สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

 
บ้านผีปอบ Reformation
 
Share |
Print   
     
 

 

 

 

ผู้กำกับ โสภณ นิ่มอนงค์

เรื่องย่อ

ในขณะที่นัฐพลซึ่งเดินทางมากับคณะนักโบราณคดีที่มาทำงานขุดค้นซากวัตถุโบราณ แอบไปขุดหาร่องรอยของปอบหยิบที่ตกหน้าผาและหายสาบสูญไปเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนในคณะนักโบราณคดีถูกฆ่าตาย ศพถูกขัดไว้บนต้นไม้ในสภาพถูกแหวะท้อง ควักไส้ออกไป คณะนักโบราณคดีจึงช่วยกันตามหาคนร้ายจนพบหยิบป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ และคิดว่าหยิบเป็นฆาตกร แต่เมื่อจะช่วยกันจับหยิบ กลับถูกหยิบไล่ทำร้ายจนต่างหนีเอาตัวรอดเข้ามาในหมู่บ้านใกล้ ๆ

หลังจากมาดูสภาพศพของผู้ตายและลงความเห็นเป็นฝีมือของปอบ ผู้ใหญ่บ้านก็พานัฐพลและเพื่อน ๆ นักโบราณคดีที่รอดตายไปพักในหมู่บ้านชั่วคราวเพื่อรอเจ้าหน้าที่มาสอบปากคำ ทองรำไพซึ่งเป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้านถือโอกาสมาทำความรู้จักกับคณะนักโบราณคดี และแสดงท่าทีเชิญชวนให้ชายหนุ่มทุกคนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับตน ทำให้ ขวัญทิพย์ หญิงสาวที่เรียนจบระดับปริญญาตรีแต่กลับมาอยู่ดูแลยายซึ่งมีอายุมากแล้ว เกิดความรังเกียจกลุ่มนักโบราณคดี เพราะเจ้าชู้ไม่เลือก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทองรำไพเป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้าน ในขณะที่กลุ่มเพื่อนหนุ่มในหมู่บ้านซึ่งชอบประดิษฐ์คิดค้น งานศิลปะ และสะสมวัตถุโบราณ พยายามทำความสนิทสนมกับคณะนักโบราณคดี เพราะในกลุ่มนั้นมีหญิงสาวที่น่าสนใจรวมอยู่ด้วย

ขวัญทิพย์มองเห็นปัญหาของชาวบ้าน จึงแนะนำให้ชาวบ้านปลูกข้าวแค่พอกิน ไม่ปลูกข้าวเพื่อขาย และสร้างโรงสีเพื่อสีข้าวเองจะได้ไม่ต้องขายข้าวราคาต่ำให้กับพ่อค้า เถ้าแก่โรงสีซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวบ้านในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้และกำลังกว้านซื้อที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาจึงไม่พอใจขวัญทิพย์ ดังนั้น เมื่อนักโบราณคดีอีกคนหนึ่งถูกฆ่าตาย เถ้าแก่โรงสีจึงกล่าวหาว่ายายของขวัญทิพย์เป็นปอบที่ฆ่านักโบราณคดีตาย และถ้ายายเป็นปอบ ขวัญทิพย์ก็จะต้องเป็นปอบไปด้วย ทางเดียวที่จะทำให้คนในหมู่บ้านปลอดภัยก็คือ ต้องขับไล่วิญญาณปอบออกจากยายของขวัญทิพย์ หรือขับไล่ขวัญทิพย์และยายออกไปจากหมู่บ้าน

แท้ที่จริง 20 ปีที่ผ่านไป หยิบได้รับการพามารักษาตัวโดยผู้มีความชำนาญด้านสมุนไพรมาตลอดโดยไม่มีใครระแคะระคาย ขวัญทิพย์ซึ่งแวะเวียนมาเอายาสมุนไพรไปรักษายายอยู่เสมอก็รู้เพียงว่า ผู้ที่ผสมยาสมุนไพรให้เธอไปรักษายายจนยายค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นตามลำดับ กำลังแอบรักษาหญิงแก่คนหนึ่งให้หายจากโรคประหลาดด้วยยาสมุนไพรและกินอาหารมังสวิรัติมาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่ด้วยความอดอยากอาหารสดคาวที่เคยกิน เมื่อมีโอกาส หยิบจึงมักแอบออกไปหาอาหารประเภทเนื้อสัตว์กินเสมอ จนมีชาวบ้านบางคนมาพบและรู้ว่าหยิบยังมีชีวิตอยู่

