สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ไชยา
  อัญชลี ชัยวรพร / 20 ส.ค. 50
  LINK:    ข้อมูลหนังทุกอย่าง รวมทั้งเทรลเลอร์
  เสียงตอบรับจากเทศกาลหนังกรุงเทพเต็มไปด้วยความชื่นชม 
   
 


โจทย์บังคับที่บรรดาผู้กำกับหนังแอ็คชั่นไทย อยากให้คอหนังทุกคนพึงมีไว้ ก็คือ สูเจ้าจงไปดูหนังของข้าพเจ้าด้วยตาเท่านั้น แต่จงเอาสมองเก็บไว้ที่บ้าน เพราะฉะนั้นเวลาดูหนังแอ็คชั่นของข้าพเจ้า จงชื่นชมแต่ท่ามวยท่าแอ็คชั่นอย่างเดียว เพราะ่อั๊วใช้เกลียวสมอง (ซีกซ้ายซีกเดียว) เคี่ยวแล้วเคี่ยวอีก (และบางทีก็ไม่ได้คิดเองด้วยซ้ำ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับคิวบู๊) ก็เลยทำให้ลืมความสมจริงหรือแก่นสารอื่น ๆ ที่หนังเรื่องหนึ่งควรจะมี

แต่ในฐานะของผู้ชื่นชมหนังแอ็คชั่นหลาย ๆ เรื่อง จนเอามาทำวิทยานิพนธ์ เพื่อคว้าปริญญาหนัง (ผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์การเปลี่ยนแปลงหนังจอห์น วู ฉบับฮ่องกงและฉบับไปฮอลลีวู้ด)   ข้าพเจ้าขอเถียงคอเป็นเอน หนังแอ็คชั่น ไม่ว่าจะมวย ไม่มวย กังฟู  ง๊อไบ๊  กระบี่  ฟันดาบ ไม่ว่าจะเป็นของไทย จีน ฝรั่ง ล้วนสามารถทำให้เป็นศิลปะได้  มันขึ้นอยู่กับมันสมองของผู้กำกับว่าอยากคิดหรือเปล่าแค่นั้นเอง แม้แต่หนัง Rocky ที่ข้าพเจ้าเคยแสนจะเกลียด เพราะกลัวร่างอันกำยำของซิลเวสเตอร์ สตาโลน ข้าพเจ้าก็ต้องเปลี่ยนใจ เมื่ออาจารย์มาสอนให้ดูหนังประเภทนี้ ข้าพเจ้าก็เลยกลายเป็นแฟนหนัง Rocky กับ Raging Bull ไปโดยปริยาย

เพราะฉะนั้น จงอย่ามาอ้างโน่นอ้างนี่ ทำหนังไม่ดี แล้วบังคับให้แฟนหนังสิ้นคิดตาม

แต่หลังจากทำวิทยานิพนธ์เสร็จ  ข้าพเจ้าก็ไม่เคยได้ใช้สูตรดูหนังแอ็คชั่นดี ๆ มาชื่นชมหนังมวยไทยได้อีกเลย จนกระทั่งอัศวินม้าขาวล่าสุด “ ไชยา” ก็ช่วยขุดกรุสมองซีกซ้ายซีกขวาของข้าพเจ้า  ให้วิ่งไปวิ่งมาอีกครั้ง  ทั้งยังช่วยกู้หน้า ที่ข้าพเจ้าต้องเสียไป เพราะถูกเพื่อนฝรั่งหัวเราะเยาะมาตลอดในช่วงหลายปีนี้

 

 

ไชยา ฟังดูผิวเผิน ทุกคนคิดว่าจะต้องเป็นหนังชกมวย ประเภทเลือดกระฉูด ผู้ชายชกต่อยกันลูกเดียว   ผู้หญิงเป็นตัวประกอบ  เนื้อหาไม่สมจริง แต่เอาเข้าจริงแล้ว ธีมหลักของหนังไม่ได้อยู่ที่การชกมวยเพียงเท่านั้น  ตำนานมวยไทยไชยาเป็นเพียงฉากหลังหรือเครื่องมือ ในการเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ความรักและมิตรภาพระหว่างเพื่อนชาวใต้ 3 คน เปี๊ยก ( อัครา อมาตยกุล) เผ่า ( ธวัชชัย เพ็ญภักดี) และสะหม้อ ( สนธยา ชิตมณี) โดยมีมวยไทยไชยา เป็นทั้งตัวประสานและต่อรองในการรักษามิตรภาพ ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย

ความสัมพันธ์ของตัวละครยังรวมไปถึง สามีภรรยา (สามีผู้ปกป้องลูก) พ่อกับลูก (หลายคู่เลย ทั้งพ่อที่ชื่อสามารถกับการปกป้องลูกชายในการรักษามวยไทยไชยา) พ่อกับลูกสาว (อัครากับลูก)

