สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
เปิดตัวโครงการ “ Thailand Script Project” อย่างเป็นทางการ นนทรีย์และเป็นเอกหวังสร้างคนเขียนบทพัฒนาวงการหนังไทย
  9 สิงหาคม 2550 / ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล รายงาน    / ©thaicinema.org
  สำหรับรายละเอียดโครงการโปรดอ่านได้ที่นี่
   
 


เปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับโครงการ “Thailand Script Project” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) เอ็มโพเรี่ยม นำโดยสองผู้ริเริ่มโครงการ สองผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตรและเป็นเอก รัตนเรือง โดยมีปรัชญา ปิ่นแก้ว ในฐานะวิทยากรผู้ให้การอบรมในโครงการ และ รศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD), ตัวแทนของ TCDC และตัวแทนของโนเกีย สปอนเซอร์หลัก มาร่วมพูดคุยในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย

เป็นเอกเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของโครงการนี้แบบขำๆ ว่า “ ทีแรกจะจัดสี่ปีทีแบบบอลโลก... โครงการนี้จริงๆ ผมกับพี่อุ๋ยคุยเรื่องนี้กันมาหลายปีแล้วน่ะครับ ควรจะเริ่มทำมานานแล้ว แต่ว่า ต่างคนต่างยุ่ง ได้แต่คุยน่ะครับ จนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเพราะว่ามีคนช่วยให้เป็นรูปเป็นร่าง เรา(หมายถึงตัวเขากับนนทรีย์)มันแบบพูดไปเรื่อยๆ ”

ส่วนนนทรีย์ก็เล่าว่าจุดเริ่มของโครงการนี้คือ   เขาคุยกับเป็นเอกที่สนามบินที่ไหนสักแห่งนานมาแล้ว “ ผมคิดว่า  โอกาสเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่สำคัญที่สุดของการสร้างภาพยนตร์เลย เพราะฉะนั้นที่เราทำได้คือเปิดโอกาสให้แก่คนที่อยากทำ   ไม่สำคัญว่างานเล็กหรือใหญ่แค่ไหน   หลายคนถามว่าเรามีสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ   เรามีสมาคมผู้กำกับฯ ทำไมไม่ไปร่วมกับเขาแล้วจัดงานให้ยิ่งใหญ่?   ผมคิดแล้ว   เวลาที่คนไทยทำงาน   ผมไม่ได้ว่าใครนะ แต่เวลาคนไทยทำงานยิ่งคนเยอะ  องค์กรเยอะ  ก็จะใช้เวลาเคลื่อนไหวนานมาก   นี่ขนาดแค่เราสองคนยังใช้เวลาห้าปีกว่าที่จะเริ่มทำได้ ”


จากนั้นเป็นเอกก็กล่าวถึงต้นสายของไอเดียหลักโครงการนี้ ซึ่ง “ เกิดจากว่า ผมกับพี่อุ๋ยจะเดินทางไปตามตลาดหนังของประเทศต่างๆ แล้วเอาโปรเจ็คท์หนังของเราที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ยังไม่เป็นบทด้วยซ้ำ เป็นแค่ทรีตเมนต์ห้าหน้า เอาไปทำสิ่งที่เรียกว่า pitch คือเอาไปทำให้เขาสนใจ ผมกับพี่อุ๋ยก็ทำแบบนี้มาหลายปี เอาสิ่งที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างไปขาย มาคิดว่าไอ้การได้ไปเนี่ย ข้อดีของมันอย่างหนึ่งคือ คนที่มาเนี่ย บางทีก็ไม่ใช่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ บางทีก็เป็นคนที่เขาอยากทำน่ะ แล้วเขาก็ได้ทำน่ะ เพราะถ้าเกิดว่าเราจะรอเข้าไปในอุตสาหกรรมก่อน บางคนมันไกลเกินไป คนที่ไม่ได้เข้าไปก็ไม่ได้เขียนบท ถ้าผมเขียนบทไว้ที่บ้าน บ้านอยู่ตราด หรือเป็นข้าราชการอยู่จังหวัดเลย ใครจะมาเห็นบท? ”

