สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

STARPICS THAI FILMS AWARDS # 6 (๒๕๕๑)

  LINK : ตารางเปรียบเทียบรายชื่อผู้เข้าชิงทุกสถาบัน
 
 

ปีนี้คณะกรรมการของ Starpics Thai Films Awards เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งจำนวนผู้ตัดสินและความหลากหลายทางความคิด โดยประกอบไปด้วยกองบรรณาธิการของนิตยสาร Starpics พร้อมตัวแทนจากกลุ่มนักวิจารณ์อิสระ คอลัมนิสท์ และนักดูหนังรวมทั้งสิ้น 18 คน ร่วมกันพิจารณาภาพยนตร์ที่เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งหลากหลายทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ทัศนคติ และมุมมองต่อภาพยนตร์แต่ละเรื่อง โดยอภิปรายถกเถียงเพื่อให้ได้ตัวแทนและผู้ชนะที่ไม่มีใครคัดค้าน หลังจากได้คะแนนสูงสุดไปเรียบร้อยแล้ว
การลงคะแนนอย่างเปิดเผย ถกเถียง นำเสนอมุมมองของตนเองอย่างตรงไปตรงมา เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ผลการตัดสินที่ยุติธรรมและโปร่งใสที่สุด เท่าที่ปุถุชนคนรักหนังกลุ่มหนึ่งพึงจะมีได้
และต่อไปนี้คือรายนามผู้เข้าชิง, ผู้ได้รับรางวัล และภาพรวมของการพิจารณาตัดสินในครั้งนี้...

ภาพยนตร์ยอดนิยม
ผู้ได้รับรางวัล: จีทีเอช จาก ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น


รางวัลภาพยนตร์ยอดนิยม (หรือจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษตามแบบเทศกาลทั่วไปว่า People’s Choice Award) ของ Starpics ตัดสินจากแบบสอบถามความเห็นปลายปีที่ผู้อ่านส่งเข้ามา โดยมุ่งพิจารณาที่‘ความชื่นชอบ’ ของผู้ชมต่อภาพยนตร์ในเรื่องนั้นๆ มากกว่าตัวเลขรายได้ เพราะภาพยนตร์บางเรื่องอาจก่อให้เกิดกระแสแห่แหนไปซื้อตั๋วเข้าชม ทว่าผู้ชมกลับไม่ได้ชื่นชอบมากนักเมื่อเดินออกจากโรง

ปีนี้ มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ได้คะแนนคู่คี่กับผู้ชนะ แต่ต้องพ่ายไปอย่างน่าเสียดาย ได้แก่ ปืนใหญ่จอมสลัด, องค์บาก 2, สี่แพร่ง, Happy Birthday และ รัก|สาม|เศร้าภาพยนตร์ที่ได้รางวัลในปีนี้ เข้าฉายในช่วง‘ปิดเทอมใหญ่’ และเก็บรายได้ไปอย่างสง่างามเป็นอันดับสองของปี มันอาจไม่ใช่หนังที่เล่นท่ายาก ไม่ใช่หนังที่ทุ่มทุนสร้างมโหฬาร ไม่ได้มีฉากตระการตา มันเป็นแค่หนังรักเรื่องหนึ่งที่พยายามนำเสนอทุกแง่มุมความคิดความรู้สึกของวัยรุ่นในปัจจุบัน

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น ทำให้คนดูหลายคนหลงรักและว้าวุ่นใจ

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “เป็นรางวัลที่โดยส่วนตัวผมแปลกใจ นึกว่าเรื่องอื่นจะได้ แต่ก็ดีใจครับ ที่ ปิดเทอมใหญ่ฯ ได้รางวัลนี้ มันแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ชอบหนังของเรา ผมดีใจที่ได้รางวัลนี้ ผมอยากขอบคุณทีมงานและน้องๆนักแสดงที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีเสน่ห์ขึ้น” - ทรงยศ สุขมากอนันต์

. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
กอด – จีทีเอช
สะบายดี หลวงพะบาง – สปาต้า ครีเอทีฟ และ ลาว อาร์ต มีเดีย
สี่แพร่ง – จีทีเอช
The Truth Be Told – Extra Virgin
Wonderful Town – ป๊อป พิคเจอร์

ผู้ได้รับรางวัล: จีทีเอช จาก กอด 
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือภาพยนตร์ที่ผสมกลมกลืนทุกองค์ประกอบเข้าหากันอย่างลงตัว มีสไตล์เฉพาะของตนเอง และสื่อสารทางความคิดความรู้สึกอย่างได้ผล ...ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น, ดรีมทีม, The 8th Day แปดวันแปลกคน, องค์บาก 2, สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์, อีติ๋มตายแน่, มูอัลลัฟ และ Happy Birthday คือภาพยนตร์ดีที่ต้องหลุดวงโคจรไปด้วยเหตุผลอันหลากหลาย

สี่แพร่ง ทำได้ดีในความเป็นหนังสยองขวัญ ได้เปรียบด้านความหลากหลายของจังหวะอารมณ์ โดยเฉพาะความสร้างสรรค์ในการกระตุกขวัญผู้ชม แม้จะเป็นหนังสั้นสี่เรื่อง แต่มันก็มุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันและเป็นเอกภาพ ทว่าจุดบอดสำคัญคือคุณภาพของ “ตอนที่สอง” ที่ต่ำกว่าเรื่องอื่นอย่างน่าใจหาย, สะบายดี หลวงพะบาง คือหนังรักโรแมนติกใสซื่อที่เต็มไปด้วยความบรรยากาศแห่งความจริงใจ ซึ่งไม่ได้พบเห็นนานแล้วในหนังไทย แต่ความผิดพลาดในรายละเอียดหลายอย่างก็ทำให้หนังไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น, The Truth Be Told น่าสนใจที่การผสานความเป็นสารคดีการเมืองเข้ากับหนังดราม่าชั้นดี ผ่านชีวิตของสุภิญญา กลางณรงค์ โดยไม่พยายามเจาะลึกถึงความคิดหรือจิตใจของเธอด้วยการสัมภาษณ์มากนัก แต่ใช้ตัวเธอเพื่อนำพาผู้ชมไปพบกับเหตุการณ์ที่เธอเผชิญ และให้ผู้ชมสัมผัสถึงความรู้สึกนึกคิดของเธอด้วยตนเอง ตลอดจนการบันทึกภาพรวมความเป็นไปของสังคมและการเมืองไทยในยุคหลังอย่างแหลมคม ...แต่ทั้งสามเรื่องยังไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มผู้นำของสาขานี้

