k
 สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
เหตุผลของแต่ละรางวัล
 

 

 

STARPICS THAI FILMS AWARDS # 8 (๒๕๕๓)

มาถึงครั้งที่แปด สำหรับการประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมของนิตยสารสตาร์พิคส์ ด้วยเจตนารมณ์เดิมและการทำงานของคณะกรรมการที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากภาพยนตร์ไทยเล็กๆ ที่ไม่ได้เข้าฉายในวงกว้าง กับหนังที่ถูกมองข้ามเพราะถูกลดรอบฉายอย่างรวดเร็ว มีจำนวนมากกว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด

เราพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดิมคือ ภาพยนตร์ขนาดยาวทุกเรื่องที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ในเชิงพาณิชย์ ก่อนให้คณะกรรมการลงมติเลือกผู้เข้าชิงและผู้ชนะเลิศอย่างเปิดเผย ยกเหตุผลถกเถียงหักล้างกันซึ่งหน้า นำเสนอมุมมองอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้ผลการตัดสินที่โปร่งใส จนได้ผู้ชนะซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและไม่มีผู้คัดค้านการได้รางวัล

แต่ด้วยความซับซ้อนในลักษณะเฉพาะตัวของหนังบางเรื่อง ทำให้ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง จนได้มติดังต่อไปนี้สำหรับหนังกลุ่มดังกล่าว

1. ไม่พิจารณาหนังเรื่อง Phuket/Boy Genius/The Sigh ด้วยเหตุผลว่าเจตนารมณ์ของการฉายหนังชุดนี้ คือเพื่อฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง ภูเก็ต เป็นหลัก (แต่ได้นำหนังสั้นเก่าของอาทิตย์ อัสสรัตน์อีกสองเรื่องมารวมอยู่ในโปรแกรมเดียวกัน ด้วยเหตุผลด้านเวลารอบฉายที่เหมาะสม) ทำให้ต่างจากภาพยนตร์ที่รวมหนังสั้นหลายๆ เรื่องอย่าง ตายโหง, น้ำตาลแดง หรือ สี่แพร่ง ที่เป็นหนังซึ่งผลิตขึ้นเพื่อการฉายควบรวมเป็นหนังยาวในคอนเซ็ปต์ของแต่ละเรื่อง

2. ไม่พิจารณาหนังเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ฉบับ Director’s Cut เพราะถือว่าเป็นการฉายหนังแบบ Re-Release หรือนำกลับมาฉายใหม่ แม้ว่าจะมีการตัดต่อเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปก็ตาม เป็นเหตุผลเดิมกับที่คณะกรรมการไม่พิจารณาเรื่อง รักแห่งสยาม ฉบับ Director’s Cut ที่เข้าฉายเมื่อต้นปี 2551

3. ไม่พิจารณาหนังเรื่อง Bitter/Sweet (ข้ามฟ้าหาสูตรรัก) เนื่องจากบริษัทที่ออกทุนสร้างหนังมีสถานะเป็นบริษัทลูกครึ่ง และไม่ได้มีเงินทุนของไทยสนับสนุนมากเพียงพอที่จะนับว่าเป็นหนังไทย (ต่างจากกรณีของ สะบายดี หลวงพะบาง) ในลักษณะเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Soi Cowboy และ The Elephant King ของบริษัทผู้สร้างเดียวกัน

สำหรับการตัดสินว่านักแสดงคนใดรับบทนำหรือบทสมทบ ในภาพยนตร์ที่นำหนังสั้นหลายตอนมารวมกัน คณะกรรมการยืนมติเดิมว่าให้ถือเป็นนักแสดงสมทบทั้งหมด

และต่อไปนี้คือรายนามผู้เข้าชิง, ผู้ได้รับรางวัล และภาพรวมของการพิจารณาตัดสินในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 8 ของ Starpics Thai Films Awards

๑๒. ภาพยนตร์ยอดนิยม
ผู้ได้รับรางวัล: สหมงคลฟิล์ม, เวิร์คพอยท์, Chezz Klurr-5 จาก สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก
รางวัลภาพยนตร์ยอดนิยม มอบให้กับหนังที่ติดอยู่ในความทรงจำและความนึกคิดด้านประทับใจของผู้ชมหลังออกจากโรง โดยถือคะแนนหลักจากแบบสอบถามปลายปีของนิตยสาร Starpics ที่ผู้อ่านส่งเข้ามา

ทั้ง กวน มึน โฮ และ สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก ต่างก็ไม่มีใครยอมใคร ผลัดกันสะสมล่าแต้มทิ้งห่างเรื่องอื่นๆ ที่เข้าฉายในปีเดียวกันอย่างขาดลอย จนเหลือการขับเคี่ยวสำคัญในสาขานี้เพียงสอง ผลคะแนนออกมาสูสี เพราะหนังทั้งสองเรื่อง (ที่ครองตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดสองอันดับแรกของปีที่ผ่านมาด้วย) ต่างตีคะแนนคู่คี่ ผลัดกันรุกรับในทุกช่วงการนับคะแนน

เมื่อผู้เข้าชิง (ในทางปฏิบัติ) ทั้งสองต่างก็ถือสถานะ ‘หนังรัก’ อยู่ในมือ – ความกลมกล่อมลงตัวทั้งด้านโปรดัคชั่น, เนื้อหา และการแสดง ทำให้ กวน มึน โฮ กวาดคะแนนท่วมท้น ในขณะที่ สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก ก็ใช้ความจริงใจของตัวเองเข้าสู้ พร้อมกับแต้มต่อที่เป็นหนังเซอร์ไพรส์แห่งปีของหลายๆคน

กระทั่งโค้งสุดท้ายในช่วงเวลาแห่งการตัดสิน ‘มะม่วง’ ของพี่โชน ก็เบียดแซง ‘กิมจิ’ ไปได้อย่างฉิวเฉียด