และที่สำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมอาชีพเดียวกัน เปี๊ยกและสะหม้อ ได้รับคำสั่งจากเจ้านายให้ฝังศพนักมวยผู้หนึ่ง  เปี๊ยกพบว่าเจ้าของศพนั้นคือคู่ต่อสู้คนแรกในชีวิตของเขา เคี่ยม หมัดควาย (ยอดสนั่น 3 K แบตเตอรี่ ) … คนที่แม้เปี๊ยกจะพ่ายแพ้และบอกว่าจะเลิกชกมวย แต่เขาู้คนนี้แหล่ะที่บอกว่า้เปี๊ยกเป็นเด็กมีแวว   เพียงแต่ขอให้ฝึกปรือบ่อย ๆ  เพราะฉะนั้น เปี๊ยกจึงไม่ลังเลใจที่จะล้างแค้นแทน “ ครู” คนแรกในชีวิตชกมวยของเขา

 

หลักจอมยุทธ์ ....เหมือนตอนดูหนังฟันดาบสมัยเด็ก ๆ   หรือหนังจอห์นวู สมัยทำวิทยานิพนธ์   ส่วนในไทย เห็นมีแต่ “ โหมโรง” เท่านั้น  จำได้ไหม ตอนที่กล้องเลื่อนไปที่ภาพของขุนอิน ในฐานะที่พระเอกนับถือ เป็นอาจารย์นะคะ

ไชยา ในรอบที่ดิฉันดู เป็นรอบปิดเทศกาลหนังกรุงเทพ เต็มไปด้วยความฉับไวมาก จนบางครั้งก็เกิดอาการตามเรื่องไม่ทันเหมือนกัน ผู้กำกับก้องเกียรติ โขมศิริ รักษาโทนของหนังคล้าย ๆ กับตอนที่เขาทำเรื่อง ลองของ ฉับไว รุนแรง เพียงแต่ว่าความรุนแรงใน ลองของ เกิดจากภาพที่สยดสยอง ขณะที่ความรุนแรงใน ไชยา เป็นการประชันกันทางอารมณ์ของหนัง (ผ่านการตัดต่อที่ฉับไว) ของตัวละคร (ผ่านการแสดงออก) ผ่านความสมจริงของฉากและการแสดงต่าง ๆ ซึ่งบางตอนที่ติดต่อกัน ก็ทำให้เหนื่อยเหมือนกัน  

ยังไง ดิฉันก็เป็นผู้หญิง ก็ต้องการความนุ่มนวล   แม้ว่าโทนอารมณ์ดราม่าของหนัง อาจจะลดความรุนแรงของหนังไปบ้าง   แต่ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก  คิดว่าถ้ามีการตัดต่อให้ฉับไวน้อยกว่านี้ และทิ้งจังหวะของหนังมากกว่านี้    จะทำให้หนังสมบูรณ์ขึ้น  และจะช่วยแก้ภาพบางภาพที่หลุดออกมา อาทิ ภาพสยามสแควร์มีร้านพิซซ่าฮัท หรือภาพห้องพยาบาลมีแล็ปท็อป แม้ว่าตอนนั้นเพิ่งจะเป็นช่วงประมาณ 2520 กว่า ๆ้   ตัวละครเพื่อน 3 คนก็เพิ่งตื่นเต้นที่ได้เห็นโทรทัศน์สี   ซึ่งช่วงนั้น พิซซ่าฮัทกับแล็บท็อปยังไม่มา

การแสดงของตัวละครสอบผ่านหมด โดยเฉพาะตัวเปี๊ยก (อัครา) ซึ่งทำให้ดิฉันนึกถึง โรเบิร์ต เดอนีโรจริง ๆ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะต้องลดความแรงในบางตอนลงสักนิด  เชื่อว่าเขาจะมีอนาคตอีกไกล  สำหรับตัวละครรองอื่น ๆ เช่น สะหม้อ (เคยเล่นเรื่อง เหมืองแร่) และนางเอกใหม่ กิเนีย ภริตา คงเพชร รับบทเป็น ศรีไพร กำลังดีเลยค่ะ ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้าง ก็คงจะเป็นเต้ ไชยา ผู้รับบทเป็นแกร่งศึก

ไชยา เป็นงานที่แสดงให้เห็นว่า ก้องเกียรติยังมีหนทางอีกยาวไกลในเส้นทางกำกับนี้ งานของเขาอาจจะต่างจากผู้กำกับรุ่นพี่ในค่ายเดียวกันอย่างเป็นเอก รัตนเรือง หรือวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง แต่ก้องเกียรติก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขามีแววที่สามารถทำหนังกระแสหลักชั้นดีได้ เช่นเดียวกับที่งานหนังฮอลลีวู้ดชั้นนำอย่าง Raging Bull

เพราะฉะนั้น ดิฉันไม่ลังเลใจว่า ไชยา คือ The best Thai martial arts film ร่วมสมัย ความจริงอยากบอกว่าของไทยด้วยซ้ำ แต่เผอิญไม่เคยดูหนังแอ็คชั่นสมัยก่อน ก็เลยเอาแค่ปัจจุบันไปก่อนก็แล้วกัน

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.