Wonderful Town นำเสนอเหตุการณ์เล็กๆ ของคนธรรมดาได้อย่างน่าทึ่ง รังสรรค์บรรยากาศเฉพาะตัวด้วยการดำเนินเรื่องแบบนิ่งเนิบเจือความลึกลับคลุมเครือ กระนั้นเมื่อถึงจุดที่โทนโดยรวมของเรื่องต้องพลิกผัน (ฉากแก๊งมอเตอร์ไซค์) หนังก็ยังไม่หลุดความสมจริง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากบทภาพยนตร์ ผนวกกับงานเชิงเทคนิคด้านอื่นซึ่งทำงานสอดประสานกันอย่างเข้าขารู้ใจ ผสมกลมกล่อมจนได้เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งยังสะท้อนภาวะของเมืองที่ตกอยู่ภายใต้ความเศร้าหมองหลังเหตุการณ์สึนามิ มันไม่ได้เร้าอารมณ์อย่างโจ่งแจ้ง ทว่าเปิดช่องว่างทางความคิดอย่างกว้างขวาง และค่อยๆซึมลึกลงสู่จิตใจของผู้ชมเมื่อเวลาค่อยๆผ่านไป แต่ Wonderful Town แพ้ผู้ชนะเพียงแค่คะแนนเดียวเท่านั้น

จริงอยู่ว่า Wonderful Town ทำได้ดีและถึงพร้อมรอบด้าน กอด ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในประเด็นนี้เช่นกัน ทว่าเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าภาพรวมของเรื่องหลังมีภาษีดีกว่า มันเลือกถ่ายทอดสิ่งที่เห็นได้ไม่ยากนักในหนังทั่วไป (เช่น การพบรัก การเดินทาง การลาจาก และความครื้นเครง) แต่รุ่มรวยด้วยรายละเอียดและซุกซ่อนความหมายในเชิงลึก ต่างจากเรื่องแรกที่เลือกนำเสนอภาพชีวิตประจำวันในแง่มุมที่ยากจะพบเจอบนจอเงิน (เช่น ภาพการตากผ้าของคู่พระนาง)

แม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นหนังที่สื่อสารได้หนักแน่นแข็งแรงและทรงพลังเหมือนกัน แต่วิธีการของ กอด นั้นถือว่าประณีตและเหนือชั้นกว่า มันเปิดกว้างทางความคิดของผู้ชมคล้ายกัน หากต่างกันตรงที่ Wonderful Town เรียกร้องให้ผู้ชมใช้ความคิดกับหนังอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนท่าทีในหนังของคงเดชกลับนุ่มนวลกว่า กล่าวคือมัน ‘กระตุ้น’ แต่ไม่ได้ ‘เรียกร้อง’ ด้วยกลวิธีอันชาญฉลาดและละเอียดลออ

แล้วจะมีหนังไทยในรอบปี ๒๕๕๑ เรื่องใดเล่า ที่ลงตัวเท่ากับ... กอด

 

 

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “กอด เป็นหนังที่ผมภูมิใจ ผมอยากทำงานกับคงเดชมานานมาก เสียดายที่คนดูน้อย คือพอหนังที่ทำออกมาแล้วถูกใจผม ก็อยากให้มีคนดูเยอะๆ ผมรู้สึกว่าการดูหนังคือการดูในโรงฯ เห็นใหญ่ๆ ไม่ใช่การดูทางจอทีวี ผมก็เลยเสียดายที่คนได้ดูในรูปแบบนั้นน้อยจัง” - จิระ มะลิกุล

“หนังไทยต้องการเรื่องที่ดี บทที่ดี คุณภาพที่ดี แต่สิ่งที่ไม่ตอบสนองกลับคือรายได้ที่มักสวนทาง คนดูต้องการหนังที่ดี แต่พอภาพหนังทำให้รู้สึกว่ามันยาก มีอะไรแปลกๆ คนดูส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกปฏิเสธ เลยกลับไปสู่คำพูดที่ว่า ‘หนังดีแต่ไม่ได้เงิน’ แทบทุกครั้งไป” - วิสูตร พูลวรลักษณ์

. ผู้กำกับยอดเยี่ยม
คงเดช จาตุรันต์รัศมี – กอด
ทรงยศ สุขมากอนันต์ – ปิดเทอมใหญ่...หัวใจว้าวุ่น
ศักดิ์ชาย ดีนาน และ อะนุสอน สิริสักดา – สะบายดี หลวงพะบาง
พิมพกา โตวิระ – The Truth Be Told
อาทิตย์ อัสสรัตน์ – Wonderful Town

 

 

ผู้ได้รับรางวัล: คงเดช จาตุรันต์รัศมี จาก กอด  
การดำเนินเรื่อง การเลือกสรรจังหวะของหนัง และกุมเรื่องราวที่ต้องการสื่อในแต่ละช่วงละตอน ล้วนเป็นหน้าที่ของผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ต้องหลอมรวมทุกสิ่งออกมาเป็นหนังที่ดีแต่ละเรื่อง ผู้มีรายชื่อถัดจากนี้ต่างก็มีผลงานที่น่าบันทึกไว้เป็นเกียรติทั้งสิ้น ได้แก่ กิตติกร เลียวศิริกุล (ดรีมทีม), พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (Happy Birthday) และ ฉัตร์ชัย ยอดเศรณี (The 8th Day แปดวันแปลกคน)

ทรงยศ สุขมากอนันต์ ดูแปลกแยกกว่าผู้เข้าชิงรายอื่น กระนั้นท่ามกลางความกุ๊กกิ๊กสนุกสนานของหนัง เขาก็กำกับช่วงเวลาดราม่าของหนังได้ดีตามถนัด, ศักดิ์ชาย ดีนาน และ อะนุสอน สิริสักดา รักษาบรรยากาศกับความใสซื่อ และประคองอารมณ์โรแมนติกของหนังได้ตลอดรอดฝั่ง, พิมพกา โตวิระ วางตนระหว่างกำกับสารคดีกรุ่นกลิ่นการเมืองเรื่องนี้อย่างได้เป็นกลาง ทั้งยังนำพาผู้ชมเข้าสู่ไปสัมผัสประเด็นของเรื่องโดยไม่ออกนอกเส้นทาง หากยังอดไม่ได้ที่จะเติมแนวคิดเฟมินิสต์เข้ามา, ส่วน อาทิตย์ อัสสรัตน์ ทำได้เพียงเข้าใกล้การเป็นผู้ชนะ แม้ตัวตนของเขาจะชัดเจนจัดจ้าน และการกำกับนักแสดงหน้าใหม่ก็ทำได้น่าสรรเสริญ รวมถึงการสร้างภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์และความเฉพาะตัว ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความโดดเด่นของผู้ชนะไป

