สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

STARPICS THAI FILMS AWARDS # 5 (๒๕๕๐)

  25 มกราคม 2551
  เปรียบเทียบกับรางวัลอื่น ๆ
   
 
ภาพผู้รับรางวัลทั้งหมดจาก รักแห่งสยาม


ในที่สุด Starpics Thai Films Awards ก็ก้าวมาถึง ‘ครึ่งทศวรรษ’ จนได้ นั่นหมายความว่าเจตนารมณ์ดั้งเดิม คือเพื่อบันทึกผลงานอันน่าจดจำเอาไว้เป็นเกียรติคุณ และให้กำลังใจแก่คนทำหนังไทย ได้รับการสานต่อมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะกลายเป็นประเพณีของนิตยสาร Starpics เรื่อยไป
ครั้งนี้ เรายังยึดมั่นในเกณฑ์การพิจารณาดั้งเดิม คือการคัดเลือกหนังไทยขนาดยาวที่เริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมืองไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 31 ธันวาคม 2550 โดยมีหนังเข้าข่ายการพิจารณาทั้งสิ้นกว่า 40 เรื่อง ทั้งนี้ ทีมงานผู้สร้าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้ง 2 ภาค ได้แจ้งขอถอนตัวจากการประกวดรางวัลทุกสถาบัน       
คณะกรรมการส่วนใหญ่คือกองบรรณาธิการของนิตยสาร Starpics ร่วมด้วยตัวแทนจากกลุ่มนักวิจารณ์อิสระ คอลัมนิสต์ และนักดูหนัง ซึ่งมีความหลากหลายในภาพรวม ทั้งเพศ วัย ระดับการศึกษา รสนิยมในการดูหนัง และมุมมองต่อสื่อภาพยนตร์ ทั้งหมดร่วมกันพิจารณาหาผู้เข้ารอบสุดท้าย อภิปรายถกเถียง ไปจนถึงลงคะแนนอย่างเปิดเผย (เพื่อเช็คเหตุผลในการให้คะแนนว่า ‘ไม่ได้มั่ว’) การพิจารณาดำเนินไปโดยไม่สนใจกระแสใดๆทั้งสิ้น เพื่อให้ได้ผลการตัดสินที่ให้ความยุติธรรมมากที่สุด เท่าที่ปุถุชนรักหนังกลุ่มหนึ่งพึงจะมีได้
...และต่อไปนี้คือรายนามผู้เข้าชิง, ผู้ได้รับรางวัล และภาพรวมของการพิจารณาตัดสิน...

๑๒. ภาพยนตร์ยอดนิยมผู้ได้รับรางวัล: บาแรมยู และ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนลจาก รักแห่งสยาม

 

รางวัลภาพยนตร์ยอดนิยม รักแห่งสยาม


‘หนังยอดนิยม’ ในที่นี้คือหนังที่วัดจาก‘ความชอบ’ ที่ผู้อ่าน Starpics โหวตเข้ามาในแบบสำรวจความเห็นประจำปี ซึ่งถือว่าแตกต่างจาก ‘หนังทำเงิน’ จากตัวเลขของโรงหนัง ซึ่งมีคนไปดูเยอะจริง แต่อาจไม่ได้รู้สึกชื่นชอบหรือชื่นชมอะไรมากนัก
ในปีนี้ ตำแหน่งรองที่ได้คะแนนพอสมควร แต่ถือว่าน้อยกว่าผู้ชนะ ได้แก่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้ง 2 ภาค, แฝด, บอดี้ ศพ # 19, มะหมา 4 ขาครับ, Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์, สายลับจับบ้านเล็ก, เมล์นรก หมวยยกล้อ ไปจนถึง เพื่อน...กูรักมึงว่ะ
แม้ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้ง 2 ภาค จะทำเงินสูงสุดประจำปี เรื่องละกว่า 200 ล้านบาท แต่หนังที่ได้รับคะแนนโหวตอย่างท่วมท้นขาดลอย กลับเป็นหนังที่ทำเงินไม่ติด 5 อันดับแรกของปี และทำเงินได้ราวๆ 40 ล้านบาท หนังเรื่องดังกล่าวนี้ ผู้ชมต่างชื่นชอบจนกลายเป็นกระแส และเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น
คะแนนที่ร่วมกันส่งเข้ามาผ่านแบบสอบถามนั้น ทำให้หนังอย่าง รักแห่งสยาม กลายเป็นผู้ชนะไปอย่างขาดลอย

ความรู้สึกของ วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล (นักแสดงนำ)ต่อรางวัล ภาพยนตร์ยอดนิยม
“ก็ผ่านมา 1 ปีแล้ว กับการที่ได้ยินชื่อ รักแห่งสยาม ที่ผ่านมา ทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นทีมงาน ไม่ว่าจะเป็นตัวนักแสดง น้องๆวงออกัส หรือตัวพิชเองด้วย ทุกคนตั้งใจกับการทำงาน พอมาจนถึงวันนี้ เรารู้สึกว่าเราทำสำเร็จ อยากจะขอบคุณทุกคนที่ให้การตอบรับกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างดี ไม่ว่ากระแสหนังจะออกมาเป็นอย่างไร พอเราเห็นคนชอบ คนคลั่งไคล้หนัง ไปดูหนังแปดรอบสิบรอบ เราก็รู้สึกว่า เราทำได้ เราภูมิใจ และรู้สึกขอบคุณมากๆที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี...
“ด้วยความที่มีความรักอยู่ในหนังทุกๆรูปแบบ แอบรัก ถูกรัก ไม่ต้องการจะรัก ความรักของผู้ใหญ่ ครอบครัว ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นมิตรภาพ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงโดนใจใครหลายคน และชื่นชมกันจนถึงมีรอบพิเศษ ส่วนหนึ่งคือเราทำงานกันด้วยความรัก ความรักหล่อเลี้ยงเราทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้น พอเราทำหนังรักออกมาสักเรื่อง เราเลยเต็มที่กับมัน ส่งผลให้คนชื่นชอบกันครับ”

๑๑. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
ไชยา – ไจแอนท์ เวฟ
บอดี้ ศพ # 19 – Banana Team
แฝด -  ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
รักแห่งสยาม – กิตติ เครือมณี
Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ – หัวลำโพงริดดิม

ผู้ได้รับรางวัล : กิตติ เครือมณี จาก รักแห่งสยาม
ดนตรีประกอบคือเครื่องมือสำคัญ ในการเสริมส่งผลักดันให้หนังก้าวสู่จุดมุ่งหมายทางอารมณ์และการสื่อความหมาย ...พลอย, เพื่อน...กูรักมึงว่ะ, มะหมา 4 ขาครับ, Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์, สายลับจับบ้านเล็ก และ ตั๊ดสู้ฟุต มีงานดนตรีที่น่าสนใจ ทว่าต้องถูกคัดออกก่อนอย่างน่าเสียดาย
จากจำนวน 5 เรื่องที่เข้ารอบสุดท้าย แฝด และ บอดี้ ศพ # 19 มีดนตรีเสริมส่งในแนวลึกลับหลอกหลอนเหมือนกัน เรื่องแรกแม้จะช่วยบรรยากาศหนังอยู่มาก แต่ออกจะโฉ่งฉ่างไปนิด ส่วนเรื่องหลังกำหนดธีมอารมณ์ควบคุมเรื่องได้ชัดเจน และ ‘เป็นเรื่องเป็นราว’ มากกว่า แต่ต้องแพ้ในการลงคะแนนอย่างฉิวเฉียด ถัดมาคือ Me …Myself  ขอให้รักจงเจริญ ที่ทำได้ ‘ตามมาตรฐานหนังรัก’ นั่นคือการคลอไปเรื่อยๆ ควบคุมอารมณ์อ่อนหวานงดงาม แต่ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษนัก ขณะที่หนังอย่าง ไชยา มีภาคดนตรีประกอบที่ผสมความเป็นพื้นเมืองทางใต้ได้อย่างลงตัว รวมทั้งช่วยกำหนดเวลาและสถานที่ของเรื่องอย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม แม้จะดีเพียงไร แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นหน้าเป็นตา และ ‘เนียน’ ไปกับหนัง ได้เท่ากับผู้ชนะเลิศ

