้านใดๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายของรามิลออกมาได้เลย  จนคล้ายกับเป็นตัวประกอบมากกว่าเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง  ส่วนตัวอรุษของเร แม็คโดนัลด์  ก็ถูกเขียนขึ้นมาในลักษณะที่ไม่ต่างกับรามิลนัก  คือไม่มีด้านลึกใดๆ แต่อาศัยที่ว่าตัวละครนี้เข้ากับคาแร็กเตอร์ที่เรถนัดจะสวมบท คือคนแปรปรวนเดายากว่าคิดอะไรอยู่  ก็เลยพอจะทำให้ตัวละครนี้มีอะไรขึ้นมาบ้าง  แต่แน่นอนว่ายังขาดความลึกที่จะทำให้ตัวละครมีมิติที่หลากหลาย

ถึงอย่างนั้น ก็ยังจะต้องชื่นชมผู้กำกับที่คิดรายละเอียดเกี่ยวกับพลังพิเศษของโอปปาติก และผลข้างเคียงของการใช้สำหรับตัวละครแต่ล่ะตัวออกมาได้อย่างมีลูกเล่น  แต่ลำพังแค่ลูกเล่นเหล่านี้ก็ไม่อาจจะทำให้ตัวละครน่าสนใจกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากการถ่ายทอดประเด็น และการสร้างความซับซ้อนแก่ตัวละครจะมีปัญหาแล้ว  หนังยังประสบกับความไม่สมเหตุสมผลในหลายๆ ช่วง เช่น ทำไมธุวชิต(พงษ์พัฒน์) ถึงมีกองกำลังติดอาวุธขนาดใหญ่ออกไปไล่จับโอปปาติกเป็นร้อยสองร้อย หนังไม่ได้อธิบายตรงนี้เลย เรารู้แค่ว่ากองกำลังเหล่านี้เป็นทหาร แต่มาจากไหน? ทำไมถึงเป็นลูกน้องธุวชิต หรือถ้ามาจากศดก(นิรุตติ์)เจ้านายของธุวชิต  แล้วศดกไปเอามาจากไหน  หรืออย่างตอนต้นเรื่อง ที่เตชิตเข้ามาเกี่ยวข้องกับศดก ก็ไม่ได้มีการอธิบายว่าเตชิตไปรู้จักศดกได้อย่างไร?  ถึงคนทำอาจจจะอ้างว่านี่เป็นหนังแฟนตาซี  แต่โลกที่เห็นในหนังก็ไม่ต่างจากโลกปรกติของเรา  ยังไงเรื่องบางอย่างก็ควรอธิบาย และก็ควรจะยึดหลักความเป็นเหตุเป็นผลเอาไว้บ้าง 

 

งานด้านภาพไม่มีอะไรน่ากล่าวถึงเป็นพิเศษ  บางครั้งภาพดูมัวๆ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการถ่ายไว้นานแล้วหรือว่าความตั้งใจของคนทำ  ในส่วนของฉากแอ็คชั่น  การเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของกล้องบวกกับการตัดต่อน่าจะสร้างความตาลายให้แก่ผู้ชมบ้างพอสมควร แถมด้วยการดูไม่ออกว่าใครกำลังทำอะไรอยู่  ใครที่ไม่ชอบที่ต้องเห็นฉากแอ็คชั่นเป็นแบบนี้ก็อาจจะพาลไม่ชอบหนังเรื่องนี้ไปเลยก็ได้  และที่อยากจะชมก็คือฉาก หนังเรื่องนี้มีฉากที่สวยงามและแปลกตาจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ อยู่หลายฉาก

ไม่ว่าภาพรวมของหนังจะดีไม่ดีอย่างไร ธนกรก็ยังคงรักษาบางสิ่งบางอย่างจากหนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาให้คงอยู่ในหนังเรื่องที่สาม  (นอกเหนือจากฉากโป๊เปลือยวับๆ แวมๆ) นั่นคือตัวละครเอกล้วนแต่จมอยู่ในโลกของตัวเอง ที่คนอื่นไม่อาจจะเข้าถึงได้  และต่างวนเวียนอยู่กับความหลงใหลในผู้หญิงคนหนึ่ง จนทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็น (ส่วนใหญ่ไปในทางร้าย)  คิดว่ายังไงซะ  ธนกรก็คงจะไม่ทิ้งลายเซ็นตรงนี้ไปแน่ๆ   เพียงแต่หวังว่า ผลงานเรื่องต่อไปของเขาจะมีความลงตัวและมีความบันเทิงมากกว่าหนังเรื่องนี้   

  ©thaicinema.org
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.