เมื่อได้ดู กอด แล้ว เราพบว่าชั้นเชิงการกำกับภาพยนตร์ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ในหนังเรื่องนี้ เหนือกว่าผู้เข้าชิงคนอื่นไปก้าวหนึ่ง โดยเฉพาะการคุมเนื้อเรื่องหลากหลายอารมณ์ทั้งช่วงดราม่าและความเป็นตลกร้ายได้อย่างกลมกลืน เจือด้วยลูกเล่นหลากหลายอยู่ในที ทั้งยังนำเสนอประเด็นที่ต้องการสื่อได้ครบถ้วน เป็นงานที่ทั้งยากและต้องการมิติในเชิงลึกอย่างสูงภายใต้ความเป็นหนัง แต่คงเดชก็ยังนำพาคนดูไปได้ตลอดรอดฝั่ง โดยไม่หลุดออกจากเส้นเรื่องที่วางไว้แต่แรกเริ่ม เขาจึงคู่ควรกับตำแหน่งสุดยอดผู้กำกับของปีนี้

. นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
เกียรติ กิจเจริญ – ดรีมทีม
เกียรติกมล ล่าทา – กอด
อนันดา เอเวอริ่งแฮม – สะบายดี หลวงพะบาง
อนันดา เอเวอริ่งแฮม – Happy Birthday
ศุภสิทธิ์ แก่นเสน – Wonderful Town

ผู้ได้รับรางวัล: อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม จาก Happy Birthday      
ในฐานะนักแสดงนำ บางครั้งการพยุงหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญ และต้องนำพาคนดูไปให้ถึงแก่นสารของหนังเช่นเดียวกับนักแสดงนำหญิง ...พนม ยีรัมย์ (องค์บาก 2), เกียรติศักดิ์ อุดมนาค (Superแหบ แสบสะบัด), อุดม แต้พานิช (อีติ๋มตายแน่) และ ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล (The 8th Day แปดวันแปลกคน) คือกลุ่มนักแสดงชายที่เล่นได้น่าพอใจ แต่ยังไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มผู้เข้ารอบสุดท้าย

อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ใน สะบายดี หลวงพะบาง สร้างบุคลิกของตัวละครได้น่าสนใจ โดยเฉพาะปมปัญหาในใจ, ศุภสิทธิ์ แก่นเสน เข้ากันได้ดีกับบทสถาปนิกชาวกรุงผู้เรียบนิ่งและพูดน้อย, เกียรติกมล ล่าทา ไม่เพียงแต่ไปกันได้ดีกับบทหนุ่มชาวบ้านธรรมดา แต่ยังแสดงอารมณ์ได้หลากหลายและสมจริง โดยเฉพาะความระทมทุกข์ที่ค่อยๆเผยออกมาทีละน้อย โดยไม่ติดภาพของนักร้องมากแฟนคลับ, เกียรติ กิจเจริญ คุมหนังทั้งเรื่องได้อยู่มือ โดยเฉพาะการเข้าฉากกับเด็กอนุบาลจำนวนมาก และเลือกแสดงออกในบทตลกอย่างพอเหมาะ

กระนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในบรรดานักแสดงนำชายตลอดทั้งปี บทบาทของอนันดาใน Happy Birthday ไม่เพียงโดดเด่น ทว่ายังช่วงชิงความได้เปรียบในทุกด้านเหนือผู้เข้าชิงคนอื่นๆ ลำพังแค่บทที่เขาได้รับในเรื่องนี้ ซึ่งแทบต้องเล่นคนเดียวในครึ่งเรื่องหลัง แบกหนังไว้อย่างหนักอึ้ง ตัวบทก็เปิดโอกาสให้เขาแสดงอารมณ์หลากหลายและสุดขั้ว ความฟูมฟายช่วยเสริมบทบาทให้ดูสมจริงในครั้งนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ตัวละครเริ่มเสียสติและสูญเสียการควบคุมตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เรียกร้องความเห็นใจจากผู้ชมจนเกินพอดี (แม้จะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ) การปรากฏตัวของเขาในช่วงปลายปี เรียกได้ว่าเป็นการ‘ขโมยซีน’ นักแสดงคนอื่นอย่างไม่ปรานีปราศรัย แม้แต่ตัวเขาเองในหนังเรื่องก่อนๆก็ตาม

. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
ศุภักษร ไชยมงคล – กอด
คำลี่ พิลาวง – สะบายดี หลวงพะบาง
ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ – Happy Birthday
อัญชลี สายสุนทร – Wonderful Town
วาสนา ชลากร – The 8th Day แปดวันแปลกคน

 

 

ผู้ได้รับรางวัล: วาสนา ชลากร จาก The 8th Day แปดวันแปลกคน
ผู้รับหน้าที่พาคนดูให้พบกับแก่นสารหรือสิ่งที่หนังต้องการสื่อคนสำคัญคนหนึ่งก็คือ นักแสดงนำหญิง แม้ ญาณิน วิสมิตะนันทน์ (ช็อคโกแลต), ศกลรัตน์ วรอุไร (ดรีมทีม), รัชวิน วงศ์วิริยะ (รัก|สาม|เศร้า) และ ใหม่ เจริญปุระ (เมมโมรี่ รักหลอน) จะไม่เข้าถึงรอบสุดท้าย แต่นับว่าการแสดงของพวกเธอมีอะไรน่าสนใจน่าค้นหา

คำลี่ พิลาวง รับบทไกด์สาวที่เปี่ยมชีวิตชีวา และรักษาความจริงใจใสซื่อของตัวละครได้อย่างน่าชื่นชม, ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ มีเวลาเพียง 35-40 นาทีเพื่อสร้างคาแรคเตอร์ให้เป็นที่จดจำและมีชีวิต ซึ่งเธอทำได้สำเร็จอย่างงดงาม แต่การที่เธอต้องนอนเฉยๆเกือบตลอดครึ่งเรื่องหลัง ทำให้ถูกลดทอนโอกาสในการแสดงที่มากขึ้นเหมือนผู้เข้าชิงรายอื่นๆ, อัญชลี สายสุนทร ทำได้ดีในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ผู้รับบทตัวละครที่พูดน้อย และเน้นแสดงออกทางอากัปกิริยาและสายตาที่สื่อนัยความหมาย การแสดงของเธอเพิ่มเสน่ห์ให้ตัวละครอย่างมากมาย, ศุภักษร ไชยมงคล ให้การแสดงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะจังหวะการแสดงที่เธอเลือก ทำให้เป็นตัวละครที่พัฒนาการสูงกว่าผู้เข้าชิงรายอื่นอย่างเด่นชัด ทั้งยังเนียนไปกับบทสาวชาวบ้านได้ไม่ขัดเขิน เธอทำได้ถึงทั้งแง่ความน่ารักในบุคลิกปกติ และความเศร้าแบบเปลือยหัวใจเมื่อถึงฉากเค้นอารมณ์ดราม่า อีกทั้งยังใช้ ‘สายตา’ ได้หลากหลาย