รักแห่งสยาม อาจถูกตำหนิอยู่บ้าง กับการ ‘กระตุก’ อารมณ์คนดู ด้วยดนตรีธีมตลกของตัวละครหญิงที่แอบชอบฝ่ายชาย ถึงกระนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าในภาพรวมแล้ว ดนตรีเรื่องนี้คือฟันเฟืองสำคัญที่รับใช้หนัง

ด้วยการหนุนอารมณ์ของตัวละครในแต่ละฉากให้พุ่งถึงจุดหมายอย่างสง่างาม และหลอมคนดูให้เกิดความรู้สึกร่วมกับชะตากรรมทั้งมวลของตัวละคร กล่าวได้ว่า ไม่มีดนตรีประกอบเรื่องใดในปีนี้ ที่จะส่งอิทธิพลต่อหนังเท่ากับดนตรีประกอบของ รักแห่งสยาม อีกแล้ว

ความรู้สึกของ กิตติ เครือมณี ต่อรางวัล ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
“ภูมิใจครับ ภูมิใจกับการทำงานที่หนักเหนื่อยในหนังเรื่องนี้ ดนตรีประกอบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมตามหนัง หน้าที่ของผมคือทำให้คนดูมีความรู้สึกตามที่หนังอยากจะบอก คืออยากให้ทุกคนรักดนตรีประกอบมากๆครับ ความพิเศษอย่างหนึ่งคือ หนังเรื่องนี้ใช้เครื่องดนตรีเพิ่มเข้าไปในดนตรีประกอบด้วย คือเชลโล่, กีต้าร์โปร่ง, คลาริเน็ต และก็เสียงร้องของมะเดี่ยว ความยากคือต้องนำเสนอดนตรีเกริ่นนำเข้าเพลงและหลังจากจบเพลงก็ยังคงมีดนตรีต่อไป ไม่จบลงห้วนๆ ในหนังรัก เพลงหรือดนตรีต้องมีความสดใส ความเศร้า ความเหงา แต่จะทำยังไงให้ทั้งหมดเป็นเอกภาพ ตรงนี้คือความยากครับ”

๑๐. กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
ไชยา – ธนะ เมฆาอัมพุท และ ณัฐนิธิ เศรษฐการวิจิตร
บอดี้ ศพ # 19 - บริษัท เซ็นต์ อาร์ต จำกัด (ออกแบบงานสร้าง)
แฝด -  ศักดิ์ศิริ จันทรังษี (ออกแบบงานสร้าง)
พลอย – ศักดิ์ศิริ จันทรังษี, วิทยา ชัยมงคล และ พิพัฒน์ เพิ่มพูล
รักแห่งสยาม – มนต์ชัย ทองศรีสืบสกุล และ ธนกร บุญลือ

ผู้ได้รับรางวัล : ณัฐนิธิ เศรษฐการวิจิตร จาก ไชยา


งานกำกับศิลป์ดำเนินควบคู่กับการออกแบบงานสร้าง นั่นคือการควบคุมสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฉาก สี สถานที่ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เสริมอารมณ์ และสื่อความหมายแก่หนัง... เพื่อน...กูรักมึงว่ะ, รักนะ 24 ชั่วโมง, Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ, โอปปาติก เกิดอมตะ, สวยลากไส้, สายลับจับบ้านเล็ก, ตั๊ดสู้ฟุต, เมล์นรก หมวยยกล้อ, อสุจ๊าก และ ยังไงก็รัก เป็นหนังที่มีงานกำกับศิลป์น่าจับตา อย่างไรก็ดี การตัดสินรางวัลไม่อาจให้ทั้งหมดเข้ารอบได้
หนังที่เข้ารอบแต่ละเรื่องที่คัดสรรมา มีการกำกับศิลป์ที่ดีคนละแบบ ฉากอันสวยแปลกตาใน บอดี้ ศพ # 19 ทำให้เกิดความหลอกหลอน ช่วยปิดบังอำพราง ‘บางอย่าง’ เอาไว้ได้อย่างแนบเนียน, แฝด มีงานกำกับศิลป์หลักๆอยู่ที่ตัวบ้าน ซึ่งกล่าวได้ว่าสร้างบรรยากาศน่าสะพรึงจนกลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งของเรื่อง, พลอย มีงานศิลป์ที่ทำให้รู้สึกกึ่งจริงกึ่งหลอก สร้างความสับสนคลุมเครือ และนำไปสู่การสื่อสารความคิดกับคนดู ขณะที่ รักแห่งสยาม ใช้สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน โดยเฉพาะบ้าน รวมถึงห้องแต่ละห้องของตัวละคร แสดงภาวะของตัวละครที่แปรเปลี่ยนไป และยังมีการคุมโทน ‘คริสต์มาส’ ที่ให้ความหมายอย่างล้ำลึก... แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ชนะมีได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
ต้องยอมรับว่าหนังชนะเลิศสาขานี้ มีงานกำกับศิลป์ที่ให้อารมณ์ ‘สุดขั้ว’ นั่นคือสะท้อนภาพความงดงามกับความดิบเถื่อน ที่ดำเนินควบไปกับชะตากรรมของตัวละครหลัก แต่ไม่ว่ามันจะงดงามหรือดิบเถื่อน (ดิบเถื่อนถือว่างดงามไปอีกแบบ) ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด หากมันไม่รับใช้เรื่องราว และงานศิลป์ของหนังเรื่องนี้ก็ยังบ่งบอกยุคสมัย เติมอารมณ์ และผลักดันให้หนังเรื่องนี้มีชีวิตขึ้นมาอย่างน่ายกย่อง ...ไชยา คือหนังเรื่องที่ว่านั้น

ความรู้สึกของ ธนะ เมฆาอัมพุท ต่อรางวัล กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
          “อยากขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือร่วมใจ จนผ่านพ้นไปได้ด้วยดีครับ ในการทำงานครั้งนี้ มันยากทุกฉากแหละครับ ยุคสมัยมันครึ่งๆกลางๆ มันไม่คลาสสิคเหมือนอย่าง 2499 คือในยุคพ.ศ. 2525 ยังไม่ฮิตถึงขนาดเก็บเป็นข้อมูลไว้ บทหนังเป็นเรื่องราวของชีวิตที่ต่างกันระหว่างต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ผมก็พยายามหนุนตรงนี้ให้ชัด ด้วยการเซ็ทให้ดู contrast กันมากๆเข้าไว้ จุดเด่นในงานศิลป์เรื่องนี้ อาจจะมีสไตล์ที่ชัดเจนเรื่องความสกปรก เรื่องความสมจริงด้วยล่ะครับ”

๙. ลำดับภาพยอดเยี่ยม
ไชยา – สุนิตย์ อัศวนิกุล
บอดี้ ศพ # 19 - ปวีณ ภูริจิตปัญญา, บูลย์ศักดิ์ วัธนวิสิต, สุรวุฒิ ตุงคะรักษ์
พลอย – ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล
เมล์นรก หมวยยกล้อ – กิติกร เลียวศิริกุล และ พรรณพันธ์ ทรงขำ
รักแห่งสยาม – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล และ ลี ชาตะเมธีกุล

