สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
  รายงานความเคลื่อนไหว แสงศตวรรษ
  ลำดับตามข้างล่างนี้ตั้งแต่แรก เริ่มจากข้างล่างสุด
   
ก้าวต่อไปของ “ เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์”
Free Thai Cinema Movement เกิดอะไรขึ้นหลังจากงานเสวนาครั้งแรก
 

15 พค. 2550  รายงานโดย ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล

ถ้าหากใครได้เข้าร่วมงานเสวนา “ จากกรณี ‘ แสงศตวรรษ’ สู่ ‘ เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์’ เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา อาจจะมองเห็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้เกิดเสรีภาพในการรับรู้และแสดงออกผ่านสื่อ บางคนคงจะเกิดความสะใจเมื่อมีผู้เข้าร่วมฟังเสนอให้คุณอภิชาตพงศ์ และสมาชิกของเครือข่ายฯทำการฟ้องศาลปกครอง หรือเสนอให้ไปเดินขบวนประท้วง แต่หลายคนคงจะสงสัย จะทำเช่นนั้นกันได้จริงๆ หรือ? บางคนอาจจะรู้สึกว่าเสวนาเสร็จแล้ว ไม่เห็นจะเกิดอะไรขึ้นเลย

อนาคตของ “ แสงศตวรรษ”

คุณสุชาดา สิริธนาวุฒิ ผู้ช่วยผู้กำกับของหนังเรื่องนี้ ได้เล่าถึงเรื่องของฟิล์มหนังว่าตอนนี้ก็ยังคงอยู่ที่กองเซ็นเซอร์ เพราะไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากทำตามเขา ส่วนเรื่องฟ้องศาลปกครอง เธอบอกว่ากำลังตัดสินใจกันอยู่ เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและใช้ขั้นตอนมาก เร็วๆ นี้น่าจะสามารถตัดสินใจได้

ก้าวต่อไปเพื่อปลดปล่อยหนังไทย

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ เมื่อได้ทำการสอบถามไปยังคุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต แห่งมูลนิธิหนังไทย หนึ่งในเครือข่ายฯ ถึงสิ่งที่ทางเครือข่ายฯกำลังพยายามทำกันอยู่ เธอก็ชี้แจงคร่าวๆ ว่า กำลังจะทำการจัดเสวนากันอีกครั้ง โดยพยายามดึงเอากลุ่มอื่นๆ ที่พยายามรณรงค์เรื่องสิทธิประชาชนด้านข้อมูลข่าวสาร มาช่วยกันทำให้เครือข่ายฯเข้มแข็งขึ้น เธอบอกว่าอยากจะเตรียมข้อมูลด้านอื่นๆ ให้มากขึ้นเพื่อสามารถนำเสนอสู่สาธารณะชนได้ เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนได้คือพลังมวลชน ทำอย่างไรให้เชื่อว่าเมื่อแก้ปัญหาได้ก็ไม่ใช่ว่าเอามาใช้ทำหนังโป๊ และเมื่อประชาชนได้รู้ถึงความตั้งใจที่แท้จริง การรณรงค์ก็น่าจะเป็นไปได้ด้วยดี

“ ทางเราพยายามจะทำเอกสารแจก มากกว่ามาด่าๆ มันไม่มีประโยชน์อะไร อยากจะหยอดข้อมูลให้ข้อมูลมาหนุน ในทีวีกระทรวงวัฒนธรรมก็พูดอยู่ฝ่ายเดียวว่าความรุนแรงไม่ดี”

ปัญหาการแก้กฎหมาย

ส่วนเรื่องการหาทางแก้กฎหมาย คุณชลิดาได้เล่าว่าตอนนี้เป็นไปได้ยาก “ ก่อนหน้านี้มีนายตำรวจท่านหนึ่งได้ทำการวิจัยด้านนิติศาสตร์ เขาก็บอกว่ากฎหมาย พ. ร. บ. ภาพยนตร์นี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ วิธีปฎิบัติที่เอาคนหกเจ็ดคนมาเซ็นเซอร์ก็ไม่ถูก ถ้าก่อนหน้านี้ฟ้องศาลได้ ดำเนินการได้ว่ากฎหมายผิด” แต่ตอนนี้ทำไม่ได้เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว

