สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
สัมภาษณ์ นก สินจัย ...เธอจะคว้ารางวัลได้อีกหรือไม่
   
 

 

ห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปนานกว่าสองปี หลังจากกวาดรางวัลและคำชื่นชมไปอย่างล้นหลามจากเรื่อง “รักแห่งสยาม” ล่าสุด นักแสดงชั้นครู “สินจัย เปล่งพานิช” ก็พร้อมกลับมาเปล่งรัศมีนักแสดงตัวแม่ของวงการอีกครั้งในภาพยนตร์แนวหลอนระทึกที่เธอไม่เคยสัมผัสมาก่อน

“ฮู อาร์ ยู” (Who R U?) เล่าเรื่องในประเด็น “คนคุ้นเคยที่ไม่รู้จัก ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณ...ไปตลอดกาล” เมื่อลูกชายเพียงคนเดียวของ “นิดา” เกิดมีอาการ “ฮิคิโคโมริ” อย่างไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด นั่นทำให้เขาขังตัวเองและสร้างโลกส่วนตัวอยู่ภายในห้อง โดยแทบจะไม่ออกมารับรู้ความเป็นไปภายนอกเลย จนกระทั่งเมื่อมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงมาเยือน นิดาจึงต้องเข้ามาจัดการกับเรื่องราวทั้งหมดด้วยตัวของเธอเอง แม้มันจะเป็นเหมือนฝันร้ายที่จะทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาลก็ตาม

บทบาท-คาแร็คเตอร์
ในเรื่อง “ฮู อาร์ ยู” ก็รับบทเป็น “นิดา” เป็นแม่ของครอบครัวที่ค่อนข้างจะมีปัญหา กับสามีก็ทะเลาะเบาะแว้งเพราะสามีเจ้าชู้ และก็มีลูกที่เก็บตัวสร้างโลกของตัวเองแล้วก็อยู่ในห้อง 5 ปี ไม่ยอมออกมาจากห้องค่ะ ตัวนิดาก็จะเป็นแม่ที่จะค่อนข้างเกรี้ยวกราด ใช้อารมณ์ตลอดเวลา จนมีปัญหาในครอบครัว แล้วสุดท้ายพอเลิกกับสามีแล้วก็มาขายของ มาเป็นแม่ค้าขายวีซีดีโป๊อะไรอย่างนี้ค่ะ ก็เหมือนจับอาชีพใหม่ จากที่เคยเล่นบทดราม่ามาแล้วคราวนี้ก็มารับบทเป็นแม่ค้าอะไรดูบ้าง ก็เป็นอีกคาแร็คเตอร์หนึ่งที่จัดจ้าน พอเวลามีเรื่องก็จะปากไว ใช้อารมณ์ ฉูดฉาด ไม่ต้องควบคุมน้ำเสียงหรือคาแร็คเตอร์อะไร ค่อนข้างที่จะปล่อยตัวพอสมควรค่ะ ก็จะมีฉากต่อปากต่อคำ เค้าด่ามาเราก็ด่ากลับ หรือว่าบทที่ต้องพูดกับลูกค้าก็จะค่อนข้างฉูดฉาด ก็สนุกดีค่ะ

การดำเนินเรื่องของนิดาในเรื่องเป็นอย่างไรบ้าง
ในเรื่องนี้ลูกของนิดาก็จะใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้อง 5 ปี ไม่ออกไปไหนเลย จะติดคอมพิวเตอร์มากและจะขังตัวเองอยู่แต่ในห้องซึ่งจริงๆ พฤติกรรมแบบนี้เนี่ยเค้าเรียกว่า “ฮิคิโคโมริ” เป็นอาการของเด็กที่หมกมุ่นและค่อนข้างเก็บตัวมากกว่าปกติ คือไม่ยอมออกจากห้อง ไม่ยอมสังคม และอยู่กับคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ไม่ออกไปไหน จะกินอยู่ยังไงก็คือครอบครัวจะเอาอาหารไว้หน้าห้อง อยากจะกินก็ออกมาเอาเข้าไปกินในห้อง และก็ใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้อง ไม่ออกมาเลย จนเกิดเรื่องราวในชีวิตขึ้น ทำให้คนดูรู้สึกว่า เบื้องหลังประตูบานนี้เนี่ยคือลูกของนิดาหรือเปล่า ใครที่อยู่ในห้องนั้น และมันมีความลับอะไรที่อยู่เบื้องหลังประตูบานนี้

ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วก็สามารถลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้
ใช่ค่ะ จริงๆ แล้วปัจจุบันนี้ จะว่าไปแล้วเด็กจะมีปัญหาติดเกมติดคอมพิวเตอร์กันค่อนข้างมาก ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์นานหลายชั่วโมงเลยทีเดียว กระทั่งออกไปมาหาสู่กับผู้คนก็ยังให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก ในเรื่องนี้เนี่ย ลูกนิดาคือเหมือนเค้าต้องการตัดขาดจากโลกภายนอกเลย อาจจะมาจากความกดดันภายในครอบครัว แม่ไม่เข้าใจ แม่เข้มงวดจนเกินไป ก็เลยตัดปัญหาเธอไม่ต้องมายุ่งกับชั้น แล้วก็อยู่แต่ในห้องเล่นเกมระบายอารมณ์อยู่กับตรงนั้น คอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่เกมที่มีแต่ด้านดีทุกอย่าง มันก็มีด้านเสียๆ ด้านความรุนแรงอยู่ในนั้นด้วย ตรงจุดนี้มันก็สามารถนำไปสู่ปัญหาใหญ่ต่อๆ ไปได้ค่ะ

เรื่องนี้พลิกคาแร็คเตอร์ไปอย่างไรบ้าง
ค่ะ โดยลุคก็เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ คือแต่งตัวมาก ใส่วิกผมทอง ทาเล็บแดง แต่งหน้าฉูดฉาดอะไรอย่างนี้ แล้วก็คาแร็คเตอร์ตอนแรกเหมือนเป็นคนที่เจ้าอารมณ์ เก็บกดโน่นนี่ แต่ซักพักคาแร็คเตอร์ก็จะเหมือนชีวิตมีความสุข ทุกอย่างมีแต่ความสนุกสนาน ก็จะเป็นอีกบุคลิกหนึ่งภายในคนๆ เดียวกันนะคะ แต่มันคืออะไรที่ทำให้นิดาเปลี่ยนแปลงไปก็คงต้องไปดูในหนัง แต่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนอีกอย่างด้วยอาชีพด้วย ในเรื่องนิดาจะเป็นแม่ค้าขายวีซีดีโป๊ เป็นอะไรที่น่าสนใจ วิธีการพูด วิธีการขาย หรือวิธีการสื่อสารกับลูกค้า มันก็เป็นอะไรที่ยังไม่เคยทำค่ะ

เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องที่ผ่านๆ มายังไงบ้าง
คือจริงๆ แล้วมันก็มีความเป็นดราม่าอยู่นะคะ แต่ในความเป็นดราม่าเนี่ย พอมันเป็นหนังแนวหลอนระทึกขวัญแบบนี้ มันก็จะมีอะไรบางอย่างที่ลึกลับ เอ๊ะ...มันคืออะไรกันแน่ ความไม่แน่ใจ ความแปลกๆ ของคาแร็คเตอร์ต่างๆ หรือของภาพอะไรพวกนี้ มันจะช่วยให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากบทที่นกเคยเล่นยังไงบ้าง ก่อนหน้านี้ล่าสุดที่เคยเล่นอย่างดราม่าเพียวๆ เรื่อง “รักแห่งสยาม” มันก็จะเป็นดราม่าครอบครัว ลูก ชีวิตปัจจุบันที่มีความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่พอมาเป็นหนังแนวๆ นี้ มันก็จะมีความเหนือจริงผสมอยู่บ้าง การแสดงก็จะซับซ้อนขึ้นด้วยค่ะ