ศุภักษรหรืออัญชลีอาจเดินทางถึงตำแหน่งนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมได้ไม่ยาก หากไม่มี วาสนา ชลากร มาเข้าชิงด้วย บท ป้าชุบ ที่สภาพจิตใจไม่ค่อยปกตินัก เปิดโอกาสให้เธอแสดงแบบละครเวที คือหนักหน่วงรุนแรง และเก็บตกสีหน้าท่าทางอย่างละเอียดไปจนถึงเส้นเลือดที่ปูดโปนบนใบหน้า ค่อยๆพัฒนา ‘ความบ้า’ และความทุกข์อันเกิดจากความกดดันในตัวเองได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนชักจูงให้คนดูเข้าถึงชะตากรรมอันโหดร้ายของตัวละครได้น่าเชื่อถือและสะเทือนอารมณ์

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “ขอบคุณทีมงานและผู้กำกับที่มอบบทดีๆอย่างนี้ให้เล่น เบื้องหน้าเบื้องหลังของการเล่นบทนี้ได้ดี คงเป็นเพราะไปโรงพยาบาลศรีธัญญาบ่อย ได้เห็นปฏิกิริยาของคนไข้ แล้วพอได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ก็รู้สึกเชื่อว่าเราเล่นได้ แล้วก็ต้องยกความดีความชอบให้ผู้กำกับที่เคี่ยวเราจนเล่นได้ดีอย่างที่เห็น” - วาสนา ชลากร

. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
อัมรินทร์ นิติพน – ดรีมทีม
สรพงษ์ ชาตรี – ปืนใหญ่จอมสลัด
ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย – รักสยามเท่าฟ้า
ณัฏฐพงศ์ ชาติพงศ์ – สี่แพร่ง
สรพงษ์ ชาตรี – องค์บาก 2

 

 

ผู้ได้รับรางวัล: สรพงษ์ ชาตรี จาก องค์บาก 2   
ไม่เพียงช่วยเกื้อหนุนตัวละครหลักเท่านั้น บางครั้งตัวละครสมทบอาจมีหน้าที่เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากกลุ่มตัวละครหลัก หรือแม้แต่ตัวหนังเอง กลุ่มนักแสดงสมทบชายที่เกือบเข้ารอบทั้ง กฤษฎา ชนะภัยเจริญสุข (ดรีมทีม), รัชชุ สุระจรัส (ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น), ธนกฤต พรามเย็น (กอด), ธีระวัฒน์ มุลวิไล (ฝันหวานอายจูบ), สันติสุข พรหมศิริ (บุญชู ไอ-เลิฟ-สระอู) และ เกียรติ กิจเจริญ(บุญชู ไอ-เลิฟ-สระอู) ต่างก็แสดงฝีมือไว้ได้น่าชื่นชม

จาก 5 คนสุดท้ายของสาขานี้ ณัฏฐพงศ์ ชาติพงศ์ อาจเด่นที่สุดในทีมนักแสดงตอน “คนกลาง” แต่ก็ยังอาศัยความดีความชอบจากเพื่อนนักแสดงคนอื่นอยู่มาก, สรพงษ์ ชาตรี ใน ปืนใหญ่จอมสลัด เล่นเป็นตัวละครที่มี 2 บุคลิก นอกเหนือจากการออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อสร้างความแตกต่าง การแสดงของเขาก็ช่วยเหลือตรงจุดนี้ได้อย่างเข้าตา, ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย อาจเป็นเพียงคนเดียวในเรื่องที่ดูมีเลือดเนื้อเหมือนมนุษย์จริงๆ มีปมในใจ ซ้ำต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย ความเด็ดขาดและภาวะผู้นำที่เขาสร้างขึ้นช่วยส่งเสริมตัวละครได้สูง, อัมรินทร์ นิติพน อินกับความสัมพันธ์แบบพ่อลูกราวกับเขาเป็นพ่อของนักแสดงเด็กคนนั้นจริงๆ ทั้งยังประคับประคองการแสดงไม่ให้ล้นเกิน แม้จะดูเหมือนเล่นเป็นตัวเอง แต่ก็ทำให้ตัวละครของเขามีเสน่ห์

แม้จะเพียบพูนด้วยเมคอัพหนาเตอะและเครื่องแต่งกายอันรุ่มร่ามรุงรัง แต่ สรพงษ์ ชาตรี จาก องค์บาก 2 ก็ไม่หวั่น หลายคนอาจค่อนแคะว่าเขาไม่ได้แสดงอะไรเป็นพิเศษต่างจากคนอื่น กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นเสมือนโอเอซิสของหนังที่เต็มไปด้วยฉากแอ็คชั่นลืมตายเรื่องนี้ หาไม่แล้วเราก็จะพบเห็นเพียงท่วงท่ากระบวนยุทธอันซับซ้อนโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึก ไม่เพียงแค่ส่งอารมณ์ดราม่าให้กับพระเอก ทว่าเขาแทบจะแบกรับภาระขับเคลื่อนอารมณ์ดราม่าในหนังทั้งเรื่องด้วยซ้ำ การปรากฏตัวของเขาอย่างมีเลือดเนื้อ คือเหตุผลสำคัญที่คณะกรรมการตัดสินให้เขาเป็นผู้ชนะในสาขานี้

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “บทใน องค์บาก 2 เป็นผู้ร้าย ผมไม่เคยเล่นบทแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพระเอกน่าสงสาร ต้อยต่ำ เป็นกรรมกร แต่ผมเห็นว่าเป็นบทที่หลากหลาย หลอกล่อคน ถูกบังคับให้ร้าย เจ้าเมืองบังคับให้ฆ่า แถมตอนหลังยังต้องมาฆ่าคนที่เรารัก มันก็อึดอัด... เราต้องทำให้คนดูเชื่อผ่านแววตา ภายใต้ชุดอะไรต่างๆที่ห้อมล้อมเราอยู่ ตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เราต้องแสดงออกให้คนดูรับรู้ถึงความรู้สึกตรงนี้ ทำให้เขาเชื่อ...” - สรพงษ์ ชาตรี


. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
อมรา ศิริพงษ์ – ช็อคโกแลต
โฟกัส จีระกุล – ปิดเทอมใหญ่... หัวใจว้าวุ่น
เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ – สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์
เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ – สี่แพร่ง
มณีรัตน์ คำอ้วน – สี่แพร่ง       

 

 

