สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
จาก คนกราบหมา จนถึง เช็คสเปียร์ต้องตาย ...อิ๋ง เค กับมรสุมเซ็นเซอร์ซ้ำซ้อน
  LINK คำแถลงจากโปรดิวเซอร์ และบันทึกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์
  แบ่งปัน   Share this on Twitter   Print 
 

 

โดย อัญชลี ชัยวรพร / 4 เมษายน 2555

การแบนภาพยนตร์เรื่อง เช็คสเปียร์ต้องตาย โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) ในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่เริ่มเผยแพร่ไปตามหน้าสังคมเครือข่ายเฟซบุ๊คตั้งแต่บ่ายวานนี้ ได้สร้างกระแสการคัดค้านไปทั่วในขณะนี้ เพราะนี่คือภาพยนตร์เรื่องที่สอง นับจากภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ที่ต้องประสบกับเจอเรต “ห” หรือ ประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมตรา ๒๖ (๗) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ีลึกไปกว่านั้น นี่คือภาพยนตร์เรื่องที่สองของอิ๋ง เค ที่ต้องประสบมรสุมปัญหาห้ามฉาย ตั้งแต่ผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของเธอ คือ คนกราบหมา ถูกห้ามฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพครั้งแรกเมื่อปี 2541 อันสืบเนื่องมาจากกฎหมายเซ็นเซอร์เก่า

อิ๋ง เค และ มานิต ศรีวาณิชภูมิ เป็นผู้กำกับอินดี้รุ่นแรก ๆ ของไทย ก่อนที่กระแสภาพยนตร์อินดี้ไทยจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในประเทศไทยและต่างแดน โดยในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดในเรื่องเทคนิคอยู่ค่อนข้างมาก ภาพยนตร์เรื่อง คนกราบหมา ถ่ายทำด้วยระบบ 16 มม. และผู้กำกับอิ๋ง เค เป็นผู้ ลงทุนเองทั้งหมด การฉายครั้งแรกเป็นการฉายภายในเฉพาะในกลุ่มเพื่อนฝูงและทีมงานที่สถาบันเกอเธ่ หลังจากนั้น หนังได้ถูกวางโปรแกรมฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพครั้งแรกของเครือเนชั่น แต่ถูกแบนห้ามฉายไปในที่สุด

คนกราบหมา ได้วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ในตอนแรกนั้น ทางกองเซ็นเซอร์ไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเป็นโปรเจ็คอินดี้ที่จะฉายในเทศกาลเท่านั้น แต่มีมือลึกลับส่งแฟกซ์ไปตามสื่อ ลงตีพิมพ์ว่า เทศกาลหนังครั้งนี้มีหนังต้องห้ามหลายเรื่อง รวมทั้งภาพยนตร์คนกราบหมา เมื่อสื่อตีพิมพ์ข่าวดังกล่าว ทำให้กองเซ็นเซอร์ต้องเรียกหนังมาดู ส่งผลให้ คนกราบหมา

ถูกสั่งห้ามฉายในที่สุด อิ๋งเคไปประท้วงถึงหน้าสภา แต่ คนกราบหมา ก็ไม่เคยฉายในเมืองไทยจนถึงขณะนี้ ยกเว้นรอบเดียวที่สถาบันเกอเธ่นั้น

อิ๋ง เค และมานิต ไม่ได้ทำหนังอีกเลย จนกระทั่งสารคดีเรื่อง พลเมืองจูหลิง ซึ่งออกฉายในปี 2552 โดยความร่วมมือกับไกรศักดิ์ ชุณหวัน ในฐานะผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ร่วม พลเมืองจูหลิงเป็นการเดินทางลงภาคใต้ เพื่อสืบเสาะเรื่องราวเหตุการณ์สังหารครูจูหลิง หนังได้สะท้อนให้เห็นแง่มุมรอบด้าน ทั้งเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูจูหลิง และผู้บริสุทธิ์ทางภาคใต้จำนวนมาก อันเนื่องมาจากนโยบายปราบความรุนแรงในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่่งชื่อของผู้กำกับร่วมอย่างไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มีส่วนในการช่วยปกป้องภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย และ พลเมืองจูหลิง ได้รับการเสนอเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากทุกสถาบันรางวัลในประเทศไทย ทั้งสมาพันธ์ภาพยนตร์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง สตาร์พิคส์อวอร์ด ก่อนจะได้รับรางวัลจากคมชัดลึกอวอร์ดประจำปี 2552 ในที่สุด

สองปีต่อมา ผู้กำกับอิ๋งเค และโปรดิวเซอร์ตัดสินใจทำหนังเรื่องยาวเรื่องที่สองในชีวิต คือ เช็คสเปียร์ต้องตาย อย่างเงียบ ๆ ก่อนที่จะส่งโปรเจ็คร่วมขอทุนไทยเข้มแข็ง 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสนับสนุน
การสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ของกระทรวงวัฒนธรรม หนังไม่ได้รับการพิจารณาในครั้งแรก จนกระทั่งเกิดเหตุคัดค้านจากกลุ่มผู้กำกับอินดี้ โดยมีอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และมานิต ศรีวาณิชภูมิ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการคัดค้านครั้งนั้น

เช็คสเปียร์ต้องตาย ผ่านการพิจารณาในรอบที่ 2 อย่างมีเงื่อนไข ก่อนที่จะได้รับการพิจารณาผ่านตลอดในที่สุด โดยเนื้อหาภาพยนตร์ที่ได้ส่งให้กับคณะกรรมการ ใน โครงการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ ระบุไว้ว่า

 

 

“เรื่องราวแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ ที่แปลเป็นไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละคร “โศกนาฏกรรม แม็ตเบธ” ของวิลเลี่ยมเชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาภาพยนตร์ และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย หนังผีเชคสเปียร์เรื่องนี้ดำเนินไปพร้อม ๆ กันสองโลก ในโลกของโรงละคร โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงามในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยการฆาตกรรม และโลกภายนอก ในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมุติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์ โหดเหี้ยมบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าท่านผู้นำ และภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัวของท่าน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสองโลกแฝดนี้ ส่องสะท้อนเข้าหากัน ค่อย ๆ เริ่มซึมเข้าหากัน จนกระทั่งสุดท้ายมันประสานงากันอย่างรุนแรง และโหดร้าย เมื่อคณะละครต้องชดใช้ด้วยชีวิต โทษฐานอุตริแสดงละครเรื่องนี้ในสังคมที่ปกครองโดยมนุษย์ เช่นท่านผู้นำ พวกเขาคิดอย่างไรที่จะต่อสู้กับความกลัวด้วยศิลปะ”

อิ๋ง เค และมานิต ศรีวาณิชภูมิ ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่นำเสนอผลงานวิพากษ์วิจารณ์สังคมมาตลอดอย่างหาญกล้า ไม่ว่าจะเป็นสถาบันใด

เช็คสเปียร์ต้องตาย ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และถูกเลื่อนผลอยู่หลายครั้ง กล่าวกันว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่หลายรอบ ก่อนที่จะตัดสินเรต “ห” ในที่สุด จากคณะกรรมการ 5 ใน 7 คน

สำหรับอนาคตของหนังนั้น ทางเจ้าของหนังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติได้ภายใน 15 วัน ซึ่งในกรณีที่เกิดกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นั้น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมชมภาพยนตร์ด้วย ก่อนที่จะตัดสินให้ไม่ผ่าน และผู้กำกับตัดสินใจการฟ้องร้องผ่านศาลปกครองในที่สุด

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.