สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ฉากไหนที่ถูกตัดไปกับ “ พลอย ” เวอร์ชั่นไทย

‘ พลอย’ มีความหมายอะไรกันแน่ – การต่อสู้ระหว่างความฝัน ความจริง และแฟนตาซีของคนคิดมาก และไม่คิดมาก

  11 มิถุนายน 2550 โดย อัญชลี ชัยวรพร
  ข้อมูลทุกอย่างของหนัง      เล็ก ๆ น้อยที่ไปปรากฎตัวที่คานส
   
 

ีมีการลิงค์บทวิจารณ์หนังเรื่อง ‘ พลอย’ ที่เว็บของเรามาก ก็เลยมีโอกาสได้รับรู้การตีความหมายเยอะแยะไปหมดของหนัง บางครั้งมากมายใหญ่โต จนเราตัดสินใจกลับไปดูหนังในที่สุด ในวันดี คือวันจันทร์ที่โรงหนังโล่งดี แถมไม่ง่วงนอนเลย เที่ยวนี้ก็เลยได้เข้าใจ ‘ พลอย’ มากขึ้น

จริง ๆ แล้ว หนัง ‘ พลอย’ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เนื้อเรื่องก็อย่างรู้ ๆ กันว่า แดงเกิดระแวงสามีเข้า หลังจากที่ไปเห็นโน้ตถึงบุคคลที่สามชื่อ “ น้อย” พร้อมเบอร์ โทรศัพท์ แถมต่อมาวิทย์ยังพาเด็กสาวเข้ามาร่วมห้องนอนด้วยอีก แดงก็เลยเกิดอาการระแวงเป็นตุเป็นตะ เก็บไปฝันบ้าง อะไรบ้าง (ฉากฆ่า)

จริง ๆ แล้ว แดงมีความระแวงในตัวสามีมาตั้งนานแล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางกลับถึงเมืองไทยอีก เธอจึงสังเกตุว่าทั้งคู่ไม่ได้อยู่ด้วยกันเลย ซึ่งฝ่ายวิทย์ตอบว่าเราอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่การอยู่ด้วยกันของแดง ไม่ได้หมายถึงทางกายเท่านั้น แต่หมายถึงการอยู่ด้วยกันทางความรู้สึก หรือทั้งคู่ไม่ได้นอนกันตั้งนานแล้ว

อันที่จริงแล้ว ทั้งคู่เป็นคนเหงาในคู่ชีวิต ซึ่งเราจะสังเกตุได้ว่า เมื่อแดงหายไป ความเหงาของวิทย์ก็เริ่มปรากฎ จนเขาร้องไห้คนเดียวขณะอาบน้ำ และถ้าดูประเด็นนี้แล้ว เป็นเอกกำลังกลับคืนสู่แนวหนังที่ตนถนัด นั่นก็คือคนเหงาในสังคม ทุกเรื่องของเขาก่อนหน้านั้น ล้วนเป็นคนเหงาทั้งสิ้น และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พูดว่าชีวิตคู่ก็เหงากันได้ ถ้าเราไม่ได้สื่อสารกันทางความรู้สึกจริง ๆ

ความระแวงในตัวสามีของแดง อาจจะเกิดจากอายุอานามที่มากขึ้นของเธอด้วย นอกจากระยะเวลาที่อยู่กันนานเกินไปของคนทั้งสองด้วย ดังจะเห็นได้ว่าเธอมีอาการติดเหล้า ตั้งแต่ก่อนกลับมาเมืองไทย และวิทย์เองก็รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมาเจอ ‘ พลอย’ เธอถึงอยากกลับไปเป็นเหมือนอย่างสาวน้อย อายุน้อย และสดใส (เอาสร้อยเธอมาใส่)

นอกจากความสั่นคลอนในชีวิตคู่แล้ว ตัวตนของแดงในสังคมไทยก็เริ่มหายไป อดีตดาราที่ไม่มีชื่อเสียงแล้ว ก็เลยทำให้เธอตัดสินใจทำอะไรโดยไม่ได้ยั้งคิด

ต้องบอกว่าไม่ได้สติจริง ๆ เพราะตอนนั้นเธอนั่งเครื่องมาเกือบวัน อาการของเธอจึงเหมือนคนละเมอ คิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นานา หนังก็รักษาโทนไว้แบบนั้น เหมือนคนง่วง ๆ หลับ ๆ ตื่น ๆ บางทีแสงสว่างจ้า บางทีมัวซัว