๑๑. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
กวน มึน โฮ – ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์, กฤษณศักดิ์ กันตธรรมวงศ์
เจ้านกกระจอก – เดอะโฟโต้สติกเกอร์แมชชีน, เฟอร์นิเจอร์
ชั่วฟ้าดินสลาย – จำรัส เศวตาภรณ์
เรา สองสาม คน – ไจแอนท์เวฟ, มงคล พงษ์วชิรินทร์, ประวิตร เกษเกษม
อินทรีแดง – ไวลด์ แอท ฮาร์ท

ผู้ได้รับรางวัล: จำรัส เศวตาภรณ์ จาก ชั่วฟ้าดินสลาย
ภาพจำที่หลายคนมีต่อรางวัลสาขาดนตรีประกอบโดยทั่วไป มักมีอยู่ว่า เราจำต้องพิจารณาเพียงตัวโน้ตดนตรีเท่านั้น แต่สำหรับเรามองว่าการใช้เพลงในหนังก็ถือเป็นอีกแขนงของดนตรีประกอบเช่นกัน ไม่ว่าหนังจะเลือกใช้ดนตรีประกอบแบบใด ถ้าเลือกใช้อย่างดีเยี่ยมกลมกล่อมก็ล้วนส่งผลดีกับตัวหนังทั้งสิ้น - น้ำตาลแดง, สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก และ นาคปรก ต้องถูกคัดชื่อออกไปก่อนอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะเรื่องหลังสุดที่หลุดออกไปในโค้งสุดท้ายของการชิงชัย

กวน มึน โฮ ทำได้ดีในหลายจังหวะที่ช่วยผลักให้อารมณ์หนังในฉากนั้นๆ พุ่งสูงขึ้นได้สมเจตนา มีการเรียบเรียงดนตรีใหม่เพื่อให้รับกับทัศนียภาพของฉากหลัง แต่เมื่อนับในภาพรวมแล้วยังขาดความกลมกล่อมอยู่บ้าง,

อินทรีแดง มีดนตรีที่เข้ากับธีมหนังซูเปอร์ฮีโร่ โดยเน้นหนักที่ดนตรีร็อคและเทคโน สมกับภาพตัวเอกที่เป็นขบถ ติดอยู่ที่ว่าบางช่วงใช้อย่างหนักหน่วงจนเกินพอดี, ส่วน เรา สองสาม คน ก็ใช้ดนตรีผนวกเพลงได้เข้ากับทิวทัศน์และเรื่องราว เสียว่าบางช่วงเน้นหนักจนคล้ายมิวสิกวิดีโอ ซึ่งหลุดจากภาพรวมของหนัง

เจ้านกกระจอก ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจเพราะใช้ดนตรีน้อยครั้ง แต่พลังโอบอุ้มความหมายที่หนังต้องการสื่อได้อย่างหมดจด (ตลอดเรื่องมีดนตรีขึ้นสามครั้งเท่านั้น) แม้จะไม่ได้เป็นผลงานดนตรีต้นฉบับที่แต่งให้กับหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ-ก็ยังไม่อาจมองข้ามได้ เพราะจังหวะดนตรีที่เลือกมาประกอบฉากนั้นล้วนแต่เหมาะสมลงตัวและแปลกใหม่ เพราะเป็นดนตรีในแนวโพสต์ร็อค ซึ่งไม่ปรากฏมากในดนตรีประกอบหนังไทย ทั้งยังเข้ากับจังหวะท่าทีการเล่าเรื่องและสารที่หนังต้องการสื่ออีกด้วย

อย่างไรก็ดี ชั่วฟ้าดินสลาย คว้ารางวัลในสาขานี้ไปครอง ด้วยความแนบเนียนของดนตรีประกอบที่ทำได้ถึงเครื่อง ทั้งความอลังการ ความยิ่งใหญ่แบบหนังย้อนยุค สมกับสเกลหนังที่กึ่งๆ จะเป็นหนังอีพิค และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของดนตรีประกอบในหนังเรื่องนี้ ช่วยขับเน้นให้ตัวละครดูมีชีวิตและความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ท่ามกลางฉากอันใหญ่โตโก้หรูได้อย่างน่าอัศจรรย์

๑๐. กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
เจ้านกกระจอก – ปรินดา มุ่งหมายผล
ชั่วฟ้าดินสลาย – สิรนัท รัชชุศานติ
นาคปรก – โสภณ พูลสวัสดิ์
ลุงบุญมีระลึกชาติ – เอกรัฐ หอมลออ
อินทรีแดง – พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ, วิทยา ชัยมงคล, ไพโรจน์ ศิริวัฒน์, พัลลภ ชมถาวร

ผู้ได้รับรางวัล: สิรนัท รัชชุศานติ จาก ชั่วฟ้าดินสลาย
‘งานสร้างไม่ใช่แค่อาหารตา’ ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบงานศิลป์ต่างๆ เหล่านี้ ว่ารับใช้แก่นสารของเรื่องราวในภาพยนตร์หรือไม่ เหมาะสมกับภาพที่ปรากฏบนจอหรือเปล่า แม้ในปีนี้การแข่งขันสาขากำกับศิลป์จะค่อนข้างบางตา ก็ควรบันทึกไว้ว่า เรา สองสาม คน, สวรรค์บ้านนา และ องค์บาก 3 เกือบจะได้เป็นหนึ่งในห้าผู้เข้าชิง

สำหรับกลุ่มหนังอิสระ – การกำกับศิลป์ของ เจ้านกกระจอก อาจไม่เด่นจนเห็นชัดว่าดีเลิศ เพราะหนังใช้ฉากหลักเพียงสองแห่งคือบ้านของตัวละครและท้องฟ้าจำลอง (นอกจากฉากอื่นๆ ที่นำเสนอแบบนามธรรม) แต่ใช้ลักษณะเฉพาะของสถานที่สอดรับกับตัวเรื่องได้เฉียบคม, ลุงบุญมีระลึกชาติ เก็บรายละเอียดได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งการใช้ประโยชน์จากสถานที่ การออกแบบตัวละครอย่างลิงผี และเทคนิคพิเศษแบบหนังเก่าที่นำมาใช้ได้นุ่มนวล และส่งเสริมให้เนื้อเรื่องส่วนที่เล่นกับความเหนือจริงมีน้ำหนักชวนหลงใหล

