สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ชุมทางรถไฟผี
  โดย จามีกร
 

 

ท่ามกลางหนังผี หนังสยองขวัญทั้งไทยและเทศที่ทะลักเข้าสู่ตลาดหนังบ้านเราในรอบหลายปีที่ผ่านมา ชุมทางรถไฟผี เป็นหนังแนวผีๆ อีกเรื่องหนึ่งที่พยายาม “ ฉีก ” แนว ไม่ให้เป็นหนังผีตลก ไม่ใช่หนังผีสยองขวัญ แต่ก็ไม่เชิงเป็นหนังผีเชิงแฝงสาระ คติธรรมหรือพุทธปรัชญา ดูหนังจบแล้วก็ยังงงๆ อยู่ว่า เป็นหนังผีแนวไหน เพราะเป็นไม่ได้สักแนว

เรื่องเริ่มที่การปล้นโรงเรียนอนุบาลของกลุ่มโจร ที่นำทีมโดย โจ๊ก (สุระ ธีระกล) โจรขี้โมโห โดยมีสมุนอีก 4 คน คือ เอก (วรฐก์ ปิฏกานนท์) โจรกระเทยที่มีจริตจะก้านน่ารำคาญ มืด (ภูมิใจ ตั้งสง่า) โจรติดยาที่เห็นภาพหลอนต่างๆ ไก่ (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีระวงศ์ – แจ๊ค แฟนฉัน) โจรอายุน้อย ขี้โม้ และจูน (ญะริชฎา วัธนวงส์ศิริ) โจรหญิงหนึ่งเดียว เป็นแฟนกับโจ๊ก จากนั้น กลุ่มโจรก็ขับรถหนีตำรวจจนไปชนร้านขายอุปกรณ์เดินป่าที่โต (เขตต์ ฐานทัพ) นั่งเฝ้าร้านอยู่คนเดียว โตถูกจับเป็นตัวประกันแล้วถูกพาหนีไปหลบซ่อนในตู้รถไฟ เรื่องหลังจากนั้น เป็นเรื่องผีๆที่เกิดขึ้นในรถไฟขบวนนั้น โดยมีราตรี (สาวิกา ไชยเดช) หนึ่งในผู้โดยสารคอยช่วยเหลือโต

ชุมทางรถไฟผี เป็นหนังไทยอีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องบท เราจะพบว่า บทหนังบางเรื่องไม่รัดกุม เปิดประเด็นไว้หลายๆประเด็นแล้วปิดไม่หมด หรือปิดหมดก็ไม่เนียน บางเรื่องไม่สมเหตุสมผล (คนดูเกิดคำถามหรือต้องคิดหาเหตุผลช่วยตลอดทั้งเรื่อง) บางเรื่องบทก็อ่อน ไม่แน่น สับสนแเละขาดทิศทางที่ชัดเจน เช่นเรื่องนี้

หนังขาดความพิถีพิถันในรายละเอียด ทั้งบุคลิก บทสนทนา และความสมเหตุสมผล ไม่ใช่สมจริงนะครับ ไม่ต้องสมจริง ก็ได้ เพราะเป็นหนัง แต่ต้องสมเหตุ สมผล ให้คนดูคล้อยตามได้ การที่โจรพาตัวประกันหนีมาหลบที่ตู้รถไฟนั้น ไม่มีเหตุจำเป็นอันใดที่ต้องมีตัวประกัน ลากกันไปถึงสถานีรถไฟ อันพลุกพล่านไปด้วยผู้คน เพราะตำรวจก็ไม่ได้ติดตามอะไรถึงปานนั้น นี่เป็นตัวอย่างที่ผมรู้สึกว่า ไม่สมเหตุสมผล ไม่รู้สึกคล้อยตามเห็นด้วย

นอกจากนี้ ฉากบนรถไฟแต่ละตู้ก็ไม่สามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมคล้อยตามให้สะพรึงกลัวได้ เพราะแต่ละตู้ดูไม่กลมกลืน บางตู้เหมือนตู้เก็บของ ถัดไปกลายเป็นเธคที่มีคนเต้นกันสนุกสนาน ถัดไปเป็นเหมือนตู้ภัตตาคารหรูย้อนยุค บางตู้เป็นตู้นั่ง แต่มีคนยืนเต็มไปหมด นอกจากนี้ ยังมีห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ที่ดูอย่างไรก็ไม่ใช่ห้องในรถไฟ โจรดูแปลกแยก แต่ไม่มีใครสงสัย ไม่มีใครกลัว มีแต่ มืด ที่ในเรื่องพยายามบอกว่า เห็นผี เพราะหลอนจากฤทธิ์ยา