ผู้ได้รับรางวัล: กิตติกร เลียวศิริกุล และ พรรณพันธ์ ทรงขำ จาก เมล์นรก หมวยยกล้อ



การลำดับภาพที่ดี คือการนำเอาช็อตต่างๆในหนังมาร้อยเรียงเพื่อเล่าเรื่อง สร้างความหมาย และสร้างอารมณ์... วิดีโอคลิป, Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ, มะหมา 4 ขาครับ, Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ และ แฝด มีการลำดับภาพน่าจดจำ เพียงแต่ยังโดดเด่นน้อยกว่าอีก 5 เรื่องที่เข้ารอบ
สาขานี้ชวนถกเถียงอย่างยิ่ง.... ไชยา มีความโดดเด่นในการลำดับภาพฉากการต่อสู้ได้รุนแรงและเร้าใจ รวมไปถึงการตัดสลับเหตุการณ์ของตัวละคร 2 คน ที่ได้ผลทางอารมณ์และความหมาย, พลอย มีการตัดต่อที่ชวนถกเถียงอย่างมาก ว่ามัน ‘ช่วย’ หรือ ‘ซ้ำเติม’ หนัง แต่คณะกรรมการเห็นว่า มันเป็นการลำดับภาพที่ไปกันได้กับบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน และเทียบเคียงความสัมพันธ์ทางกายของคู่รัก 2 คู่ ได้ดี, บอดี้ ศพ # 19 มีการเรียงแต่ละช็อตแต่ละซีนช่วยปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลความจริงในเรื่อง และยังเร้าอารมณ์ให้รู้สึกอยากติดตามในแบบฉบับหนังสืบสวนสอบสวนที่ดี อย่างไรก็ตาม หนังทั้ง 3 เรื่องทำได้ดี แต่ไม่ใช่ที่สุด
รักแห่งสยาม และ เมล์นรกหมวยยกล้อ ได้คะแนนสูงสุดพอๆกันในการลงคะแนนครั้งแรก โดยเรื่องแรกมีความพิเศษในการใช้เทคนิคตัดต่อระหว่างภาพและเสียงให้เหลื่อมล้ำกัน เพื่อโยงตัวละครตัวหนึ่งไปเชื่อมกับห้วงอารมณ์หนึ่ง และอีกตัวละครหนึ่ง ถือเป็นงานฝีมือที่ประณีตสร้างสรรค์ อีกทั้งภาพรวมของหนังยังตัดเอาอารมณ์หลากหลายให้หลอมรวมกันอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะในท้ายที่สุดจากการหยิบยกมาพิจารณาซ้ำ ได้แก่ เมล์นรกหมวยยกล้อ เพราะมันเป็นหนังที่ ‘เล่นท่ายาก’ ที่สุด ในบรรดาหนังไทยรอบปีนี้ ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่แคบ-บนรถเมล์ และยังแล่นไปเรื่อยๆตลอดทาง ซึ่งมีแบ็คกราวด์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นอกจากจะแม่นยำในการเรียงลำดับช็อต โดยคำนึงถึงฉากสถานที่ที่รถแล่นผ่านไม่ให้ ‘หลุด’ แล้ว การตัดตัวละครไปมา ให้มีปฏิสัมพันธ์รับส่งบทกันในพื้นที่เล็กๆ แต่ทำให้เรื่องราวคืบคลานอย่างสนุกสนานได้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ และรางวัลชนะเลิศจึงเป็นสิ่งสมควรในสายตาของคณะกรรมการ

ความรู้สึกของ กิติกร เลียวศิริกุล  ต่อรางวัล ลำดับภาพยอดเยี่ยม
“ชอบบรรยากาศตอนตัดหนังเรื่องนี้ มันสนุก คือถ่ายไปตัดไป ไม่มีเส้นกำหนดระยะเวลา เพราะถ่ายวันสงกรานต์เพื่อมาฉายวันสงกรานต์ มันมีเวลาข้ามปี เลยมีเวลาในช่วงโพสท์โปรดักชั่นค่อนข้างเยอะ ผมชอบการทำงานตัดต่อของหนังเรื่องนี้ครับ...”

ความรู้สึกของ พรรณพันธ์ ทรงขำ ต่อรางวัล ลำดับภาพยอดเยี่ยม
“การตัดต่อหนังเรื่องนี้ก็เหมือนมานั่งเขียนบทใหม่อีกรอบ เหมือนเรามีบท เราถ่ายทำแล้วมาตัดต่อ สลับเรื่องใหม่ เขียนบทใหม่ งานตัดต่อมันยากทุกเรื่องแหละครับ แต่เรื่องนี้ยากเป็นพิเศษตรงที่ว่า คนดูจะขำหรือเปล่า บางทีผมขำ แต่คนดูอาจไม่ขำ อะไรแบบนี้ หรือบางทีก็จะมีการตัดสลับฉากเพื่อให้ไม่น่าเบื่อ”

๘. กำกับภาพยอดเยี่ยม
ไชยา – สยมภู มุกดีพร้อม
บอดี้ ศพ # 19 - สมบุญ โพธิ์พิทักษ์กุล
พลอย – ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์
เมล์นรก หมวยยกล้อ – ธรรมเจริญ พรหมพันธุ์
รักแห่งสยาม – จิตติ เอื้อนรการกิจ

ผู้ได้รับรางวัล : จิตติ เอื้อนรการกิจ จาก รักแห่งสยาม
การใช้ภาพเล่าเรื่อง คือความท้าทายสูงสุดของผู้กำกับภาพ หัวใจคือการใช้ภาพสื่อความและรับใช้ ‘แก่นสาร’ ของหนัง โดยไม่พะว้าพะวงห่วงสวยเพียงอย่างเดียว... เพื่อน...กูร้กมึงว่ะ, วิดีโอคลิป, รักนะ 24 ชั่วโมง, Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ, Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์, สวยลากไส้ และ แฝด สมควรได้รับการบันทึกว่าเป็นงานกำกับภาพที่น่าพึงพอใจ แม้จะไม่ติดเข้ารอบสุดท้าย
และแม้ ไชยา กับ บอดี้ ศพ # 19 จะถูกมองในแง่ความคิดสร้างสรรค์ด้านภาพที่ไม่แปลกใหม่ ทว่ากลับสามารถรับใช้เรื่องราว มีความโดดเด่น และสร้างความหวือหวาน่าตื่นเต้นได้ตลอดเวลา, เมล์นรกหมวยยกล้อ เป็นงานกำกับภาพที่ยาก เพราะต้องถ่ายในที่แคบ ซ้ำยังต้องใช้ที่แคบนั้นสื่อภาวะต่างๆของตัวละครอีกด้วย ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าช่วยหนังได้เยอะ
พลอย อาจดูธรรมดาสามัญ ทว่าเมื่อพิจารณาอย่างละเอียด จะพบว่านี่คืองานกำกับภาพที่ผ่านการครุ่นคิดไตร่ตรอง และมีความจงใจเป็นพิเศษบางอย่างเพื่อสื่อความหมาย อาทิ ภาพที่จัดองค์ประกอบให้ขาดความสมดุลย์ อย่างไรก็ตาม พลอย ต้องแพ้ผู้ชนะเลิศไปเพียงฉิวเฉียด
รักแห่งสยาม คือผู้ชนะในสาขานี้ ภาพในหนังสามารถดึงดูดให้คนดูสัมผัสถึงอารมณ์อันหลากหลายของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นสุขสดใส หรือทุกข์หม่นเศร้า นอกเหนือจากจะถ่ายทอดเรื่องราวอย่างไม่มีขาดตกบกพร่องแล้ว ยังมีการ‘โชว์งานกำกับภาพ’ ในหลายๆฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากผึ้งไต่ขึ้นจากแก้วน้ำ หรือการถ่ายลองเทคในสยามสแควร์ ตามติดตัวละครวัยรุ่นเดินสวนกันไปมาจากทุกทิศ

๗. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ไชยา – ก้องเกียรติ โขมศิริ
บอดี้ ศพ # 19 - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์
พลอย – เป็นเอก รัตนเรือง
เมล์นรก หมวยยกล้อ – กิตติกร เลียวศิริกุล
รักแห่งสยาม – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