สำหรับกลุ่มหนังสตูดิโอ – นาคปรก ใช้งานศิลป์เพื่อสื่อสารผ่านตัวละครได้อย่างมีลูกเล่น รวมถึงตัววัดป่าล้อมอันเป็นสถานที่สำคัญในหนัง ก็ใช้รายละเอียดมารองรับเส้นเรื่องที่หนังดำเนินไปได้เหมาะสมกลมกลืน, อินทรีแดง คือตัวอย่างของงานศิลป์ที่เก็บงานเนี้ยบ ควบคุมสไตล์ให้เข้ากับโทนหนังได้ดี จนสัมผัสได้ถึงความสมจริงของเมืองที่ปรากฏในเรื่อง แต่ก็ผสานเอาความเหนือจริงแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่รวมเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างไม่ขัดเขิน

สำหรับผู้ชนะ – ชั่วฟ้าดินสลาย โดดเด่นกว่างานศิลป์ของผู้เข้าชิงอื่นๆ เพราะความใหญ่โตและต้องอาศัยการสร้างฉากมาก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้คว้ารางวัลไป เพราะหากขาดรายละเอียดต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้ปางไม้ของพะโป้ทั้งสมจริงเปี่ยมพลังและสื่อสารกับคนดูอย่างได้ผล และการเล่นกับรายละเอียดของยุคสมัยที่เกิดจากการตีความใหม่ของผู้สร้างที่ผสานเป็นเนื้อเดียวกันอย่างงดงาม ต่อให้สร้างฉากยิ่งใหญ่อย่างไรก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าคืองานกำกับศิลป์อันยอดเยี่ยม

๙. กำกับภาพยอดเยี่ยม
เจ้านกกระจอก – เหลียงหมิ่งไค
ชั่วฟ้าดินสลาย – ธีระวัฒน์ รุจินธรรม
เรา สองสาม คน – ธรรมเจริญ พรหมพันธ์, สมศักดิ์ ศรีสวัสดิ์
ลุงบุญมีระลึกชาติ – สยมภู มุกดีพร้อม, ยุคนธร มิ่งมงคล, จริน เพ็งพานิช
สวรรค์บ้านนา – อุรุพงศ์ รักษาสัตย์

ผู้ได้รับรางวัล: อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ จาก สวรรค์บ้านนา
กว่าจะได้ภาพหนึ่งภาพในหนึ่งเฟรมที่พร้อมฉายบนจอภาพยนตร์ ต้องผ่านการคิดอย่างละเอียด ว่าต้องการให้ภาพปรากฏสู่สายตาคนดูอย่างไร แน่นอนว่าไม่ใช่จำเพาะอยู่เพียงเรื่องความสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ – น่าเสียดายที่งานภาพของ ตายโหง, อินทรีแดง และ นาคปรก ต้องถูกตัดออกในนาทีสุดท้าย

สำหรับ ชั่วฟ้าดินสลาย นั้น องค์ประกอบภาพทำได้งดงามและมีรายละเอียด เสียแต่ปรุงแต่งจริตมากเกินควรไปนิด, เจ้านกกระจอก ไม่หวือหวาหรือโดดเด่นนักในภาพรวม แต่ใช้ภาพ extreme focus ได้มีประสิทธิภาพในการคว้านลึกเข้าหาหัวใจของตัวละคร และสำหรับเนื้อเรื่องส่วนนามธรรมก็ใช้ฟิล์ม 16 ม.ม. มารับใช้เนื้อเรื่องได้น่าสนใจ, เรา สองสาม คน เน้นการถ่ายทิวทัศน์ให้ดูน่าหลงใหล ให้อารมณ์สบายๆ เข้ากับบรรยากาศกองคาราวานในหนัง และยังน่าชื่นชมกับการถ่ายภาพที่แคบอย่างในตัวรถให้ดูไม่อึดอัดในสถานที่จริง ส่วนความแนบเนียนละเอียดลออของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ทั้งการจัดองค์ประกอบภาพให้บรรยากาศดูงดงามแบบกึ่งเหนือจริงคล้ายหนังแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ การกำกับภาพหลากหลายแบบในแต่ละช่วงของเรื่องเพื่อการสื่อความ ก็น่าทึ่งที่ทำได้อย่างลงตัว

ผู้เข้าชิงทั้งสี่ต่างมีคุณภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้ชนะในสาขานี้ทั้งสิ้น (นับได้ว่าปีนี้การแข่งขันเข้มข้นทีเดียว) แต่ สวรรค์บ้านนา ชนะอย่างขาดลอยแทบเป็นเอกฉันท์ ดูเพียงผิวเผินอาจรู้สึกว่าหนังมีดีแค่ภาพท้องไร่ท้องนาที่สวยเตะตาอย่างวิจิตร โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถของการกำกับภาพ แต่สำหรับหนังกึ่งสารคดีที่เรียกร้องให้คนดูเชื่อในความสมจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็เร้าอารมณ์ร่วมของผู้ชมอย่างอัศจรรย์ (ทั้งในด้านอารมณ์และวิธีการถ่ายทำ) โดยใช้เพียงภาพที่ปรากฏบนจอ นี่คือข้อพิสูจน์อันชัดแจ้งว่าสวรรค์บ้านนานั้นคู่ควรกับรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมเพียงใด

๘. ลำดับภาพยอดเยี่ยม
กวน มึน โฮ – ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค
เจ้านกกระจอก – ลี ชาตะเมธีกุล
ชั่วฟ้าดินสลาย – สุนิตย์ อัศวินิกุล, พรรนิภา กบิลลิกกะวานิชย์
นาคปรก – ธวัช ศิริพงศ์
ลุงบุญมีระลึกชาติ – ลี ชาตะเมธีกุล