เรื่องมันก็เลยบานปลาย พอมาเจอเรื่องร้าย ๆ แล้ว และมาร่วมงานศพอีก (วิทย์จ้องรูปผู้ตายอยู่นาน) ทั้งคู่จึงตระหนักได้ว่า จะเอาอะไรกันมากมาย อีกไม่นานก็ตายแล้ว ก็เลยกลับมารักกันเหมือนอย่างเดิม

และเมื่อ แดงเลิกคิดฟุ้งซ่าน เธอก็เริ่มคิดได้ว่า พลอย ก็เป็นเด็กน่ารักเหมือนกันนะ

ขณะที่คู่บาร์เทนเดอร์กับสาวทำความสะอาดนั้น ไม่ได้พูดกันเลย แต่ทั้งคู่นอนกันเพียงเพราะความต้องการธรรมชาติ ขณะที่แม่บ้านนั้นมันคือการเติมแฟนตาซีของเธอ ที่จะมีความสัมพันธ์กับพระเอกหรือหนุ่มนักธุรกิจรูปงาม (โอ้ พล็อตเหมือนละครไทยเลย นางเอกถูกพระเอกปล้ำ) เพราะไม่คิดมาก เธอก็เลยมีความสุข แฮปปี้เอนดิ้ง นอนร้องเพลง

เพราะฉะนั้น อย่าคิดมากกับหนังเหมือน แดง ค่ะ เห็นมีการตีความหมายซะเยอะแยะไปหมด เช่นว่าห้อง 603 บ้างล่ะ รอยฟกช้ำบนตาขวาของแดงกับพลอยบ้างล่ะ

รอยฟกช้ำบนตาขวาของ ‘ พลอย’ น่ะ ถ้าจะให้ บก . เดานะ ก็แค่ว่าเธอไม่ใช่เด็กไร้เดียงสาที่มารอแม่อย่างที่บอกหรอก เธออาจจะมาล่อเหยื่อเหมือนกัน เพียงแต่ว่าวิทย์ไม่ใช่คนเหลวไหล แค่นั้นเอง เธอถึงรู้ไปหมด รู้แม้กระทั่งว่าบาร์เทนเดอร์กับแม่บ้านมีอะไรกัน มันแสดงให้เห็นว่าเธอก็ช่ำชองกับสถานที่นั้นพอสมควร

สำหรับฉากที่ถูกตัดทิ้งของหนังนั้น เป็นฉากที่อนันดากำลังร่วมรักกับแม่บ้าน ฉากนั้นอนันดาเอาหัวมุดอยู่ในกระโปรงแม่บ้านค่ะ ไม่รู้ว่าถูกเซ็นเซอร์หรือถูกตัดทิ้งเองนะ

 

พลอย เสน่ห์ของความอึมครึม
  23 พฤษภาคม 2550 โดย อัญชลี ชัยวรพร
   
 

 

ผลงานเรื่องที่ 6 ของหนึ่งในผู้กำกับฝีมือระดับต้น ๆ ของไทยอย่างเป็นเอก รัตนเรือง ที่คาดว่าน่าจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเรื่องราวของคนเหงา เพราะพ่อไม่สนใจ (ฝัน บ้า คาราโอเกะ) คนเหงาที่ตกงานและต้องมาเผชิญหน้ากับอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ (เรื่องตลก 69) ความโดดเดี่ยวของของหนุ่มบ้านนอกที่ถูกโชคชะตาพลิกผันในกรุงเทพ (มนต์รักทรานซิสเตอร์) ความเหงาของหนุ่มญี่ปุ่นในต่างแดน ( Last Life in the Universe) ก่อนที่จะมาเป็นหนุ่มที่รู้สึกผิดกับการรฆาตกรรมของตนเองใน Invisible Waves มาเป็นเรื่องราวความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของภรรยาที่มีต่อสามี หลังจากที่เห็นชื่อและเบอร์โทรศัพท์ในกระเป๋าเสื้อผ้าของเขา

เพราะฉะนั้น เมื่อเขานำเด็กสาวอายุสิบเก้าคนหนึ่งชื่อ “ พลอย ” เข้ามาร่วมนอนห้องด้วย เพียงเพื่อช่วยเธอระหว่างที่รอผู้เป็นแม่มาจากสต็อกโฮลม์ แดงผู้เป็นภรรยาจึงถกเถียงกับวิทย์ผู้เป็นสามี และใช้วิถีทางที่จะกำจัดเด็กสาวไป

