สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
The One ลิขิตรัก ขัดใจแม่
  สรดิเทพ ศุภจรรยา / 20 ส.ค. 50
  LINK:    ข้อมูลหนังทุกอย่าง รวมทั้งเทรลเลอร์
   
 

 

ภาพยนตร์บางเรื่องถือได้ว่าเป็นหนังล้ำยุคล้ำสมัย ที่กล้าผ่ากรอบความคิดในด้านเนื้อเรื่องและตัวละคร อย่างเช่น “โรงแรมนรก” ของ คุณรัตน์ เปสตันยี ที่ยังคงความสด ความเซอร์ และความแปลกใหม่ แม้ว่าจะถูกสร้างมานานกว่า 50 ปีแล้ว ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์บางเรื่องทำตามแฟชั่น ถูกสร้างขึ้นเพื่อเกาะกระแสสังคม อย่างเช่นหนังตลกโปกฮาหลายเรื่องที่ดูสนุกวันนี้แต่อีก 2-3 ปีมุกตลกอาจจะแป๊กก็ได้

สำหรับหนังเรื่อง “ The One ลิขิตรัก ขัดใจแม่” ของ มารุต สาโรวาท ไม่ใช่ทั้งสองแบบ ไม่ล้ำสมัยและก็ไม่ล้าสมัย แต่เป็นหนังที่สามารถสะท้อนเรื่องราว สถานการณ์ และความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทยในปี พ.ศ. 2550 ได้อย่างแม่นยำ หากจะดูหนังเรื่องนี้ใน 10 ปีข้างหน้าก็จะรู้ทันทีว่า นี่เป็นหนังของปี 2550 ยุคที่ทักษิโณมิคหมดความนิยม ยุคที่รัฐบาลและสื่อต่างๆรณรงค์เรื่องความสมานฉันท์ เศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายคุณธรรมนำไทย

“ลิขิตรักฯ” มีบทที่เน้นแนวคิดวิถีชีวิตพอเพียง เน้นเรื่องความจริงใจไม่เสแสร้ง และเน้นการมีน้ำใจกล้าทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น มากกว่าเรื่องราวความรักครั้งแรกของวัยรุ่นอย่างที่เห็นในโปสเตอร์ และก็ไม่ใช่อะคาเดมีแฟนเทเชีย/พลิกดินสู่ดาว ฉบับภาพยนตร์ ถึงแม้ว่ามีการแข่งขัน เดอะวัน ค้นหาขวัญใจมหาชน ในครึ่งหลังของหนัง และยังมี ออฟ-ศุภณัฐ เฉลิมชัยเจริญกิจ (ออฟ AF 2) นำแสดง

ออฟ รับบทเป็น ต้นกล้า ลูกชายคนเดียวของผู้จัดการใหญ่บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของประเทศ เป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีมีสาวๆกรี๊ด

ด้วยรูปร่าง ประวัติ และภูมิฐาน ต้นกล้า น่าจะเป็นไฮโซฟุ้งเฟ้อปากร้าย เอาแต่ใจตัวเองไม่มีความอดทน แต่ในทางกลับกัน เขากลับเป็นคนติดดินที่เลือกไปเรียนที่ต่างจังหวัด อยู่หอพักเล็กๆ รู้จักพอรู้จักใช้ แม่ส่งของมาให้หนึ่งคันรถบรรทุก แต่เขากลับบริจาคมันเกือบหมดเพราะเขา “ไม่มีความจำเป็นต้องใช้”

ต้นกล้าเป็นคนรู้บุญคุณและคุณค่าของ มีใครซะเมื่อไรที่กล่าวขอบคุณข้าวหลังจากรับประทานอาหาร ไม่ก็ทำแกงจับฉ่ายง่ายๆโชว์กรรมการรายการเดอะวัน เพราะเสียดายผักที่ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นใช้แบบทิ้งๆขว้างๆ

 

 

ยังไม่หยุด ยังไม่หยุด ต้นกล้ายังเป็นคนไม่กลัวความลำบาก เขาเข้าค่ายอาสาพัฒนาชุมชน สามารถนอนตากยุงตามวัด ลุยน้ำลุยโคลนสร้างสะพานให้กับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไม่อายที่จะช่วยเหลือเด็กตกน้ำ และยังเป็นคนที่พูดจริงทำจริง ไม่พูดปดมดเท็จหลอกลวงปลิ้นปล้อน ไม่พูดคำหยาบ และไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่น