ผู้ได้รับรางวัล: ลี ชาตะเมธีกุล จาก เจ้านกกระจอก
นี่คืออีกหนึ่งสาขาเทคนิคที่การแข่งขันค่อนข้างเบาบาง นอกจากห้าผู้เข้าชิงแล้วมี มือปืนดาวพระเสาร์ และ สวรรค์บ้านนา ที่ได้รับการยอมรับอย่างใกล้เคียงกัน

สำหรับงานลำดับภาพที่ราบรื่นและสอดรับกับท่าทีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ
ชั่วฟ้าดินสลาย เล่าเรื่องได้ลื่นไหลและน่าติดตาม แต่ความดีความชอบส่วนใหญ่อยู่ที่บทภาพยนตร์กับการแสดง, กวน มึน โฮ เลือกเล่าเรื่องได้น่าสนใจ และการลำดับภาพช่วยเหลือในเรื่องอารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับหนังรักตลก, นาคปรก มีความดีความชอบพิเศษในหลายฉากที่ใช้การลำดับภาพช่วยเล่าเรื่องได้น่าตื่นเต้น โดยเฉพาะในหลายครั้งที่หนังใช้ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันให้สนุก แต่ก็มีหลายจุดที่หลุดมือไป เช่นเรื่องลำดับเวลาและการคลี่คลายปม และ ลุงบุญมีระลึกชาติ น่าชื่นชมที่การผสมผสานได้อย่างนุ่มนวล ทั้งโลกแห่งความเป็นจริง ความฝัน การระลึกชาติ พร้อมกับสิ่งที่หนังต้องการสื่อสารกับคนดู

ทว่าเมื่อผู้ชนะมีได้เพียงหนึ่ง มันจึงตกเป็นของ เจ้านกกระจอก หนังที่วางตนเองอยู่กับการลำดับภาพแทบทั้งเรื่อง จริงอยู่ที่เหตุผลหนึ่งที่หนังเลือกใช้การลำดับภาพเช่นนี้ คือเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ลักษณะที่หนังเลือกใช้นั้นเกิดผลดีอย่างยิ่ง เพราะการเล่าเรื่องแบบไม่ลำดับเวลาเช่นนี้เอื้อให้หนังหยอดสารอันเป็นนามธรรมผสานกับส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องได้เหมาะเจาะ ทั้งยังเปิดช่องทางจินตนาการอย่างกว้างขวาง และถึงจะเลือกเส้นทางอันหวือหวาจนดูเสี่ยงภัย หนังกลับเล่าเรื่องได้อย่างราบรื่นเหลือเชื่อ ซึ่งคนที่ต้องชื่นชมยกย่องที่สุดในกรณีนี้ ก็คือผู้ลำดับภาพนั่นเอง

๗. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เจ้านกกระจอก – อโนชา สุวิชากรพงศ์
ชั่วฟ้าดินสลาย – หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
นาคปรก – ภวัต พนังคศิริ, ณัฐ นวลแพง, โกเศส ชฤทธิ์พร, พีระภัทร ชูตระกูล, โยธิน สวัสดิ์เรือง
บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้) – อมราพร แผ่นดินทอง, วิทยา ทองอยู่ยง, เมษ ธราธร
ลุงบุญมีระลึกชาติ – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ผู้ได้รับรางวัล: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จาก ลุงบุญมีระลึกชาติ

ไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าแก่นกลางที่เป็นหลักยึดสำหรับหนังทั้งเรื่องก็คือบทภาพยนตร์ (แม้จะไม่ได้พิมพ์บทใส่กระดาษเย็บเล่มไว้ตั้งแต่แรกคิดก็ตาม) ซึ่งหากได้แก่นที่แข็งแกร่งแล้ว หนังทั้งเรื่องก็ยากจะผุกร่อนลงมา เรื่องที่ต้องตกรอบไปก่อนทั้ง อินทรีแดง, สวรรค์บ้านนา, กวน มึน โฮ, สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก และ มือปืนดาวพระเสาร์ ต่างน่าสนใจอย่างยิ่งยวดในแนวทางของตน เพียงแต่ต้องโคจรมาพบกับบทภาพยนตร์ห้าเรื่องที่ลงตัวกว่าและน่าสนใจกว่า

บทของ บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้) คว้าลักษณะเฉพาะตัวของตลกคาเฟ่และหนังครอบครัวมาคละเคล้ากันได้น่าสนใจ มีการนำอารมณ์ขันมารับใช้เรื่อง แต่น่าเสียดายที่หลุดเรื่องความน่าเชื่อถือในช่วงท้าย, การดัดแปลงและตีความใหม่ของ ชั่วฟ้าดินสลาย น่าครุ่นคิดยิ่ง โดยเฉพาะรายละเอียดที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ร่วมสมัย และส่วนที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเพื่อรับใช้สาระ กระนั้นความ ‘เยอะ’ ที่ปรากฏก็เป็นตัวลดทอนความแนบเนียน, เจ้านกกระจอก นั้นโครงสร้างยากกว่าหนังเรื่องอื่น ทว่าน่าทึ่งกับสิ่งที่หนังต้องการสื่อผ่านเรื่องราวที่โยงส่วนเนื้อเรื่องเข้ากับการเมืองและจักรวาลวิทยา เพียงแต่ความดีความชอบนั้นอาจอยู่กับส่วนอื่นมากกว่า

ผู้แพ้ที่สูสีที่สุดคือ นาคปรก ซึ่งแข็งแกร่งในประเด็นวงการศาสนาที่นำเสนออย่างเข้มข้น การเชื่อมโยงตัวละครชนชั้นต่างๆ เพื่อแสดงภาพแทนของสังคมไทยคือคะแนนหลัก

