
ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย(ประเทศไทย) : บริษัท ฮิดเด้น รูสเตอร์ ฟิล์ม
ความยาว : 77 นาที
เทคนิคถ่ายทำ : Digital HD (สารคดี)/ Super 16mm (เรื่องแต่ง)
ผู้กำกับ วิศรา วิจิตรวาทการ
อำนวยการสร้าง พรมนัส รัตนวิชช์ และ ปรานต์ ธาดาวีรวัตร
กำกับภาพ Sandi Sissel, ASC. และ ชนานันท์ โชติรุ่งโรจน์
ออกแบบงานสร้าง ทรงวัฒน์ อัศวนนท์
ตัดต่อ Perry Blackshear และ สราณี วงศ์พันธ์
ดนตรีประกอบ Koichi Shimizu
ออกแบบและผสมเสียง สุนิตย์ อัศวินิกุล
เพลง สาวคาราโอเกะ ประพันธ์โดย คัมภีร์ แสงทอง
นักแสดง : สา สิทธิจันทร์ และครอบครัว ศุภวิชญ์ มีเปรมวัฒนา
เรื่องย่อ
สา สาวบ้านนอก ออกจากหมู่บ้านเพื่อเข้าเมืองกรุงตั้งแต่อายุ 15 ปี สาทำงานในโรงงานได้ค่าแรงวันละไม่ถึง 100 บาทอยู่สามปี กระทั่งเธอตัดสินใจเข้าทำงานในบาร์คาราโอเกะเพื่อช่วยเหลือครอบครัวให้มากขึ้น 4 ปีหลังจากนั้น สาได้พบกับ วิศรา วิจิตรวาทการ ผู้กำกับภาพยนตร์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่อง สาวคาราโอเกะ สากลายเป็นดาวเด่นในภาพยนตร์ และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอเลือกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตด้วยตัวของเธอเอง
การเดินทางในต่างแดน
- เทศกาลหนังร็อตเตอดัม เข้าประกวด แม้จะไม่ได้รางวัลใด ๆ กลับบ้าน แต่ระหว่างที่ฉายที่นั่น ก็มีคนให้ความสนใจอย่างล้นพ้น จนยอดการขอดูวิดีโอหนังเรื่องนี้ติดลำดับสูงสุด
- เทศกาลหนังเมืองลักเซ็มเบิร์ก เข้าประกวด
- เทศกาลหนังเอเชียที่เมืองเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ ฉายโชว์
- เทศกาลหนังจองจู เกาหลีใต้ เข้าประกวด
- เทศกาลหนังเทอราค็อตต้า อังกฤษ ฉายโชว์
- Open City Doc Fest อังกฤษ ได้รับรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม
- เทศกาลหนังสิทธิมนุษยชน พม่า ฉายโชว์
- เทศกาลหนังคาร์โลวี่วารี เช็ก ฉายโชว์
- เทศกาลหนังซานติเอโก้ บราซิล เข้าประกวด
- เทศกาลหนัง "ซาคาลินสกรีน" รัสเซีย เข้าประกวด
- เทศกาลหนัง 3 ทวีป อัฟริกาใต้ ฉายโชว์
- ฟิลม์เฟส ฮัมบูร์ก เยอรมนี เข้าประกวด
- แวนคูเวอร์ แคนาดา ฉายโชว์
- เทศกาลหนังหัวโฉว จีน ฉายโชว์
- เทศกาลหนังบิลเบา สเปน ฉายโชว์
- เทศกาลหนังตูริน ฉายโชว์
รวม 17 เทศกาล ทั้ง 4 ทวีป ได้แก่ เอเชีย ยุโรป อัฟริกา และอเมริกาใต้