ที่สำคัญ เมื่อเรื่องการรณรงค์นี้ได้รับความสนใจ ตอนนี้ก็มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และนักการเมืองบางคนอาจจะมีเจตนาซ่อนเร้น เข้ามาร่วมเพื่อหวังผลอะไรสักอย่าง ด้วยเหตุผลรวมๆ ทำให้คุณชลิดาและเครือข่ายฯคิดว่าควรชะลอเรื่องการผลักดันแก้กฎหมายเอาไว้ก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องการนักการเมืองมาร่วมด้วยเพราะถ้าไม่มีคงจะแก้กฎหมายกันไม่ได้

งานเสวนาครั้งต่อไปที่คุณชลิดาหมายถึงก็คือ งานเสวนาในหัวข้อ “ ศิลปวัฒนธรรมกับรัฐธรรมนูญ” ในวันที่ 19 พฤษภาคม ที่พิพิธภัณฑ์จิม ทอมป์สัน ตั้งแต่ 10 โมงเช้าเป็นต้นไป

คุณสุชาดาช่วยเสริมว่า การเสวนาครั้งต่อไปจะเข้มข้นขึ้น เน้นเนื้อหาทางวิชาการมากขึ้น เพราะจะเชิญทั้งนักวิชาการทางภาพยนตร์ มาถกกันว่าถ้าไม่มีเซ็นเซอร์แล้วจะมีอะไร ? มีเรตติ้งหรือเปล่า? แล้วระบบเรตติ้งจะเดินไปในทิศทางไหน? อาจจะมีการจำลองสถานการณ์ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาดูหนังสักเรื่อง แล้วลองช่วยกันจัดเรตติ้ง

ส่วนในเรื่องที่มีคนเสนอให้ไปประท้วง คุณชลิดาเห็นว่าการประท้วงไม่จำเป็น เพราะใครต่อใครต่างพากันไปประท้วงกันสารพัดเรื่องที่สนามหลวง ถ้าหากไปร่วมด้วยก็จะเป็นแค่กลุ่มที่ 20 ที่มาประท้วง ซึ่งคงจะไม่มีใครสนใจและไม่มีประโยชน์อะไร ก็ได้นะครับ

   

24/4/2007 ผู้กำกับดังให้กำลังใจอภิชาติพงศ์เพียบ พร้อมสนับสนุนการปลดปล่อยเสรีภาพหนังไทยกันเพียบ

   
 

23/4/2007 ขอเชิญท่านผู้สนใจ ร่วมฟังการแถลงข่าว และการเสวนาเรื่อง "จากกรณี แสงศตวรรษ ถึง เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์"

ผู้ร่วมเสวนา คุณ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับ
คุณ ปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับไทย
คุณ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย
คุณ พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับ
คุณ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
ดำเนินรายการโดย คุณ พิมพกา โตวิระ ( ผู้กำกับภาพยนตร์)  
วันจันทร์ที่ 23 เมษายน ที่โรงภาพยนตร์ HOUSE RCA พระราม 9 ลงทะเบียนเวลา 15.00 น. แถลงข่าวและสัมมนา เวลา 16.00 น. 

 


20/4/2007
15.00 น. ต่อข้อซักถามเรื่องการคืนฟิลม์แสงศตวรรษ  ทางกองเซ็นเซอร์ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า "กำลังเข้าสู่กระบวนการทางด้านกฎหมาย" เสร็จแล้วก็ขอตัว ไม่ให้คำอธิบายหลังจากนั้น

