สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
 

การประท้วง “ เงียบ ” แต่ไม่ “ เชียบ ” ของมูลนิธิหนังไทย หวังสร้างคลื่นเล็กๆ กระทบฝั่ง เพื่อสิทธิและเสรีภาพ

  LINK : กรณีการเคลื่อนไหวแสงศตวรรษ
  LINK: ลำดับการเคลื่อนไหวคัดค้าน พรบ.ภาพยนตร
  17 สิงหาคม 2550 /ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล รายงาน
   
 


หลังจากวางแผนจะบุกไปถึงทำเนียบรัฐบาลแต่ชวดซะก่อนมาแล้ว มูลนิธิหนังไทย ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย ก็หาได้คิดเลิกแผนการที่จะแสดงการประท้วงอย่างสันติสุขไม่ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ในฐานะวันสันติภาพไทย พวกเขาเล็งเห็นเป็นโอกาสอันดี เพราะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีการเสวนาเรื่อง วิพากย์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ อยู่พอดี ว่าแล้ว ก็หาที่เหมาะเพื่อที่จะพูดแบบไม่พูดดีกว่า

ตอนหกโมงเย็น ทีมงานของมูลนิธิหนังไทย และองค์กรข้างต้น รวมถึงคนรู้จักมักจี่รวม 10 กว่าคน มานั่งตรงบันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์ โดยแต่ละคนต่างมีผ้าปิดปากกันคนละอัน และร่วมมือกันที่จะนั่งเฉยๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ เป็นการประท้วงแบบสงบเงียบ ระหว่างการประท้วง สมาชิกร่วมขบวนจะทำการสื่อสารกันเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเขียนข้อความ หรือการจ้องตากัน เพื่อให้การประท้วงนี้แสดงพลังของมันได้อย่างแท้จริง


ชลิดา เอื้อบำรุงจิต แกนนำสำคัญของมูลนิธิหนังไทย เล่าถึงที่มาของเหตุการณ์ในวันนี้ว่า “ วันนี้เนื่องในวันสันติภาพไทยน่ะค่ะ แรงบันดาลใจมาจากท่านผู้หญิง พูนสุข พนมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า คนน่ะไม่รู้

หรอกว่าวันนี้มันสำคัญยังไง เพราะว่าคนสมัยนี้เขาไม่ต้องต่อสู้กับอะไรเพื่อให้ได้เสรีภาพของตัวเองมา คนไม่ค่อยเห็นค่าของวันนี้ ตอนที่ท่านเสีย ได้ดูวีดีโอที่ท่านสัมภาษณ์เช่นนี้ ก็รู้สึกสะเทือนใจ วันนี้อาจจะเป็นวันที่เราคงทำอะไรไม่ได้มากน่ะ แต่ว่าการที่เราส่งเสียงเงียบๆ ออกไปเนี่ย มันเป็นสิ่งที่เราทำได้และควรจะทำ เราก็เลยคิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ว่าเราจะมานั่งเงียบหน้าสยาม ตอนนี้มันไม่ได้มีแค่เรื่องภาพยนตร์อย่างเดียว อยากให้คนตระหนักเรื่องเสรีภาพของตัวเอง...ก็ไม่มีอะไรรุนแรง เราจะนั่งเงียบๆ สื่อสารด้วยวิธีอื่น ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นน่ะค่ะ ก็ต้องลองดู อาจจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือไม่มีก็ได้ ”

 


โดม สุขวงศ์ แห่งหอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งมาร่วมประท้วงด้วย พูดถึงการกระทำในครั้งนี้ว่า “ ได้ผลไม่ได้ผล ต้องประท้วง พูดถึงสิทธิเสรีภาพ อยู่เฉยๆ ไม่มีทางได้มา ประวัติศาสตร์ก็สอนอยู่แล้ว ต้องเรียกร้องต้องต่อสู้ ทางภาครัฐเขาคิดว่าคนไทยไม่ฉลาด ถึงต้องมาคุมไง คิดว่าพวกเราไม่รู้ว่าจะดูอะไรดี ต้องมา

กลั่นกรองให้ เราเป็นแบบนี้มาหลายสิบปี จนเราลืมไปว่าเรามีสิทธิเสรีภาพ ...ถ้าถามว่าต้องทำอย่างไรต่อ? มันก็มีขบวนการอยู่หลายวิธี ที่ทำวันนี้เป็นวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะทางจิตใจ จิตใจของผู้มาประท้วงเอง ที่ต้องยืนหยัดต้องต่อสู้ เราเชื่อว่าสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่สำคัญของมนุษย์ เราต้องมีได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยที่ไม่ควรจะมีข้อแม้ใดๆ เพราะสังคมปรกติก็มีกฎหมายคุ้มครองดูแลอยู่แล้ว ”


เมื่อการประท้วงดำเนินไปจนสิ้นสุด จริงอยู่อาจจะไม่มีใครให้การสนใจมากนัก แต่การเคลื่อนไหวเล็กๆ ย่อมต้องดีกว่าการนั่งเฉยๆ รอเวลาโดยไม่คิดจะทำอะไรเลยเป็นแน่ การเคลื่อนไหวซึ่งอาจจะดูเหมือนลมหายใจที่แผ่วเบา แต่ต่อไปข้างหน้า อาจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างขึ้นมาก็ได้

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.