ผู้ได้รับรางวัล: โฟกัส จีระกุล จาก ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น
นักแสดงสมทบคือผู้ช่วยเกื้อหนุนนักแสดงอื่นๆ (โดยเฉพาะนักแสดงนำ) เพื่อนำมาซึ่งสารหรือความหมายของตัวหนัง ปีนี้มีนักแสดงสมทบหญิงฝีมือดีเข้าตาจำนวนมาก น่าเสียดายที่ กัญญา รัตนเพชร์ (ฝันหวานอายจูบ), เจนจิรา จำเนียรศรี (ฝันหวานอายจูบ), ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (หนึ่งใจ..เดียวกัน), ปวันรัตน์ นาคสุริยะ (อีติ๋มตายแน่) และ ธนาภา ชีพนุรัตน์ (รักสยามเท่าฟ้า) ไม่อาจฝ่าด่านเข้ามาเป็นหนึ่งในห้าผู้เข้าชิง

การแสดงแบบ‘วันแมนโชว์’ ของ มณีรัตน์ คำอ้วน ดึงความกลัวขั้นสูงสุดออกมาจากภายในได้สมจริง, อมรา ศิริพงษ์ ต้องรับบทเป็นทั้งแม่ และหญิงผู้เหนื่อยล้าอ่อนแรง ที่พยายามแสดงออกเพื่อปกปิดความจริงข้อนี้ เธอทำได้ดีทั้งที่บุคลิกและช่วงวัยของตัวละครขัดกับตัวจริงอย่างสุดขั้ว, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ สรรค์สร้างโอกาสให้ตัวเองได้น่าสนใจด้วยพรสวรรค์อันจัดเจน ใช้การด้นสดอันชาญฉลาดผลักให้บทของตัวเองกลายเป็นสีสันของหนังตลกเรื่องนี้ ท่ามกลางตัวละครอีกนับสิบที่พร้อมขโมยซีนทุกเมื่อ, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ได้รับบทที่เปิดโอกาสให้แสดงออกหลากหลายกว่าแค่‘กลัวผี’ ซึ่งเอื้อต่อการแสดงอารมณ์ที่ซับซ้อนและสับสนได้อย่างน่าประทับใจและติดตา เธออาจเป็นผู้ชนะของสาขานี้ได้ ถ้าหนังของผู้ชนะไปออกฉายในปีอื่นแทน

จุดเด่นและข้อได้เปรียบของ โฟกัส จีระกุล นั้นนอกจากการได้รับบทที่ปริ่มๆจะเป็นบทนำ (เหมือน มณีรัตน์ และ เฌอมาลย์) เธอยังสามารถเข้าถึงหัวจิตหัวใจของตัวละครเด็กสาวที่ยังไม่เป็นวัยรุ่นเต็มตัว ไปสู่การสร้างคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่รักของผู้ชม เมื่อยิ่งพิจารณาจากบทภาพยนตร์ในส่วนของเธอซึ่งแท้จริงแล้วขาดทั้งมิติความลึกของตัวละครและความสมเหตุสมผล การแสดงของโฟกัสในทุกรายละเอียด กลับสามารถกลบข้อบกพร่องต่างๆเหล่านั้นได้อย่างหมดจดงดงาม โดยเพิ่มพูนความจริงจังให้กับบริบทรายล้อมกับตัวละครได้ในปริมาณมหาศาล และผลักดันทุกอย่างเข้าหาจุดสูงสุดได้อย่างไม่ขัดเขิน โฟกัสจึงควรได้รับการยกย่องอย่างสูงสุดไว้ ณ ที่นี้

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “เป็นรางวัลแรกที่ได้ ดีใจมากๆเลยค่ะ ต้องขอขอบคุณพี่ๆทุกคนใน GTH ขอบคุณพี่ย้งมากๆด้วย... ตอนถ่ายหนังเรื่องนี้รู้สึกเหมือนเล่นอยู่คนเดียว ยังแอบๆพูดว่า ‘ทำไมไม่มีเพื่อนเล่นด้วยเลย’ งอนมาก (หัวเราะ) ตอนทำงานจริงก็รู้สึกกดดันนิดนึง โดยเฉพาะฉากกรี๊ดน่ะยากสุด คือเกรงใจคนอยู่รอบๆที่ต้องมาฟังเสียงเรา อายมากเลย อยู่กลางสยามด้วย (หัวเราะ)” - โฟกัส จีระกุล

   

. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
กอด – คงเดช จาตุรันต์รัศมี
ดรีมทีม – กิตติกร เลียวศิริกุล และ สุทธิพร ทับทิม
สะบายดี หลวงพะบาง – ศักดิ์ชาย ดีนาน
Wonderful Town - อาทิตย์ อัสสรัตน์
The 8th Day แปดวันแปลกคน – วริศรา พุทธภาวนา

ผู้ได้รับรางวัล: คงเดช จาตุรันต์รัศมี จาก กอด  

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังดีได้ ก็คือบทภาพยนตร์อันเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของหนังเรื่องนั้นๆ ที่เป็นเหตุเป็นผล สมจริง และเป็นธรรมชาติแนบเนียนไปกับลักษณะของเรื่อง บทของ สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์, ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น, คนไฟลุก, เมมโมรี่ รักหลอน, รวมถึงสารคดี มูอัลลัฟ, และ ความจริงพูดได้(คดีสุภิญญา) ล้วนมีแง่มุมที่น่าสนใจและน่าค้นหา ทว่าถูกคัดชื่อออกไปก่อน

สะบายดี หลวงพะบาง เล่าเรื่องตามสูตร ‘Boy meets girl’ แบบเดิมๆได้จับใจ ด้วยบรรยากาศและการเพิ่มมิติให้ตัวละคร, ดรีมทีม อาจดูเผินๆเหมือนหนังตลกธรรมดาที่มีเด็กอนุบาลเป็นตัวชูโรง แต่กลับสามารถเล่าเรื่องเล็กๆ เพื่อสะท้อนสังคมในภาพใหญ่ได้อย่างน่าสนใจ ผ่านการแข่งขันกีฬาอนุบาลแห่งชาติ, The 8th Day แปดวันแปลกคน มุ่งเน้นที่ประเด็นจิตวิทยา เจาะความคิดจิตใจตัวละครได้ถึงแก่น และนำมาตีแผ่เสียดสีสภาพสังคมอย่างแสบสันต์, Wonderful Town เพิ่มพูนความลึกซึ้งให้แก่ตัวละครที่พูดน้อยแทบนับคำได้ อีกทั้งสามารถผูกโยงพวกเขาเข้ากับเรื่องราวและพื้นหลังของสถานที่ในเรื่องภายใต้จังหวะเดินเรื่องที่เนิบช้า จนก่อให้เกิดบรรยากาศของหนังที่ไม่เหมือนหนังเรื่องใด แม้จะมีจริตในแบบของ‘หนังอาร์ต’ ปะปนอยู่บ้างก็หาใช่ปัญหาไม่