ผู้ได้รับรางวัล : ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จาก รักแห่งสยาม
          ไม่มีหนังที่ดีเรื่องใด สร้างมาจากบทหนังที่เลว มันควรมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล และมีบทสนทนาอันคมคาย เนียนไปกับสไตล์ของเรื่อง โดย วิดีโอคลิป, Me …Myself ขอให้รักจงเจริญ, แฝด และ เดอะ กิ๊ก 2 มีบทที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ติดอยู่ในกลุ่มที่สุดแห่งปี
กลุ่ม 5 เรื่องสุดท้าย เมล์นรกหมวยยกล้อ อาจดูเหมือนไม่มีอะไรมากไปกว่าคนขึ้นรถเมล์มาด่ากัน แต่อันที่จริง ทั้งหมดทั้งมวลคือการย่อประเทศเอาไว้บนนั้น และเอามาวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีชั้นเชิง, ไชยา ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจดูดาดๆด้วยความที่มันเดินตามสูตรหนังแอ็คชั่นดราม่า กระนั้นคนเขียนบทกลับค้นคว้าเรื่องราวตามยุคสมัยได้ดี สามารถทำให้ออกมายอกย้อน เพียบพูนด้วยการหักมุมเหนือการคาดเดา, พลอย เหมือนเป็นหนังชีวิตคู่ทั่วๆไป ทว่ากลับมีรายละเอียดที่ลุ่มลึก บทสนทนาดูสมจริงและแนบเนียน ซ้ำยังแฝงความหมาย รวมถึงสะท้อนบุคลิกภาพและทัศนคติของคนพูดอย่างหมดเปลือก มิพักต้องเอ่ยถึงว่า นี่คือหนังที่ตัวละครพูดน้อยมากด้วยซ้ำ, บอดี้ ศพ # 19 บทเร้าอารมณ์ให้อยากรู้อยากเห็นอย่างมาก มีการทิ้งร่องรอยบางอย่างเอาไว้เป็นระยะๆ ก่อนจะนำไปสู่การหักมุมที่ชวนตื่นตะลึง และทุกอย่างมีรายละเอียดรองรับอย่างหนักแน่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความโดดเด่นเป็นพิเศษของปีนี้ ต้องยกให้แก่ รักแห่งสยาม
บทหนังกล่าวถึงตัวละครหลักสองตัว และตัวละครประกอบอีกราวครึ่งโหล ทว่ากลับใช้ทุกตัวละครอย่างคุ้มค่าในเวลาอันจำกัด โดยไม่มีการทอดทิ้งให้ตัวละครหายไปอย่างไร้เหตุผล (ถือเป็นชนส่วนน้อยในวงการหนังไทย) กล่าวได้ว่าทุกการกระทำและทุกคำพูดในเรื่อง มีความสอดรับสัมพันธ์กัน และนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายที่เร้าอารมณ์อย่างน่าประทับใจ

ความรู้สึกของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ต่อรางวัล บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“สำหรับบทหนังเรื่องนี้ ต้องขอบคุณชีวิตที่ผ่านมา ขอบคุณครอบครัวของเรา พ่อแม่พี่น้อง ขอบคุณเพื่อนทุกคนที่เข้ามา ขอบคุณทุกๆความรักที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้เข้าใจมันมากขึ้น ขอบคุณประสบการณ์ที่เราได้ผ่าน ประสบการณ์ที่เราล้มลุกคลุกคลานอยู่ในวงการหนัง ทุกๆคนที่เข้ามาในช่วงนั้น ทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่ได้ทำงานร่วมกันก็ตาม มันทำให้เรามีเวลาที่มานั่งขบคิดมากขึ้น ทำให้บทหนังมันออกมาเป็นอย่างที่เราได้เห็นกัน”

๖. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
ภัทรวรินทร์ ทิมกุล - บอดี้ ศพ # 19
อภิญญา สกุลเจริญสุข - พลอย
เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์– เมล์นรก หมวยยกล้อ
กัญญา รัตนเพชร์ - รักแห่งสยาม
เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ - รักแห่งสยาม

ผู้ได้รับรางวัล: ภัทรวรินทร์ ทิมกุล จาก บอดี้ ศพ # 19
นักแสดงสมทบ คือการช่วยสมทบตัวละครหลัก เพื่อเผยถึงใจความหลักของหนัง และนำพาอารมณ์ตลอดจนความหมายทุกอย่างที่ผู้สร้างต้องการสื่อ ไปให้ตลอดรอดฝั่ง นักแสดงสมทบหญิงปีนี้ที่แม้จะไม่เข้ารอบสุดท้าย แต่ควรได้รับการบันทึกไว้ ได้แก่ อชิตะ สิกขมานา (เมล์นรก หมวยยกล้อ), พิมพรรณ บูรณพิมพ์ (รักแห่งสยาม), พุทธชาติ พงษ์สุชาติ (Me …Myself  ขอให้รักจงเจริญ), กิเนีย ภริตา คงเพชร (ไชยา), อรจิรา แหลมวิไล (บอดี้ ศพ # 19), กฤตธีรา อินพรวิจิตร (บอดี้ ศพ # 19), รัชนู บุญชูดวง (แฝด), พิมพ์ชนก พลบูรณ์ (เมล์นรก หมวยยกล้อ), อริศรา วงษ์ชาลี (เมล์นรก หมวยยกล้อ) และ ปาณิศรา พิมพ์ปรุ (สายลับจับบ้านเล็ก),
ในบรรดาผู้เข้ารอบ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ทำให้เราเชื่อว่าเธอเป็น ‘แม่ค้า’ ที่มีอยู่จริง, กัญญา รัตนเพชร์ คือสาววัยรุ่นที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ เธอถ่ายทอดการเติบโตจากความไร้เดียงสาไปสู่การรับรู้โลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีพลัง, อภิญญา สกุลเจริญสุข แม้จะดูเป็นเด็กสาวกร้านโลกที่เหมือนไม่มีอะไรนัก ทว่าในอีกแง่มุม เธอเล่นได้เกินอายุ และสะท้อนถึงความเป็นตัวละครที่ ‘อาจไม่มีอยู่จริง’ อันเสมือนพุ่งมาจากจินตนาการของใครสักคน ซึ่งสร้างความลึกลับคลุมเครือให้เรื่องราวได้ดี...แต่ 3 คนนี้ยังไม่ใช่ที่สุดแห่งปี
ถือเป็นการตัดสินใจที่ยากเอาการ ระหว่างผู้เข้ารอบ 2 คนสุดท้าย อันได้แก่ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ กับ ภัทรวรินทร์ ทิมกุล สำหรับเฌอมาลย์นั้น เธอทำให้ตัวละครที่รับบท มีตัวตนในทุกครั้งที่ปรากฏตัว และในครึ่งหลังของหนัง เธอสามารถถ่ายทอดอารมณ์อันซับซ้อนทั้งสดใสและเจ็บปวดอย่างพอดิบพอดี และยังพ่วงความคลุมเครือตามแบบฉบับ ‘คนนอกลึกลับ’ อีกด้วย แต่ปัญหาคือ ตัวละครตัวแรกในวัยแรกรุ่น เธอยังทำได้ไม่ถึงเท่าที่ควร  สำหรับ ภัทรวรินทร์ ทิมกุล เธออาจจะปรากฏตัวในหนังแค่ 3 ฉากใหญ่ๆ นั่นคือ ฉากสอนหนังสือ, ร้านอาหาร และแฟลชแบ็คอันแสนสุข แต่แค่ไม่กี่ฉากนั้น เธอสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของหญิงสาวหลากอารมณ์ แถมยังเป็น ‘ผู้กุมความลับ’ ที่ผลักดันการกระทำของตัวละครหลักในเรื่อง

และด้วยฉากเหล่านี้นี่เอง ที่เธอแสดงได้ทรงพลังจนคนดูรู้สึกราวกับเธอปรากฏตัวให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง คงไม่เกินเลย หากจะกล่าวว่าเธอคือสิ่งที่น่ากลัวและทรงพลังที่สุดในหนัง จนรู้สึก‘คิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียว’ มิรู้วาย... แน่นอนล่ะว่าคณะกรรมการต่างคิดถึงเธอกันถ้วนหน้า

ความรู้สึกของ ภัทรวรินทร์ ทิมกุล ต่อรางวัล นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
“ต้องขอบคุณ GTH ผู้กำกับ และทีมงานทุกๆคน ที่สำคัญก็คือครูผู้สอนการแสดงเรา ซึ่งก็คือคุณแม่... กับบทในหนังเรื่องนี้ ตอนแรกที่อ่าน ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ งงๆ แต่โอเค คิดหนักอยู่เหมือนกัน แต่มันดี เจ๋งดี บทที่ต้องอ่านสามสี่รอบแล้วเข้าใจ มันก็น่าจะเจ๋งกว่าหนังที่อ่านไปครึ่งเรื่องแล้วรู้ตอนจบ อันนี้เดาไม่ออกเลย
“บทที่แสดงในเรื่องก็ยากมากๆ คือในหนังออกมา 5 ฉากเอง แต่ทุกฉากที่เล่น คือเล่นเสร็จแล้วจะเป็นลม คือเหนื่อย แล้วไม่ได้เล่นหนังมานานมาก เกือบ 5 ปี ก็เลยต้องทำการบ้านเยอะมาก อย่างฉากในห้องเรียน เป็นฉากแรกที่ถ่าย คือทำอารมณ์มาตั้งแต่คืนก่อนแล้ว คือพยายามที่จะมานั่งนึกว่า เอ๊ะ เราจะเล่นยังไง มานั่งคิดตอนหลังว่า มันจะไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าเรามัวแต่กังวลว่าบล็อกกิ้งเป็นอย่างนี้ ก็เลยพยายามสงบสติอารมณ์ แล้วพอเล่น ก็เล่นตามที่รู้สึกตอนนั้นเลย”

