k
 สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
อาวองรีแบรนด์ใหม่พร้อมเปิดสี่โปรเจ็คหนัง    
 

27 กุมภาพันธ์ 2553 / ภาพและเรื่อง ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล

   
 

 

 

 

เริ่มที่จะกลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว สำหรับค่ายหนังไทยที่นิยมการรีแบรนด์บริษัทใหม่ หลังจากที่มีการเปลี่ยนผู้บริหาร  อาทิ โมโนฟิล์ม ที่กลายมาเป็น โมทีฟ+  และล่าสุด อาร์เอสฟิลม์หรืออาวองก็จัดแจงเปลี่ยนตัวเป็น ฟิล์มอาร์อัส (Film R Us) พร้อมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการหนังใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

สำหรับผู้บริหารใหม่ คมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์  ซึ่งเคยทำหน้าที่บริหารคลื่นวิทยุในเครืออาร์เอสมานานกว่าสี่ปี  คมสันต์ได้กล่าวถึงที่มาของชื่อค่ายใหม่ว่า เป็นการบอกแก่คนดูว่านี่คือหนังของเรา(บริษัทผู้สร้าง) และชื่อใหม่ก็เป็นเหมือนการก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ   ฟิล์มอาร์อัสมีความแตกต่างกับอาวองในหลายๆ ส่วน “อย่างแรกคือด้วยตัวคนทำงาน และอันที่สองเรามีแนวคิด ที่ต้องการเปิดให้ผู้กำกับภายนอก และคนอื่นๆ ที่มีบทดีและฝีมือดี ภาพยนตร์ของเราน่าจะหลากหลายสูง” 

องอาจ สิงห์ลำพอง ผู้กำกับลูกหม้อของค่ายนี้  จะขึ้นรับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและปฎิบัติการตลาด  เขาให้รายละเอียดเพิ่มว่า ฟิล์มอาร์อัสจะมีความแตกต่างกับอาวองในแง่ของความใหม่ “ในด้านการเลือกเรื่อง หรือเลือกคนมาทำงาน  ตอนนี้เราเปิดให้อิสระมากขึ้น รับหนังทุกแนว วันนี้  คุณก็จะเห็นว่ามีผู้กำกับซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการ  เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราทำงานกับผู้กำกับที่ทุกคนไว้ใจได้ และมีชื่อเสียง  ต่อไปเราก็จะสร้างผู้กำกับใหม่ๆ ที่เป็นคนของเราเอง เพื่อสร้างหนังใหม่ๆ ในรูปแบบใหม่ๆ อย่างที่เราต้องการ”

 

 

 

ส่วนปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร ผู้กำกับตั้งแต่สมัยอาวอง เห็นว่าข้อดีของฟิล์มอาร์อัสคือเปิดโอกาสให้ผู้กำกับมากขึ้น “เปิดให้ผู้กำกับคิด ผู้กำกับทำ สามารถที่จะมีโปรเจ็คท์แฝงขึ้นมาได้ ในลักษณะที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่า มันน่าจะดีนะ มีโอกาสที่น่าจะมีหนังแปลกๆ เข้ามาเยอะขึ้น อย่างหนังเค้าและเธอ ก็รู้สึกว่ามันจะดี ตลาดของหนังของฟิล์มอาร์อัสก็จะโตขึ้น การทำหนังกับฟิล์มอาร์อัส คงจะไม่แตกต่างจากอาวองมากนัก  ผู้บริหารก็รู้จักกันอยู่  พวกที่มาจากอาวองด้วย ด้วยตัวหนังเอง ผมว่าทำงานในระบบเดิม แต่ไม่ใช่ว่าทำที่ไหนก็ได้ เปิดค่ายใหม่เราก็ยินดี แล้วเราก็รู้สึกว่า ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม”

ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่เคยทำหนังเรื่องแรกในชีวิตกับอาร์เอส ก็หวนคืนสู่บ้านเก่ากลายๆ เขาเชื่อว่าฟิล์มอาร์อัสก็คงไม่ได้ต่างไปจากอาวองมากนัก “จริงๆ ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะเพิ่งเริ่ม คงไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก การตัดสินใจก็ยังมาจากผู้ใหญ่ ที่อาจจะเปลี่ยนบ้างคือวิธีการมองหนัง ที่ผ่านมาอาจจะใกล้เคียงกัน จูนกันมากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างมาเยอะ น่าจะตรงกันมากขึ้น” ยุทธเลิศคิดว่า หนังของเขาคงไม่ได้มาสร้างรูปแบบใหม่ใดๆ ให้แก่ฟิล์มอาร์อัส “เขาให้ผมมาทำเพราะชอบสไตล์ของผม เหมือนผมคงไม่มาทำให้ค่ายนี้เปลี่ยนไป ผมมาในการทำหนังแบบของตัวเอง ก็คงไม่มีผลไปเปลี่ยนแปลงอะไร”

