สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
  LINK: รายงานความเคลื่อนไหวของการเซ็นเซ่อร์ และ แสงศตวรรษ
   

ผู้กำกับดังให้กำลังใจอภิชาติพงศ์เพียบ พร้อมสนับสนุนการปลดปล่อยเสรีภาพหนังไทยกันเพียบ

  24/4/2007 อัญชลี ชัยวรพร
 

ในงานเสวนาเรื่อง "จากกรณี แสงศตวรรษ ถึง เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์" เมื่อบ่ายวานนี้ เวลา 16.00 น. ที่โรงหนัง House of Rama ที่อาร์ซีเอนั้น มีผู้กำกับเดินทางมาให้กำลังใจอภิชาติพงศ์ และสนับสนุนการคัดค้านเซ็นเซอร์เป็นจำนวนมาก ทั้งในฐานะผู้ร่วมอภิปราย ซักถาม แนะนำ หรือแม้แต่มาให้กำลังใจ

ผู้ที่มาร่วมงานนี้ ได้แก่ นนทรีย์ นิมิบุตร เป็นเอก รัตนเรือง มานพ อุดมเดช ปื๊ด ธนิตย์ จิตต์นุกูล อังเคิล อดิเรก วัฐลีลา อุดม อุดมโรจน์ บัณฑิต ทองดี พิง ลำพระเพลิง   ปรัชญา ปิ่นแก้ว   รวมทั้งคนทำหนังอินดี้ยุคแรก ๆ อย่าง มานิตย์ ศรีวาณิชภูมิ และอิ๋ง เค ซึ่งหนังยาวเพียงเรื่องเดียวของเธอ คือ คนกราบหมา ถูกเซ็นเซอร์ไม่ให้ฉายในเทศกาลหนังกรุงเทพครั้งที่ 1 เมื่อปี 2541 สมัยที่ทางเดอะเนชั่นเป็นผู้จัด  



คนกราบหมา ได้วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยในหลาย ๆ ด้าน  รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ ในสังคม  เป็นหนังที่ถ่ายทำด้วยระบบ 16 มม. สมัยที่ยังไม่มีกล้องวีดีโอหรือดิจิทัลอะไรทั้งสิ้น  อิ๋ง เค เป็นผู้ ลงทุนเองทั้งหมด  โดยเมื่อเธอจะนำฉายในเทศกาลหนังกรุงเทพครั้งที่ 1 นั้น  ตอนแรกทางกองเซ็นเซอร์ไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้  เพราะเป็นโปรเจ็คอินดี้   แต่อยู่ดี ๆ มีมือลึกลับส่งแฟกซ์ไปตามสื่อต่าง ๆ   โดยลงตีพิมพ์ว่าเทศกาลหนังครั้งนี้มีหนังต้องห้ามหลายเรื่อง  เพราะฉะนั้นเมื่อสื่อตีพิมพ์แล้ว กองเซ็นเซอร์ก็เลยเรียกหนังมาดู ส่งผลให้หนังเรื่อง คนกราบหมา ถูกสั่งไม่ให้ฉายในที่สุด   และเธอลงทุนถึงกับไปประท้วงหน้าสภา  และ คนกราบหมา ก็ไม่เคยได้รับการฉายในเมืองไทยจนถึงขณะนี้  ยกเว้นรอบภายในซึ่งฉายที่เกอเต้ครั้งเดียว  ไม่แตกต่างจาก แสงศตวรรษ นัก

เพียงอีกปีถัดมา ก็มีคนทราบว่า มือลึกลับผู้ส่งแฟกซ์ชิ้นนี้คือใคร  และเขาคนนี้็ยังคนวนเวียนอยู่ในวงการหนัง   ขณะที่ อิ๋ง เค เลิกทำหนัง   หันไปใช้ชีวิตเงียบ ๆ โดยการวาดรูปแทน และมีแกลอรี่อยู่แถวสีลม