ความโดดเด่นของ กอด ที่เหนือกว่าผู้เข้าชิงที่เหลือทั้ง 4 คือมันเป็นได้ทั้งหนังรักหม่นเศร้าที่มีตัวละครประหลาดและเป็นหนังวิพากษ์สังคมการเมืองอย่างแนบเนียน หากดูเพียงชั้นเดียวมันอาจเป็นแค่หนังรันทดหม่นเศร้า ทว่าบทภาพยนตร์ยังได้แฝงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อจิกกัดและวิพากษ์สังคมการเมืองขนานคู่ไปกับพล็อตหลัก จนกระทั่งสามารถใช้หนังทั้งเรื่องเป็นภาพแทนของสังคมได้อย่างคมคายน่าชื่นชมในอีกด้านหนึ่ง โดยมีอารมณ์หลากหลายผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวอยู่ในหนังเรื่องนี้

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “บทหนังเรื่องนี้เขียนขึ้นจากคำถามส่วนตัวมากๆ แล้วการได้รางวัลนี้ทำให้ผมรู้สึกดีว่าความรู้สึกส่วนตัวนี้ไม่ได้เป็นความรู้สึกเฉพาะของเราคนเดียว บทหนังเรื่องนี้มีหลายมิติ ซึ่งคงเป็นนิสัยส่วนตัวมาตั้งแต่ สยิว หรือ เฉิ่ม คือนอกจากเราจะหมกมุ่นกับความรู้สึกตัวเอง ก็ต้องมองไปที่สังคมด้วย... ตัวละครของผมมักเป็นภาพแทนอะไรบางอย่างในสังคม หนังเรื่องนี้ค่อนข้างชัดมาก ด่านแต่ละด่านที่ไปเจอ ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยเวลานี้อยู่เหมือนกัน เวลาเขียนบทหรือกำกับก็ไม่ได้ต้องการให้คนดูมองเป็นหนังสังคมเพียงอย่างเดียว อาจดูเป็นหนัง Road Movie เรื่องนึงก็ได้ แต่เวลาที่อ่านบทวิจารณ์แล้วเห็นใครเขียนถึงมิตินี้ จะดีใจมากทุกครั้ง แสดงว่าที่ทำไปไม่สูญเปล่า...” - คงเดช จาตุรันต์รัศมี

. กำกับภาพยอดเยี่ยม
กอด – นฤพล โชคคณาพิทักษ์
สี่แพร่ง – นิรมล รอสส์ และ สมบุญ โพธิ์พิทักษ์กุล
The Truth Be Told - นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ, อุรุพงษ์ รักษาสัตย์, อรพร ลักษณากร และ พัฒนะ จิรวงศ์
Wonderful Town - ม.ร.ว.อัมพรพล ยุคล
The 8th Day แปดวันแปลกคน – สมชัย ลีนานุรักษ์

 

ผู้ได้รับรางวัล: ม.ร.ว.อัมพรพล ยุคล จาก Wonderful Town       
ไม่ใช่แค่ความสวยงามตรึงตา แต่การกำกับภาพที่ดีนั้นต้องสามารถเล่าเรื่องและรับใช้แก่นสารของหนังเรื่องนั้นๆ ได้อย่างที่มันควรจะเป็น งานภาพของ ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น, ปืนใหญ่จอมสลัด, องค์บาก 2, Happy Birthday, สะบายดี หลวงพะบาง และ รัก|สาม|เศร้า ถือว่าเป็นผลงานที่ควรบันทึกไว้ว่าน่าจดจำ แต่ต้องตกรอบไปก่อน

การดีไซน์ภาพของ สี่แพร่ง ทำได้อย่างแปลกตาและน่าสนใจตามสไตล์หนังสยองขวัญ, The 8th Day แปดวันแปลกคน ถูกตั้งคำถามในแง่ของความสวยงามที่‘ประดิษฐ์’ หนักมือไปนิด แต่ได้รับเสียงชื่นชมในแง่การทำการบ้านเพื่อเฟ้นหาช็อตกับลักษณะภาพเพื่อการเล่าเรื่อง และภาพของหนังช่วยเหลือด้านภาพรวมของหนังอย่างได้ผล, The Truth Be Told โดดเด่นในแง่การกำกับภาพตามแนวทางสารคดี ที่นำมารับใช้เรื่องราวดราม่าที่ปรากฏในเรื่องได้ หลายช็อตหนังเลือกภาพมาขับเน้นเรื่องราวและประเด็นที่ต้องการสื่อได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในฉากจบของเรื่องที่เห็นได้ชัดเจน

กอด กับ Wonderful Town ได้คะแนนเท่ากันในการลงเสียงครั้งแรก แม้เรื่องแรกจะดูเหมือนภาพนิ่งในบางฉาก แต่กลับช่วยส่งเสริมอารมณ์ของสถานการณ์และตัวละครได้ดี ไม่ใช่เพียงการถ่ายทิวทัศน์เพื่อความสวยงาม ในขณะที่เรื่องหลังนั้นใช้ทั้งการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ และการทิ้ง space ภาพ อย่างละเอียดและคุ้มค่า ไม่เพียงเพื่อขับเน้นบรรยากาศโดยรวม แต่ยังมีเอกลักษณ์อย่างโดดเด่น และลื่นไหลไปกับหนังจนเป็นเนื้อเดียวกันโดยเฉพาะความลึกลับคลุมเครือ

เมื่อหยิบยกสองเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง Wonderful Town เป็นผู้ชนะด้วยคะแนนฉิวเฉียด เพราะความได้เปรียบจากการ‘เล่นท่ายาก’ ของเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อมุ่งหวังโชว์ทักษะ แต่ใช้เพื่อหนุนนำตัวหนังทั้งเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “ขอบคุณผู้กำกับ ทีมงาน และผู้สนับสนุน ที่ทำให้เกิด Wonderful Town ความยากของการกำกับภาพหนังเรื่องนี้อยู่ที่อุปกรณ์ซึ่งมีไม่มาก หนังใช้ทุนน้อย แต่ด้วยความที่เราได้คุยกับผู้กำกับจนอารมณ์การทำงานไปทางเดียวกัน แล้วการได้ลงสถานที่จริงก็ช่วยผมได้เยอะ อารมณ์ภาพต่างๆ หลายครั้งก็เกิดขึ้นหน้าโลเคชั่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในบรรยากาศสถานที่นั้นมากที่สุด” - ม.ร.ว.อัมพรพล ยุคล