ความในใจ สา
ตอนเด็กสาใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด พออายุ สิบห้า ครอบครัวเลยตัดสินใจให้สาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพเพื่อหาเงินส่งกลับบ้าน ตอนแรกสาทำงานโรงงานแต่เงินไม่พอเลยตัดสินใจทำงานเป็นสาวกลางคืน ที่ตัดสินใจทำงานนั้นเพราะครอบครัวของสายากจนมากและพ่อแม่เป็นหนี้ สาคิดว่าคงไม่มีวิธีไหนแล้วที่จะหาเงินได้เยอะพอที่จะช่วยดูแลทุกอย่างให้ กับพ่อแม่ได้ คิดอยู่ตลอดว่าอยากเลิกทำงานแบบนนั้นแต่เมื่อสาได้ผลักดัน ฐานะตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้นมันก็เลือกที่จะเลิกยาก
มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนของสาแนะนำให้รู้จักกับผู้กำกับคนหนึ่ง ชื่อพี่เตื้อย พี่เตื้อยสนใจเรื่องของสา เขาชวนสาไปทำสารคดีชีวิตและเล่นหนังด้วย สาคิดอยู่ตั้งนาน สุดท้ายก็ได้ตอบตกลง จากนั้นสาพาพี่เตื้อยกลับบ้านนอกไปหาพ่อแม่พร้อมกับทีมงานถ่ายสารคดี เราไปอยู่ที่บ้านนอกด้วยกัน เกือบ 3 สัปดาห์ พี่เตื้อยอย่างกับเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวและพ่อแม่ก็มีความสุขมากที่มีเพื่อนๆทีมงานอยู่ในบ้านเรา ใช้ชีวิตอย่างเป็นครอบครัวเดียวกัน ทุกวันนี้ พ่อแม่ยังถามถึงพี่เตื้อยและ ทีมงานอยู่เลย สาไม่เคยเล่นหนัง ก่อนที่จะถ่ายหนังสาใช้เวลาในการซ้อมเกือบสองเดือน โอ้ โห!! มันเป็นสิ่งที่ยากมาก สาอายและไม่กล้าแสดงออก พอเริ่มแสดงได้มันก็ทำ ให้สามั่นใจในตัวเองมากขึ้นและสนุกกับมันด้วย
สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้สาเลิกทำงานนั้น คือ สาได้ระบายความรู้สึกที่อยู่ข้างในผ่านบทที่สาแสดงและเพลงที่สาร้องในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เราสามารถทิ้งอดีตได้ สาอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลายๆคน อยากให้หลายๆคนที่เข้ามาดูหนังเรื่องนี้ ได้ข้อคิดที่ว่า ทุกคนสามารถเริ่มใหม่กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ได้ ไม่สายเกินไป

ความในใจผู้กำกับ
ภาพยนตร์เรื่องสาวคาราโอเกะตามติดชีวิตของ สา สาวประจำบาร์คาราโอเกะในกรุงเทพฯ เข้าเรื่องอย่างเรียบง่าย..เธอกลายเป็นสาวกลางคืนเพื่อจุนเจือครอบครัวที่ต่างจังหวัด ข้าพเจ้าโยงใยภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ด้วยอดีตของสาที่บ้านนอกกับชีวิตจริงที่ซับซ้อนของเธอในเมืองกรุง สาในวัย 23 ปี เล่นเป็นตัวเธอเอง ผสมผสานระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง, เมืองกรุงและบ้านนอก, ครอบครัวและเรื่องรักใคร่ เจาะผ่านมุมมองจากประสบการณ์จริงของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีแค่ด้านเดียวเหมือนที่กระแสสังคมสร้างเปลือกให้สาวกลางคืนเป็น นี่ไม่ใช่การเล่าเรื่องตามขนบ แต่สื่อถึงความรู้สึกส่วนตัวของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความคิดในแง่บวกแม้ว่าเธอจะมีอดีตที่ยากเข็ญก็ตาม
สาวคาราโอเกะ คือวิถีทางที่เธอแบ่งปันความกลัว ความหวัง และ ความฝัน ให้กับข้าพเจ้า และ คุณในฐานะคนดูได้รับชม
ประวัติผู้กำกับ
วิศราใช้ชีวิตอยู่ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่เล็ก เธอจบการศึกษาปริญญาตรี-โทจากมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขาชีววิทยา และ นโยบายการศึกษา วิศราย้ายกลับมาทำงานประจำให้กับอุทยานการเรียนรู้จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในปี 2549 อันเป็นจุดเปลี่ยนให้เธอตัดสินใจเบนเข็มมาศึกษาต่อด้านภาพยนตร์อย่างเต็มตัวที่ New York University โดยได้รับทุน The Reynolds Fellowship in Social Entrepreneurship รวมถึงทุนจากทางมหาวิทยาลัยนิวยอร์คโดยตรง
ผลงานภาพยนตร์ของวิศราได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายและได้รับรางวัลจากหลายเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก อาทิ International Film Festival Rotterdam, International Film Festival Oberhausen, Karlovy Vary Film Festival, Tribeca Film Festival, The Director's Guild of America, Bangkok World Film Festival และอื่นๆอีกมากมาย โดยในปี 2556 เธอมีผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก คือ เรื่อง สาวคาราโอเกะ (Karaoke Girl) ที่จัดฉายเปิดตัว (World Premiere) ในสายประกวด Tiger Awards Competition ที่ International Film Festival Rotterdam และล่าสุดเธอได้รับรางวัล Emerging International Filmmaker Awards จาก Open City Docs Fest 2013 ประเทศอังกฤษ
วิศราปรารถนาจะทำภาพยนตร์เพื่อสะท้อนความเป็นจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่เพียงแค่ผ่านการบอกเล่าของเนื้อเรื่อง แต่เธอมุ่งหวังให้คนดูได้สัมผัสประสบการณ์จริงไปกับเธอในฐานะศิลปิน


|