ฉากเริ่มต้นนาฎกรรมอำลา แสงศตวรรษ
งานเสวนาเริ่มขึ้นเมื่อผู้กำกับสาวพิมพกา โตวิระ เริ่มส่งคำถามให้อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ต่อความรู้สึกในฐานะเจ้าของงาน ผู้กำกับหนุ่มบอกว่า ความรู้สึกแรกสุด ก็คือ เศร้า และช็อค เขาบอกว่ายอมรับได้ตอนที่มีการเซ็นเซอร์ฉากหนึ่งใน สุดเสน่หา (ซึ่งมีฉากเห็นอวัยวะเพศชาย) แต่แสงศตวรรษ ไม่ได้มีเจตนาไปในทางนั้นเลย

อภิชาติพงศ์ : ตอนแรกที่เราจะฉายหนังเรื่องนี้นั้น ทางทีมงานเห็นว่า พวกเราจะลองดูฉายหนังกัน โดยไม่ผ่านระบบสตูดิโอ อาจเกิดเวทีใหม่ที่เราสามารถเจรจาในการฉายหนังได้ อาจะเป็นการเบิกทางให้กับหนังนักเรียน หนังเล็ก ๆ เรื่องอื่น ๆ ในอนาคตได้ เราก็ผ่านไปตามขั้นตอนอย่างที่ระบบสตูดิโอเขาจะทำกัน

มาถึงเรื่องนี้ ได้มีการยื่นไมค์ให้คุณพันธุธัมม์ ทองสังข์ กล่าวต่อ ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมผลิตหนังเรื่องนี้ และเคยช่วยพิจารณาภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง

พันธุธัมม์ : หนังเรื่องนี้เป็นอินดี้ ใช้ระบบอินดี้ ก็เลยไม่ผ่านสตูดิโอ ปรกติแล้วถ้าเป็นหนังก่อนหน้านี้ ผมจะคอยช่วยดูแลหนังของเจ้ยตลอดในเรื่องเซ็นเซอร์ พอเป็นเรื่องนี้ ผมคิดว่าเท่าที่ดู มันไม่ได้มีอะไรที่น่าจะเป็นห่วง ก็เลยไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยกับกองเซ็นเซอร์

เท่าที่ผ่านมา การเซ็นเซอร์ในบ้านเรานั้น กรมตำรวจจะทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้จัดการ โดยกองทะเบียนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจตราภาพยนตร์ ซึ่งได้แก่ สมาพันธ์ภาพยนตร์ ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนจากตำรวจ และตัวแทนอื่น ๆ

เท่าที่ทราบมา การพิจารณาจากคณะกรรมการชุดแรก (เมื่อวันที่ 2 เมษายน) ขอไม่ลงมติ เพราะเห็นว่ามีฉากล่อแหลม 3 ฉาก คือ พระเล่นกีตาร์ หมอดื่มเหล้า และหมอจูบกับแฟนสาวแล้วเป้าตุง คณะกรรมการไม่สามารถตัดสินแทนได้ ขอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับฉากดังกล่าวเข้ามาตรวจตราอีกครั้ง

เขาเชิญตัวแทนศาสนา และแพทยสภามาโดยตรงในการพิจารณาครั้งที่ 2 ซึ่งในครั้งที่สองนั้น ผมได้ไปรอตั้งแต่ 11 โมงเพื่อเตรียมชี้แจง แต่เขาพิจารณาไปแล้ว ซึ่งทราบมาว่าเป็นตัวแทนจากวัฒนธรรม แพทยสภา ศาสนา เป็นต้น

ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งทราบว่ามาจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ขอให้ไม่ผ่านฉากพระเล่นกีตาร์ จริง ๆ เขาขอให้ไม่ผ่านฉากพระเล่นเครื่องร่อนอีกด้วย

ส่วนฉากคุณหมอนั้น เท่าที่ทราบมาก็คือ ตัวแทนไม่ใช่คุณหมอโดยตรง แต่เป็นนิติกร เขาคิดว่าฉากดื่มเหล่าในโรงพยาบาล และฉากกอดจูบไม่สมควร