แต่ปัญหาเดียวที่ทำให้หนังพลาดรางวัลคือความอ่อนแรงของการเล่าเรื่องในบางช่วงตอน – ลุงบุญมีระลึกชาติ จึงเป็นผู้ชนะ เอกลักษณ์ของหนังอภิชาติพงศ์ยังคงอยู่ครบถ้วนแม้จะเป็นบทดัดแปลงจากหนังสือเก่า การเชื่อมโยงความเชื่อปรัมปราภายใต้การเล่าเรื่องที่เป็นภาพสะท้อนของกันและกัน ทั้งระหว่างตัวละคร และระหว่างตัวหนังกับสังคมไทย ได้รับการถักทออย่างละเอียด จนได้ผืนผ้าลายแปลกตาที่งดงามมหัศจรรย์ในรายละเอียด เราจึงขอมอบรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้แก่หนังเรื่องนี้

๖. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
ดารณีนุช โพธิปิติ (ชั่วฟ้าดินสลาย)
ลักขณา วัธนวงส์ศิริ (น้ำตาลแดง)
ศุภักษร ไชยมงคล (ตายโหง)
สิริวิมล เจริญปุระ (ตายโหง)
อินทิรา เจริญปุระ (นาคปรก)

ผู้ได้รับรางวัล: อินทิรา เจริญปุระ จาก นาคปรก

วรัทยา นิลคูหา (กวน มึน โฮ), พอลล่า เทเลอร์ (บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)), สุดารัตน์ บุตรพรม (สุดเขต...สเลดเป็ด), กัญญา รัตนเพชร์ (Who Are You? ใคร...ในห้อง) คือสี่รายชื่อที่ตกรอบไปก่อนสำหรับสาขานักแสดงสมทบหญิงประจำปีนี้ ซึ่งแม้ความเข้มข้นยังสู้ช่วง 2-3 ปีก่อนไม่ได้ แต่การเบียดแย่งตำแหน่งอันดับหนึ่งนั้น สูสีอย่างยิ่งยวด

สิริวิมล ‘ใหม่’ เจริญปุระ รับบทโสเภณีมือไวในหนังผีตลก ค้นหามุมแสดงใหม่ๆ ให้กับบทที่ค่อนข้างจำเจได้พอเหมาะไม่ล้นจนเกินเหตุ, ดารณีนุช โพธิปิติ ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความรู้สึกมากนักในหนังที่เต็มไปด้วยการแสดงจัดจ้าน แต่เธอรักษาความสม่ำเสมอให้ตัวละครดูมีเลือดเนื้อน่าติดตามได้เยี่ยม, ส่วน ศุภักษร ไชยมงคล ยังคงน่าสนใจเมื่อเธอได้รับบทที่เปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพ เธอสลัดคราบดาราออกจนเกลี้ยงและทำให้สาวโรงงานคนนี้เป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ซึ่งสำคัญมากสำหรับหนังสั้นตอน ผีแทงค์น้ำ

สองผู้นำสำหรับสาขานี้สูสีมาก ลักขณา วัธนวงส์ศิริ ให้การแสดงที่ละเอียดอ่อนและกล้าหาญน่าทึ่ง นอกจากฉากห้องน้ำที่ไม่ต้องระบุละเอียดอีกแล้วว่าเธอเข้าถึงหัวจิตหัวใจของตัวละครเพียงไร โดยเฉพาะเมื่อเธอเปิดเปลือยให้เราเห็นความคิดความรู้สึกของตัวละครอย่างหมดจด ทั้งยังประคองให้ ‘ส้ม’ เป็นมนุษย์ปุถุชน แต่เปี่ยมด้วยมิติลำดับขั้นทางการแสดงที่น่าทึ่ง ในตัวละครที่แทบไม่มีบทพูดใดๆ, ในขณะที่บท ‘น้ำผึ้ง’ ของ อินทิรา เจริญปุระ เป็นเสมือนด้านกลับของส้ม คือเปี่ยมไปด้วยความจัดจ้านทางจริตทั้งกิริยาและวาจา ที่พุ่งเข้าใส่ทั้งเพื่อนร่วมจอและคนดูแทบไม่เว้นวินาที อุปสรรคสำคัญสำหรับตัวละครนี้คือ ‘ภาพจำ’ อันแน่นหนา ทั้งกับอาชีพโสเภณี และกับบุคลิกตัวละครที่คนพร้อมยัดเยียดให้ทันทีว่าเป็นคนชั่ว แต่อินทิราทลายกำแพงเหล่านี้ลงอย่างหมดจด

ท่ามกลางการแข่งขันอันเข้มข้นและสมศักดิ์ศรีของทั้งสอง อินทิราเฉือนลักขณาไปเพียงปลายจมูกเท่านั้น

๕. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
จตุรงค์ พลบูรณ์ (บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้))
ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ (นาคปรก)
ศักดิ์ดา แก้วบัวดี (ลุงบุญมีระลึกชาติ)
ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (ชั่วฟ้าดินสลาย)
สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ (นาคปรก)

ผู้ได้รับรางวัล: สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ จาก นาคปรก

ปีนี้นักแสดงสมทบชายในหนังไทยเต็มไปด้วยความหลากหลาย มาจากหนังต่างประเภท แม้จะไม่มีนักแสดงให้เลือกมากเช่นปีที่แล้ว แต่เท่าที่มีก็เพียงพอที่ทำให้ เร แมคโดนัลด์ (นาคปรก) และ อาคม ปรีดากุล (น้ำ ผีนองสยองขวัญ) ต้องหลุดโผไป เพราะความแข็งแกร่งของห้ารายชื่อผู้เข้าชิง

บท ‘ทิพย์’ ของ ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ดูธรรมดา ทว่าศักราชไม่ทำให้ตัวละครนี้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การเป็นตัวสมทบแบนราบ แต่มีมิติมากกว่าการเป็นเพียงผู้เล่าเรื่อง, ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ไหลลื่นไปกับบทได้ชาญฉลาดและเป็นธรรมชาติ รักษาน้ำหนักตัวละครได้เหมาะเจาะ เช่นเดียวกับที่เขาเคยแสดงไว้ได้ดีใน สัตว์ประหลาด! และ แสงศตวรรษ, บทของ ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ก้ำกึ่งว่าจะเป็นบทนำแต่เราลงมติให้เป็นบทสมทบ เขาตอบสนองความต้องการของบทได้ครบถ้วน ใช้อากัปกิริยาเพียงเล็กน้อยควบคุมความเป็นไปของฉากที่เขาดำเนินเรื่องได้เปี่ยมประสิทธิภาพ, จตุรงค์ พลบูรณ์ ไม่ล้นเกิน และเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในฉากตลกได้อย่างเหมาะสม จนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องราวในหนังกินใจผู้ชม