๕. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
สนธยา ชิตมณี -ไชยา
นะโม ทองกำเหนิด - ผีจ้างหนัง
เกียรติ กิจเจริญ – เมล์นรก หมวยยกล้อ
สุเทพ โพธิ์งาม – เมล์นรก หมวยยกล้อ
ทรงสิทธิ์ รุ่งพนคุณศรี- รักแห่งสยาม

ผู้ได้รับรางวัล: ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี จาก รักแห่งสยาม
 นักแสดงสมทบ คือกองหนุนที่สำคัญ ไม่เพียงประคับประคองนักแสดงหลักในบางฉากเท่านั้น หากบางคนยังไปถึงขั้นสำคัญยิ่งยวดต่อการดิ้นรนของตัวละครหลักเลยทีเดียว ในปีนี้นักแสดงสมทบชายที่ฝีไม้ลายมือเข้าตา แต่หลุดจากรอบสุดท้าย ได้แก่ ปลาย ปรเมศร์ (บอดี้ ศพ # 19), เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ (สายลับจับบ้านเล็ก), ชูเกียรติ เอี่ยมสุข (ตั๊ดสู้ฟุต), วิทยา วสุไกรไพศาล (แฝด), นิมิตร ลักษมีพงศ์ (สายลับจับบ้านเล็ก), คมสัน นันทจิต (เมล์นรก หมวยยกล้อ)
สุเทพ โพธิ์งาม และ เกียรติ กิจเจริญ ต่างแสดงบทตลกได้ดีทั้งคู่ อาจไม่ถึงขั้นโดดเด่นที่สุด แต่ก็รับรู้ได้ตลอดว่ามีความสำคัญกับท้องเรื่อง โดยเฉพาะคนหลัง ได้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของมนุษย์ ว่าถูกผลักดันโดยสถานการณ์ไม่เป็นใจให้กลายเป็นผู้ร้ายได้อย่างไร, นะโม ทองกำเหนิด แนบเนียนไปกับบทวัยรุ่นติดตา และให้อารมณ์เบลอๆเหมือนมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่....แต่ 3 คนนี้ยังไม่มีการแสดงอันเป็นที่สุด
สาขานี้สูสีกันอย่างมาก เมื่อ สนธยา ชิตมณี และ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ได้คะแนนใกล้เคียงกันในตอนแรก จนต้องมีการนำมาพิจารณาอีกรอบ โดยสนธยาเป็นตัวละครที่เหมือนมนุษย์ปกติมากที่สุดใน ไชยา เขาได้บทที่ดี เปี่ยมสีสัน หนุนนำพระเอก และให้การแสดงที่สร้างความสะเทือนใจได้สูงสุด ขณะที่ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี รับบทเป็นคนขี้แพ้ ติดเหล้า หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต แต่ภายใต้รูปลักษณ์ของคนนั่งนอนรอวันตาย เขากลับแสดงอารมณ์อันหลากหลายลึกซึ้ง ทั้งปกติสุข ระทมทุกข์ และฟื้นคื้นชีวิต โดยเฉพาะในยามที่ได้เจอกับคนที่เขาตามหานั้น แววตาของเขาเปล่งประกายเจิดจ้า โยงเข้าสู่ประเด็นเรื่องความหวังในหนังอย่างเรืองรอง…ทรงสิทธิ์จึงเป็นผู้ชนะในสาขานี้ไป

ความรู้สึกของ ทรงสิทธิ์ รุ่งพนคุณศรี ต่อรางวัล นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
"เป็นรางวัลแรก นับตั้งแต่ทำงานมา 20 ปี นี่คือรางวัลทางการแสดงรางวัลแรกที่ได้รับ ก็ดีใจ ขอบคุณหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่เป็นอาจารย์ท่านแรก ผู้ชักนำเราเข้าสู่วงการ ขอบคุณทีมงานรักแห่งสยามที่เลือกเรามาเล่น ขอบคุณมะเดี่ยว ขอบคุณพี่นกที่เป็นคนแนะนำกับทีมงานว่าเอาผมเถอะ บทที่ได้รับ แม้จะไม่เยอะเท่าไหร่ แต่เป็นบทที่น่าเล่นมากๆ มีหลายระดับ มีความหลากหลายในการแสดง มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด"
มีคนบอกว่าการแสดงคู่กันกับพี่นก สินจัย มีลักษณะการแสดงที่เป็นแบบหม่อมน้อยติดมาด้วย รู้สึกเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า... "ผมว่าไม่หรอกครับ ก็อย่างที่นักแสดงทุกคนรู้ เราไม่ใช้เทคนิคอะไรเลย คิดกันง่ายๆก็คือ "เชื่อ" แต่กว่าจะเชื่อมันยาก คือเชื่อว่าเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ โดนกระทำแบบนั้นจริงๆ มีสภาพแวดล้อมอย่างนั้นจริงๆ มันก็จะเกิดอารมณ์แบบนั้นขึ้นมา แต่ว่ามันยากที่จะเชื่อเท่านั้นเอง"
มีช็อตนึงที่แสดงออกทางประกายตา ในฉากโต๊ะกินข้าว ที่มองลูกสาวกลับมา พี่ถ่ายทอดความรู้สึกนั้นอย่างไร...  "ง่ายๆครับ อย่าไปคิดอะไรมาก พ่อที่ลูกสาวหายไป แล้ววันนึงลูกสาวกลับมา มันรู้สึกอย่างนั้นน่ะครับ

มันดีใจ ทั้งฉงนใจ ทั้งแปลกใจ ระคนกันอยู่ในแววตา คือไม่ได้ทำอะไรเลย มันเชื่อ มันคือความรู้สึกของเราอย่างนั้นจริงๆครับ"

๔. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
มาช่า วัฒนพานิช- แฝด
ลลิตา ศศิประภา- พลอย
สุวัจนี ไชยมุสิก- ยังไงก็รัก
สินจัย เปล่งพานิช - รักแห่งสยาม
ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ- Me …Myself ขอให้รักจงเจริญ

ผู้ได้รับรางวัล : สินจัย เปล่งพานิช จาก รักแห่งสยาม
นักแสดงนำหญิง คือตัวละครสำคัญของเรื่อง หรือพูดในอีกแง่หนึ่ง เธอคือเจ้าของเรื่อง ผู้พาคนดูไปค้นพบแง่มุมสำคัญที่หนังต้องการสื่อ...นักแสดงต่อไปนี้แม้จะไม่เข้ารอบ แต่เราต้องขอบันทึกเอาไว้ ว่าแสดงหนังได้ดีมีคุณภาพ นั่นก็คือ ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ (สายลับจับบ้านเล็ก) และ อินทิรา เจริญปุระ (บ้านผีสิง)
ปัญหาของ ฉายนันท์ มโนมัยสันติภาพ เกิดขึ้นตั้งแต่การคัดตัวแสดง เพราะเธอดู ‘เด็ก’ เกินว่าจะมารับบทนี้ ทว่าฉายนันท์กลับสามารถรับบทเป็นตัวละครที่ระทมทุกข์กับความรักครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างพอดิบพอดี ลื่นไหลไปกับบทจน ‘เกือบ’ เป็นตัวละครได้จริงๆ, สุวัจนี ไชยมุสิก รับบทตลกโฉ่งฉ่าง เกินเลย กระนั้นเธอกลับทำหน้าที่ได้ราบรื่น จนเป็นส่วนดีที่สุดของหนัง และให้ความรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มี ‘คนจริงๆ’ กับเขาอยู่บ้าง, มาช่า วัฒนพานิช รับบทตัวละครแฝด ผู้มีบุคลิกแตกต่างกัน มีอากัปกิริยาปกปิดซ่อนเร้นบางอย่าง อัดแน่นด้วยความสับสน และเผชิญความตื่นตระหนกในตอนท้าย กล่าวได้ว่าเธอทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เพียงแต่ในช่วงหลังของหนัง เธอยังมี ‘ความไม่สมจริง’ อยู่บ้าง ขณะที่ ลลิตา ศศิประภา ได้รับบทที่ไม่ง่ายนัก เธอต้องเป็นอดีตนักแสดงที่ภายนอกดูราบเรียบนิ่งงัน ทว่าภายในกลับเอ่อท้นด้วยแรงปะทุ มีความไม่มั่นคงซุกซ่อนอยู่ และยังเตลิดไปถึงเรื่องราวสารพัดร้อยพัน เธออาศัยเทคนิคการแสดงออกแบบพอดีๆ ไม่เกินเลย
แม้ปีนี้จะเป็นปีที่สาขานักแสดงนำหญิง ‘แข็งมาก’ แต่ สินจัย เปล่งพานิช ก็ยังรับมือไหว บทดราม่าเร้าอารมณ์ของเธอยากพอตัว เพราะมันยั่วยวนให้เล่นออกทะเลจนกลายเป็นละครทีวี ทว่าผู้แสดงกลับประคับประคองดึงให้กลับมาสมจริง เฉกเช่นแม่คนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับมรสุมรอบด้าน มิติอารมณ์แบบเก็บกดของเธอ ทำให้ผู้ชมเกิดความเห็นอกเห็นใจ และ ‘รู้สึก’ ตามไปด้วย... การแสดงอันอัดแน่นด้วยชีวิตของเธอเช่นนี้ คณะกรรมการจึงตัดสินให้ชนะลลิตา ไปอย่างฉิวเฉียด

