สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ “ The Truth Be Told ” - มิติที่หายไป

  อัญชลี ชัยวรพร   / 10 ก.ย. 50
  อ่านบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ พิมพกา โตวิระ กับ The Truth Be Told
  ©thaicinema.org
   
 

ก่อนอื่น ดิฉันขอบอกก่อนว่า ตัวเองเข้าไปดูหนัง The Truth Be Told โดยไม่ได้คาดหวังประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองมากนัก เพราะเคยสัมภาษณ์ผู้กำกับไปแล้วครั้งหนึ่ง ก็พอจะทราบมาก่อนแล้วว่า พิมพกา โตวิระต้องการจะนำเสนอหนังไปในทิศทางใด

เท่า ๆ กับขณะที่ดูหนังเรื่องนี้นั้น ตนเองต้องใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา ว่าจะวิจารณ์หนังเรื่องนี้อย่างไร เพราะความคิดที่เกิดขึ้นขณะชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มันเหมือนดาบสองคม ….

The Truth Be Told มีแง่มุมบางอย่างที่อาจจะทำให้ชาวเอ็นจีโอหรือคนไทยส่วนหนึ่งไม่เกษมสันต์เท่าไรนัก นอกจากประเด็นการต่อสู้การเมืองที่ไม่ได้เข้มข้น เหมือนอย่างที่ได้เขียนไว้ในสูจิบัตร เหมือนอย่างที่พวกเขาเคยผ่านมาแล้วและคาดหวังว่าหนังน่าจะนำเสนอออกไปในทิศทางนั้น

ดิฉันเข้าใจทั้งฝ่ายผู้รับเพราะนี่เป็นหนังเรื่องแรกหลังจากเกิดม็อบต่อต้านทักษิณ จนถึงเกิดการปฎิวัติ

ขณะเดียวกันก็เข้าใจคนทำหนัง ที่มีสิทธิ์จะเลือกแสดงออกและนำเสนอในสิ่งที่ตนคิด

เพราะฉะนั้น ภาพของสุภิญญา กลางณรงค์ในฐานะผู้หญิงธรรมดา ที่ออกจะดูเป็นเด็กด้วยซ้ำ ต้องการมีชีวิตคู่ มีชีวิตเรียบง่าย ซึ่งสวนทางกับภาพหญิงแกร่งกล้าหาญที่ถูกบริษัทชินคอร์ปของอดีตนายกทักษิณฟ้องร้องนั้น มันเหมือนหนามยอกอกในกรอบความคิดเรื่องตัวจริงไม่จริงของคนทำงานเอ็นจีโอ

ดิฉันเคยทำงานเอ็นจีโอมาก่อน ทั้งไทยและฝรั่ง ทุกวันนี้ก็มีมีเพื่อนที่คุยกันได้อย่างถูกคอกันในกลุ่มนี้อยู่หลายคน พอจะเข้าใจมุมความคิดบางอย่างของพวกเขาอยู่บ้าง  และหนึ่งในสิ่งที่หยิบยกขึ้นมาพูดกันบ่อยครั้ง  ก็คือเรื่องนี้

สุภิญญา กลางณรงค์จะเป็นตัวจริงหรือไม่ ดิฉันไม่ขอตรวจสอบ ดิฉันไม่รู้จักสุภิญญาเป็นการส่วนตัว ไม่เคยถกเรื่องราวของเธอกับเพื่อนเอ็นจีโอ พร้อมกับที่ไม่เคยอ่านบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเธอจากหน้าหนังสือพิมพ์ ถ้าจะมีก็แค่ดูข่าวเกี่ยวกับเธอที่ออกทางทีวีเสียมากกว่า  ซึ่งก็บอกอะไรได้ไม่มากนัก

แต่สำหรับคอหนังธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ดิฉันอยากบอกว่า The Truth Be Told ทำให้ตัวเองเข้าใจพิมพกา มากกว่าสุภิญญา

หนังเริ่มเรื่องในวันที่สุภิญญาเดินทางไปรับคำฟ้องร้องที่ศาล พร้อมกับพ่อและแม่ และได้ปูพื้นฐานที่มาของเรื่องให้คนดูเข้าใจถึงที่มาของคดีฉบับย่อ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ผ่านการประชุมของคณะทนายความบ้าง ผ่านการบอกตรง ๆ บ้าง ผ่านฉากนอกศาลบ้าง สลับกับการสัมภาษณ์ตัวสุภิญญาเอง ซึ่งก็ต้องขอชมว่าพิมพกาี่ฉลาดแหลมคมพอในการเล่าเรื่องตรงนี้ แทนที่จะมาลำดับเรื่องราวด้วยคำบอกเล่าบนหน้าจอเพียงอย่างเดียว หรือสัมภาษณ์เป็น talking head เพียงอย่างเดียว

พร้อมกันนี้ กล้องก็เริ่มเข้าไปคลุกคลีกับชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัว ทั้งที่บ้านคอนโดในกรุงเทพ บ้านต่างจังหวัด สลับควบคู่ไปกับการนำเสนอแง่มุมความคิดของผู้หญิงคนนี้ในเรื่องทั่ว ๆ ไป