บทสนทนาก็ไม่สอดรับกันให้ผู้ชมคล้อยตามได้ พูดไปที พูดมาที ทำเหมือนจะมีอะไร แต่ไม่เห็นมีอะไร เหมือนโจรจะมีแผน แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่เห็นจะเป็นแผนอะไร แถมยังบอกว่า จะเปลี่ยนแผนอีกต่างหาก นี่มันอะไรกัน สร้างเครื่องหมายปรัศนีย์ให้ผู้ชมตลอด ไม่ใช่ปริศนาที่เรียกร้องให้สนใจใคร่ติดตามนะ แต่เป็นคำถามกึ่งหงุดหงิดว่า “ นี่มันอะไรกัน (ว่ะ) ”

บุคคลิกภาพของตัวละครแต่ละตัวไม่ได้นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อเนื้อหาและการดำเนินเรื่องให้เข้มข้นขึ้น ไม่ว่า ในทางที่จะทำให้สถานการณ์ของเรื่องดีขึ้นหรือเลวร้ายลง ผู้เขียนบท ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับและร่วมควบคุมการสร้าง (สุขุม เมธาวานิช) สร้างตัวละครแบบไม่มีเหตุผล หรือบทรองรับ ทั้งโต นักแข่งมอเตอร์ไซค์วิบาก ซึ่งไม่ได้ใช้ความสามารถในเรื่องนี้ในส่วนหนึ่งส่วนใดของหนัง โจ๊ก หัวหน้าโจรอารมณ์ร้ายตลอดเวลา พูดกระโชกโฮกฮากแล้วเอาปืนจ่อหัวคนโน้นทีคนนี้ที หรือตัวละคร ไก่ หามีประโยชน์อันใดไม่ เพราะไม่ได้สร้างบทบาทให้เกิดประโยชน์อันใดให้กับหนัง แค่ให้มีตัวละครมากขึ้น (ผมไม่รู้ว่า มีใครดูแลเรื่องการรับงานให้กับเฉลิมพลบ้าง เพราะหลังจาก รับรางวัลมากมาย จากการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก คือ แฟนฉัน แล้ว ดูเหมือนเขาจะไม่ได้รับงานที่คู่ควรเลย รับแต่งานที่เป็นตัวประกอบ ที่ไม่มีความสำคัญในหนังแต่ละเรื่องสักเท่าไร) ตัวละครที่แย่มากคือ เอก ตัวโจรกระเทย ที่น่ารำคาญเอามากๆ ไม่รู้ว่า จะสร้างตัวละครที่มีบุคคลิกภาพอย่างนี้ไห้เกิดประโยชน์อันใดกับหนัง ส่วนจูน ก็ออกมาเป็นแว๊บๆให้รู้ว่ามีตัวละครนี้อยู่ ที่พอจะมีบทบาทอยู่บ้างก็คือ มืด ที่มีอาการประสาทหลอนเห็นภาพคนแก่ที่ตัวเองปล้นฆ่าและเห็นผีสางที่วนเวียนอยู่รอบๆกาย อันเกิดมาจากการเสพย์ยา

ตัวละครแต่ละตัวแบนราบขาดมิติ ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการพัฒนา ต้นเรื่อง เป็นอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนจบเรื่อง ตอนท้ายของหนังไม่รู้จะไปทางไหนดี ก็สร้างตัวละครใหม่ขึ้นมา ได้แก่ คนขับรถไฟ ซึ่งไม่รู้สร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันใดเช่นกัน กับ คนตรวจตั๋ว ที่โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ อยู่ๆ ก็โผล่เข้ามาไขปริศนา เพื่อให้เรื่องจบได้

เทคนิคภาพซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ขายได้ของหนังแนวผีสยองขวัญทั้งหลาย ก็ดูเก๊และล้าหลังราวกับหนังจักรๆวงศ์ๆในจอตู้เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ไม่รู้ว่าผู้สร้างไปอยู่ที่ไหนมา ทั้งบทหนัง และการสร้าง ล้วนหลุดพ้นจากนิยามของหนังดีในพ.ศ.นี้

ผมพยายามบอกตัวเองว่า การดูหนังผีนั้น ไม่ต้องไปคิดหาเหตุผลหรือสาระอะไรกันมากนัก เอาแต่อารมณ์สนุกตื่นเต้นก็พอ แต่ปรากฎว่า ผมไม่ได้อะไรที่ชัดเจนสักอย่าง

ดูแล้วอึดอัด อยากให้หนังจบเร็วๆ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : บัณฑิตธรรมศาสตร์รุ่นกลางเก่ากลางใหม่ผู้นี้ รักดูหนังตั้งแต่ยุคหนังไทยตกต่ำ  เป็นคนรักการเขียนหนังสือ จนสมัยเรียนมักจะทำหน้าที่แต่งกลอนให้เพื่อน ๆ  ภาษาสำนวนจึงดีกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน (แม้แต่ บก.) แม้อาชีพในปัจจุบันจะไม่เกี่ยวข้องกับหนังโดยตรง  แต่เขาก็ยังไปดูหนังไทยอยู่เป็นประจำ

   
   
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.