สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
 Final Score: ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ ก็เลยไม่รู้จะไปทางไหน
  สรดิเทพ ศุภจรรยา
  มิวสิควีดีโอ              หนังตัวอย่าง (trailer)            แกลอรี่ภาพและข้อมูลของหนัง      
  45 ปี ตำนานเอ็นทรานซ์ (ตั้งแต่รุ่น 2504 - 2549)
   
 

ผมไปดูหนังที่กำลังเป็นที่จับตามองมากที่สุดในขณะนี้ Final Score: 365 วัน-ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ แล้วครับ หนังโดยรวมดูสนุก มีสาระ ให้ข้อคิด มีมุขต่าง ๆ

แต่ทุกอย่างมันให้ความรู้สึกเหมือน Foreplay ที่ไม่มี Climax (โน้ตจาก บ. ก. = ขั้นตอนแห่งการเล้าโลม  ถ้าจะว่าให้ไพเราะ  ก็ต้องบอกว่าขั้นโหมโรง) ไม่ได้กะจะลามกนะครับ แต่เผอิญ ผมคิดคำอื่นไม่ออก พูดง่ายๆก็คือ หนังเหมือนดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ และเรื่อย ๆ ….. ต่อไป และต่อไป เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ จนไม่สามารถพาอารมณ์ไปถึงจุดสุดยอดของความเพลิดเพลินได้

อาจจะเป็นเพราะว่าหนังพยายามจับผสมผสานหลายประเด็นไว้ในหนังเรื่องเดียวกันมากเกินไป จนทำให้เนื้อเรื่องกระจัดกระจายไม่มีแกน ( Theme) หลัก เดี๋ยวก็ไปทางโน้นที ทางนั้นที ทางนี้ยังไม่ยอมจบ ก็ไปทางโน้นแล้ว ……..

ถ้าพยายามมองอย่างให้เข้าใจ คิดว่าอาจจะเป็นจุดประสงค์ของผู้กำกับที่ต้องการจะสื่อความสับสนของเด็กม.6 ระหว่างช่วงเตรียมตัวสอบ เอ็นทรานซ์ ก็เลยทำให้หนังออกมาในจังหวะแบบนี้

Final Score ตามติดชีวิตของเด็ก ม.6 โรงเรียนสวน กุหลาบ 4 คน ระหว่างช่วงเตรียมตัวสอบ เอ็นทรานซ์ ซึ่งเส้นทางสู่มหาวิทยาลัยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่

น้อง บิ๊กโชว์ -- กิตติพงศ์ วิจิตรจรัสสกุล ต้องลดน้ำหนักให้ได้เกือบ 15 กิโลเพื่อจะให้เกรด 4

น้องลุง--วรภัทร จิตตแก้ว ต้องเรียนซ่อม 8 วิชาเพื่อจะได้ไม่ต้องซ้ำชั้น

น้อง โบ๊ท -- สราวุฒิ ปัญญาธีระ ต้องจำใจสอบเข้าคณะบัญชีทั้งที่ใจจริงฝันอยากเรียนประมง แต่พ่อแม่ไม่สนับสนุน

น้องเปอร์--สุวิกรม อัมระนันท์... เออ... รายนี้อาจไม่เจออุปสรรคใหญ่เท่าอีกสามคน แต่เรื่องราวชีวิตของเขากลับน่าดูที่สุด อาจจะเป็นเพราะว่าน้องเขากวนนิดๆ ติสท์หน่อยๆ เพราะฉะนั้นทุกฉากที่น้องเปอร์ปะทะคารมกับคุณแม่ดวงพรนั้น ช่างโหดมันฮาเสียจริง (อาจจะทำให้หลายคนนึกถึงพ่อแม่ตัวเอง) แต่ก็น่าเสียดายที่ทำให้น้อง ๆ อีก 3 คนกลายเป็นนักแสดงสมทบโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่คนดูอย่างเราท่าน หรืออย่างน้อยเด็ก ๆ ที่กำลังจะสอบเอ็นทรานซ์ น่าจะได้รับรู้วิธีการของน้องโบ๊ทที่จะทำให้ครอบครับยอมรับความชอบของลูกได้ หรือวิธีการอะไรที่ทำให้น้องลุงไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น แม้กระทั่งยุทธการที่ทำให้ น้อง บิ๊กประสบหรือไม่ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนัก … มุขเล็ก ๆ ที่น่าจะเรียกเสียงฮาได้อยู่ไม่น้อย

 

 

ภารกิจนี้ได้ผู้กำกับใหม่ แอน--โสรยา นาคะสุวรรณ นำทีมอึดอดทนติดตามถ่ายทำกว่า 1 ปีและตัดต่อฟุตเตจที่ยาวกว่า 300 ชั่วโมงจนเหลือแค่ 95 นาที ผมไม่ปฎิเสธหรอกครับว่า ตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นน้อง ๆ ทรมานกับ การเตรียมตัวสอบ เข้ามหาวิทยาลัยกันอย่างไรบ้าง ต้องอ่านตำราจนดึก แบบที่เรารู้ ๆ กัน ต้องไปเรียนกวดวิชาอย่างบ้าคลั่งอย่างไม่น่าแปลกใจ ว่ากันว่า น้อง บิ๊กโชว์เครียดจนไม่ให้ถ่ายทำต่อด้วยซ้ำ