ถึงเช่นนั้น สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ก็ยังทิ้งห่างผู้เข้าชิงอื่นอย่างขาดลอยในสาขานี้ เขาต้องรับบทตัวละครที่น่าเลื่อมใสตั้งแต่แวบแรกที่ทุกคนพบเขาบนจอ ก่อนถูกกะเทาะออกทีละน้อยๆ จนเราและตัวละครเริ่มสงสัยถึงความจริงใต้ผ้าเหลือง นี่คือตัวละครที่ถูกคิดกำหนดมาอย่างมีระเบียบแบบแผน ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกลักษณะหรือความเป็นไปตามบท สิ่งที่สะอาดทำได้ยอดเยี่ยมคือสร้างความแนบเนียนน่าเชื่อถือให้ ‘หลวงตาชื่น’ ทั้งที่กว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของบทพูดคือการพรั่งพรูคำสอนสำเร็จรูปทางพุทธศาสนาใส่ตัวละครอื่น นักแสดงที่ไม่เชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งย่อมทำให้ตัวละครนี้กลายสภาพเป็นเพียงตำราเรียนเดินได้-อันไม่น่าจดจำ

๔. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
เจนจิรา พงพัศ (ลุงบุญมีระลึกชาติ)
เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ (ชั่วฟ้าดินสลาย)
พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ (สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก)
หนึ่งธิดา โสภณ (กวน มึน โฮ)
อภิญญา สกุลเจริญสุข (สามมิติ)

ผู้ได้รับรางวัล: หนึ่งธิดา โสภณ จาก กวน มึน โฮ

เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วสำหรับสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ที่มักเกิดการขับเคี่ยวเข้มข้นระหว่างนักแสดงหญิงวัยรุ่นฝีมือดี นักแสดงหญิงหน้าใหม่น่าจับตามอง กับเหล่านักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ประสบการณ์สูง ปีนี้การแข่งขันก็หนักหน่วงอีกเช่นเคย พิสูจน์ได้จากรายชื่อที่ไม่ได้เข้าชิงทั้ง สินจัย เปล่งพานิช (Who Are You? ใคร...ในห้อง), ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (9 วัด), รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล (เรา สองสาม คน) และ รมิตา มหาพฤกษ์พงศ์ (เรา สองสาม คน, สุดเขต...สเลดเป็ด)

การแสดงของ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ซับซ้อนทีเดียว เพราะหนังไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานความสมจริง เป็นกึ่งละครเวที กึ่งวรรณกรรม แต่ต้องพยายามให้คนดูจับต้องยุพดีให้ได้ด้วย ซึ่งถือว่าเธอทำได้สำเร็จ, เจนจิรา พงพัศ ถูกจับจ้องด้วยภาพระยะใกล้บ่อยครั้ง กระนั้นความเป็นธรรมชาติทำให้เธอสอบผ่าน สายตาของเธอมีความหมายพิเศษตลอดเวลา กระตุ้นคนดูให้ค้นหาปริศนาที่อาจถูกคลี่คลายผ่านตัวละครของเธอได้ชะงัด

อีกสามที่ของผู้เข้าชิงถูกจับจองโดยนักแสดงวัยรุ่น - อภิญญา สกุลเจริญสุข แสดงได้อย่างโดดเด่นในหนังวัยรุ่นเพื่อนแอบรักเพื่อน ด้วยการตีแผ่สภาพจิตใจของตัวละครออกมาได้อย่างหมดจด, พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ใช้ข้อได้เปรียบจากความเป็นหน้าใหม่ทางการแสดง ทำให้ทุกฉากที่ต้องใช้แรงมากดูเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง ซึ่งหากเป็นนักแสดงประสบการณ์สูง อาจล้นเกินด้วยเทคนิควิชาจนขาดความสมจริงไป และผู้ชนะ หนึ่งธิดา โสภณ กับภารกิจสร้างเสน่ห์ให้ตัวละคร ความจัดเจนของเธอทำให้ทั้งช่วงตลกและช่วงดราม่าของหนังราบรื่นชวนซาบซึ้ง สีหน้าท่าทางและสายตาของเธอคืออาวุธหลัก แม้ตัวหนังจะค่อนข้างเร้าอารมณ์

หนึ่งธิดาก็ขจัดความฟูมฟายออกจากตัวละครของตนจนสิ้น ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้เธอแซงหน้าผู้เข้าชิงคนอื่นจนคว้ารางวัลยอดเยี่ยมปีนี้ไปได้

๓. นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
ฉันทวิชช์ ธนะเสวี (กวน มึน โฮ)
ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข (มือปืนดาวพระเสาร์)
ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ (ชั่วฟ้าดินสลาย)
สมชาย เข็มกลัด (นาคปรก)
อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม (ชั่วฟ้าดินสลาย)

ผู้ได้รับรางวัล: ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข จาก มือปืนดาวพระเสาร์

หลายปีแล้วที่สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไม่ได้พบกับความเข้มข้นคู่คี่เช่นนี้ ซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี ดูจากรายชื่ออันแข็งแกร่งทั้ง เศรษฐา ศิระฉายา (บิ๊กบอย), ธนภัทร สายเสมา (ลุงบุญมีระลึกชาติ), มาริโอ้ เมาเร่อ (สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก), ภาคภูมิ สุรพงศานุรักษ์ (เจ้านกกระจอก), ชวิน ลิขิตเจริญพงศ์ (บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)), อาคเนย์ เชื้อขำ (เจ้านกกระจอก) ที่ไม่ได้เป็นหนึ่งในห้ารายชื่อสุดท้าย คงเป็นหลักฐานอย่างดี