  19/4/2007 มูลนิธิหนังไทย, ไบโอสโคป, Kick the Machine และตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับ เตรีบมจัดงานเสวนาเรื่องเซ็นเซอร
  18/4/2007 สมาคมผู้กำกับแห่งประเทศไทย (นำโดยนายปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคม), ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (โดยนายชัยวัฒ ทวีวงศ์แสงทอง นายกสมาคม ) และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน (โดยนายบรรจง โกศัลยวัฒน์)   ร่วมยื่นแถลงการณ์ต่อ นพ.ชูชัย สุขวงศ์ อนุกรรมาธิการยกร่างกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ ที่รัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญระบุให้ภาพยนตร์เป็นสื่อสารมวลชนเช่นเดียวกับที่บรรจุหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ไว้ในมาตรา 39,40 และ 41 นพ.ชูชัยรับเรื่องไว้พร้อมกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และจะนำไปขยายผลในการประชุมอนุกรรมการครั้งต่อไป - มติชน 19 เมษายน 2550
  15/4/2007  (06.11)  ร่วมกันสนับสนุนเพื่อปลดปล่อยภาพยนตร์ไทยสู่เสรีภาพ
  12/4/2007  (16.00)  กองเซ็นเซอร์ขอเลื่อนให้คำตอบเป็นช่วงหลังสงกรานต
  12/4/2007  (06.30)   ด่วน กองเซ็นเซอร์ตัดหนังเพิ่มเป็น 4 ฉาก  และยืนยันจะตัดหนังทิ้งแม้ทางทีมงานไม่ฉายหนังแล้ว
  11/4/2007 (18.00 น.) กองเซ็นเซอร์ไม่ยอมคืนหนัง สิงคโปร์ฉายหนังสิ้นเดือนนี้
  10/4/2007   แถลงการณ์เรื่องงดฉายภาพยนตร์เรื่อง "แสงศตวรรษ" จากทีมงาน
  10/4/2007 (17.50 น.) แสงศตวรรษ มีปัญหาเซ็นเซอร์ รอการพิจารณาอีกครั้งวันที่ 18 เมษายน นี้
   
ร่วมกันสนับสนุนเพื่อปลดปล่อยภาพยนตร์ไทยสู่เสรีภาพ
 

การเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยภาพยนตร์ไทยสู่เสรีภาพ
โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับไบโอสโคป มูลนิธิหนังไทย สมาคมผู้กำกับ และพันธมิตร

ผมรู้สึกเสียใจยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแก่หนังของผม อย่างไรก็ตาม การต่อสู้นี้มิได้เป็นไปเพียงเพื่อจะผลักดันภาพยนตร์เรื่อง "แสงศตวรรษ" ให้ได้เข้าโรงฉายในประเทศไทย ผมมิได้มีความต้องการจะใช้โอกาสนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของผมเอง แต่ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องขบคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับกฎหมายการเซ็นเซอร์ของไทยเรา เพื่อที่คนทำหนังรุ่นต่อไปจะได้ไม่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกับพวกเรา และผู้ชมชาวไทยจะได้มีอิสระในการเลือกอย่างแท้จริงเสียที

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องถกเถียงกันว่า ก่อนที่หนังทุกเรื่องจะเข้าฉายนั้น ควรหรือที่มันจะต้องผ่านการพิจารณาจากกรมศาสนา แพทยสภา กลุ่มวิชาชีพครู กรมแรงงาน ทหาร กลุ่มคนรักสัตว์ สหภาพแท็กซี่ ผู้แทนจากประเทศอื่น ฯลฯ? หรือมันจะง่ายกว่าหากเราเปลี่ยนระบบการปกครองของประเทศให้เป็นรัฐเผด็จการเสียเลย เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างเห็นพ้องเป็นหนึ่งเดียวกันทุกสิ่ง และไม่ต้องเสียเวลาพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยกันอีกต่อไป?

ระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของไทยจำเป็นต้องถูกประเมินมาตรฐานเสียใหม่ สถานภาพและประสิทธิภาพของคณะกรรมการเป็นสิ่งที่ต้องถูกตรวจสอบและตั้งคำถาม และเราควรตัดสินใจว่ากฎหมายเหล่านี้สมควรถูกเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง ผมใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านโปรดแสดงความคิดเห็นต่อระบบการเซ็นเซอร์ในประเทศของเรา และกรุณาให้คำแนะนำต่อเรา ได้ที่ http://www.petitiononline.com/nocut/petition.html

ความคิดเห็นของท่านจะได้รับการส่งต่อไปยังรัฐบาลไทย การสนับสนุนของท่านจะมีความหมายอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ของเราเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ เสรีภาพ ผมขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาสละเวลาและมีส่วนร่วมในครั้งนี้

ขอบพระคุณมากครับ

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หมายเหตุ : 1.สำหรับผู้ที่ลงชื่อในเวบบอร์ด thaifilm.com ไปแล้ว ขอความกรุณามาลงชื่อในเว็บใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้งด้วยครับ