แต่ พลอย ในแนวเรื่องที่เปลี่ยนไป ยังคงเล่าเรื่องด้วยโทนแห่งความสงสัย ไม่แน่ใจ หรืออาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นฟิลม์นัวร์ฉบับปัญหาครอบครัวก็ว่าได้ เพียงแต่ไม่มีการฆาตกรรมอย่างใน Invisible Waves เหมือนกับจะสะท้อนความคิดในจิตใจของตัวละครทุกตัว วิทย์ตั้งใจจะช่วยเด็กสาวพลอยจริงหรือ เขาไม่ได้ต้องการฉวยโอกาสจะนอนกับเด็กจริงหรือไม่ เช่นเดียวกับจิตใจของแดงที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ในใจของเธอต้องการจะกำจัดเด็กออกจากห้องอยู่เสมอ แต่ฉากหน้าเธอยังคงมีความโอบอ้อมอารีต่อเด็กสาวอย่างผู้ใหญ่ที่พึงควรกระทำ

หรือแม้แต่ พลอย เอง ซึ่งมารอแม่ หรือเป็นเพียงเด็กใจแตกอย่างที่บาร์เทนเดอร์หนุ่มรำพึงกับวิทย์

 

 

และหนังก็คุมโทนเหล่านี้ตลอด ด้วยองค์ประกอบของหนังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แสง ซึ่งคุมให้สลัว ๆ และมืด ๆ ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นช่วงเช้าของวัน แต่ม่านในห้องกลับปิดตลอดเวลา ดูแล้วชวนให้นึกถึงฉากมืด ๆ ใน เรื่องตลก 69 แม้กระทั่งดนตรีประกอบก็รักษาโทนเช่นนี้ไว้

หนังเล่าเรื่องโดยใช้เหตุการณ์ของคน 2 คู่คู่ขนานกัน คู่แรกก็คงเป็นข้อขัดแย้งระหว่างแดงและวิทย์ ส่วนคู่ที่สองก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบาร์เทนเดอร์หนุ่มและสาวทำความสะอาดของโรงแรม แต่วิธีการนำเสนอไม่ได้คู่เคียงกันไปตลอด เท่า ๆ กับที่อัตราส่วนของการนำเสนอเหตุการณ์ที่สองนั้นน้อยกว่า

เห็นได้ชัดว่าเป็นเอกต้องการใช้เหตุการณ์ที่สองเป็นตัวเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับคู่แรก ขณะที่คู่ชีวิตอย่างแดงและวิทย์จะใช้เวลามานานร่วมเจ็ดปี แต่กลับไร้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน ขณะที่คู่ของนัท (อนันดา) และตุ้ม (พรทิพย์ ปาปะนัย) บาร์เทนเดอร์และแม่บ้านของโรงแรม ซึ่งตลอดทั้งเรื่องไม่ได้พูดคุยกันเลย มาถึงก็มีเซ็กส์กันทันที

บางทีการดำเนินชีวิตคู่นั้น อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดกันมากมาย

หนังดำเนินเรื่องช้ามาก เหมือนกันจะสะท้อนภาวะความคลุมเครือในจิตใจของตัวละคร ซึ่งแม้จังหวะของหนังจะช้าและมืดครึมเช่นนี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

และที่สำคัญ เมื่อถึงฉากจบ เราก็มาถึงข้อสงสัยอีกต่อหนึ่งว่า ตกลงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่เมื่อพลอยเดินเข้ามาในห้อง มันเป็นจริงหรือไม่ ทั้งหมดอาจจะเป็นเพียงสิ่งที่แดงคิดขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแดงนำสร้อยคอของพลอยมาใส่แล้ว พร้อมกับที่นักวิจารณ์ฝรั่งคนหนึ่งกล่าวขึ้นมาว่า อภิญญา ผู้แสดงเป็นพลอยนั้น หน้าตาเหมือนหมิว ลลิตา

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนเกิดคิดได้ว่า บางทีเรื่องราวทั้งหมดอาจจะไม่เป็นจริง ตัวพลอยเอง อาจจะเป็นเพียงสิ่งที่แดงคิดขึ้น หลังจากที่พบชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของคนอื่นในกระเป๋าของสามี

พลอย เป็นหนึ่งที่ดูยากที่สุดในบรรดาหนังของเป็นเอกทั้งหมด และต้องใช้ความอดทนสูงในการดูอยู่ไม่น้อย แต่ลายเซ็นเดิม ๆ ของเขาหลายอย่างยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลง โทนของหนัง และการแสดงของดารา และในความอึมครึมนี้ ก็มีเสน่ห์บางอย่างให้ค้นหาต่อไป