นี่คือ สไตล์ภาพยนตร์ของพิมพกา โตวิระ …. ในการทำหนังของเธอนั้น พิมพกามักจะตั้งกรอบอะไรบางอย่าง  เป็น statue แต่กรอบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เธอยึดเป็นแกนกลางในการทำหนังของเธอเรื่องนั้น ๆ   ทว่าเป็นกรอบที่เธอจะทำในสิ่งตรงข้าม

ในหนังสั้นเรื่อง แม่นาค พิมพกา เลือกนำเสนอแม่นาคในมิติใหม่ เป็นผู้หญิงที่น่าสงสาร มากกว่าจะน่ากลัวอย่างภาพยนตร์ชุดนี้ก่อนหน้านั้น

ใน คืนไร้เงา เธอยึดหนังเป็นฟิลม์นัวร์ แต่เธอก็ปฎิเสธลักษณะของหนังแนวนี้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบทตัวละครนังตัวร้ายที่รู้จักกันดีในว่าเป็น femme fatale นั้น เธอก็จัดแจงให้ตัวละครนำหญิงทั้งสองตัว (นำแสดงโดยนิโคล เทริโอ และอุ้ม สิริยากร) มีทั้งด้านร้ายด้านดี และเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน

เห็นได้ชัดว่า The Truth Be Told นั้น พิมพกาต้องการจะนำเสนอภาพสุภิญญาในอีกด้านหนึ่ง ที่แตกต่างจากภาพที่คนในสังคมส่วนใหญ่คาดหวังไว้ ขณะที่ภาพของสุภิญญา กลางณรงค์ ที่นำเสนอโดยสื่อกระแสหลักว่าเป็นหญิงแกร่ง กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เปิดโปงการทำงานของบริษัทชินคอร์ป จนถูกฟ้อง เรียกได้ว่าเป็นคนแรก ๆ ในสังคมไทยที่กล้าออกมาพูดเรื่องนี้

แต่สุภิญญาใน The Truth Be Told เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ต้องการมีชีวิตที่เรียบง่าย มีคู่ชีวิต มีความผูกพันในครอบครัวอยู่สูง และการที่เธอก้าวเข้ามาทำงานตรงนี้ มาแสดงออกอย่างนี้นั้น ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ครอบครัวเห็นด้วย

ดิฉันคิดว่า ความขัดแย้งตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ

ผู้หญิงในเอ็นจีโอนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ประเภทแรกคือนักต่อสู้ตัวจริง ดำเนินชีวิตเป็นเส้นตรงทั้งนอกจอในจอ ต่อสู้ทุกอย่างที่ตนเห็น อาจจะเป็นที่รู้จักในเรื่องการต่อสู้บางเรื่อง แต่เมื่อเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องเรื่องอื่น เธอก็จะไม่ยอมปล่อยให้มันทิ้งไป ผู้หญิงในกลุ่มนี้มักจะมีพื้นฐานทางครอบครัวสนับสนุน ประเภทเป็นแอ็คติวิสต์ทั้งบ้าน เพราะฉะนั้นเธอก็เลยสู้ทุกอย่าง  เท่าที่นึกออกก็มีวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หญิงต่อสู้แห่งเขื่อนปากมูล ตัวจริงเป็นพี่สาวของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บก. สารคดี นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวยงอีกคน อีกคนก็คือ อิ๋ง เค ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งบ้าน

กลุ่มที่สองคือพวกหน้าไหว้หลังหลอก เปลี่ยนประเด็นการต่อสู้อยู่เรื่อย เห็นอะไรอยู่ในกระแส ก็ไป เพราะดังดี พฤษภาทมิฬก็ออกมาสู้ พอมีม็อบต่อต้านทักษิณก็ออก ธรรมศาสตร์ตั้งคำถามกับการทำงานของ คมช. ก็ออก ดูผิวเผิน น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มแรกได้ ถ้าไม่ไปเจอนิสัยหักเงินคนขับแท็กซี่ 30 บาททั้งที่ตัวเองได้เงินเดือนเป็นแสน หรือประเภทแอบไปยุเด็กให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ต่อหน้าก็ทำตัวเป็นคนกลาง

กลุ่มที่สาม คือ ประเภทเรื่อย ๆ มาเรียงเรียง ใครว่าอะไร ก็ไปตามนั้น ไปม็อบก็ไปด้วย อยู่บ้านก็ได้ สบาย ๆ พวกนี้ไม่คิดมากที่จะออกมาต่อสู้ แต่ก็ไม่กล้าพอที่จะหลอกลวงสังคมเหมือนกลุ่มที่สอง

กลุ่มสุดท้าย ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าสนใจ ดิฉันเรียกว่า activists-in-transition ผู้หญิงในกลุ่มนี้นั้น โดยปรกติจะเป็นคนธรรมดา พูดจาเรียบร้อย ไม่แข็งกร้าว บางคนออกจะขี้อายด้วยซ้ำ พูดทีก็ไม่กล้าสบตา หรือไม่ก็ใช้ความเงียบขรึมเป็นเกราะกั้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะครอบครัวไม่สนับสนุน หรือค่านิยมทางสังคมที่มัดตัวเธอเอาไว้  ไม่ให้ออกมาต่อสู้ในท่าทีที่แข็งกร้าวได้