อีกเหตุผลหนึ่ง เป็นเอกคิดว่าโครงการนี้เป็นการเปิดหนังไทยไปสู่มิติใหม่ๆ “ ใช้แต่คนที่อยู่ในวงการทำในสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการ มันก็จะได้แต่หนังผีแบบเดิมๆ หนังกระเทยแบบเดิม บางทีเราต้องการคนที่มองหนังผีอีกแบบ และมันไม่ใช่แค่โอกาสสำหรับคนเขียนบท แต่เป็นสำหรับของนายทุนด้วย แทนที่จะรับแต่สิ่งที่ทำโดยคนในอุตสาหกรรม เขาก็อาจจะได้เห็นสิ่งที่เขาคาดไม่ถึงและชอบมัน เอาไปต่อยอดจนเป็นหนังร้อยล้าน ” ส่วนนนทรีย์กล่าวว่านี่เป็นกุศลโยบายแฝง เพื่อหวังที่จะพัฒนาวงการหนังไทยต่อไป เขาหวังว่าจบโครงการนี้อาจจะมีคนเขียนบทเพิ่มอีก 15 คน ตัวเขากับเป็นเอกไม่ได้หวังอะไรมาก ถ้าบทหนังถูกเลือกไปสักเรื่องหนึ่งก็โอเคแล้ว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว “ ต่อไป ถ้า TCDC เห็นความสำคัญของมัน แล้วจะจัดขึ้นอีก โอกาสก็จะเปิดกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกคนก็มีความคึกคักที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ทำเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมา มันไม่เกี่ยวกับว่าผมกับเป็นเอกจะยังดูแลโครงการนี้หรือไม่ อยากให้มีคนอื่นให้ความสำคัญและสืบทอดโครงการนี้ต่อไป ผมและเป็นเอกอาจจะไม่ว่าง ต้องถอยออกมา ”


ที่อื่นๆ จะมีเทศกาลหนังแล้วมีโครงการนำเจ้าของเรื่องมาพบกับนายทุน เช่นปูซาน เป็นเอกกับนนทรีย์เห็นตรงกันว่าก็ไม่ต้องทำเทศกาลหนัง ก็สามารถทำโครงการในรูปแบบนี้ได้ “ มันคือการเอาคนเขียนบทพบผู้ลงทุน แบบผู้ผลิตพบผู้บริโภค เป็นวิธีที่เราคิดว่าง่ายที่สุด และเราตั้งใจว่าจะไม่ทำใหญ่โต ตั้งใจทำให้งานมันเล็กๆ ง่ายๆ จะได้ทำได้นานๆ งานนี้ไม่มีเดินพรมแดง ทำให้ง่ายและได้คุณภาพที่สุด ”

ในส่วนของเงินรางวัล ซึ่งอยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนบาท นนทรีย์คิดว่านี่จะเป็นขวัญกำลังใจที่ดีให้คนที่เข้ามาร่วมในโครงการนี้ได้สร้างสรรค์งานดีๆ ออกมา

ทางด้านปรัชญา ปิ่นแก้ว ก็กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่มีโครงการนี้ขึ้นมา เขาเห็นว่าหนังไทยเราเดี๋ยวนี้พัฒนาทุกด้านยกเว้นด้านนี้ โครงการนี้น่าจะทำให้มีคนคิดเขียนบทที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น

ส่วน รศ. ดร.อภินันท์เห็นว่าโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสที่ดี การเชื้อเชิญให้เด็กรุ่นใหม่ให้ส่งโครงเรื่อง เพื่อนำไปสู่การอบรมกับผู้กำกับแถวหน้าของไทย ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะทาง OKMD เน้นเรื่ององค์ความรู้ เปิดจินตนาการให้มากที่สุดโดยไม่โดนเซ็นเซอร์ (แอบกัดเล็กๆ) ถ้าผลิตคนแบบเป็นเอกหรือนนทรีย์ ออกมาได้ ก็จะเป็นโครงการที่ดีมากๆ

รูปแบบของโครงการคือ เมื่อคัดเลือกได้ 30 เรื่องที่น่าสนใจ ก็จะนำเอาเจ้าของเรื่องมาเข้ารับการอบรมสองวัน โดยจะมีวิทยากรอย่าง ตัวนนทรีย์และเป็นเอกเอง,วิสูตร พูลวรลักษณ์,จิระ มะลิกุล,ปรัชญา ปิ่นแก้ว,อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์,คงเดช จาตุรันต์รัศมี และยุทธเลิศ สิปปภาค วันแรกจะเน้นเรื่องคุยกับนายทุน หรือ

กลุ่มที่เข้าใจนายทุน อีกวันจะเป็นเรื่องของการเขียนบทล้วนๆ และจะทำการเลือกอีก 15 เรื่องและจะจัดให้พบกับผู้สร้างหนังแต่ล่ะค่าย (อาจจะมีบริษัทของต่างประเทศด้วย) และถ้าหากเป็นไปได้ โครงเรื่องที่เข้าร่วมโครงการนี้อาจจะเดินทางไปยังโครงการในลักษณะเดียวกันของต่างประเทศ เช่น PPP ที่ปูซาน นนทรีย์คิดว่าต่างประเทศน่าจะให้ความสนใจโครงการนี้ประมาณนึง เพราะว่าได้รับคัดเลือกแล้วจากผู้ทรงคุณวุฒิในบ้านเรา ส่วนโครงการหน้าอาจจะจัดแบบปีเว้นปี เพื่อให้มีเวลาได้เตรียมตัวกัน

ต้องติดตามกันต่อไปว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้มากน้อยสักแค่ไหนครับ ใครที่สนใจอย่าพลาดนะครับ หมดเขตส่งโครงเรื่อง 9 กันยายนนี้ครับ

สำหรับรายละเอียดโครงการโปรดอ่านได้ที่นี่

  ©thaicinema.org
 

 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.