ฉันทวิชช์ ธนะเสวี แสดงดีในช่วงตลกของเรื่อง แต่เมื่อถึงช่วงดราม่าของหนังเขากลับยังดูตลกอยู่ จนต้องอาศัยนักแสดงนำหญิงช่วยฉุดดึงขึ้นมาหลายครั้ง, สมชาย เข็มกลัด มีช่วงที่แสดงได้ดีมากอย่างฉากขึ้นเทศน์ในช่วงท้ายเรื่อง แต่ในช่วงเวลาอื่นเขาต้องอาศัยคนอื่นๆ ช่วยเหลือมากกว่า และบางครั้งเขาก็ ‘หลุด’ ออกจากตัวละครกลับไปเป็นตัวเอง, ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ ซับซ้อนใต้ความเรียบนิ่ง ควบคุมระดับอารมณ์ให้ตัวละครพะโป้ได้ดี ไม่มากน้อยจนเกินงาม ทั้งยังสร้างความน่าเกรงขามจนรู้สึกได้จริงถึงอำนาจที่เขามีอยู่

อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ขาประจำของรางวัลต่างๆ ยังคงเดินสายเข้าชิงต่อไป เขาใช้สายตาสื่อสารอารมณ์ได้ดีเยี่ยมจนผู้ชมคล้อยตาม ข้อเสียใหญ่คือการแสดงอันรุ่มรวยไปด้วยเทคนิค จนกีดกันไม่ให้เราเชื่อว่าเขาคือส่างหม่องได้เต็มร้อย – นั่นทำให้รางวัลนักแสดงนำชายของเราในปีนี้พลิกโผ เมื่อ ชูศักดิ์ (โหน่ง) เอี่ยมสุข ปาดหน้าคว้ารางวัลไป หากไม่ได้มองลึกลงในรายละเอียด ดูเหมือนเขาแค่เล่นบทตลกที่เราคุ้นชินในจอทีวี แต่สำหรับบท ‘พี่มาร์ค’ นั้นมีแง่มุมยิบย่อยหลายชั้น เขาต้องรักษาความสม่ำเสมอของบทตลก ต้องรักษาความน่าเชื่อถือของคาแรคเตอร์ให้ชวนติดตาม ใช้การด้นสดที่ไหลลื่นช่วยให้หลายฉากน่าสนใจขึ้น และด้วยโทนหนังที่เหนือจริงเล็กน้อย ทำให้เขาไม่สามารถแสดงแบบสมจริงเต็มขั้นได้ อีกทั้งไม่สามารถเล่นตลกแบบสุดขอบได้เช่นกัน ซึ่งเขาแสดงได้อย่างกลมกล่อมเฉียบแหลม ท่ามกลางความรับผิดชอบมากมายที่ต้องแบกรับไว้

๒. ผู้กำกับยอดเยี่ยม
บรรจง ปิสัญธนะกูล (กวน มึน โฮ)
หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล (ชั่วฟ้าดินสลาย)
ภวัต พนังคศิริ (นาคปรก)
อโนชา สุวิชากรพงศ์ (เจ้านกกระจอก)
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ลุงบุญมีระลึกชาติ)

ผู้ได้รับรางวัล: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จาก ลุงบุญมีระลึกชาติ

ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ และความเข้มแข็งของผู้เข้าชิงทั้งห้า ทำให้ ยุทธเลิศ สิปปภาค (มือปืนดาวพระเสาร์), วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (อินทรีแดง), วิทยา ทองอยู่ยง, เมษ ธราธร (บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)), อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ (สวรรค์บ้านนา) และ กิตติกร เลียวศิริกุล (เรา สองสาม คน) ต้องพลาดการเข้าชิงในปีนี้ไป ในรางวัลใหญ่อันดับสองของการประกาศรางวัล ที่มอบให้กับผู้ที่ควบคุมรังสรรค์องค์ประกอบต่างๆ ในภาพยนตร์ให้ออกมาเป็นรูปร่าง

งานกำกับของ ภวัต พนังคศิริ ควบคุมบรรยากาศแบบฟิล์มนัวร์และความลุ้นระทึกของสถานการณ์ได้อารมณ์ แม้จะมีความไม่สม่ำเสมอปะปนอยู่บ้าง, บรรจง ปิสัญธนะกูล เปลี่ยนแนวจากหนังสยองขวัญมากำกับหนังรักตลกและทำได้ดี จุดเด่นที่เขามีมาเสมออย่างเรื่องจังหวะของหนังและการกำกับนักแสดง ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ, ข้อเด่นของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ในงานล่าสุดคือความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ประนีประนอม จนได้หนังที่รสชาติแปลกลิ้นน่าค้นหา ทว่าบางจังหวะก็หนักมือไปนิด, ส่วน อโนชา สุวิชากรพงศ์ ที่ไม่ประนีประนอมเช่นกัน ก็กำกับหนังยาวเรื่องแรกของเธอได้อย่างทรงพลังหนักแน่น แม้จะมีข้อติเล็กน้อยว่าใช้องค์ประกอบอื่นๆ ช่วยเหลือในภาพรวมของหนังอยู่มาก โดยเฉพาะการลำดับภาพที่เข้ามาช่วยกลบเกลื่อนรอยแผลบางประการของหนัง
ปรากฏว่าปีนี้ไม่มีใครทัดทาน อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้ เมื่อผลคะแนนออกมาค่อนข้างทิ้งห่าง บรรยากาศเฉพาะตัวอันไม่มีใครเหมือนใน ลุงบุญมีระลึกชาติ ได้รับการรังสรรค์อย่างประณีตบรรจง แม่นยำในรายละเอียดซับซ้อน ที่มีทั้งความเหนือจริงกึ่งแฟนตาซีของเนื้อหา ความพิศวงของสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ ภายใต้การนำเสนอที่ทำให้องค์ประกอบในหนังแลดูจริงใจ เป็นธรรมชาติ ไร้จริตจะก้าน ต้องยกความดีความชอบเหล่านี้ให้กับผู้กำกับที่ช่ำชองและเปี่ยมประสบการณ์อย่างเขา