ความรู้สึกของ สินจัย เปล่งพานิช ต่อรางวัล นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
“ก็ต้องขอบคุณทีมงานทุกคน โดยเฉพาะมะเดี่ยว ที่ให้โอกาสพี่นกได้มาเล่นหนังเรื่องนี้ รู้สึกดีมากที่ตัดสินใจเล่นเรื่องนี้... ตัวหนังประสบความสำเร็จก็ดีใจ อยากให้ทุกคนสนับสนุนงานเล็กๆที่มีความหมาย เป็นงานดีๆที่น่าจะสร้างสรรค์อะไรได้ในวงการบันเทิงและสังคมค่ะ
“ถามว่าบทนี้ยากไหม ก็คงยาก ด้วยสไตล์ของหนังจะไม่ค่อยพูด คือตัวสุนีย์เอง ลักษณะเป็นคนเก็บกดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะออกมาเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบ สายตา หรืออะไรแบบนี้ แต่ทั้งหมดนี่ นกขอยกความดีให้บท เมื่อมันมีบทที่ดีอยู่แล้ว การแสดงที่ดีย่อมสามารถถ่ายทอดออกไปได้ ตอนที่อ่านบทครั้งแรก รู้เลยว่าต้องเล่น บอกตัวเองว่า เป็น-ตายก็ต้องเล่น ไม่เอาฉันเล่น ก็จะเล่น (หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่าบทมันดี
“บทนี้อาจมีคนมองว่าคล้ายๆกับบทที่พี่นกเคยเล่นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นละครทีวี ละครเวที... ก็อาจจะเป็นในแง่ของดราม่าของมัน ความคิด ความเก็บกดอะไรพวกนี้ แน่นอน การแสดงไม่หนีไปไหนได้หรอก (หัวเราะ) ร้องไห้ ผิดหวัง ช้ำรัก เป็นเรื่องลักษณะนี้ แต่ในเรื่องของการนำเสนอมันต่างกัน ในความเป็นภาพยนตร์และการสื่อสารต่างๆ หนังเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย
“ด้วยคาแร็คเตอร์ของสุนีย์และสไตล์ของหนัง คือความต้องการของมะเดี่ยวเองที่ไม่ใช่หนังชีวิตทั่วไปไงคะ สไตล์ของเค้ามีความลึก มีอะไรซ่อนอยู่ตลอด จริงๆแล้วก็เหมือนชีวิตธรรมดาทั่วๆไป มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน มีอะไรให้ต้องตีความ ตรงนี้ต่างหากที่มันมีสีสัน แตกต่างออกไปจากที่พี่นกเคยเล่นมา”

๓. นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
อัครา อมาตยกุล - ไชยา
มาริโอ้ เมาเร่อ- รักแห่งสยาม
วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล - รักแห่งสยาม
พุฒิพงศ์ ศรีวัฒน์- อสุจ๊าก
อนันดา เอเวอริ่งแฮม - Me …Myself ขอให้รักจงเจริญ

ผู้ได้รับรางวัล : มาริโอ้ เมาเร่อ จาก รักแห่งสยาม


นักแสดงนำชายก็เช่นเดียวกับนักแสดงนำหญิง เขาต้องพาหนังไปให้ ‘ถึง’ ในจุดที่ควรจะเป็น และบางครั้งถึงขั้นต้องแบกหนังเอาไว้ทั้งเรื่องโดยตัวคนเดียว ในบรรดานักแสดงชายประจำปีนี้ พรวุฒิ สารสิน (พลอย), อุดม แต้พานิช (เมล์นรก หมวยยกล้อ), อารักษ์ อมรศุภสิริ (บอดี้ ศพ # 19), อรรถพร ธีมากร (ดึกแล้วคุณขา) และ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ (สายลับจับบ้านเล็ก) มีผลงานในระดับน่าชมเชย แม้ว่าจะไม่เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายก็ตาม
จาก 5 คนสุดท้าย พุฒิพงศ์ ศรีวัฒน์ อาจดูไม่เข้าพวกที่สุด เขารับบทเป็นชายผู้ต้องประสบเรื่องราวเพี้ยนๆ แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการแสดง ตรงกันข้าม เขากลับใช้โอกาสนี้ได้หาวิธีการแสดงอะไรสนุกสนานเมามัน และกลืนเข้าไปกับบทชายวัยมันที่ต้องเรียนรู้ชีวิต โดยไม่ออกอาการโอเว่อร์แอ็คติ้งเกินตัวหนัง, อัครา อมาตยกุล รับบทเป็นคนซื่อที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายในเมืองกรุง แม้จะมีฉากแอ็คชั่นดุเดือดพลิ้วไหว แต่เมื่อต้องแสดงบทดราม่า เขาก็เผยให้เห็นความสัตย์ซื่อที่ซุกซ่อนเอาไว้ภายใต้โฉมหน้าอันโหดเหี้ยมได้ดี, อนันดา เอเวอริ่งแฮม สมควรได้รับคำชมอย่างมาก ในการรับบทเป็นคนความจำเสื่อมที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นเพศที่สาม ก่อนที่เปลือกภายนอกจะค่อยๆถูกกะเทาะทีละนิด เขาไม่ได้เล่นบุคลิกกะเทยแบบ ‘ล้อเลียน’ ซึ่งมีให้เห็นดาษดื่น หากแต่เล่นเป็นผู้ชายธรรมดา ที่เริ่ม ‘หลุด’ สิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใจออกมาอย่างสมจริง, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล รับบทเด็กผู้อ้างว้าง และใช้ดนตรีเป็นเครื่องระบายออก การแสดงของเขาเกือบถึงขั้น ‘ตีบทแตกกระจุย’
แม้ก่อนหนังออกฉาย จะถูกพูดถึงเฉพาะรูปโฉมที่เด่นเกินหน้าการแสดง ทว่า มาริโอ้ เมาเร่อ ถูกเลือกให้เป็นนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมประจำปีนี้ไป อันเนื่องมาจาก...ภายใต้บุคลิกนิ่งๆ คำพูดคำจาน้อยๆ เขากลับเผยทุกอย่างผ่านแววตาอันสับสน หวาดกลัว ซ้ำถูกความหงอยเหงาเข้าปกคลุมชีวิตมาเนิ่นนาน แม้ดูเหมือนไม่หวือหวาอะไร แต่มาริโอ้คือคนที่ทำให้หนังเรื่องนี้ระทมจนขยี้ใจผู้ชมเป็นผุยผง โดยการแสดงแบบ ‘น้อยได้มาก’ นั่นเอง

