สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ “Body ศพ #19”

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล  / 26 ก.ย. 50
  เรื่องย่อ แคแรกเตอร์นักแสดง เบื้องหลังการถ่ายทำ
   
 

 

ผมมีโอกาสได้ดูงานของคุณปวีณ ภูริจิตปัญญามาตั้งแต่สมัยที่เขาทำหนังสั้นตอนเรียนที่จุฬาฯ และเขาก็ฉายแววความเป็นคนทำหนังที่เน้นสไตล์ด้านภาพและการตัดต่อที่โฉบเฉี่ยว รวมถึงแววที่จะเป็นคนทำหนังที่เน้นเทคนิคพิเศษเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้เด่นชัดมากขึ้นในตอนที่เขาทำมิวสิควีดีโอให้แก่นักร้องค่ายอาร์เอสกับแกรมมี่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลงานหนังโรงเรื่องแรกของเขา จะกลายเป็นหนังที่ขายสไตล์ มุมกล้องสวยๆ และเทคนิคพิเศษที่หวือหวา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของเขามาโดยตลอด

และนั่นนำมาสู่ข้อเด่นของหนังเรื่องนี้ งานเทคนิคพิเศษได้สร้างภาพที่แปลกตากว่าที่หนังไทยเรื่องอื่นๆ เคยนำเสนอมา แต่ข้อเสียก็คือมันถูกนำมาใช้มากเกินไป  ก็จะยิ่งหมดความพิเศษมากขึ้นเท่านั้น  เพราะมันจะบดบังความสำคัญในบางเรื่องไป อาทิก็เรื่องการแสดง อารมณ์ที่อยากจะติดตามเรื่องราวไปกับตัวละคร หรือเอาใจช่วยใครสักคนหนึ่งในหนังก็มลายหายไปกับอินทรีย์

แถมการทำเทคนิคพิเศษนั้น ไม่ค่อยเสมอต้นเสมอปลายเท่าไรนัก   ประเภทเปิดเรื่องด้วยภาพท้องฟ้า ก่อนที่จะค่อย ๆ แพนกล้องมาเห็นตึกเล็กๆ แล้วค่อยดิ่งลงไปยังตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง และไล่เลื้อยไปตามท่อระบายน้ำนั้น เทคนิคพิเศษช่วงนี้ดูเนียบเนียนใกล้เคียงหนังฝรั่งดีครับ แต่พอช่วงท้าย ๆ ท่าทางผู้กำกับจะเหนื่อยอ่อนไปหน่อย ทำให้ระดับความเนียบเนียนในฉากเทคนิคพิเศษค่อย ๆ ลดน้อยลง ไม่ค่อยจะวิลิศมาหราเท่ากันกับส่วนต้นๆ สักเท่าไหร่ ยิ่งช่วงไคลแม็กซ์ฉากผีหลอกหลายๆ ฉากยิ่งดูหลอกตาชอบกล



ตอนแรก ผมคิดว่าพล็อตและบท (ที่เขียนโดยทีมที่เขียนบท “ 13 เกมสยอง ” ) ได้รับการออกแบบเพื่อเอื้อต่อการใช้ภาพอันสยดสยองของหนัง  และทำให้คนดูสะดุ้ง ด้วยการใช้เสียงและภาพแบบที่หนังผีทั้งหลายชอบใช้กัน แต่เอาเข้าจริง ผมคิดว่าพล็อตหลักของหนังเรื่องนี้ดูเหมือนหนังผีทั่วไปๆ แค่นั้นเอง ก็คือมีตัวละครตัวหนึ่ง (สำหรับเรื่องนี้คือ “ ชลสิทธิ์ ” ) โดนผีหลอก และพยายามจะไขปริศนาเพื่อที่ผีจะได้เลิกหลอกตัวเองเสียที คนรอบข้างก็พยายามจะช่วยเหลือเขาแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ จนสุดท้ายเขาก็ต้องพยายามเผชิญหน้ากับผีขั้นแตกหัก มันไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจไปกว่าหนังผีไทยหรือชาติอื่นๆ อีกเป็นสิบเรื่อง

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งด่วนชิ่ง แม้พล็อตเรื่องแสนจะธรรมดาไปหน่อย  ผมคิดว่าจุดหักมุมในหนังเรื่องนี้น่าสนใจ ไม่ค่อยเหมือนหนังไทยเรื่องไหน ซึ่งจุดหักมุมเหล่านี้ ชวนให้คุณอยากย้อนกลับไปดูฉากบางฉากอีก ผมคิดว่าคนเขียนบททั้งสองรู้ดีว่าคนดูหนังสามารถที่จะจับผิดเล็กๆ น้อยๆ ได้   เพื่อมาสู่จุดหักมุมของหนัง  และพวกเขาก็สามารถที่จะอุดรูรั่วทั้งหลายได้ประมาณหนึ่ง