๑. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เจ้านกกระจอก – อีเล็คทริคอีลล์, ฮูดินี สตูดิโอ
ชั่วฟ้าดินสลาย – สหมงคลฟิล์ม
นาคปรก – สหมงคลฟิล์ม, บาแรมยู
ลุงบุญมีระลึกชาติ – คิกเดอะแมชชีน
สวรรค์บ้านนา – เอ๊กซ์ตร้าเวอร์จิ้น

ผู้ได้รับรางวัล: คิกเดอะแมชชีน จาก ลุงบุญมีระลึกชาติ

ในปีนี้กลุ่มผู้นำสำหรับสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้นมีน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยมีเพียง บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้) และ กวน มึน โฮ เป็นสองเรื่องที่คะแนนใกล้เคียงกับการได้เข้ารอบสุดท้ายมากที่สุด ในระดับที่ควรบันทึกไว้ ณ ที่นี้
บทประพันธ์ของ เรียมเอง (มาลัย ชูพินิจ) ถูกนำมารื้อสร้างตีความใหม่เข้ากับเหตุการณ์ร่วมสมัยได้น่าครุ่นคิด ภายใต้เครื่องทรงอาภรณ์และสิ่งปลูกสร้างอันวิจิตรโอฬารใน ชั่วฟ้าดินสลาย

กระนั้นหนังก็ไม่ได้วนเวียนพายเรือในอ่างอยู่กับความใหญ่โตของงานสร้างกับองค์ประกอบต่างๆ รายรอบ หรือติดกับดักแห่งยุคสมัยจนแลดูเฉิ่มเชย แต่พุ่งตรงไปสู่ประเด็นนำเสนอของผู้สร้างอย่างไม่ประนีประนอม ซึ่งทำให้หนังดูสดใหม่และน่าค้นหา, เจ้านกกระจอก ใช้วิธีเล่าเรื่องอันพิสดารทว่าราบรื่น เพื่อผสานเส้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มที่พิการเพราะอุบัติเหตุกับบุรุษพยาบาล เข้ากับประเด็นทางการเมือง ปรัชญา จักรวาลวิทยา ที่นำเสนอแบบนามธรรมผ่านชุดสัญลักษณ์ได้เข้มข้น ฉีกตัวเองออกจากหนังอิสระไทยร่วมสมัยได้อย่างมีเอกลักษณ์น่าจับตามอง

ข้อดีของ นาคปรก คือการตั้งคำถามกับประเด็นว่าด้วยศาสนา ที่ถามได้อย่างเฉียบคม ชวนขบคิด การนำเสนอประเด็นเป็นลำดับขั้นตอน ไม่วอกแวกเฉไฉจนเสียเรื่อง จนคำถามที่ว่านี้โอบอุ้มตัวหนังทั้งเรื่องไว้ได้ องค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ ก็ช่วยเหลือเพื่อขับประเด็นหนังให้ชัดเจนขึ้นในอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันในด้านอารมณ์ก็ยังทำได้ชวนติดตาม ลุ้นระทึก ถึงจะยังกระท่อนกระแท่นไปบ้างในการเล่าเรื่องบางช่วงตอน ส่วนหนังอิสระอีกเรื่องอย่าง สวรรค์บ้านนา สามารถสร้างโลกที่งดงามราวกับเป็นสวรรค์อุดมคติของมนุษย์ และยิ่งหนังเลือกใช้วิธีการแบบสารคดีมาเล่า ยิ่งทำให้ภาพที่ปรากฏดูเหมือนจริงราวกับสัมผัสได้ ทั้งๆ ที่ภาพท้องไร่ท้องนาเขียวขจีกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา และถ่ายมาอย่างขับเน้นความแปลกตาโรแมนติก ไม่ใช่สิ่งที่คนดูเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งหนังเองไม่ได้จงใจปกปิดตัวเองว่ามีส่วนที่เป็นเรื่องแต่ง แต่กลับใช้เนื้อหาส่วนนั้นกระแทกผู้ชมให้เห็นถึงวงจรชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ของเกษตรกร ที่ความงดงามเหมือนฝันของทิวทัศน์รอบตัวพวกเขาไม่ได้ช่วยให้ข้าวสารมีกรอกหม้ออย่างพอเพียง

ลุงบุญมีระลึกชาติ คือหนังที่มีเรื่องราวจับต้องได้ที่สุดนับตั้งแต่เรื่องแรกของอภิชาติพงศ์เป็นต้นมา กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยปริศนาและความคลุมเครือ ที่กระตุ้นให้ผู้ชมเปิดกว้างทางจินตนาการอย่างอิสระ ไปพร้อมกับภาพสะท้อนของการเวียนว่ายตายเกิด กฎแห่งกรรม การระลึกชาติ ที่เป็นเหมือนความฝันอันงดงามน่าตื่นตะลึงที่ทั้งเหนือจริงทว่าสมจริงในคราวเดียวกัน อันเกิดจากการผนวกเรื่องราวเหล่านี้เข้ากับความทรงจำ ความคิด ความรู้สึกของผู้สร้าง ทั้งยังท้าทายต่อรูปแบบปกติของศิลปะภาพยนตร์ด้วยการสร้างภาษาใหม่ในการเล่าเรื่อง (ซึ่งเป็นสิ่งที่อภิชาติพงศ์ทำมาตลอด) ที่เชื้อเชิญให้ตั้งคำถามทั้งต่อศิลปะภาพยนตร์ และต่ออัตลักษณ์ตัวตนของมนุษย์ที่เลื่อนไหลไปมาโดยปราศจากสูตรสำเร็จ ผ่านภาพสะท้อนกันและกันระหว่างเรื่องราวกับตัวละครอันน่าค้นหา – ลุงบุญมีระลึกชาติ จึงควรได้รับการยกย่องสูงสุดด้วยประการทั้งปวง

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.