ความรู้สึกของ มาริโอ้ เมาเร่อ ต่อกับรางวัล นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
"โอ้ขอบคุณมากครับ รู้สึกดีใจที่เราทำงานแล้วมีคนชื่นชอบ จะว่าไปบทนี้ถือว่าค่อนข้างหนัก แต่อาจด้วยตัวโอ้จริงๆก็คล้ายๆกับคาแร็คเตอร์ในหนังน่ะครับ คือกำลังสับสนกับชีวิต จะเลือกทางเดินไหนดี ม.6 แม่ยังถามอยู่เลยว่าจะเลือกคณะไหน อะไรแบบนี้น่ะครับ ผมก็เลยเอาเรื่องแม่ เรื่องที่บ้าน มาใช้ในการแสดงด้วยครับ"
มีฉากนึงที่กรรมการยกมาถกกันว่าเป็นฉากที่โอ้เล่นได้ดีมากๆ คือฉากที่โอ้มองออกไปที่หน้าต่างบ้าน แล้วถามว่า “เค้ากลับมาบ้างไหม” ตอนนั้นรู้สึกยังไงอยู่ข้างใน... “ตอนนั้นเหรอครับ โอ้ก็คิดจริงๆว่าเป็นโต้ง มีครอบครัวอย่างนี้จริงๆ คิดว่าที่ผมเล่นอยู่ ผมไม่เฟค ผมอ่านเนื้อเรื่อง แล้วก็พยายามซึมซับให้มากที่สุดน่ะครับ แล้วโอ้ก็พยายามปรึกษาพี่ๆน่ะครับ โดยเฉพาะพี่มะเดี่ยว ผมจะถามเค้าเยอะเลย แล้วก็จะมีพี่อีกคนที่ช่วยโอ้ตลอดเวลา คือพี่ดา เป็นแอ็คติ้งโค้ช คอยบอกคอยสอนโอ้ตลอด”
ฉากไหนที่โอ้คิดว่ายากที่สุด... “ผมว่าน่าจะเป็นฉากที่อยู่กับหญิงครับ มันต้องร้องไห้ด้วยน่ะครับ ในหนังไม่เห็นน้ำตาโอ้ไหล แต่จริงๆไหลครับ แบบมันเต็มที่ ใส่อารมณ์เต็มร้อย ตอนนั้นพี่มะเดี่ยวก็มาสอนโอ้ แล้ววันที่ถ่ายฉากนี้ พี่ๆก็จะกักตัวโอ้ไว้ แล้วบอกว่าวันนี้ถ่ายฉากยากนะโอ้ เพราะเป็นซีนอารมณ์ ต้องทำสมาธิดีๆ”

๒. ผู้กำกับยอดเยี่ยม
ก้องเกียรติ โขมศิริ - ไชยา
เป็นเอก รัตนเรือง - พลอย
กิตติกร เลียวศิริกุล – เมล์นรก หมวยยกล้อ
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล - รักแห่งสยาม
โสรยา นาคะสุวรรณ - Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์

ผู้ได้รับรางวัล : ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จาก รักแห่งสยาม
ผู้กำกับคือคนที่ควบคุมการดำเนินเรื่อง ดูแลจังหวะหนัง หาวิธีการนำเสนอเรื่องราวในแต่ละฉากละตอน หรือพูดรวมๆคือเป็นผู้ร้อยรัดองค์ประกอบทุกอย่างในหนังเข้าด้วยกัน เพื่อสื่อสารเรื่องราวดังกล่าวออกมาอย่างมีสไตล์ รายนามของผู้ที่น่าบันทึกเพื่อการยกย่องในปีนี้ แม้จะไม่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ( Me …Myself ขอให้รักจงเจริญ), ภาคภูมิ วงษ์จินดา (วิดีโอคลิป), ปวีณ ภูริจิตปัญญา (บอดี้ ศพ # 19), ทวีวัฒน์ วันทา (อสุจ๊าก), บรรจง ปิสัญธนกุล และ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ (แฝด)
เส้นทางที่ โสรยา นาคะสุวรรณ เดินทางมาไกลที่สุดในปีนี้ คือการเข้าสู่รอบ 5 คนสุดท้าย แม้ผลงานของเธอจะเป็นความพยายามที่น่ายกย่อง และจับอารมณ์คึกคักเจือสับสนของวัยรุ่นได้ดี ทว่าประเด็นหนังยังแตกกระจาย และการดำเนินเรื่องถูกผลักไปไม่ถึงจุดสูงสุดอย่างที่โอกาสเอื้ออำนวย, ก้องเกียรติ โขมศิริ สามารถคุมหนังขอบเขตงานสร้างใหญ่โตได้อยู่หมัด ใช้เทคนิคอันหลากหลายรองรับการเล่าเรื่องได้ดี ทว่ายังมีการอ้างอิงหนังที่ข้นคลั่กไปนิด, กิตติกร เลียวศิริกุล คุมหนังได้สนุก แฝงสาระ ถือว่าพาหนังไปยังจุดที่ควรจะไปได้ถึง โดยไม่พยายามโชว์อัตตาผู้กำกับจนเกินเหตุ, เป็นเอก รัตนเรือง นำเสนอไอเดียที่ใหม่สด เป็นตัวของตัวเองสูง มีเหลี่ยมมุมอันเป็นสากลของมนุษย์ที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ ฝีมือของเขาไม่เป็นสองรองใคร ทั้งการคุมนักแสดงและการสื่อความหมายผ่านแสงสีเสียง แต่ปีนี้เขายังไม่ใช่ที่สุด
หากจะมีใครสักคน ทำหน้าที่ผู้กำกับได้สมบูรณ์ที่สุดในปีนี้ คนผู้นั้นย่อมเป็น ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เขากำกับกองทัพนักแสดงทั้งใหม่และเก่าได้อย่างสุดยอด (การที่นักแสดงหน้าใหม่ทำได้ขนาดนี้ ผู้กำกับย่อมได้รับการสรรเสริญ) เขาคุมจังหวะการเดินเรื่อง ผสานองค์ประกอบระหว่างการเล่าด้วยภาพ การตัดต่อ และดนตรีประกอบ จนสร้างอารมณ์อันหลากหลายอย่างได้ผล และทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวดในการสื่อความหมาย จึงถือว่าเขาคือหัวเรือใหญ่ที่คุมงานได้อย่างประณีต เชื่องมือ น่าประทับใจยิ่ง

ความรู้สึกของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ต่อรางวัล ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“ต้องขอบคุณทุกๆคนที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้เกิดหนังเรื่องนี้ขึ้น ในทางโปรดักชั่น ก็คือพี่ปรัชญ์, พี่ไก่, พี่ปุ๊กกี้, เสี่ยเจียง, พี่เอ๋, โอ๋, อุ๋ย, พี่หนึ่ง แล้วก็ทีมงานรักแห่งสยามทุกคน ที่ช่วยกันมาตลอด ตั้งแต่เริ่มโปรเจ็คท์วันแรกจนถึงตอนนี้... รางวัลกำกับยอดเยี่ยมจะไม่ได้มา ถ้าทีมงานไม่ได้ตั้งใจทำให้เราขนาดนั้น คือมันไม่ใช่เรื่องที่แบบเราทำได้อยู่คนเดียว ก็ต้องขอบคุณทุกคนมากๆ ขอบคุณนักแสดงทุกคนด้วยที่ตั้งใจทำงาน และมีอะไรดีๆให้เราเสมอๆ อย่างพี่นก, พี่กบ, น้องพลอย, พิช, โอ้, วงออกัส, ตาล, เบสท์ ทุกคนที่ร่วมงาน ป้าติ่ง, น้องหนักแน่น, อุ้ย เยอะ... ก็ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจในครั้งนี้ ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ ขอบคุณพี่น้องด้วย”
ดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังส่วนตัว ที่โดนใจคนส่วนรวม แอบกำกับอารมณ์คนดูด้วยหรือเปล่า... “คือมันเป็นไปโดยธรรมชาติ ก็รู้สึกดีใจที่หนังประสบความสำเร็จ คนดูได้หัวเราะ ได้ร้องไห้ไปกับเรา ได้รู้สึกอินไปกับหนัง แล้วนำไปพูดต่อจนถึงตอนนี้ นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จที่สุด ส่วนกำกับคนดูด้วยหรือเปล่า...ก็ใช่นะครับ (หัวเราะ)”

๑. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ไชยา – ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
บอดี้ ศพ # 19 – จีทีเอช
พลอย – ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
เมล์นรก หมวยยกล้อ -  อาวอง
รักแห่งสยาม – บาแรมยู และ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