ความยาก-ง่ายของการแสดงหนังระทึกขวัญเรื่องนี้
จริงๆ แล้วถ้าเป็นภาพยนตร์แนวนี้เนี่ย ไม่เคยเล่นเลยค่ะ ถามเรื่องความยาก-ง่ายก็น่าจะเป็นเรื่องของวิธีการทำงานมากกว่า เพราะว่าหนังสไตล์แบบนี้มันจะมีเรื่องของเทคนิคเข้ามาเยอะ คัทแต่ละคัท การจัดแสง หรือการจัดองค์ประกอบต่างๆ ค่อนข้างยากค่ะ แล้วก็วิธีการเล่น วิธีการทำงานมันก็จะไม่เหมือนกับหนังดราม่าทั่วไปที่จะทำอารมณ์ ท่องบท และเล่นไปตามจังหวะของเรื่อง แต่นี่มันจะมีเรื่องเทคนิคเข้ามา บางฉากเราก็ต้องเล่นกับซีจี บางฉากเราก็ต้องคิดเอง ต้องจินตนาการเอาเอง ก็ต้องคุยกับผู้กำกับว่ามันจะมากหรือน้อย เราจะต้องรีแอ็คแค่ไหน ทั้งตัวนกเอง และตัวละครอื่นๆ ด้วย จะเล่นกับซีจีค่อนข้างเยอะ ก็จะแบบว่ามันก็เป็นเรื่องของจินตนาการ มันก็ท้าทายในเรื่องของการทำงานมากกว่าค่ะ

ฉากที่ดูแปลกตาไปจากเรื่องอื่น เห็นคาแร็คเตอร์ที่เปลี่ยนไปชัดเจน อย่างฉากขายหนังโป๊ เป็นยังไงบ้าง
ตอนแรกๆ ก็รู้สึกเขินเหมือนกันที่จะเล่น เพราะมันจะต้องโฉ่งฉ่างพอสมควรอะไรอย่างนี้ แล้วก็ต้องขายวีซีดีโป๊ด้วย ก็จะมีลูกค้าที่แอบมาซื้อ เราก็ต้องซ่อนหนังใต้ดินหนีอยู่อะไรอย่างนี้ ในขณะที่ก็มีหนังทั่วไปขายอยู่ด้วย เราก็คิดว่า เราจะเป็นแม่ค้าแบบไหนดี ก็พยายามยึดแนวว่า นิดามันจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อเป็นแม่ค้า มันก็อาจจะไม่ใช่แม่ค้าโดยทั่วๆ ไป ก็อาจจะดูแรงๆ หน่อย

โดยตัวบทที่เปิดตัวละครนิดาที่ขายแผ่นหนัง นกก็ว่ามันก็สนุก ด้วยวิธีการพูดวิธีการเล่น มันก็อะไรที่ขำๆ เหมือนกัน มันก็มีฉากที่เพิ่มรายละเอียดขึ้นมา โดยเอาฝรั่งเข้ามาซื้อแล้วก็คุยแลกเปลี่ยนสื่อสาร ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนของภาษามันก็ทำให้เกิดความสนุกขึ้นมาได้ ถามบรรยากาศของทีมงานที่อยู่ในกอง เค้าก็ขำกันค่ะ ดีสนุกดี ก็เหมือนเราได้เล่นอะไรที่ปลดปล่อยค่ะ เพราะเมื่อก่อนจะได้เล่นอะไรที่มีคาแร็คเตอร์มีไดอะล็อกที่มีขอบเขตนะคะ แต่มาเรื่องนี้ก็ได้พูดจาแบบไม่เพราะบ้าง มันก็ตลกดี มีสีสันดี

 

 

ฉากฉากปะทะอารมณ์กับสามีในเรื่องเรียกได้ว่า เล่นจริงเจ็บจริงกันเลย
เล่นจริงเจ็บจังมากกว่าค่ะ (หัวเราะ) ฉากนี้หลายเทคเหมือนกัน แล้วก็มีอยู่เทคหนึ่งที่คิดว่าถึงกำแพงแล้ว แต่มันยังไม่ถึง แบบล้มลงไปก้นเขียวขาเขียวไปหมด ฉากนี้ตบตีกับพี่บี๋ (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์)จริงๆ

คือในฉากนี้มันเป็นฉากที่เราจับได้ว่าสามีไปกับผู้หญิงคนอื่น เราก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เค้าก็ไม่ยอมรับจนต้องทะเลาะใช้กำลัง แล้วก็ในเรื่องเนี่ย พี่บี๋ในเรื่องดูเหมือนเป็นสามมีเรียบร้อย แต่พอถึงเวลาก็จะใช้กำลังกับภรรยา ชอบซ้อม มีการตีกันเกิดขึ้น มีการเตะ การกระทืบกันเกิดขึ้น ก็ค่อนข้างรุนแรง ตอนแรกก็เกรงใจพี่เค้าเหมือนกัน เพราะเข้าฉากวันแรกก็ซีนอารมณ์เลย ก็บอกพี่เค้าว่า พี่หนูเล่นจริงนะ เล่นเต็มที่นะ เค้าก็บอก เอาเลยๆ ตามสบาย ก็เล่นเต็มที่กันจริงๆ ค่ะ ก็กระแทกข้างฝา ล้มลงพื้นหัวโขก ก็สนุกดีค่ะ ได้อารมณ์ พอเป็นนักแสดงด้วยกันก็อยากเล่นให้ถึงๆ กันมากกว่า มันจะส่งอารมณ์กันได้ดีมากกว่า

มีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้างมั้ยในการแสดงฉากยากๆ นี้
เรื่องอุปสรรคในฉากนี้ก็คงเป็นเรื่องของจังหวะมากกว่า เวลาทะเลาะตบตีกันแล้ว มันเป็นเรื่องของจังหวะหรือมุมกล้องอะไรอย่างนี้มากกว่า แล้วก็เป็นฉากแรกๆ ที่พี่บี๋เข้าฉากแล้วก็เป็นฉากปะทะอารมณ์กันเลย พี่บี๋ก็ค่อนข้างเครียดกับบท กับการแสดงพอสมควรเลย เพราะทุกๆ ฉากที่เล่นกับพี่บี๋จะเป็นซีนอารมณ์ทะเลาะทั้งนั้นเลยค่ะ

มีฉากไหนที่เล่นแล้วรู้สึกชอบเป็นพิเศษ
จริงๆ เป็นฉากไคลแม็กซ์ของเรื่อง คือเป็นฉากบนห้อง จะเป็นฉากแบบว่าเป็นซีนอารมณ์แน่ๆ เลย ก็บอกผู้กำกับเลยว่าขอไม่ซ้อมนะ ให้เค้าเซ็ตฉากอะไรเสร็จแล้วก็จะเล่นเลย พร้อมเล่นเลย ก็รู้สึกสนุกดี ได้ปลดปล่อยเต็มที่ไม่มีกติกาอะไรทั้งสิ้น คือถามผู้กำกับว่าเอาแค่ไหน เค้าก็บอกว่าเอาให้สุดเลย ปลดปล่อยทุกอย่างออกมาให้หมดเลย แล้วเราเล่นไปตามนั้น พอเล่นเสร็จแล้วเราก็รู้สึกว่า สนุกว่ะ ไม่คิดว่าตัวเองจะเล่นได้เยอะขนาดนี้ ก็ครั้งเดียวผ่านค่ะ แต่ว่าก็แถมให้อีกเทคนึง เพราะพี่บี๋ตกใจ เพราะพอไม่มีการซ้อมพีบี๋เค้าช็อคมาก เค้าบอกว่าเค้าเล่นอะไรไม่ถูก ขออีกเทคได้มั้ย (หัวเราะ) ก็เลยให้สองเทคค่ะ

การร่วมงานกับทีมนักแสดงในเรื่องนี้

แสดงร่วมกับพี่บี๋ (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) ก็สนุกดีค่ะ แต่อย่างที่บอกพี่บี๋ค่อนข้างจะเกร็ง เค้ามีบทไม่มาก แต่ทุกฉากสำคัญหมด เพราะเป็นตัวละครสำคัญเหมือนกัน พอมาเข้าฉากทีก็จะเป็นซีนอารมณ์ทั้งหมดเลย แบบว่าต้องมีสมาธิมากพอสมควร ต้องทำการบ้านมาอย่างดี ก็เต็มที่ค่ะ เพราะพี่บี๋เค้าก็ทำการบ้านมา พยายามเป็นตัวละครตัวนั้นให้มากที่สุด เคยเล่นละครกับพี่บี๋มาก่อน แต่ภาพยนตร์ยังไม่เคยเลยค่ะ ตอนแรกๆ ก็โอเคค่ะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ขอโทษขอโพยกันไป เพราะบางทีต้องใช้คำหยาบค่อนข้างมาก จะต้องทุบเค้าอะไรอย่างนี้ ก็จะมีฉากแรงๆ ใส่กัน ก็รู้มาจากผู้ช่วยฯ ว่า พี่บี๋แกช็อคมาก เล่นแรงขนาดนี้เลยเหรอ เค้าไปไม่ถูกเลย ก็ต้องเล่นใหม่ แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ก็จะบอกพี่เค้าว่า เวลาที่เราเล่นก็จะค่อนข้างเต็มที่นะคะพี่ เพราะหนังมันจะค่อนข้างชัดน่ะค่ะ

 

 