2. การลงชื่อ ขอเป็นชื่อและนามสกุลจริงนะครับ เพื่อใช้ตามกฎหมายได้

3.ติดตามรายละเอียดความคืบหน้าต่างๆ ได้ที่บล็อก http://a-century.exteen.com

 

 

กองเซ็นเซอร์ขอเลื่อนให้คำตอบเป็นช่วงหลังวันหยุดสงกรานต์้
 

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 เมษายน  ทางเว็บได้โทรเข้าไปที่กองเซ็นเซอร์  เพื่อขอคำ้ชี้แจงกรณียึดฟิลม์หนัง แสงศตวรรษ

ปรากฎว่า ทางเจ้าหน้าที่ผู้รับสายโทรศัพท์ กล่าวว่า ทางสารวัตรกองเซ็นเซอร์ไม่ได้เข้าประชุมด้วยในขณะที่มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ   และขณะนี้ทางท่านสารวัตรกำลังเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่  

ทางเว็บได้เจรจาขอให้แนะนำท่านที่สามารถให้คำตอบได้ในวันนี้  ทางกองเซ็นเซอร์ขอเลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้า หลังเปิดวันสงกรานต์ไปแล้วค่ะ

ขออภัยที่ติดต่อทางกองเซ็นเซอร์ค่อนข้างช้า  จนไม่สามารถให้คำตอบก่อนวันสงกรานต์ได้ค่ะ  เนื่องจากทางติดภารกิจสำคัญตลอดช่วงเช้า

ขณะนี้ ทางเว็บกำลังศึกษาตัวบทกฎหมายฉบับนี้อยู่  และจะสแกนลงเว็บนี้ในเร็ววันนี้

 

ด่วน กองเซ็นเซอร์ตัดหนังเพิ่มเป็น 4 ฉาก  และยืนยันจะตัดหนังทิ้งแม้ทางทีมงานไม่ฉายหนังแล้ว
 

แถลงความคืบหน้าเพิ่มเติม กรณีฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง " แสงศตวรรษ"จากทีมงาน

หลังจากทีมงานภาพยนตร์เรื่อง "แสงศตวรรษ" ได้ตัดสินใจยุติการเข้าฉายในประเทศไทยไปแล้ว เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยินดีที่จะทำการตัดฉาก 4 ฉากในหนังออกตามมติของคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์นั้น (อนึ่ง เดิม หนังเรื่องนี้เข้ารับการพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน 2550 ซึ่งกรรมการตัดสินให้ตัด 3 ฉาก ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน ได้มีตัวแทนจากแพทยสภาเข้าร่วมพิจารณาเพิ่มเติม และผลปรากฏว่าสรุปให้ตัดเพิ่มอีก 1 ฉาก จึงรวมเป็น 4 ฉาก)

ในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ทีมงานจึงได้เข้าติดต่อเพื่อขอรับฟิล์มภาพยนตร์คืน "ในสภาพเดิม" โดยพร้อมกันนั้นได้ทำจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งแก่คณะกรรมการตรวจพิจารณาว่า จะยุติการยื่นขอฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ และยืนยันว่าจะไม่มีการยื่นอุทธรณ์อีกเนื่องจากไม่ต้องการฉายในระบบอีกต่อไป

แต่การณ์ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ไม่ยินยอมคืนฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่ทีมงานในสภาพเดิม โดยชี้แจงกลับมาว่า จะคืนให้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการฯ ได้นำฟิล์มไปทำการตัดฉากทั้ง 4 ฉากทิ้งออกเสียก่อน ( โดยกรรมการฯ ตัดเอง มิใช่ส่งคืนให้ทีมงานเป็นผู้ตัด) ด้วยเหตุผลว่า "หากส่งฟิล์มในสภาพสมบูรณ์คืนแก่ทีมงาน ทางทีมงานอาจถือโอกาสนำกลับมาตัดเองแล้วส่งเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์อีกครั้ง อันจะทำให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาฯ มีความผิดในการปฏิบัติงานทันที"