แนะว่า ให้อดทนดู เพราะทุกอย่างมันมาเฉลยตอนจบ ทุกอย่างมันวนมารับส่งกันตอนนั้น ความคลุมเครือของหนังที่เป็นเอกทิ้งไว้ในจิตใจของตัวละครตั้งแต่ตอนแรก จะบอกนัยบางอย่าง และทุกอย่างต้องสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของหนังแต่ละตอนให้ดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลอย ฉากการไล่ล่าระหว่างแดงกับหนุ่มคนร้าย หรือแม้กระทั่งฉากงานศพในตอนจบ

ทุกอย่างมันเป็นจริงหรือไม่

ซึ่งความคลุมเครือเหล่านี้ ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาของผู้กำกับที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ก็ต้องรอดูผลตอบรับเดือนหน้านี้นะคะ

   

คนนี้บอกว่าชอบ และน่าจะเข้าประกวด - ลี มาร์แชล จากสกรีน

   
 

พลอย เป็นหนังที่เติบโตมากที่สุดของผู้กำกับออเทอร์ไทยอย่างเป็นเอก รัตนเรือง   หนังนำเสนอธีมเรื่องคล้ายกับ The Seven Year Itch ด้วยความแตกต่างและอารมณ์เชิงบทกวีอันมืดมน  แม้ว่าจังหวะที่ช้าของหนังต้องอาศัยความอดทนสูงในการดู  แต่องค์ประกอบอื่น ๆ ของหนัง   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของหนังที่ช้า ๆ  การตัดต่อ  การถ่ายภาพได้ส่งสารดราม่าอันแข็งแกร่งและเนื้อหาเชิงศีลธรรม  ฝีมือของเขาในเรื่องนี้ได้ก้าวพ้นงานหนังที่เหนือจริงอย่าง Invisible Waves ไปค่อนข้างมาก

พลอย เป็นหนังชิ้นที่เต็มไปด้วยรสชาติ ทั้งอีโรติก ตลก และเต็มไปด้วยอารมณ์  หนังน่าจะได้เข้าในสายประกวดมากกว่าจะเป็นเพียงสายข้างเคียงใน Directors' Fortnight เท่านั้น

พลอยได้เสนอจังหวะที่ไม่รีบร้อน แล้วก็ให้รางวัลกับคนดูด้วยความเชื่องช้า  หนังน่าจะทำให้ฟอร์ติสสิโม่ขายหนังได้ดีกว่า Last Life In the Universe ในกลุ่มพวกหนังอาร์ตเฮ้าส์   ผู้ซื้อหนังในเขตนี้ี้ไม่น่าจะมองข้ามหนังเรื่องนี้ เสียงวิจารณ์และการเชื้อเชิญไปตามเทศกาลหนังต่าง ๆ น่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้

ตั้งแต่ฉากเริ่มแรก เราจะเห็นเรื่องอยู่ในจุดทรานสิททั้งอารมณ์และสถานที่  สามีภรรยาคู่หนึ่งเดินทางมาถึงสนามบินที่กรุงเทพ นั่งแท็กซี่ และเช็คอินเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง  เรื่องราวเกิดขึ้นในตอนเช้ามืด ฝ่ายสามีวิทย์ลงไปซื้อบุหรี่ที่บาร์ และได้พูดคุยกับเด็กสาวชื่อพลอย ซึ่งหน้าตาเหมือนลลิตามาก   เธอกำลังนั่งรอแม่ และเด็กสาวดูอายุน้อยกว่าที่บอกไว้ว่าสิบเก้า วิทย์ชวนเด็กให้ไปนั่งรอแม่ที่ห้อง

เมื่อกลับมาที่ห้อง แดงยังไม่ได้หลับ และไม่พอใจอย่างมากที่สามีชวนพลอยให้มานั่งพักที่ห้อง   เธอเริ่มสงสัย   เราไม่เคยแน่ใจว่าวิทย์บริสุทธิ์ใจจริงหรือไม่  เท่า ๆ กับที่เราก็ไม่แน่ใจว่าพลอยจะไร้เดียงสาจริง  เป็นเอกเล่นกับความไม่ชัดเจนนี้อย่างชาญฉลาด   จริง ๆ แล้ว พลอย ได้แสดงให้เห็นความสามารถของเป็นเอกในการเขียนบท  เท่า ๆ กับการกำกับการแสดง การจัดฉาก และวางเฟรมหนัง