น้องตาล (กัญญา รัตนเพชร์) จาก “รักแห่งสยาม” นี่เหมือนเดินผ่านกันไปเฉยๆ ไม่มีการปะทะคารมอะไร ไม่มีการพูดคุยอะไรกัน แต่สำหรับเรื่องนี้จะเป็นซีนที่เจอกันจริงๆ จังๆ เล่นแบบส่งบทกัน ก็สนุกดี เค้าก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับบทบาทที่เล่นพอสมควร เวลาที่เล่นก็จะคอยถามว่า หนูโอเคมั้ยพี่ หนูเล่นแข็งมั้ย พี่รู้สึกที่หนูเล่นมั้ย พี่ว่ายังไง หนูเป็นยังไง แต่เราก็เห็นว่าผู้กำกับเค้าก็คอยบอกคอยดูแลอยู่ตรงนั้นด้วยแล้ว ก็ดีค่ะเป็นอะไรที่แบบว่า เวลาเล่นกับเด็กใหม่ๆ แล้วมันตื่นเต้นดี ทำให้เรากระตือรือร้นด้วย

 

 

กับ สตาร์บัค (พงศ์พิชญ์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล) จริงๆ แล้วเป็นตัวละครเอกเลย เดินเรื่องคู่กันไปตลอดทั้งเรื่องเลย รู้ว่าเป็นการแสดงเรื่องแรกของเค้า จริงๆ แล้วก็มีความเป็นธรรมชาติของเค้าอยู่นะคะ แต่ทุกครั้งเลย เวลาเด็กใหม่ๆ พอเข้าฉากกับนกแล้วจะตื่นกลัว สตาร์บัคก็อย่างนี้เลยตื่นกล้อง ลืมบท จำบทผิดๆ ถูกๆ จำคิวผิดๆ ถูกๆ สับไปสับมาอะไรประมาณนี้ ก็จะขำเค้า ก็จะล้อเค้า คนที่จดคอนทินิวก็จะบอกว่า สตาร์บัคเนี่ยจะต้อง 7 เทคเป็นอย่างต่ำ จะสตาร์ทที่ 7 เทคเลย เราก็จะล้อเค้าว่า ยังไม่ 7 เทคเลย เร็วๆ เล่นมา เทคเข้าไป (หัวเราะ) เค้าก็จะค่อนข้างเกร็ง เราก็ต้องคอยบอกว่า สบายๆ ไม่ต้องเกร็ง จำประเด็นของแต่ละฉากให้ดีอะไรอย่างนี้ ในขณะเดียวกันผู้กำกับก็อยากให้คงความเป็นคาแร็คเตอร์ของเค้าไว้ด้วย

การร่วมงานกับผู้กำกับ “ภาคภูมิ วงษ์จินดา” เป็นอย่างไร
ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานกับคุณเพื่อนนะคะ ก็สนุกดีนะคะ เพราะจริงๆ เราก็ไม่เคยเล่นหนังสไตล์นี้มาก่อน ก็ต้องอาศัยผู้กำกับค่อนข้างมากว่าต้องการให้เป็นแบบไหน อยากให้มันถ่ายทอดแบบไหน จังหวะการเล่นหรืออะไรอย่างนี้ เราต้องถามเค้าน่ะค่ะว่าอยากให้มันออกมาเป็นแบบไหน ก็จะค่อนข้างคุยกันเยอะก่อนที่จะมาถ่ายทำ พอทำงานแล้วก็ราบรื่น เพราะเค้าก็จะคอยบอกเราว่าต้องการมาก-น้อยแค่ไหน

ตอนที่คุยกัน ที่ติดต่อกันแรกๆ เราก็รู้สึกว่า มันมีอะไรที่น่าสนใจ โดยคาแร็คเตอร์ของผู้กำกับเองด้วย ก็ดูว่าเหมาะกับสไตล์หนังสยองขวัญหลอนระทึกนะคะ เป็นคนเหมือนไม่มีอะไร แต่มีอะไร คาแร็คเตอร์เค้าก็น่าสนใจดี ก็เลยอยากลองทำงานด้วยว่า เออ คนที่มีคาแร็คเตอร์ประมาณนี้ กำกับหนังแนวนี้ มันจะมีความคิดแบบไหน หนังจะออกมาเป็นแบบไหน ก็สนุกดีค่ะ ทำงานแล้วก็รู้สึกแฮปปี้ค่ะ