เมื่อได้รับคำฟังคำยืนกรานดังกล่าว ทีมงานได้ชี้แจงว่า เราไม่มีเจตนาจะทำการตัดหนังเรื่องนี้ไม่ว่าโดยตนเองหรือโดยผู้ใด และมิได้มีความตั้งใจใดๆ ทั้งสิ้นที่จะยื่นอุทธรณ์ในกรณีใดๆ อีก แต่คำชี้แจงดังกล่าวมิเป็นผล

คณะกรรมการฯ ท่านหนึ่งกล่าวแก่ทีมงานว่า " ไม่เคยมีใครทำแบบนี้ หนังพันล้านยังไม่มีท่าทีแบบคุณเลย" ซึ่งทางทีมงานได้ชี้แจงกลับว่า "แสงศตวรรษ" มิได้อยู่ในสถานการณ์ลักษณะเดียวกับหนังทุนสูงต่างๆ ที่ท่านอ้างถึง เพราะหนังเรื่องนี้มิได้คาดหวังรายได้หรือกำไรเป็นกอบกำใดๆ จากการเข้าฉายโรงในประเทศอยู่แล้วในเบื้องต้น จึงมิได้ถือว่าตนเองจำเป็นต้องยอมตัดแก้สิ่งใดเพียงเพื่อแลกกับการได้เข้าฉายในระบบ แต่ทีมงานภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการรักษาคุณภาพของผลงานไว้ให้ตรงกับความตั้งใจในการสร้างมันขึ้นมา จึงได้เลือกวิธีถอนตัวออกจากระบบการฉายแทน เหตุผลเป็นดังนี้ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลาล่าสุด การติดต่อขอนำฟิล์ม "แสงศตวรรษ" ออกจากคณะกรรมการฯ ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ สถานการณ์จะคลี่คลายลงเช่นไร ทีมงานจะแจ้งให้ทุกท่านทราบในวาระต่อไป

ขอเสรีภาพส่องแสงในจิตใจทุกท่าน

ด้วยมิตรภาพ

                   +++++++++++++++++++++++++++

 

กองเซ็นเซอร์ไม่ยอมคืนหนัง สิงคโปร์ฉายหนังสิ้นเดือนนี้
 

ี้11/ 4/ 2007 ทางทีมฉายหนัง แสงศตวรรษ ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์กับกองเซ็นเซอร์แล้ว และจะไม่ยอมฉายหนังดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น

ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมกล่าวว่า ฉากที่ถูกเซ็นเซอร์มีทั้งสิ้น 4 ฉาก   โดยมีอีกฉากหนึ่ง คุณหมอกำลังจูบแฟนสาวในห้องล็อคเกอร์

ข่าวล่าสุดจาก ก้อง ฤทธิ์ดี วันนี้ที่ 11 เวลา 16.00 น. แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้กำลังมีปัญหาใหญ่ เมื่อทางทีมงานจะขอหนังคืนจากกองเซ็นเซอร์ ปรากฏว่า ทางกองเซ็นเซอร์ไม่ยอมคืนให้ และยืนยันจะตัดหนัง ไม่ว่าหนังจะได้รับการหรือไม่

เนื่องจากอยู่ในเวลาเลิกทำงานของราชการแล้ว ทางเว็บไซต์ไม่สามารถสอบถามจากกองเซ็นเซอร์ได้ ขอเป็นวันพรุ่งนี้ที่ 12 จะนำมารายงานความคืบหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าหนังจะไม่ได้ฉายในเมืองไทยจริง ๆ เข้า ผู้ที่มีโอกาสไปสิงคโปร์สิ้นเดือนนี้ อาจจะลองไปดู แสงศตวรรษ ในเทศกาลหนังสิงคโปร์ ได้ตามเวลา ดังนี้

26 April 2007 21:15.00 Lido Classic
27 April 2007 21:15.00 Lido 3

สำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่ http://www.filmfest.org.sg/display.php?catid= 301&page= 2

ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยแจ้งข่าว และขออภัยที่บางทีคุยนานไม่ได้ เนื่องจากช่วงนี้ติดธุระสำคัญหลายประการ  

 +++++++++++++++++++++++++++

แสงศตวรรษ มีปัญหาเซ็นเซอร์ รอการพิจารณาอีกครั้งวันที่ 18 เมษายน นี้

  อัญชลี ชัยวรพร 10 / 4 /2007
   
 