ในมุมของคนทำหนัง ในส่วนของการที่จะต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ปิยะพันธุ์มองว่าถือเป็นโอกาสที่ดี “จริงๆ แล้ว ผมวางไว้สองปีเรื่องหนึ่ง แต่ตอนหลังด้วยความที่เป็นพนักงานประจำด้วย เลยกะว่าค่อยๆ ทำไป แต่ช่วงนี้มีโปรเจ็คท์เยอะ แล้วรู้สึกว่าผู้ใหญ่ให้โอกาส เลยต้องทำ ยิ่งทำเยอะปุ๊บเราก็จะยิ่งเก่งด้วย การทำหนังมันค่อนข้างจะยาก เวลาน้อย เงินน้อย มันต้องใช้ประสบการณ์ พอห่างหายไปปุ๊บ ก็จะรู้สึกว่าหนืดๆ  เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะมานั่งขี้เกียจ  ทำปีล่ะเรื่องดีกว่า ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองฟิตขึ้น ปีหน้าก็ทำหนังได้โดยไม่เหนื่อย”

 

 

ฟิล์มอาร์อัสมีแผนสร้างหนังไทยปีละ 4-5 เรื่อง เฉพาะปี พ.ศ.2553 จะมีผลงานเปิดตัวทั้งหมด 4 เรื่อง   ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผลงานของยุทธเลิศ โดยเรื่องแรกที่จะออกฉายก่อนคือ “สามย่าน” หนังตลกที่ยุทธเลิศกำกับร่วมกับโก๊ะตี๋และพิง ลำพระเพลิง โดยมีพิงทำหน้าที่เขียนบท  ยุทธเลิศอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับพิง หลายคนอาจจะสงสัยว่ามาทำงานให้ค่ายนี้ได้อย่างไร อันที่จริงเขาเคยเขียนบทหนังอย่าง “แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า” ให้อาร์เอสมาแล้ว นอกจากนั้น เขายังเคยกำกับละครทีวีให้อาร์เอสมาแล้วหลายเรื่อง เช่น “ผู้กองยอดรัก ยอดรักผู้กอง” กับ “คู่กรรม” (เวอร์ชั่นศรรามเป็นโกโบริ) จึงรู้จักกันอยู่แล้ว  ส่วนโก๊ะตี๋  องอาจเป็นคนชวนเข้ามาเอง โดยมาแทนจตุรงค์ ม๊กจ๊ก และชื่อชั้นอาจจะดูด้อยกว่าสองคนแรก  แต่ทั้งพิงกับยุทธเลิศก็ให้การรับรองว่างานของโก๊ะตี๋ก็มีความสนุกสนานในแบบของตัวเอง  ส่วนดาราก็อย่างเช่นที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเป้ย ปานวาด,เสนาหอย,อี๊ด โปงลางสะออน ฯลฯ โดยทางฟิล์มอาร์อัสยังยืนยันในกำหนดฉายเดิมคือช่วงเดือนพฤษภาคมนี้  แม้ว่าตอนของยุทธเลิศจะยังไม่ได้เริ่มถ่ายทำก็ตาม

“แฟนใหม่” หนังเรื่องต่อมาจะเป็นหนังกึ่งภาคต่อของแฟนเก่า โดยผู้กำกับคนเดิมคือปิยะพันธุ์ และยังมีหนึ่งในนำหญิงจากภาคก่อนอย่าง โบวี่ อัฐมา มาร่วมแสดงในบทที่มากกว่าเดิม  ผู้กำกับยังไม่ได้เปิดเผยถึงพล็อตเรื่องหรือนักแสดง  ยกเว้นไอเดียคร่าวๆ จากคำถามที่ว่า บางครั้งเราก็ไม่รู้เลยว่า แฟนใหม่ของเรามาจากไหน? และอาจมีที่มาที่น่ากลัวก็ได้   พร้อมทั้งบอกว่า หนังเรื่องนี้จะมีการหักมุมที่มากกว่าเดิม

แล้วจากนั้นก็ตามด้วยโปรเจ็คท์ของยุทธเลิศทั้งหมด อันประกอบไปด้วย “หนังเค้านะเธอ” สารคดีที่จะตามติดการสร้างหนังแผ่นของเทพ โพธิ์งาม นักแสดงตลกอาวุโส ซึ่งผลงานหนังของเขาก่อนหน้านี้  มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่นักวิจารณ์บางคนอาจจะส่ายหน้า แต่คนดูบางคนอดไม่ได้ที่จะชื่นชม โดยยุทธเลิศจะหาทุนให้ตลกรุ่นใหญ่ทำหนังก้อนหนึ่ง โดยอีกฝ่ายไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ให้ยุทธเลิศบันทึกภาพการทำงานของเขาตลอดตั้งแต่ต้นจนจบอีกที  สารคดีเรื่องนี้ยุทธเลิศเชื่อว่าน่าจะสร้างความแปลกให้แก่วงการหนังไทยได้ไม่มากก็น้อย