ประเด็นหลักที่หนังเรื่องนี้สะท้อนออกมา
มันพูดถึงปัญหาครอบครัวด้วยนะคะประเด็นหนึ่ง ซึ่งเรื่องบางเรื่องมันก็สามารถทำให้เกิดเรื่องราวที่บานปลายได้ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของความไม่รู้ ความไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ ประเด็นก็คือ การที่ลูกขังตัวเองมา 5 ปีเนี่ย มันเพราะอะไร แล้วจริงๆ ตลอด 5 ปีเนี่ยเขายังอยู่ในนั้นเหรอ แล้วจริงๆ มันใช่เค้าจริงๆ หรือเปล่า ตรงนี้มันเป็นเรื่องที่น่าติดตามไปพร้อมๆ กับตัวละครถึงเบื้องหลังประตูบานนี้ว่ามันคืออะไรกันแน่

คาดหวังอย่างไรบ้างกับผลงานล่าสุดนี้
ก็คงลุ้นเหมือนคนดูน่ะค่ะ เพราะไม่เคยเล่นหนังแนวนี้เลย ก็ยังไม่รู้ว่าออกมาแล้วจะเป็นอย่างที่เราคิดมั้ย คนดูจะชอบมั้ย เข้าใจมั้ย เพราะหนังแบบนี้ก็จะเป็นหนังอีกสไตล์หนึ่งที่มันไม่ได้ต่อเนื่องทางอารมณ์เหมือนอย่างหนังดราม่าอย่างนี้ใช่มั้ยคะ มันก็จะมีอะไรที่ระทึกขวัญด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้าใจและไม่เข้าใจอยู่ในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันคงต้องอยู่ที่เวลาที่เราเล่นแล้ว ตัดต่อแล้ว ภาพรวมมันจะออกมาเป็นยังไง ก็ต้องลุ้นไปด้วยกันค่ะ (หัวเราะ)

นานๆ จะกลับมาเล่นหนังซักครั้ง มีความพิเศษอะไรมามอบให้แฟนๆ บ้าง
หนังนี่ชอบเลยแหละ เวลาที่มีหนังมาติดต่อก็จะแฮปปี้ก่อนค่ะ แล้วเราก็ค่อยๆ ดูว่ามันน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน สำหรับเรื่องนี้ก็คงเป็นสไตล์ของมัน สไตล์ของหนังแนวนี้ที่เรายังไม่เคยเล่น บทที่เรายังไม่เคยลอง เราก็อยากลองอะไรอย่างนี้ค่ะ อยากแสดง อยากเห็นมุมใหม่ๆ ของตัวเองด้วย อยากทำงานกับผู้กำกับที่มีมุมมอง มีสไตล์อีกแบบหนึ่ง เราจะได้ให้โอกาสตัวเองในแบบต่างๆ ว่า เราเล่นอีกสไตล์ เราตีความจากอีกบทบาท เราจะทำได้มั้ย เล่นอีกสไตล์จะเป็นยังไง ในฐานะนักแสดงก็มีอะไรใหม่ๆ ได้เล่น ส่วนคนดูก็ได้มีอะไรแปลกใหม่ดูด้วย ก็คงเป็นความพิเศษตรงนี้ค่ะ

ความน่าสนใจโดยรวมของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงจุดไหนบ้าง
นกว่า คงเป็นหนังสไตล์ของคนที่ชอบหนังแนวลึกลับน่าค้นหา อยากหาคำตอบ อยากหาเหตุผล และในขณะเดียวกันก็อยากระทึกขวัญด้วย ซึ่งนกคิดว่าคนที่ชอบหนังสไตล์นี้ น่าสนใจ น่าจะมาดู เหมือนนกเอง ตอนที่ตัดสินใจเล่นเรื่องนี้ ก็คงเป็นเพราะว่าเป็นสไตล์ของหนังที่เราไม่เคยเล่น เราอยากรู้ว่าหนังแบบนี้จะมีวิธีการทำงานแบบไหน และเมื่อมันออกมาแล้วเนี่ย มันเป็นอย่างที่เราคิดมั้ย สยองระทึกขวัญมั้ย มันน่ากลัว มันมีอะไรซับซ้อน มันมีอะไรลึกลับมั้ย นั่นคือความน่าสนใจที่อยากให้ผู้ชมเข้าไปติดตามกันค่ะ

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.