ก้อง ฤทธิ์ดี (น.ส.พ. บางกอกโพสต์) ช่วยแจ้งข่าวให้ทราบว่า ขณะนี้แสงศตวรรษกำลังมีปัญหา 3 ฉากไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์ ฉากแรกพระกำลังเล่นกีตาร์   ฉากที่สองหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฎิบัติหน้าที่ และฉากสุดท้าย อวัยวะเพศของหมอชายแข็งตัวในโรงพยาบาล โดยไม่ได้มีกิจกรรมทางเพศอะไรต่อจากนั้น

ทางตัวแทนจากแพทยสภา ในคณะทำงานเซ็นเซอร์เห็นว่า ฉากดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะนำเสนอออกไปสู่สาธารณะชน

กองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ซึ่งยังอยู่ภายใต้การทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   ปรกติจะประกอบด้วยผู้แทนตำรวจ  ผู้แทนกลาโหม แพทย์สภา ตัวแทนภาพยนตร์   ตัวแทนสื่อ เป็นต้น   โดยเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในการพิจารณาหนังแต่ละเรื่องไป  ไม่ได้เป็นคณะกรรมการชุดเดียวที่จะี่พิจารณาหนังทุกเรื่อง  ขึ้นอยู่กับตัวแทนที่ทางองค์กรจะส่งมาในแต่ละครั้ง  อาทิ เมื่อครั้งที่มีการพิจารณาเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน  หนึ่งในคณะกรรมการเป็นอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ดาวสยาม  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายขวาจัด และได้ตีิพิมพ์ภาพอื้อฉาวที่นำไปสู่การปราบนักศึกษาในกรณี 6 ตุลาคม 2516 ในที่สุด

สำหรับคณะกรรมการที่พิจารณา แสงศตวรรษ นั้นมีตัวแทนจากตำรวจ กระทรวงวัฒนธรรม แพทยสภา และอาจารย์ด้านสื่อจากมหาวิทยาลัย    การพิจารณาเซ็นเซอร์ดังกล่าวมีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และครั้งที่สองเมื่อวานนี้ (9 เมษายน) ทั้งนี้ี้อยู่ในช่วงของการอุทธรณ์อยู่ และรอการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน สัปดาห์หน้านี้

ขณะนี้ผู้กำกับอยู่ในช่วงเดินทางไปโปรโมทหนังที่สหรัฐอเมริกา  โดยเขาได้ยืนยันว่าไม่ยอมให้มีการฉายหนังเด็ดขาดหากมีการเซ็นเซอร์ใด ๆ   พร้อมฝากโน้ตถึงเมืองไทยว่า

"ในฐานะคนทำหนัง  ผมเลี้ยงดูงานของผมดั่งลูกชายลูกสาว  เมื่อให้กำเนิดพวกเขา  พวกเขาต่างก็มีชีวิตเป็นตัวของเขาเอง  ผมไม่รังเกียจถ้าคนจะรักเขา หรือรังเกียจเขา ตราบเท่าที่ผมสร้างพวกเขาด้วยความตั้งใจและพยายามอย่างถึงที่สุด   ถ้าลูก ๆ ของผมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในบ้านเกิดของเขาเอง   ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด  ปล่อยให้เขามีอิสระตามทางของเขา  เพราะว่ายังมีเมืองอื่น ๆ อีกมากที่ยังต้อนรับพวกเขา ในแบบฉบับของเขา   ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะหักแขนขาของพวกเขา ด้วยระบบแห่งความกลัวหรือความโลภ  ไม่อย่างนั้นแล้ว  มันคงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะสร้างงานศิลปะต่อ

I, a filmmaker, treat my works as my own sons or my daughters. When I conceived them, they have their own lives to live. I don’t mind if people are fond of them, or despise them, as long as I created them with my best intentions and efforts. If these offspring of mine cannot live in their own country for whatever reasons, let them be free. Since there are other places that warmly welcome them as who they are, there is no reason to mutilate them from the fear of the system, or from greed. Otherwise there is no reason for one to continue making art.