คุณอาจจะเคยพบจุดหักมุมแบบ “ Body ศพ # 19 ” ในหนังฝรั่งบางเรื่อง แต่ถ้าเปรียบเทียบหนังไทยด้วยกันแล้ว ผมว่าก็น่ายกย่องในความพยายามที่จะคิดสร้างสรรค์อะไรให้มันแตกต่างจากเดิมออกไปบ้าง และจุดหักมุมนี้เองก็ช่วยบรรเทาความรู้สึกลบที่ผมมีต่อภาพเอฟเฟกต์ที่มีมากเกินของหนังลงไปได้บ้าง

การคัดเลือกนักแสดงก็เป็นอีกอย่างที่น่าพอใจ ความคล้ายคลึงกันระหว่างอารักษ์ อมรศุภศิริ ผู้รับบทเป็นชลสิทธิ์กับอรจิรา แหลมวิไล ที่รับบทเป็นเอ๋พี่สาวของเขา ทำให้ผมรู้สึกสยองขวัญมากกว่าภาพผีที่ควักตับไตไส้พุงออกมาเสียอีก เพราะ่อารักษ์ยังดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร แถมเขายังไม่ค่อยมีเคมีที่ลงตัวกับอรจิราสักเท่าไหร่ ลำพังแค่หน้าคล้ายกันก็ยังไม่พอที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ความรู้สึกของคนดูไปจนกระทั่งหนังจบเรื่องได้หรอกครับ ส่วนคนอื่นๆ กฤตธีรา อินพรวิจิตรในบทจิตแพทย์ ถือว่าเอาตัวรอดไปได้ด้วยมาดที่สุขุม แต่การแสดงของเธอก็ยังไม่ใช่การตีบทแตก 100 % อยู่ดี ภัทรวรินทร์ ทิมกุล ซึ่งมีบทน้อยมากแต่เธอก็ให้การแสดงที่น่าจดจำ ส่วนอีกคนที่น่าพูดถึงคือผู้รับบทหมอสุธี ที่ไม่ได้ให้การแสดงที่หวือหวา แต่ก็สมกับบทบาทที่ได้รับ

ส่วนงานด้านภาพและการตัดต่อ ก็ได้รับการออกแบบมาอย่างนี้ เพื่อให้เกิดอารมณ์ระทึกขวัญ สองส่วนนี้จัดได้ว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุดของหนังแบบหาข้อติได้ยาก

เรื่องภาพโหดๆ ชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ที่แดงฉานไปด้วยเลือด, ภาพผีที่มองเห็นทะลุไปถึงเครื่องใน หรือภาพคนที่โดนฉีกหน้าจนเละ ก็จะเห็นประมาณเหมือนในสื่อประชาสัมพันธ์และหนังตัวอย่างครับ ถ้าคุณทนดูหนังตัวอย่างได้ และชาชินกับภาพเลือดท่วมจออวัยวะภายในกระจายเกลื่อน ก็คงจะไม่รู้สึกสยดสยองอะไรกับภาพเหล่านี้ แต่ถ้าคุณเป็นตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา หนังเรื่องนี้ก็จะไม่เหมาะกับคุณอย่างแน่นอนครับ

เพลงที่ถูกนำมาใช้โปรโมต “ คิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียว ” เพลงเก่าที่ถูกนำมาทำใหม่ ก็ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า มีให้ได้ยินตลอดทั้งเรื่อง และเชื่อว่าอาจจะยังก้องอยู่ในหูของใครหลายคนหลังเดินออกจากโรง ส่วนตัวผมว่าเพลงนี้มันสร้างความหลอนได้มากกว่าฉากบางฉากในหนังเสียอีก ต้องให้เครดิตคนที่เลือกเพลงจริงๆ ว่าเข้าใจเลือกเพลงนี้ และเลือกที่จะทำให้เวอร์ชั่นใหม่เป็นแบบที่ได้ยินกัน

ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร GTH ก็น่าจะพอใจที่หนังเรื่องนี้จะช่วยให้ค่ายที่ถูกมองว่าสร้างแต่หนัง “Feel good” มีผลงานให้คนทั่วๆ ไปเห็นอะไรที่แตกต่างบ้าง และคอหนังไทยก็น่าจะให้ความสนใจและไปอุดหนุนกันจนหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ อย่างที่ทาง GTH มั่นใจว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้น (ดูได้จากการที่จะมีรอบพิเศษเกิดขึ้นก่อนหนังฉาย 3 วันก่อนฉายจริง) ส่วนตัวของผู้กำกับคุณปวีณ น่าสนใจว่างานของเขาก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร โดยหวังว่าเขาจะลดอาการหนักมือในส่วนของเทคนิคพิเศษ และให้ความสำคัญในด้านการแสดงมากขึ้น ส่วนเรื่องการเล่าเรื่อง ถ้าเขาได้คนที่เหมาะสมมาช่วยก็ไม่ได้จะเป็นห่วงอะไร และในอนาคต เขาก็คงจะทำหนังที่ลงตัวกว่าหนังเรื่องนี้ออกมาได้

 
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.