. ลำดับภาพยอดเยี่ยม
กอด – ม.ร.ว.ปัทมนัดดา ยุคล
ปิดเทอมใหญ่...หัวใจว้าวุ่น – ศศิกานต์ สุวรรณสุทธิ และ นิธิวัฒน์ ธราธร
สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์ – สุนิตย์ อัศวินิกุล
องค์บาก 2 – ศราวุธ นะคะจัด และ นนทกร ทวีสุข
Wonderful Town - ลี ชาตะเมธีกุล

ผู้ได้รับรางวัล: สุนิตย์ อัศวินิกุล จาก สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์
การลำดับภาพที่ดีจะต้องร้อยเรียงช็อตในหนังอย่างไหลลื่น เพื่อช่วยในการเล่าเรื่อง สร้างอารมณ์ และสื่อความหมายอย่างได้ผล ในปีที่ผ่านมา ดรีมทีม, The Truth Be Told, สี่แพร่ง, The 8th Day แปดวันแปลกคน, ช็อคโกแลต, มูอัลลัฟ และ Happy Birthday ถือว่าทำได้น่าจับตา แต่น่าเสียดายที่เราไม่อาจให้เข้ารอบสุดท้ายได้ทุกเรื่อง

เช่นเดียวกับปีที่แล้ว สาขานี้คะแนนคู่คี่และเบียดกันตลอด ...กอด ลำดับภาพได้รับกับช่วงเวลาของเรื่อง ทั้งจังหวะครื้นเครงและช่วงบีบอารมณ์ตอนท้าย, ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น อาจถูกค่อนแคะเรื่องความไม่คืบหน้าของเรื่องราวในบางจังหวะ แต่น่าชื่นชมในการเฉลี่ยบทบาทให้กับเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้องกันได้อย่างลื่นไหล, องค์บาก 2 โดดเด่นขึ้นมาด้วยการลำดับภาพ ฉากแอ็คชั่นปริมาณมหาศาลสามารถดำเนินไปพร้อมกับความคืบหน้าของเรื่องราวได้อย่างไม่เยิ่นเย้อ พร้อมทั้งให้ความสนุกสนาน แต่ว่ายังน่าสนใจเทียบเท่าอีกสองเรื่องที่เหลือไม่ได้

Wonderful Town ใช้การลำดับภาพที่เข้ากับสไตล์ของเรื่อง แต่ไม่ทำให้น่าเบื่อยืดยาด ช่วยเสริมสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละคร อำพรางความลึกลับบางประการไว้อย่างแนบเนียน นอกจากนี้ยังมีช่วงพลิกผันด้านอารมณ์หลายครั้ง หากการลำดับภาพไม่แม่นยำพอ ย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือของหนังลดระดับลงอย่างง่ายดาย, ในขณะที่การลำดับภาพของ สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์ ช่วยหนังในเรื่องจังหวะของมุขตลกตลอดเรื่อง เกลี่ยกระจายบทบาทของตัวละครนับสิบได้ลงตัว อีกทั้งยังแนะนำตัวละครได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันน้อยนิด ด้วยพล็อตเดิมๆของหนังและความเป็นหนังตลกอาจทำให้มันถูกมองข้าม ทั้งที่มีหลายฉากซึ่งต้องทำการบ้านอย่างหนัก โดยเฉพาะการดำเนินเรื่องในสถานที่จำกัด และเล่นกับอารมณ์หลากหลายของตัวละครเมื่อต้องพบสถานการณ์วุ่นวายไปควบคู่กัน

หลังการพิจารณาซ้ำหลายรอบ... สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์ จึงเป็นผู้ชนะของสาขานี้ในที่สุด

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “ขอบคุณทีมงาน ขอบคุณคณะกรรมการ พ่อกับแม่ ที่ทำให้ผมมีวันนี้... การตัดหนังตลกมันอยู่ที่มุขของหนัง การปิดการเปิด คล้ายๆกับหนังผี หนังสยองขวัญ เวลาตัดเสร็จก็มานั่งคอมเม้นท์กับผู้กำกับ-ทีมงาน เราต้องทำให้ได้อารมณ์ร่วมมากที่สุด หนังตลกเรื่องของจังหวะภาพเป็นสิ่งจำเป็นครับ...” - สุนิตย์ อัศวินิกุล

๑๐. กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
กอด – พรอนันต์ องศ์เจริญ, นิมิต สมบรูณ์ศิริ        
ปืนใหญ่จอมสลัด – เอก เอี่ยมชื่น, สุประสิทธิ์ ภูตะคาม, นิคม เจนพนัส และ บรรพต งามขำ
สี่แพร่ง – อรรคเดช แก้วโคตร, วุฒินันท์ สุจริตพงศ์, โสภณ พูลสวัสดิ์, ปรัชวิญณ์ เพ็ชรกรด และ คนึง ดำแก้ว
Wonderful Town - การัณยภาส ขำสิน
The 8th Day แปดวันแปลกคน – ศุภชัย สังข์แสงสาย

ผู้ได้รับรางวัล: เอก เอี่ยมชื่น, สุประสิทธิ์ ภูตะคาม, นิคม เจนพนัส และ บรรพต งามขำ จาก ปืนใหญ่จอมสลัด
งานกำกับศิลป์กับออกแบบงานสร้างต้องทำงานเคียงคู่และเข้าขากัน เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆในหนัง อันเป็นส่วนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ส่งเสริมอารมณ์ และสื่อความหมาย ทั้งการเลือกสถานที่, ฉาก และควบคุมรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆบนจอภาพยนตร์ ...รักสยามเท่าฟ้า, องค์บาก 2, ช็อคโกแลต และ หนึ่งใจ..เดียวกัน นำเสนอผลงานได้น่าสนใจ แต่ยังไม่โดดเด่นเท่ากลุ่มผู้เข้าชิง

ด้วยความเป็นหนังสั้น 4 เรื่องของ สี่แพร่ง ทำให้ได้โชว์งานกำกับศิลป์อันหลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องบินในตอน เที่ยวบิน 224 ส่วน Wonderful Town มีงานกำกับศิลป์ที่ส่งเสริมบรรยากาศของเรื่อง แต่ภาพรวมหนักไปทางการดีไซน์ภาพมากกว่า และไม่ใคร่จะได้สร้างอะไรใหม่เพื่อรับใช้หนังมากนัก, กอด ก็เช่นกัน งานกำกับศิลป์ในเรื่องไม่เน้นความใหญ่โต แต่อาศัยการเก็บรายละเอียดตามรายทาง โดยเฉพาะการสื่อความหมายบางประการผ่านอุปกรณ์ประกอบฉากจำนวนมาก, The 8th Day แปดวันแปลกคน ใช้การกำกับศิลป์แบบเก็บทุกรายละเอียดให้ลงตัว โดยเฉพาะตัวบ้าน ในโลเคชั่นที่รับกับเนื้อเรื่องและลักษณะการถ่ายทำ แต่ทุกเรื่องที่ว่ามานั้นพ่ายแพ้ให้กับความทะเยอทะยานของผู้ชนะ