เพราะฉะนั้น เมื่อแม่ส่งต้นกล้าเข้าประกวดโครงการเดอะวัน เขาก็ไม่ดื้อดึง แต่การใส่หน้ากากหลอกคนอื่นและการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเงิน ชื่อเสียง และหน้าตาในสังคม ที่เขาเจอในสังคมเมือง ทำให้เขาถวิลหามิตรภาพ ความจริงใจ และความเป็นกันเอง ของเพื่อนๆค่ายอาสา อย่าง ทิด (แสดงโดย อิศรา อิศรางกูล ณ อยุธยา) เพื่อนร่วมห้องที่สาธยายชีวิตครอบครัวอย่างสนิทสนมตั้งแต่นาทีแรกที่เจอต้นกล้า หรือ พี่หน่อง (แสดงโดย วิโรจน์ สมพงษ์) รองประธานชมรมที่มีอัทยาศัยดีชอบคุยอย่างเปิดเผย (จนเกินไปโดยเฉพาะในช่วงเวลาทานอาหาร) คนดูจึงเดาได้ไม่ยากว่าต้นกล้าจะเลือกทางเดินไหนในตอนท้าย

“ลิขิตรักฯ” เก็บเกี่ยวและสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทยในปัจจุบันได้ดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นหนังที่สมบูรณ์ หนังเรื่องนี้มีบทที่ขัดข้องมากและชวนให้ตั้งคำถามตลอดเวลา เช่น ทำไมต้นกล้าหนีแม่ไปเรียนที่ขอนแก่น ทำไมวาดดาว (แสดงโดย ดรีม-ลภัสรดา นามสง่า) เพื่อนร่วมค่ายอาสาและผู้หญิงที่ต้นกล้าแอบชอบ ถึงเกลียดและพูดจาเสียดสีต้นกล้าตลอดเวลา ตบยุงหน่อยก็หาว่าเป็นคุณหนูไม่เคยลำบาก ถามว่าอาหารอีสานจานนี้เรียกว่าอะไรก็ด่าว่าเรื่องมาก อยู่มาวันหนึ่งเธอก็เริ่มชอบต้นกล้าแต่ต่อมาก็เกลียดเหมือนเดิม ทำไมแม่ส่งต้นกล้าเข้าประกวดเดอะวัน รายการเดอะวันประกวดอะไร ทำไมต้นกล้ายอมกลับมากรุงเทพฯ ทำไมระริน (แสดงโดย มะเหมี่ยว-เนติมาพร ไตรคำ) คู่แข่งในโครงการเดอะวัน ถึงกระซิบคำนั้นกับต้นกล้าในตอนสุดท้าย ทำไม ทำไม ทำไม...

การแสดงก็ค่อนข้างขัดหูขัดตา น้องออฟยังคงเป็นน้องออฟกระรอกน้อยน่ารักใสซื่อที่เรารู้จักกันดี ไม่ใช่ต้นกล้าหนุ่มหน้าตาดีทายาทธุรกิจพันล้านดีกรีนักเรียนนอกผู้ซึ่งอยากลองประสบการณ์ใหม่ๆ ส่วนทางด้านน้องดรีมและน้องมะเหมี่ยวนักแสดงใหม่ สามารถฝึกฝนได้อีกมากเพราะเธอเลือกใช้สีหน้าและท่าทางเดียวกันไม่ว่าจะรัก โกรธ คิดถึง ดีใจ หรือตกใจ

“ The One ลิขิตรัก ขัดใจแม่” คงไม่ชนะรางวัลประกวดภาพยนตร์ในปีนี้ แต่ก็ยังเป็นหนังที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยในเชิงการศึกษาสังคมไทยในยุคปัจจุบันที่บอบช้ำจากการกระทำของนักการเมืองบางคน ยุคที่โหยหาผู้นำที่มีคุณธรรม และยุคที่วาดฝันให้ทุกคนรักส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ตัวเอง

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.