ท้ายที่สุด เขาต้องการให้อุทธรณ์ เพื่อให้คุณหมอ และตัวแทนศาสนาโดยตรงมาดูอีกครั้ง

ผมคิดว่า มันเกิดจากผู้ที่เป็นตัวแทนเท่านั้น เขารู้สึกว่า ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง เลยให้ไม่ผ่าน

ลักษณะการตัด :
อภิชาติพงศ์ : เขาให้เราตัด แต่เราไม่ตัด เรามีจดหมายยืนยันว่าไม่ฉาย ลักษณะการตัดของเขา ก็จะเป็นแบบ เอาเข้าเครื่องฉาย แล้วก็ตัดฉากดังกล่าวลงไปเลย หนังมันเหมือนลูกของเรา

ผมสงสารทุกคน สงสารกลุ่มนั้น สงสารคนทำหนัง และสงสารคนดู ทำไมบ้านเราจึงถูกล้อมกรอบด้วยคนเพียงไม่กี่คน

เท่าที่ทราบมา ผมเคยได้ยินมาว่า มีการยัดเงินบ้าง หรือเข้าไปสั่งห้ามแบบ “ ถ้าพวก – งจะตัดหนัง ก็จะเล่นศาลปกครอง อะไรแบบนี้

ผมรู้สึกว่า ประเทศไทยมันเหมือนหมู่บ้านหนึ่งที่คนสร้างกรอบเหล็กขึ้นมา แล้วให้ประชาชนเป็นคนทำกรอบเหล็ก แต่คนที่สั่งให้ประชาชนทำ เป็นเพียงคนไม่กี่คน

การเคลื่อนไหวร่าง พ. ร . บ. ใหม่
ปรัชญา ปิ่นแก้ว : มีการเคลื่อนไหวมานานมาก แต่ยังไม่ได้ไปไกลมากนัก ยังคงติดอยู่ที่เรื่องเดียว คือ เสรีภาพในการนำเสนอ ถึงเวลาที่หนังไทยยังคงถูกจำกัดอยู่ เมื่อส่งงานไปตรวจสอบ ขณะที่สื่ออื่น ๆ เขาไม่โดนแล้ว เรายังต่อสู้อยู่ด้านเดียว หลายรูปแบบ ไม่เคยได้รับการตอบ

เท่าที่ผ่านมา บางทีเราก็ต้องใช้อิทธิพลบ้าง เงินบ้าง หรือยอมบ้าง ก็ต้องรอจนกว่าจะมี พระราชบัญญัติใหม่เกิดขึ้น

ปัจจุบันนั้น ระบบเซ็นเซอร์ มันให้คำตอบแค่ว่า ได้ - ไม่ได้ หรือ ฉาก - ไม่ฉาย เท่านั้น

ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่า บอกว่าภาพยนตร์เป็นสื่อ แต่เมื่อถึงเวลาปฎิบัติแล้ว มันไม่สอดคล้องกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่า รัฐบาลจะปิดสื่อไม่ได้ ปิดโรงพิมพ์ไม่ได้ ปิดสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ไม่ได้เลย แต่เมื่อถึงภาพยนตร์ กลับไม่ได้พิจารณาตรงนี้

ชลิดา: กล่าวโดยรวมแล้ว การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยน พระราชบัญญัติใหม่นั้นมีมานานถึงสองปีแล้ว แต่ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เรื่องได้ไปถึงขั้นสภาแล้ว มีการเชิญหลายฝ่ายให้เข้าร่วม มีการเดินทางไปสัมมนาถึง 4 ภาค ได้ผลสรุปว่า พระราชบัญญัติฉบับเก่าล้าหลังมาก ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก จำเป็นต้องทำฉบับใหม่ โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ

หลายเดือนถัดมา ก็มีกฤษฎีกาบอกว่า ให้มีพระราชบัญญัติใหม่ ซึ่งมีลักษณะเหมือนรวมของเก่าฉบับ 2473 เข้ามากับอันใหม่ และรวมกับวีดิทัศน์ด้วย มีความพยายามที่จะดึงโทรทัศน์มาด้วย แต่ทางโทรทัศน์เขามีคณะกรรมการของเขาอยู่แล้ว (เรียกว่า กทช)