เมื่อเถ้าแก่โรงสีติดต่อหมอผีมาทำพิธีขับไล่วิญญาณปอบออกจากยายของขวัญทิพย์ หมอผีกลับถูกฆ่าตาย ศพถูกขัดไว้บนต้นไม้ ท้องถูกแหวะเอาไส้ออกไป โดยไม่มีใครเห็นตัวฆาตกร มีแต่หยิบคนเดียวเท่านั้นที่บังเอิญผ่านมาเห็นศพ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าหยิบคือคนร้าย แต่เถ้าแก่โรงสีก็พยายามทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า หยิบตกหน้าผาตายไปนานแล้ว วิญญาณปอบของหยิบมาเข้าสิงยายของขวัญทิพย์ เมื่อยายของขวัญทิพย์ออกมาฆ่าคน จึงมีท่าทางแบบหยิบ ต้องไล่ยายของขวัญทิพย์และขวัญทิพย์ออกไปจากหมู่บ้านให้ได้ แต่เมื่อเถ้าแก่โรงสีนำความคิดของตนไปเสนอผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านกลับไม่เห็นด้วย โดยแย้งว่า ถ้าหมู่บ้านมีปอบ หมู่บ้านก็จะมีจุดขาย เป็นที่น่าสนใจของคนที่อยากรู้อยากเห็นอยากพิสูจน์ เมื่อมีคนมาเที่ยวชมหมู่บ้านมาก ๆ คนในหมู่บ้านก็จะมีรายได้ ทั้งจากที่พัก การขายอาหารและขายสินค้า ไม่ช้าหมู่บ้านก็จะเจริญ

เถ้าแก่โรงสีเห็นผู้ใหญ่บ้านไม่เห็นด้วยกับตนจึงว่าจ้างคนมาลักพาตัวขวัญทิพย์ไปฆ่า แล้วโยนความผิดให้ปอบในวันที่มีพิธีบวชนาคประจำปี อันเป็นประเพณีของหมู่บ้าน แต่ผู้ใหญ่บ้านมาขัดขวางและนำตัวขวัญทิพย์หลบเข้าไปในป่าลึกเพื่อฆ่าทิ้งแล้วโยนความผิดให้เถ้าแก่โรงสี เพราะตนไม่ต้องการให้หมู่บ้านมีปอบมากกว่า 1 ตัว ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านจะฆ่าขวัญทิพย์ นัฐพลกับหยิบก็ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตามมาช่วยขวัญทิพย์ไว้ได้ทัน ผู้ใหญ่บ้านกลัวความผิดและถูกเปิดเผยความลับจึงกลับเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อพาทองรำไพหนี หยิบตามมาอาละวาดในขบวนแห่นาคจนเกิดโกลาหลเพื่อบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าฆาตรกรที่แท้จริงคือผู้ใหญ่บ้าน แต่ชาวบ้านกลับมัวแต่หนีหยิบจึงปล่อยให้ผู้ใหญ่บ้านกับทองรำไพหลบออกไปจากหมู่บ้านจนได้

หลังจากเหตุการณ์ร้ายผ่านพ้นไป หยิบหายไปจากหมู่บ้านอย่างไร้ร่องรอย ขวัญทิพย์กับนัฐพลเข้าใจกันได้มากขึ้น ร่วมมือกันสร้างโรงสีขนาดเล็กให้ชาวบ้าน ด้วยการสนับสนุนของเถ้าแก่โรงสี และระหว่างหลบหนีไปหมู่บ้านอื่น ทองรำไพเกิดอาการหิวอย่างหนัก ผู้ใหญ่บ้านจึงดักฆ่าคนที่ผ่านมาแล้วแหวะท้องให้ทองรำไพกินไส้ ขัดศพผู้ตายไว้บนคาคบไม้ก่อนที่จะพากันเดินทางต่อไป

 

แคแรกเตอร์นักแสดง

 

 

