จำได้ว่าเมื่อตอนที่ผู้เขียนดู แฟนฉัน เมื่อสองปีก่อนนั้น ได้ดููในวินาทีสุดท้ายจริง ๆ ไปดูรอบเฉพาะกิจที่จัดให้สมาชิก Discovery รอบที่ได้ดูนั้นก็ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะต้องจากบ้านไปนานกว่าปี ตอนนั้นพาเพื่อนที่เป็นอดีตเด็กนิเทศรุ่นฉลองกรุงเทพ 200 ปี (2525) ไปดูด้วย เราต่างชอบหนังในแง่มุมที่ต่างกัน เพื่อนเป็นเด็กนิเทศเก่าก็ชอบในฐานะที่หนังเป็นสไตล์นิเทศ ขณะที่ผู้เขียนชอบมันในพลังจากความราบเรียบและเรียบง่ายของหนัง
แฟนฉัน อาจจะไม่ใช่หนังดีเลิศในเชิงภาษาภาพยนตร์ที่นักวิจารณ์จะชอบ แต่การดำเนินเรื่องแบบเบา ๆ มองโลกในแง่ดี ไม่โตกตาก เป็นหนังลักษณะ minimalist ในเชิงอารมณ์ ในเชิงภาษาภาพยนตร์ ในเชิงการเล่าเรื่อง ในเชิงทุกอย่างที่จะประกอบเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ไม่มีการบีบคั้น ไม่มีการเอะอะโวยวาย ไม่มีการประจันหน้า แต่ท้ายที่สุด เราจะได้ความประทับใจในความทรงจำเก่า ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะชอบเพราะมันเป็นการหวลหาอดีตที่เราเคยมี แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้รับจากหนังเรื่องนี้ก็คือ เราควรจะมองความทรงจำในแง่ใด และอย่างไร เอาเป็นว่าหนังสร้างแรงบันดาลใจกับตนเองมาก ขนาดอยากเริ่มบันทึกความทรงจำที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับคนอื่นต่อไป
เมื่อมาถึงงานศิลปินเดี่ยวอย่าง เพื่อนสนิท คมกฤษ ตรีวิมลยังคงคุมโทนหนังอยู่ในลักษณะเรียบง่าย ราบเรียบ และน้อยนิดเหมือนอย่างเคย มันยังเป็นหนังที่ minimalist ในหลาย ๆ ด้าน อารมณ์ไม่โตกตาก การแสดงที่เหมือนเพื่อนในชีวิตประจำวัน มุมกล้องที่ใช้เพื่อบอกเล่าเนื้อเรื่อง แต่คราวนี้มันกลับไม่เกิดผลเท่าที่ควร จนทำให้ เพื่อนสนิท กลายเป็นหนังที่ขาดพลังไปอย่างน่าเสียดาย
ทำไม? ประการแรกก็เพราะเนื้อเรื่องอย่าง เพื่อนสนิท ไม่สนับสนุนให้เกิดพลังอย่างที่เคยเกิดใน
แฟนฉัน หนังเรื่องนั้นมันสร้างความรู้สึกร่วมที่เกิดกับคนทุกคน เป็นการรวบรวมคืนวันเก่า ๆ ของคนทุกคน ทั้งคนดู คนสร้าง นักแสดง ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องเล่าของเด็กในเรื่อง หรือของผู้กำกับคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อมาเป็นหนังจอเงิน ทุกคนเหมือนเดินทางกลับไปดูชีวิตที่ตนเองเคยมีอยู่มาครั้งหนึ่ง ทุกคนจึงไปดูหนังเรื่องนี้
แต่เนื้อเรื่องมิตรภาพที่เปลี่ยนมาเป็นความรักจากหนังสือ กล่องไปรษณีย์สีแดง เหมาะที่จะนำเสนอในเชิงบทประพันธ์ที่ดี เพราะมันเอื้ออำนวยต่อการถ่ายทอดความรู้สึกของใครคนหนึ่งถึงใครสักคนได้ดีที่สุด ความรู้สึกที่เปิดเผยไม่ได้ จนวินาทีสุดท้าย แต่เมื่อมาเป็นหนัง
มันยาก
ภาพที่เกิดขึ้นในห้วงแห่งจินตนาการของเรานั้น มักจะเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อยเมื่อได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ โทรทัศน์ ศิลปะ ภาพใหม่ที่สร้างสรรค์ออกมานั้นจะไม่เหมือนกับสิ่งที่อยู่ในความคิดเราได้ถึงร้อยเปอร์เซนต์ เมื่อมาเป็นหนังสือมันอาจจะทำได้ดีเพราะใช้การบรรยาย การพรรณนาโวหารด้วยตัวอักษร แต่เมื่อมาเป็นหนัง มันยิ่งยากขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ นา ๆ เพราะการถ่ายทอดภาพจากจินตนาการออกมาเป็นสื่อที่มองเห็นได้นั้น ภาพยนตร์เป็นงานที่ยากที่สุด