ผู้ได้รับรางวัล : สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนลจาก รักแห่งสยาม
          ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือภาพยนตร์ที่องค์ประกอบทุกอย่างผสมผสานได้อย่างกลมกลืน พอเหมาะ สื่อสารทางความคิดและอารมณ์ได้ลงตัว มีสไตล์เป็นของตัวเอง ปีนี้มีหนังดีๆหลายเรื่อง อาทิ Me …Myself ขอให้รักจงเจริญ, วิดีโอคลิป, Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์, อสุจ๊าก และ แฝด แต่กระนั้นก็น่าเสียดายที่หลุดตกรอบไปก่อน
สำหรับหนังที่เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้าย... บอดี้ # ศพ 19 คือหนังที่ดูสนุก ชวนติดตาม มีงานสร้างเกรดเอ เพียงแต่บางครั้งออกจะคล้ายคลึงกับหนังโฆษณา มิวสิควิดีโอ หรือกระทั่งการอ้างอิงเพื่อคารวะหนังหลายเรื่องมากจนเกินไป กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นหนังหักมุมที่ชาญฉลาดเรื่องหนึ่ง, สำหรับ เมล์นรก หมวยยกล้อ อาจมีหน้าหนังเป็นภาพยนตร์ตลาดๆ มีคนมาติดอยู่บนรถเมล์คันเดียวกัน ด่ากันไปด่ากันมา สักพักก็เอาอาวุธมาข่มขู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังสะท้อนภาพสังคมได้อย่างแยบคาย แม้ว่าภาพรวมอาจจะดูธรรมดาไปนิด เมื่อเทียบกับเรื่องที่ชนะเลิศ, ไชยา คือหนังที่องค์ประกอบหลายอย่างสอดคล้องลงตัวมากๆ ทั้งบท การแสดง การกำกับ ทว่าด้วยการนำเสนอสาระจริงจัง แต่เลือกใช้รูปโฉมการแสดงออกที่ค่อนข้างเกินเลย จึงบั่นทอนความน่าเชื่อถือของเรื่องลง
พลอย อาจเป็นหนังยาวของเป็นเอกที่ดูสนุกมากที่สุดในรอบ 2 ปี (ในรอบสองปี มีหนังของเขาอีกเรื่องคือ อินวิซิเบิล เวฟส์ คำพิพากษาของมหาสมุทร) ทั้งยังสื่อภาวะ ‘เจ็ดปีคัน’ ของคู่รักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาวะหลอนนิดๆ กึ่งจริงกึ่งจินตนาการ เย้ายวนให้คิดตีความไปต่างๆนานา ตามแต่อารมณ์เนิบๆในหนังจะพาไป ทั้งยังมีองค์ประกอบทุกส่วนหนุนส่งอย่างดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มันยังมีหนังอีกเรื่องที่สมบูรณ์ลงตัวทั้งในแง่ของตลาดและศิลปะมากกว่า
คาดเดากันก่อนฉาย ว่า รักแห่งสยาม น่าจะเป็นหนังดีมีคุณภาพอีกเรื่องหนึ่ง ทว่าสิ่งที่ผู้กำกับและทีมงานฝากเอาไว้ในวงการหนังไทย ถือว่าเหนือความคาดหมายขึ้นไปอีก มันเป็นหนังแนวดราม่าเจืออารมณ์โรแมนติกที่อาจพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด หรือกล่าวให้ถึงที่สุด มันอาจเป็นแค่ ‘หนังเกย์วัยรุ่นขายฉากจูบ’ อย่างที่หลายคนสบประมาท ทว่าสิ่งที่เรื่องอื่นยากจะทำได้ คือการดำเนินเรื่องราวไปอย่างน่าเชื่อถือ ง่ายแต่สลับซับซ้อนด้านสัญลักษณ์อยู่ในที และที่สำคัญ ระหว่างทางเพื่อนำไปสู่จุดหมายท้ายสุด ว่าด้วยความหวังในทุกทางของชีวิต ผู้ชมจะถูกโน้มนำด้วยอารมณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจ ผ่านองค์ประกอบทุกอย่างของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง หรือการแสดง ซึ่งหากแยกส่วนออกมา จะพบว่ามัน ‘ดี’ และเมื่อรวมกันอย่างลงตัวแล้ว จึงกลายเป็น ‘ดรีมทีม’ ซึ่งหลอมเป็นภาพยนตร์ชั้นดี ชวนให้พูดถึงไปอีกนาน

ความรู้สึกของ อวิกา เตชะรัตนประเสริฐ (สหมงคงฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล) ต่อรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“ต้องขอบคุณคนดูที่เห็นความสำคัญของหนังเรื่องนี้ เห็นความสวยงามของหนังเรื่องนี้ เราดีใจที่เราได้ทำหนังเรื่องนี้ แล้วก็ภูมิใจกับหนังเรื่องนี้ อยากให้คนมาดูหนัง มาดูแล้วไม่รู้สึกเสียดายเวลา ดูแล้วได้อะไรออกไป หนังเรื่องนี้มันได้ความรู้สึก มันได้อะไรให้กลับไปคิด มีอะไรให้จำ คือเรามองว่า มันเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่งเลยล่ะ”

ความรู้สึกของ สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ (บาแรมยู)ต่อรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“เมื่อสองปีที่แล้ว ระหว่างที่พี่ทำ ต้มยำกุ้ง เราพยายามดิ้นรนจะทำหนังเรื่องนี้กัน ในวันนั้น มันยังมองกันไม่ออกว่าเราจะได้เงินมาทำ แต่พี่กับมะเดี่ยวก็ช่วยกันดิ้นรนสองคน ถึงขนาดพี่นำหนังไปขายที่ฮ่องกงคนเดียวมาแล้วก็มี ต้องยอมรับว่าหนังเรื่องนี้ปล่อยออกมาแบบเสี่ยงมากๆ เมื่อสองสามปีก่อน นายทุนให้เงินมา แต่งบมันต่ำมาก เราเลยกลัวจะเสียบท มะเดี่ยวตัดสินใจพับโครงการ ไปทำ 13 เกมสยอง ก่อน ซึ่งมันก็ออกมาดี นายทุนพี่ก็ลูกผู้ชาย เค้ายอมให้ทำต่อ ”


“สำหรับรางวัลที่ได้มานี้ ดีใจมากๆ จริงๆแล้วมันดีใจพอๆกับตอนที่พี่เปิดตัว องค์บาก ออกไป จริงๆพี่กับ พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ก็อยากจะทำหนังออกมาให้ได้ทุกแนว ไม่ใช่แอ็คชั่นอย่างเดียว แล้วหนังเรื่องนี้มันประสบความสำเร็จแบบไม่จบไม่สิ้น มีไปจนถึงการเปิดรอบพิเศษ เปิดคอนเสิร์ต ออกอัลบั้ม ทั้งๆที่เราไม่ชำนาญด้านนี้เลย บอกได้เลยว่าเป็นความดีใจมากๆของบาแรมยู อยากจะบอกว่าหายเหนื่อยเลยกับสิ่งที่ร่วมทำกันมา

สรุปรางวัล Starpics Thai Films Awards # 5 (๒๕๕๐)
1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: รักแห่งสยาม (บาแรมยู และ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล)
2. ผู้กำกับยอดเยี่ยม: ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล -รักแห่งสยาม
3. นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม: มาริโอ้ เมาเร่อ - รักแห่งสยาม
4. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม: สินจัย เปล่งพานิช - รักแห่งสยาม
5. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม: ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี - รักแห่งสยาม
6. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม: ภัทรวรินทร์ ทิมกุล - บอดี้ ศพ # 19
7. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: รักแห่งสยาม - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
8. กำกับภาพยอดเยี่ยม: รักแห่งสยาม - จิตติ เอื้อนรการกิจ
9. ลำดับภาพยอดเยี่ยม: เมล์นรก หมวยยกล้อ – กิตติกร เลียวศิริกุล และ พรรณพันธ์ ทรงขำ
10. กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม: ไชยา – ธนะ เมฆาอัมพุท และ ณัฐนิธิ เศรษฐการวิจิตร
11. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม: รักแห่งสยาม - กิตติ เครือมณี
12. ภาพยนตร์ยอดนิยม: รักแห่งสยาม (บาแรมยู และ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล)

เปรียบเทียบกับรางวัลอื่น ๆ

โปรดติดตามภาพชุดได้จากนิตยสารสตาร์พิคส์

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.