ขณะเดียวกัน นัท (อนันดา) บาร์เทนเดอร์หนุ่มที่เราเห็นอยู่ข้างล่าง  ก็มาหาตุ้ม  ทั้งสองได้ร่วมรักกัน  จากนั้นการเชื่อมโยงระหว่างสองพล็อตนี้ก็จะเริ่มเปิดเผยที่มา หรือถ้าจะบอกให้ถูกเปิดเผยครึ่งหนึ่ง  เพราะแม้ว่าความฝันของวิทย์ พลอย และแดง จะรุกเรื่องราวของหนังอยู่ตลอดเวลา   แต่มันก็สร้างขึ้นอยู่ชายขอบ ทำให้เราต้องเดาอยู่ตลอดเวลา

ผู้กำกับภาพชาญกิจ ชำนาญวิไกพงศ์พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นผู้สืบต่องานจากคริส ดอยล์ได้อย่างดี   หนังส่วนใหญ่จะถูกวาดฝันด้วยโทนแสงเพียงครึ่ง  เน้นสภาวะจุดเปลี่ยนในชีวิตของแดงและวิทย์  มันเป็นทไวไลท์โซนของความรู้สึก  ดนตรีอิเล็คทริคไฟฟ้า สร้างอุณหภูิมิของหนังให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แม้แต่เพลงที่ร้องต่อหน้ากล้องโดยตรงก็ไม่ได้ทำให้อารมณ์ของหนังเปลี่ยนไป   นี่เป็นหนังที่ได้รับการตัดสินอย่างสมบูรณ์เหมือนหนังที่น่าประทับใจเรื่องหนึ่ง

 



คนนี้ไม่ชอบ รัสเซล เอ็ดเวิร์ด จากวาไรตี้
   
 

ความหึงหวงกระหน่ำอย่างรวดเร็ว  แต่ฉากเซ็กส์สลัว ๆ และการเล่าเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย  จังหวะของหนังที่เคลื่อนช้าราวกับก้อนน้ำแข็ง ทำให้ พลอย กลายเป็นหนังที่ดำเินินเรื่องเหมือนคนนอนละเมอ  การกลับมาเขียนบทของผู้กำกับเป็นเอกอีกครั้งหนึ่ง  ทำให้หนังที่แสนจะเชื่องช้าเรื่องนี้เปรียบเหมือนพายุสึนามิที่กำลังจะเข้ามา   หนังพูดถึงหนุ่มไทยที่มีความสัมพันธ์ชั่วคราวกับเด็กสาวอายุสิบเก้า  สร้างความตกใจให้กับภรรยาของเขา  แต่หนังไม่ชัดเจน และไม่ค่อยได้แสดงให้เห็นความผูกพันกันจริง ๆ   หนังน่าจะไปตามเทศกาลต่าง ๆ มากกว่า   แต่ผลทางตลาดอาจจะมีค่อนข้างจำกัด

วิทย์และแดงภรรยาของเขาเดินทางกลับถึงประเทศไทย  เพื่อร่วมงานศพหลังจากอยู่อเมริกานานกว่าทศวรรษ   เขาได้พบพลอย  และคนทั้งคู่ต่างก็มาจากภูเก็ต  เขาเชิญเธอมาที่ห้องเพื่อพัก

ตัวละครทั้งสามคนโยกย้ายไปมาในช่วงเช้าตรู่   ทำให้เป็นเอกสามารถฝึกฝนฝีมือทางภาษาหนังด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่บางเบา  ระหว่างเหตุการณ์นี้เป็นฉากอีโรติกระหว่างหนุ่มบาร์เทนเดอร์กับตุ้ม  ซึ่งตื่นเต้น  ฉากเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่เป็นเอกตั้งใจนำมาใช้

การกำกับอาจจะแข็งแรง แต่ขาดสาระที่จะมาช่วยจังหวะของหนังที่เดินช้าเหมือนหอยทาก   หนังจะเป็นตัวทดสอบความอดทนของผู้ชมค่อนข้างมาก  เทคนิคของหนังค่อนข้างแข็งแรง   แต่ซาวน์แทร็คโดยหัวลำโพงกับโคอิจิ ชิมสึดูิจะย้ำภาวะง่วงนอนของตัวละครหลักของหนัง  ซึ่งคงยากที่จะสร้างในตัวผู้ชมได้

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.