อุปสรรคสำคัญในการถ่ายทอดภาพจากจินตนาการเรื่อง เพื่อนสนิท คือการแสดง บทนำของหนังเรื่องนี้ตกเป็นของไข่ย้อย (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ซึ่งอาจจะพยายามในการถ่ายทอดความรู้สึกของไข่ย้อย แต่หลาย ๆ ตอน เขาไม่สามารถสื่อสารออกมาได้เท่าที่ควร ซันนี่ทำได้เพียงแค่สอบผ่านการแสดงหนังครั้งแรกในชีวิต ่เขามาเจอบทที่ยากเกินไปสำหรับนักแสดงหน้าใหม่ บทเรียบง่ายอย่างนี้สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่าี่้ยากที่สุด ยากกว่าการร้องไห้ โกรธ หลง อารมณ์อะไรก็ตามที่พุ่งพรวดออกมา การแสดงของซันนี่ยังไม่สามารถเติมพลังให้กับหนังได้เท่าที่ควร ผู้เขียนไม่เห็นความรักในดวงตาของเขา หลาย ๆ ตอนแสดงให้เห็นว่าผู้กำกับพยายามปิดรอยรั่วบางอย่างของหนังเอาไว้
|
|
ขณะที่ แฟนฉัน แม้จะประกอบด้วยนักแสดงใหม่ทั้งหมด แต่ความเป็นธรรมชาติของพวกเขา มันทำให้หนังผ่านปัญหานี้ไปได้ จริง ๆ แล้ว แฟนฉัน มีปัญหาแค่ตัวเอกอย่างชาลี ไตรรัตน์และเป็นปัญหาที่ไม่มากเท่าซันนี่ ความเป็นธรรมชาติของหนูน้อยมันทำให้ผู้กำกับไม่ต้องปิดรอยรั่วเท่าไรนัก แถมยังได้การแสดงของดาราเด็กคนอื่น ๆ เข้ามาช่วยเสริมอีก ทำให้รอยรั่วแทบจะมองไม่เห็น
จุดที่คมกฤษทำได้ดีในหนังเรื่องนี้กลับเป็นการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของไข่ย้อยกับผู้หญิง 2 คน ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับความคิดของผู้อื่น ผู้เขียนเห็นว่า่ผู้กำกับสามารถร้อยเรียงเรื่องทั้งสองได้โดยไม่เห็นรอยเชื่อม เรื่องมันดูเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไม่มีที่ติ
อีกปัญหาหนึ่งของ เพื่อนสนิท อยู่ที่ช่วงแรกของหนังนั้นยาวเกินไป หนังเรียบ ๆ ง่าย ๆ แบบนี้ถ้ามันยาวเกิน มักจะมีปัญหาเสมอ หลายตอนอาจจะตัดทิ้งได้โดยยังคงอารมณ์ของหนังไว้ได้ โดยเฉพาะฉากสุดท้าย ดิฉันว่าไม่จำเป็นเลยค่ะ ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ดิฉันไม่อยากเล่ารายละเอียด เพราะจะเป็นการเปิดเผยตอนจบของหนังเสียก่อน ให้คุณ ๆ ตัดสินใจไปดูเองก็แล้วกัน
ผู้เขียนชอบ 20 นาทีสุดท้ายของหนัง โดยเฉพาะฉากที่ไข่ย้อยตัดสินใจบอกรักกับดากานดา คมกฤชทำงานได้อย่างดีเยี่ยมในการใช้ภาพลองช็อต (long shot) ไม่มีเสียงประกอบ มีแต่บทพูดอันน้อยนิดของคนทั้งสอง
ฉากนี้ฉากเดียวนี้แหล่ะที่ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า คมกฤษ ตรีวิมล เป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีแววน่าสนใจ เพราะหนังศิลปินเดี่ยวเพียงเรื่องเดียวนี้ เราก็ได้เห็นบางอย่างที่เขาสามารถพัฒนาี่เป็นลายเซ็นของเขาได้ แนวทางที่เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากใคร ๆ ผลงานลำดับ 1 ครึ่งของเขาเรื่องนี้ (แฟนฉัน ถือว่าลำดับที่ครึ่งค่ะ เพราะผู้กำกับทำงานกันหลายคนเหลือเกิน) อาจจะไม่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะเขาเผอิญจับแนวทางหนังที่ดิฉันคิดว่ายากที่สุด คนที่ทำหนังแบบนี้ได้ดีอย่างท่านมุ้ย ท่านก็ทำ ถ้าเธอยังมีรัก เป็นเรื่องที่ 7, 8 แล้ว คงมีแต่เพียงเฮอจินโฮเท่านั้นที่เอาชนะการนำเสนอหนังแบบนี้ได้ตั้งแต่สองเรื่องแรกอย่าง Christmas In August หรือ One Time Spring Day
และถ้าเขาสามารถพัฒนาแนวทางการทำหนังที่เรียบง่ายเช่นนี้ให้แข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยนักแสดงที่มีฝีมือ บทหนังที่แหลมคม ภาษาหนังที่ล้ำลึกแล้ว คมกฤษจะเป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองอีกคนหนึ่ง เมื่อถึงเวลานั้น ทำเนียบผู้กำกับไทยฝีมือระดับอินเตอร์คงจะมีเกิน 10 คนอย่างที่ชาวต่างชาติกำลังค่อนขอดบ้านเราในขณะนี้
|