 

 

อีกเรื่องก็คือ “บางกอกกังฟู” ซึ่งเป็นการพบกันของสามพระเอกหนุ่ม ฟิล์ม รัฐภูมิ,แบงค์ แบล็ควนิล่า,เป้ อารักษ์ และมาริโอ้ เมาเร่อ โดยมีนางเอกใหม่เป็นแก้ว จากวงเฟย์ ฟาง แก้วมาประกบ ในเรื่อง ฟิล์มจะเป็นใบ้  แบงค์จะตาบอด   เป้จะหูหนวก ส่วนมาริโอ้จะปัญญาอ่อน หลายๆ คนสงสัยว่า ทำไมยุทธเลิศถึงเลือกที่จะดึงเอาเป้และมาริโอ้ ซึ่งไม่ใช่นักแสดงในสังกัดอาร์เอสมาแสดงในเรื่องนี้  ยุทธเลิศกล่าวว่าเป็นเพราะเคยร่วมงานกับสองคนนี้มาก่อน (เป้ใน “รัก/สาม/เศร้า” และมาริโอ้ใน “บุปผาราตรี3.1-3.2”)  ทำงานด้วยกันแล้วโอเค และที่สำคัญอยากนำเอานักแสดงรุ่นเดียวกันสี่คน ที่มารวมกันแล้วน่าสนใจ จึงดึงสองคนนี้มาร่วมงานด้วย  ในฟากของนักแสดง มาริโอ้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเล่นหนังให้ทุกค่าย แต่เป้นั้นมีความเป็นนักแสดงของ GTH อยู่มาก แต่เป้ยืนยันว่าเขาเป็นนักแสดงอิสระ และก็ได้แจ้งกับทางผู้ใหญ่ของ GTH ไปแล้ว อีกอย่างทางอาร์เอสกับสมอลรูม (ต้นสังกัดของ “สเลอ” วงของเป้) ก็ทำงานเพลงร่วมกันอยู่แล้ว จริงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะมาเล่นหนังให้ 

 

 

เมื่อมองภาพรวมหนังทั้งหมด คนที่น่าสนใจที่สุดก็คงไม่พ้นยุทธเลิศ  ถ้าใครที่ติดตามข่าววงการหนังมาตลอด จะรู้ดีว่าเขาเป็นจอมโปรเจ็คท์ขนาดไหน  เพราะตอนนี้ก็มีผลงาน “มือปืน ตรัยภาค” กับพระนครฟิล์มอย่างน้อยก็สามเรื่องแล้ว   ตัวของยุทธเลิศต้องการจะเลี้ยงชีพในฐานะคนทำหนัง เขาจึงไปเสนอโปรเจ็คท์กับหลายค่าย ทีล่ะหลายโปรเจ็คท์  จึงไม่แปลกที่เขาจะมีงานชุกมากขนาดนี้ โดยในปีนี้ หากรวมหนังที่ทำกับฟิล์มอาร์อัสเข้าไปด้วย ก็จะมีมากถึง 5 เรื่องทีเดียว  แต่ยุทธเลิศก็ยืนยันว่ามีเวลาที่จะทำหนังทุกเรื่องให้เสร็จตามที่ตั้งใจไว้ “บางเรื่องบางทีมันเริ่มพร้อมกันได้ อย่างมือปืนตรัยภาค ผมจะทำแค่สองภาคแรกก่อน มือปืนพระอาทิตย์ก็จะไปปีหน้า แล้วพอหมดหนังมือปืนสองตอนแรก ก็จะไปเริ่มบางกอกกังฟู  แล้วก็จะต่อๆ กัน ไม่มีเวลาหยุด”

ผู้บริหารคมสันต์กล่าวถึงแนวโน้มของหนังไทยที่กล่าวกันว่ามีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวสูง  “จริงๆ ผมว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยตอนนี้ก็ยังดีอยู่  ปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว น่าจะโตขึ้น 20-25 เปอร์เซ็นต์”  ส่วนสำหรับองอาจก็มองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล  “คือ ต้องบอกว่าอาร์เอสอยู่ในธุรกิจภาพยนตร์มานาน ตรงนี้พิสูจน์ว่าเราผ่านมาได้ตลอด แล้วฟิล์มอาร์อัสนี่ก็เป็นคลื่นลูกใหม่ที่เรามั่นใจว่าน่าจะผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ด้วยตัวงานที่เราค่อนข้างมั่นใจ”  สำหรับแผนการทำงานในอนาคต คมสันต์กล่าวว่า “อนาคตเราวางไว้ว่าจะทำหนังต่อเนื่อง เราไม่เน้นหนังอาร์ต เราเน้นหนังแมส และน่าจะครบทุกรส เราทำการสำรวจตลาดเอง เพื่อที่จะเอามาปรับใช้กับบทหนัง ก็คิดว่าน่าจะดีครับ”
   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.