ผู้ชนะอย่าง ปืนใหญ่จอมสลัด อาจถูกตั้งคำถามในแง่การอ้างอิงอันเข้มข้น และความผิดพลาดในหลายจุดเนื่องจากสเกลงานสร้างใหญ่โตโอฬาร แต่งานกำกับศิลป์ในเรื่องนี้ต้องอาศัยความละเอียดประณีตและความทะเยอทะยานขั้นสูง ทั้งการออกแบบให้เข้ากับเรื่องราวทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองและเจ้านายในวัง การคุมรายละเอียดทั้งเรื่องของโทนสีและรอยสักของตัวละครหลากหลายกลุ่ม อีกทั้งความเป็นหนังย้อนยุคมหากาพย์แฟนตาซี ทำให้ผู้ออกแบบต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เพื่อให้งานศิลป์ที่ปรากฏบนจอดูสมจริงและตื่นตาอย่างที่เห็น

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “ต้องขอบคุณทีมงานมากๆเลย โดยเฉพาะงานด้านการออกแบบงานสร้าง ซึ่งหนังสเกลใหญ่ขนาดนี้ผมคงทำคนเดียวไม่ได้แน่ๆ เราต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ใช้คนเป็นหลักร้อยเพื่อให้งานสำเร็จออกมาได้ รางวัลนี้จึงถือเป็นรางวัลของพวกเราทุกคน” - เอก เอี่ยมชื่น

๑๑. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
กอด – หัวลำโพงริดดิม และ วิชญ วัฒนศัพท์
ปืนใหญ่จอมสลัด – ชาติชาย พงศ์ประภาพันธ์
สะบายดี หลวงพะบาง – สยามพัฒนาฟิล์ม
องค์บาก 2 – บานาน่า เรคคอร์ด
Wonderful Town - Koichi Shimizu และ Zai Kuning

ผู้ได้รับรางวัล: Koichi Shimizu และ Zai Kuning จาก Wonderful Town
เครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่สามารถผลักดันอารมณ์ และส่งเสริมความหมายที่ผู้สร้างต้องการสื่อในภาพยนตร์ไปให้ถึงจุดสูงสุด ก็คือดนตรีประกอบภาพยนตร์ งานดนตรีของ รักสยามเท่าฟ้า, นาค, สี่แพร่ง, ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น, Happy Birthday และ The 8th Day แปดวันแปลกคน ถือว่าทำได้ดีและน่าสนใจ ทว่าต้องถูกคัดออกไปก่อนในรอบแรก

ในบรรดาผู้เข้าชิงทั้งหมด กอด กับ สะบายดี หลวงพะบาง ใช้ดนตรีในแนวทางของหนังรักทั้งคู่ โดยการคลอไปเรื่อยๆและมีอารมณ์อ่อนหวาน เรื่องหลังมีลักษณะพลิ้วไหวในแบบสารคดีท่องเที่ยว ก่อนจะขับเน้นอารมณ์คนดูในช่วงดราม่าของเรื่องราว ในขณะที่เรื่องแรกก็สอดแทรกความเป็นไทยไว้อย่างเหมาะเจาะ โดยเฉพาะดนตรีท้องถิ่นของภาคเหนือตามท้องเรื่อง ซึ่งเข้ากับตัวหนังได้ดี...แต่ยังไม่โดดเด่นเพียงพอ, องค์บาก 2 ใช้ดนตรีที่ขับเน้นความอลังการของเรื่องราวและฉากต่อสู้, ปืนใหญ่จอมสลัด มีงานดนตรีที่ละเอียดลออ ใช้ภาษาพื้นเมืองเพื่อเสริมบรรยากาศ และออกแบบเพลงธีมของตัวละครอย่างถี่ถ้วน เป็นเนื้องานลักษณะคล้ายกับหนังมหากาพย์ชั้นดีของฮอลลีวู้ด แต่ต้องพ่ายให้กับผู้ชนะในการลงคะแนนเสียงรอบที่สอง

Wonderful Town ใช้ดนตรีประกอบที่ ‘ทำน้อยได้มาก’ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เพียงแค่กีตาร์อะคูสติกกับเครื่องดนตรีอีกน้อยชิ้น ผสานเข้ากับท่วงท่าเนิบช้าและนิ่งงันของหนัง ซึ่งช่วยขับเน้นบรรยากาศได้ถึงจุดสูงสุด ทั้งต่อเหตุการณ์ที่ผ่านไปและเพิ่มน้ำหนักบรรยากาศของจังหวัดกระบี่ จนกลายเป็นตัวละครสำคัญนอกจากคู่พระนางของเรื่อง งานดนตรีลักษณะนี้เรียกร้องความแม่นยำในทุกจังหวะตัวโน้ต และผู้ประพันธ์ประสบความสำเร็จอย่างสง่าผ่าเผย

ความรู้สึกผู้ได้รับรางวัล : “ขอบคุณผู้กำกับที่เลือกผมมาร่วมงานในครั้งนี้ เขาให้อิสระผมในการทำดนตรีประกอบ แต่เราก็มีคุยกันเยอะนะว่าจะมีอารมณ์ยังไง เราทำดนตรีประกอบหนังเรื่องนี้แบบสดๆ ไม่ได้ซ้อมเลยครับ ดูหนังแล้วก็เล่นกีต้าร์กันไป ให้เข้ากับอารมณ์หนัง ก็มีหลายเทค แล้วก็เลือกเทคที่ดีที่สุด” - Koichi Shimizu

สรุปภาพยนตร์ กับการเข้าชิงรางวัล
กอด                                          9 รางวัล
Wonderful Town                       9 รางวัล
สะบายดี หลวงพะบาง                6 รางวัล
สี่แพร่ง                                      6 รางวัล
The 8th Day แปดวันแปลกคน    4 รางวัล
The Truth Be Told                    3 รางวัล
ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น              3 รางวัล
ดรีมทีม                                      3 รางวัล
ปืนใหญ่จอมสลัด                        3 รางวัล
องค์บาก 2                                 3 รางวัล
แฮปปี้เบิร์ธเดย์                            2 รางวัล
สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์                            2 รางวัล
รักสยามเท่าฟ้า                           1 รางวัล
ช็อคโกแลต                                1 รางวัล

 

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.