จากการสอบถามนายโดม สุขวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญ หนังไทย และได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ต่อความคิดเห็นในการเซ็นเซอร์ฉากดังกล่าว ซึ่งนายโดมกล่าวว่า “ ถ้าจะพิจารณาเซ็นเซอร์หนังจากกรอบของกฎหมายเซ็นเซอร์เดิม (ซึ่งใช้ตั้งแต่ ปี 2473) ทุกอย่างก็ไม่เหมาะสมทั้งนั้น แต่เท่าที่ผ่านมา มักจะมีการยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิจารณาเซ็นเซอร์ในแต่ละครั้ง มันไม่ได้มีมาตรฐานที่ตายตัว ”

“ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่ามันไม่ควรห้าม เพราะในกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะพิจารณาอยู่นี้ เขาก็พิจารณาให้ภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าผ่านแล้ว ภาพยนตร์ก็จะเหมือนสื่ออื่น ๆ ที่จะอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ"

"และถ้าภาพยนตร์เป็นสื่ออย่างหนึ่งแล้ว ในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ได้บอกชัดเจนว่า รัฐไม่มีสิทธิ์ห้ามเซ็นเซอร์สื่อ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีสิทธิ์เซ็นเซอร์หนังด้วยเช่นกัน

ต่อข้อซักถามสำหรับฉากต้องห้ามดังกล่าว  นายโดมกล่าวว่า “ ทั้ง 3 ฉากเพียงต้องการจะสื่อความเป็นธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น อย่างฉากพระเล่นกีตาร์นั้น ก็เป็นการเล่นแบบธรรมดา ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เสื่อมเสียใด ๆ แล้วสถาบันพระก็จะไม่เสียชื่อเสียงใด ๆ ทั้งสิ้น

ส่วนฉากหมอกินเหล้านั้น คือ ในฉากดังกล่าว หมอจะต้องออกทีวี ทีนี้กลุ่มหมอเกิดอาการประหม่าเข้า ก็เลยออกมากินเหล้ากันคนละเป๊ก ความหมายของหนังก็ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายใด ๆ สังคมไทยก็กินเหล้าตลอดเวลาอยู่แล้ว  ทำไมจะต้องมาห้ามกับฉากเหล่านี้ด้วย"

ส่วนเรื่องอวัยวะเพศของหมอแข็งตัว มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างมันได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์   ซึ่งขมวดปมในตอนท้่ายที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ

“หนังมันต้องการสื่อปรัชญาทางธรรม  ซึ่งคณะเซ็นเซอร์มองไม่ออก ผมคิดว่า น่าจะปล่อย   ถ้าเขาอยากตัดก็ตัดไป แต่เรามีสิทธิ์ที่จะดื้อแพ่ง ฉายหนังไปเลย แล้วก็ให้มาฟ้องทางแพ่งหรือทางอาญาแทนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

สำหรับผู้กำกับอภิชาติพงศ์นั้น  โดยส่วนตัวแล้วก็เป็นผู้สนใจและศึกษาในศาสนาพุทธอย่างจริงจังท่านหนึ่ง   และนั่งอ่านหนังสือธรรมะอยู่ตลอดเวลา   แม้แต่ในเวลาว่างขณะกำลังรอพบปะผู้ร่วมลงทุนที่เมืองคานส์ปีที่แล้ว  ก็ได้อ่านหนังสือธรรมะที่หอบข้ามทวีปจากประเทศไทยไปด้วย    และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ัดัดแปลงมาจากชีวิตพ่อแม่ของเขา  ซึ่งเป็นหมออยู่ที่จังหวัดขอนแก่นจริง ๆ มาเป็นแบ็คกราวนด์

ก่อนหน้านี้ทางแพทยสภาและสมาคมแพทย์แห่งประเทศไทย  เคยเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง "อาจารย์ใหญ่" มาครั้งหนึ่ง  โดยให้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "ศพ"  และตัดตอนบางตอนทิ้งไป  

(ขอขอบคุณ ก้อง ฤทธิ์ดี จากบางกอกโพสต์ที่ช่วยแจ้งข่าว และวีระยศ จากฟลิกส์ที่ช่วยให้ข้อมูลค่ะ)

โน้ต: ขณะนี้กฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่ฉายในโรงหนัง ยังอยู่ภายใต้การพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   และรอการโอนย้ายให้กับกระทรวงวัฒนธรรม

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.