ณัฐนี สิทธิสมาน รับบทเป็น หยิบ

“พี่ก็เล่นเป็นปอบมาตั้งแต่ภาคแรกนะ ก็มีหลายคนถามนะว่าไม่เบื่อเหรอ เราก็บอกเต็มปากเลยว่าไม่เบื่อเลย จะกี่ปีก็ไม่เบื่อ รู้สึกดีใจด้วยซ้ำ เพราะเราก็กลายเป็นโลโก้ปอบไปแล้ว ขนาดว่าทุกวันนี้ เด็กตัวเล็กๆ เห็นเรา ยังร้องไห้ วิ่งหนี เรียกปอบหยิบกันเลย แต่ที่ดีใจอีกอย่างนะ ใครๆก็บอกว่า กี่ปีพี่ก็ยังเหมือนเดิม ไปกินอะไรมา ไม่แก่ลง ซึ่งพี่ก็บอกไปว่า พี่ออกกำลังกายเสมอ โดยเฉพาะโยคะก็เล่นเป็นประจำ กินอาหารมีประโยชน์ ไม่เครียดใดๆทั้งสิ้น กลับมาเล่นภาคนื้ ก็มีความเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น ให้แต่งหน้าอ่อนๆไม่แก่ ไม่น่ากลัว ทรงผมก็เป็นบ๊อบสั้น หน้าม้าเต่อดูทันสมัยมากขึ้น มีการใช้คอมพิวเตอร์ ขับรถ ใส่สเก๊ต อะไรประมาณนี้ และที่แปลกกว่าทุกภาคคือ ภาคนี้พี่ต้องเป็นปอบมังสวิรัติ กินแต่ผัก ไม่กินไส้คนแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นปอบที่ตามหลอกชาวบ้าน แกล้งชาวบ้านเค้าขำขำ ออกแนวน่ารักมากกว่า ผู้กำกับฯ ช้าง-โสภณ ก็บอกว่าให้ทำหน้าทำตา ท่าทางคิกขุ น่ารัก อยากให้เป็นปอบน่ารักๆ ซึ่งเราก็คิดว่าเออดีเหมือนกัน ที่ผ่านมาดูน่ากลัว มาคราวนี้ดูน่ารัก แต่ไม่ปัญญาอ่อนนะ(หัวเราะ) แล้วภาคนี้ก็ได้เล่นกับน้องๆที่ดังจากโฆษณาหลายคน เค้าก็มีมุขมีอะไรมาบอกเราด้วย เราก็เออ รู้สึกว่าไม่แก่ เป็นวัยรุ่นขึ้น ภาคนี้ก็มีความสนุกสนาน มีอะไรใหม่ๆให้ได้ดูกัน ก็ฝากด้วยนะคะ”

อรุชา โตสวัสดิ์ “นัฐพล” (พระเอก) เป็นกลุ่มนักโบราณคดีจากกรุงเทพฯ ลูกของพลับพลึงกับนเรศ(หรือน้ำค้างกับเภสัช ปรุงกับขันทอง ) ต้องการมาสืบค้นเรื่องปอบโดยเอาเรื่องงานขุดหาหลักฐานทางโบราณคดีบังหน้า
ผลงาน “เพื่อนกูรักมึงวะ”

เบญจณัฏฐ์ อักษรนันทน์ รับบท ขวัญทิพย์ (นางเอก) เรียนจบจากหาวิทยาลัย กลับมาอาศัยอยู่กับยายเทียบที่ถูกเถ้าแก่โรงสีกล่าวหาว่าเป็นปอบ ลักษณะภายนอกดูลุย ๆ แต่ภายในรักสวยรักงาม ต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ป้องกันไม่ให้ชาวบ้านไร้ที่ทำกินและอพยพเข้าไปเป็นลูกจ้างในเมือง ทำให้ครอบครัวล่มสลาย

สายชล ทองสาย รับบท เจนจิรา หญิงสาวในหมู่บ้าน เพื่อนขวัญทิพย์

ปราโมทช์ เทียนชัย รับบท หลอด ( ประชุม ) นักสะสม สะสมวัตถุโบราณไว้ใน บ้านจำนวนมาก เช่น รูปปั้น เกราะนักรบหรืออัศวินสมัยโบราณ เครื่องทรมาน นักโทษ ( เรียกพร้อมกัน 3 คนว่า ยุง ยัง ชุม

ไนซ์ พิมพ์พิชชา (จิรรท) วงศ์โฆษวรรณ รับบทเป็น ปรียาพร นักโบราณคดี เพื่อนนัฐพล คนรักของนักโบราณคดีที่ถูกฆ่าตายคนแรก

ปริเยศ อังกูรกิตติ รับบท หลาว ( บุญยัง )นักประดิษฐ์ มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ชอบศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์

โอม ศิวดล บูรพากาญจน์ จากโฆษณา Hundred Pipers รับบทเป็น สุดเขต เพื่อนนัฐพล

บาส นันทวัฒน์ ศักยะธนาสิทธิ์ ดีเจคลื่น 90 รวมมิตรเรดิโอ รับบทเป็น ยาว

เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง ทีมพากย์พันธมิตร รับบทเป็น เดช

เล็ก ดอกคำใต้ (โฆษิต กฤษตินันท์) ทีมพากย์พันธมิตร รับบทเป็น ผู้ใหญ่บ้าน

 

เปิดใจผู้กำกับ

 

 

ผู้กำกับฯ ช้าง- โสภณ เปิดเผยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีใครไม่รู้จักสำหรับวัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ แม้กระทั่งวัยรุ่นบางคน เป็นหนังที่แม้ว่าจะผ่านมายี่สิบกว่าปีก็ยังคงมีความขลัง ป้าหน่อย ที่เล่นเป็นปอบหยิบ ทุกวันนี้ใครก็จำได้เป็นโลโก้ไปเลย จะให้ใครเล่นแทนแก ก็ไม่ใช่ ต้องเป็นแกเท่านั้น นี่หละมันเป็นสิ่งที่ท้าทายกับการทำงานครั้งนี้ สำหรับบ้านผีปอบ ภาคนี้ ชื่อเต็มๆว่า บ้านผีปอบ รีฟอร์เมชั่น แน่นอนว่าจะมีการปรับลุคเรื่องของบท เรื่องนักแสดง ตลอดจนโลเกชั่น ต่างๆให้มีความทันสมัย ทันปัจจุบัน แต่ก็มีกลิ่นอายของความคลาสสิค