แต่ในพื้นที่ของเธอแล้ว เธอจะเปลี่ยนเป็นคนละคนเลยทีเดียว พวกเธอจะเชื่อมั่น กล้าแสดงออกในสิ่งที่เธอคิด เธอเชื่อ อย่างไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใด

สุภิญญาน่าจะเป็นผู้หญิงในกลุ่มนี้ ถ้าเพียงแต่หนังจะนำเสนอแง่มุมความคิดของเธอในเรื่องอื่น ๆ มากกว่านี้ ที่มิใช่เพียงชีวิตส่วนตัวและการเคลื่อนไหวทางคดี

ตลอดทั้งเรื่อง เราจะเห็นแค่ความคิดของสุภิญญาต่อรูปคดี ผลที่เกิดกับครอบครัว ซึ่งถ้าหนังจะเน้นเรื่องการต่อสู้ในเรื่องนี้ ก็ควรจะเข้มข้นมากกว่านี้ ทั้งในฉากศาล ฉากม็อบ หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ และไม่เปลี่ยนแง่มุมไปเน้นเรื่องชีวิตส่วนตัวของเธอ   เพราะไหน ๆ เราก็มารู้จักชีวิตส่วนตัวของสุภิญญาแล้ว  ตัวเองก็อยากรู้จักความคิดของเธอในเรื่องสังคม เรื่องสิทธิเช่นกัน

ดิฉันไม่ปฎิเสธว่าพิมพกาพูดถึงสุภิญญาในฐานะผู้หญิงธรรมดาได้ดี เพราะผู้หญิงทุกคน ต่อให้เก่งแค่ไหน ก็หวังว่าจะได้แต่งงานกันทั้งนั้น ยกเว้นว่าจะเป็นรักร่วมเพศกัน

แต่ดิฉันไม่เห็นความคิดของสุภิญญาในเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในการแสดงออก หรือสิทธิมนุษยชนที่เธอได้รับรางวัล และเป็นที่มาของการฟ้องร้องในที่สุด แม้แต่ความคิดของเธอต่อกรณีชินคอร์ป ก็ไม่ทราบ  ทั้งที่หนังพยายามสอดแทรกความไม่ชอบมาพากลของชินคอร์ปอยู่หลายครั้ง  ไม่ว่าจะเป็นการนำเรื่องคดีพนักงานไอทีวีถูกไล่ออก

ดิฉันเชื่อว่าสุภิญญาจะต้องมีความคิดความเชื่อบางอย่าง เธอถึงกล้าแสดงออกมาอย่างที่เห็นในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ จนถูกฟ้องร้อง ดิฉันเชื่อว่าผู้หญิงธรรมดาที่น้ำเสียงไม่แข็งกร้าว ไม่น่าชวนให้ปลุกม็อบ จะต้องมีพลังอะไรบางอย่างที่เธอกล้าสวนกระแสความคิดของพ่อแม่ พลังที่นำเธอไปสู่การฟ้องร้องโดยชินคอร์ปในที่สุด

ตลอดทั้งเรื่อง The Truth Be Told แสดงให้เห็นความคิดของสุภิญญาในฐานะนักต่อสู่เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ฉากหนึ่งขณะที่ลูกพี่ลูกน้องของเธอบอกว่าคงไม่วางชีวิตในอนาคตแบบสุภิญญา เพราะกลัวถูกฟ้อง

สุภิญญาพูดขึ้นมาว่า “ กลัวอะไร เราไม่ได้ทำอะไรผิดนี่นา ”

หรือในฉากใกล้จบที่เธอเริ่มตั้งคำถามกับอำนาจทหาร แม้เมื่อทักษิณจะพ้นอำนาจไปแล้ว

หนังเน้นความเป็นปุถุชนของสุภิญญามากไปหน่อย หรือชีวิตของสุภิญญาเมื่อถูกฟ้อง หนังทำให้ดิฉันอดรู้สึกไม่ได้ว่า สุภิญญาเป็นเพียง accidental heroine

ดิฉันเชื่อว่า สุภิญญาเป็นผู้หญิงที่กำลังยืนอยู่บนความขัดแย้งของการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เธอทำ สิ่งที่เธอคิด มันจะเป็นตัวแทนภาพของผู้หญิงเก่งในยุคนี้หลาย ๆ คน   ซึ่งถ้าหนังทำได้ถึงตรงนี้  มันจะเป็นหนังที่ลึกซึ้งอย่างถึงที่สุด

นี่เป็นเหตุผลที่ดิฉันต้องมาบอกว่า มิติที่หายไปตรงนี้ใน The Truth Be Told ทำให้ดิฉันไม่ได้เข้าใจสุภิญญา กลางณรงค์อย่างเต็มที่  แต่เข้าใจพิมพกาเสียมากกว่า์ค่ะ  ว่า ...นี่คือลายเซ็นของพิมพกา

  ©thaicinema.org
 
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.