คือ เราเห็นหมดล่ะครับ ความยากลำบากของการสอบเอ็นทรานซ์ หรือสอบให้ได้คะแนนแอดมิชชั่นตามระบบใหม่ แต่เรากลับไม่รู้ว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยเป็นอย่างไร ไม่ได้เห็นกิจวัตรประจำวัน ในช่วงเตรียมตัวสอบ เอ็นทรานซ์ หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเกมส์การแข่งขันที่ต้องลุ้นว่าใครสมหวังใครผิดหวัง อีกทั้งไม่ได้เป็นสารคดีเกี่ยวกับความชอบธรรมของระบบสอบ เอ็นทรานซ์ ความโกลาหลของระบบโอเน็ท-เอเน็ทของปีที่แล้วก็แทบจะไม่ได้ถูกพูดถึงเลย

เรื่องนี้มีประเด็นเกี่ยวกับเพื่อนในวัยเรียนแต่สุดท้ายก็พูดไม่จบ เราได้เห็นน้องๆทั้งกลุ่มไปเที่ยวทะเล ดื่มด่ำกับความเป็นเพื่อนในช่วงมัธยมศึกษาปีสุดท้าย ก่อนแยกย้ายไปคนละทิศคนละทาง ในฉากนี้เองที่น้องลุงถามคำถามชวนคิดว่า ถ้ามีคนหนึ่งในกลุ่มเป็นนายกและอีกคนเป็นยาม ทั้งสองยังจะสามารถพูดคุยกินข้าวอย่างปัจจุบันได้ไหม สำหรับหลายคนความเป็นเพื่อนเริ่มลดลงตั้งแต่ก้าวแรกจากรั้วโรงเรียน อนาคตความสัมพันธ์ของพวกเขาละจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายแล้ว น้องลุงก็ไม่ได้คำตอบที่พอใจ เพราะเพื่อนๆกลับเอาแต่พูดเล่นหยอกล้อ และเบี่ยงเบนความสนใจไปที่พลุแทน ตอนจบเราก็เห็นน้องๆแยกย้ายกันไป แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพื่อนพูดคุยกินข้าวเหมือนเก่าหรือเปล่า

หลังจากนั้นไม่นาน น้องลุงก็เปิดอีกประเด็นนึง โดยถามว่า “ ความรู้คืออะไร” เพื่อน ๆ ทุกคนตอบไม่ได้ อาจารย์ก็ตอบแบบกำปั้นทุบดิน เปรียบเสมือนว่าลึกๆแล้ว เราไม่ได้เรียนเพื่อความรู้ แต่เพื่อกระดาษหนึ่งแผ่น ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดี เราไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ แต่ทำตามสังคม แต่ท้ายที่สุดผู้ชมก็ไม่สามารถรู้ได้เพราะนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกทิ้งค้างไว้

ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสารคดีที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่ทุกภาพยนตร์ควรมีประเด็นหลัก ควรตอบได้ว่าเรื่องนี้อยากจะบอกอะไรกับโลก

เป็นที่น่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ คือ ไม่มีมุมมองของเด็กผู้หญิง เด็กสายศิลป์ เด็กจากโรงเรียนอื่น เด็กต่างจังหวัด เด็กฐานะยากจน ฯลฯ แต่ก็เป็นที่เข้าใจถ้าทีมงานมีความจำกัดในการเลือกสรรและติดตามเด็กที่แตกต่างขนาดนั้น

โดยรวมแล้วเรื่องนี้พยายามจะเป็นหลายอย่างสำหรับหลายคน เป็นเรื่องที่ให้อดีตนักเรียนม. 6 ได้รำลึกความหลัง ให้น้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยเสริมสร้างกำลังใจ ให้พ่อแม่เข้าใจลูก ฯลฯ

หว่านแหซะขนาดนี้ ก็คงต้องมีมุมใดมุมหนึ่งที่จะโดนใจคน แต่ว่าจะโดนใจสุดๆจนถึง Climax หรือเปล่า อันนี้ก็ต้องไปดูเองละครับ

โน้ตจาก บก: เพราะเป็นหนังวัยรุ่น  ก็เลยให้วัยรุ่นเป็นผู้วิจารณ์   น้องแชมป์ สรดิเทพ ไม่ต้องผ่านระบบการศึกษาแบบเมืองไทย เพราะสอบทุนไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี   เขียนวิจารณ์ภาษาอังกฤษมานานร่วม 2 ปี  ถูกบังคับให้เขียนชิ้นนี้เป็นภาษาไทย   ก็เลยได้แง่มุมน่าสนใจ  โดยเฉพาะเรื่อง foreplay

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.