และที่แน่นอนต้องมีป้าหน่อย “ปอบหยิบ” ณัฐนี สิทธิสมาน กลับมาเล่นด้วย ซึ่งตอนแรกแกอ่านบท แกก็ถึงกับบอกว่า โอ้โห ให้ป้าเล่นกับเทคโนโลยีทันสมัย ทั้งคอมพิวเตอร์ ทั้งมือถือ พูดภาษาเทคโนฯ กลัวว่าจะไม่ทัน ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร ผมจะหัดให้เอง (หัวเราะ) ก็ทั้งอธิบายทั้งขอร้องจนแกโอเค ผมก็โล่งใจไปเยอะ เพราะหนังบ้านผีปอบ ถ้าป้าหน่อยไม่เล่นเป็นปอบหยิบ ผมว่ายังไงก็ไม่ใช่ (หัวเราะ)

นอกจากนี้ในส่วนของพระเอกนางเอก ผมได้ เอ-อรุชา โตสวัสดิ์ (ภ.เพื่อนกูรักมึงวะ) คู่กับน้องจิ๊บ- เบญจณัฏฐ์ อักษรนันทน์ (โฆษณา ธ.กสิกร ที่รับฝากของในเคาน์เตอร์) ส่วนนักแสดงคนอื่น ผมเลือกนักแสดงตลกจากโฆษณาดังๆ มาร่วมเล่นกว่า 10 คน ซึ่งทุกคนจำได้แน่นอน ไม่ว่าจากโฆษณาเนเจอร์กิฟ , โฆษณาแว่นท๊อปเจริญ , โฆษณาวันฮันเดรด ที่เล่นเป็นเพื่อนอ้วน , โฆษณาฮาร์ทบีท , โฆษณาบัตรยูเมะพลัสปี 52 , โฆษณาชาบูชิ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งแต่ละคนก็มีความฮาแตกต่างกันไป แค่วันที่มาแคสกันก็ขนมุกมาขายกัน ฮากระจายกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ก็ยังดึงทีมนักพากษ์พันธมิตรมาร่วมเล่นด้วย ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นว่าหน้าตาแต่ละคนจะเป็นยังไง ก็จะได้เห็นกันในเรื่องนี้ครับ ซึ่งผมก็ดีใจที่อุตส่าห์เจียดเวลามาร่วมแสดง เพราะคิวแน่นมาก สำหรับมุกนั้นผมแทบไม่ต้องแตะเลย พี่ๆทีมพันธมิตรเค้าเล่นกันเป็นทีม ทุกคนระดับมืออาชีพอยู่แล้ว
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ บ้านผีปอบ รีฟอร์เมชั่น ผมเชื่อว่าเป็นหนังที่ดูได้ทุกวัย แม้ว่าจะปรับลุคให้ดูทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งความคลาสสิคของเดิมไว้ ซึ่งก็ขอบคุณอาสายยนต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้กำกับฯคนแรกเจ้าของตำนานหนังเรื่องนี้ก็ให้เกียรติมาช่วยในเรื่องของบทและงานโปรดักชั่นด้วย ก็เป็นอะไรที่พวกเราตั้งใจกันจริงๆ อยากให้หนังไทยเรื่องนี้เป็นตำนานที่คลาสสิคชั่วลูกชั่วหลาน คาดว่ากำหนดฉาย เดือนกันยายนนี้ครับ”

ประวัติผู้กำกับ

ชื่อ โสภณ นิ่มอนงค์ (ช้างน้อย)

การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (สำเร็จการศึกษา 2546)

ผลงานภาพยนตร์

ตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ 1 หลวงพี่เท่ง ภาค 1, น้ำพริกลงเรือ, เทวดาท่าจะเท่ง, นางตะเคียน, สามย่าน ตอน รักบรรลัยจักร

ในตำแหน่งผู้กำกับ ลูกตลกตกไม่ไกลต้น (1 ใน 4 ผู้กำกับฯ)

หนังสั้น

ชื่อภาพยนตร์ โมบาย กับ ลูกอมทั้งสิบ รางวัล วิจิตรมาตรา มูลนิธิหนังไทย

ชื่อภาพยนตร์ อนัตตา รางวัลชมเชย รางวัล Kodak Competition มูลนิธิหนังไทย


   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.