สรุปแล้วว่า สมควรใช้ระบบเรตติ้ง แต่ระบบเรตติ้งก็มีหลายแบบเช่นกัน

ประสบการณ์และความคิดเห็นของคนนอก
จิระนันท์ พิตรปรีชา: จริง ๆ แล้วในฐานะที่เป็นคนทำซับไตเติ้ล ตัวเองได้ดูหนังฉบับ uncut ถึง 300 กว่าเรื่องแล้ว เพราะกองเซ็นเซอร์ไม่สามารถดูฉบับดั้งเดิมได้ ต้องดูฉบับที่มีซับไตเติ้ล

ตัวเองเห็นว่า หนังบางเรื่องมันน่าจะถูกตัดภาพบางภาพออก แต่ก็ผ่านฉลุย มีฉากเลิฟซีน ซึ่งหมิ่นเหม่มาก แต่ก็ผ่าน เพราะมันมืด มองไม่เห็น ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย

สิ่งที่อยากให้เป็น
ปรัชญา : ผมอยากให้มีระบบที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน กับความเคลื่อนไหวของบ้านนี้เมืองนี้ อย่างหนังซึ่งบางครั้งมันเป็นแค่เรื่องสมมติ แต่เรากลับให้ระบบมาเป็นผู้ตัดสิน เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนระบบให้มันสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่

แต่ตอนนี้ ก็มีคนมองว่า เรามีเจตนาที่จะทำผิด มองหาว่าเราเสนอความรุนแรง แต่ถ้าคนหวาดระแวง เราก็ให้มีระบบเรตติ้งก็แล้วกัน

พันธุ์ธัมมุ์: ผมอยากให้เกิดทรรศนะที่ยุติธรรมกับภาพยนตร์ เพราะปัญหาที่มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่าเราจะพยายามไม่ให้มีการปิดกั้นสื่อแล้ว ภาพยนตร์ก็ไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นสื่อ ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้กลับมีทรรศนะในเชิงลบ ก็จะไม่มีทางดีขึ้น เมื่อเสนอกฤษฎีกา ก็ยังยืนยันกระต่ายขาเดียวให้มีเซ็นเซอร์ อยากให้มีเรตติ้งก็ได้ อยากให้มีเซ็นเซอร์ก็ไม่ว่า แต่ควรมีทรรศนะที่ดีต่อภาพยนตร์

อภิชาติพงศ์ : มีหลายคนถามผมว่า ทำไมไม่สู้ ผมบอกว่ายังมีการสู้อยู่ ด้วยการไม่ฉายถ้า พ. ร . บ . ไม่ผ่าน ถ้าผ่านแล้ว เราถึงจะฉาย

ในทางอุดมคติ อยากให้เราเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว เราอยากให้ล้มกองเซ็นเซอร์ ที่เราประทับใจมากก็คือ petitiononline ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 4,500 คนในเวลาเพียงหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งเจ้ยคิดว่า น่าจะมาจากสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ด้วย และอยากให้แรงมวลชนช่วยผลักพระราชบัญญัติใหม่

ต่อจากนั้น ก็มีการซักถามและเสนอความคิดเห็นจากทางฟอรั่ม ซึ่งหลายคนได้เสนอความคิดเห็นน่าสนใจแตกต่างกันไป รวมทั้งคุณมานพ อุดมเดช และใครต่อใครจำนวนมาก

ฝรั่งคนหนึ่งได้ลุกขึ้นมาตั้งประเด็นน่าสนใจว่า อันที่จริงแล้วมันมีหนังที่ถูกเซ็นเซอร์เป็นจำนวนมาก แต่ทำไมจึงเกิดกระแสกับ แสงศตวรรษ มากเป็นพิเศษ เขาตั้งข้อสังเกตุว่า อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน น่าจะมีส่วนในการสร้างกระแสเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

 

 

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.