สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ด้วยเกล้า

  28 สิงหาคม 2549
   
 

ที่มาของการนำหนังกลับมาฉาย

          สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ร่วมกับ บริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ร่วมเป็นเจ้าภาพในโครงการ “ รวมใจ “ ด้วยเกล้า” หนังไทยเพื่อในหลวง “ ด้วยการนำภาพยนตร์เกียรติยศแนวสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม พ.ศ.2530 เรื่อง “ ด้วยเกล้า ” ผลงานการกำกับของ “ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ” นำแสดงโดย จรัล มโนเพ็ชร, จินตหรา สุขพัฒน์, สันติสุข พรหมศิริ และ กฤษณ์ ศุกระมงคล กลับมาฉายอีกครั้งในโรงภาพยนตร์

          “ ด้วยเกล้า ” เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี และความเคารพเทิดทูนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีเนื้อหาสาระเป็นคติสอนใจคน ซึ่งถ่ายทอดจากความรู้สึกของชาวนาและความยากลำบากของกระดูกสันหลังของชาติ แต่ยังดีที่แม้ว่าทุกคนจะแร้นแค้นยากจนสักเพียงใด ความร่มเย็นและน้ำพระทัยของ “ ในหลวง ” ก็แผ่กระจายเอาความชุ่มชื่นร่มเย็นไปถึง...เป็นภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าและควรชม

          ด้วยจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณใน “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ” สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ได้ผนึกกำลัง ระดมสมอง และใจ ในการนำภาพยนตร์เรื่อง “ ด้วยเกล้า” กลับมาฉายอีกครั้ง โดยเรามิได้ดัดแปลงของเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่ปรับปรุงและแก้ไขในเรื่องคุณภาพเสียงจากของเดิมเปลี่ยนเป็นระบบ ดอลบี้ 5.1 ซึ่งได้รับความเอื้อเฟื้อจากบริษัท “ ดอลบี้” มาช่วยดูแลในด้านระบบเสียงให้ รวมไปถึง “ กันตนา ” เอื้อเฟื้อแล็ปเพื่อใช้ในขั้นตอนผลิตฟิล์มทั้งหมด , ฟูจิ ฟิล์ม มอบฟิล์มในการทำต้นฉบับใหม่ , ” วนิลาสกาย” ร่วมทำเสียงประกอบภาพยนตร์ใหม่, “ ลัลลาบาย” ร่วมทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ , “ ห้องเสียงรามอินทรา” ร่วมบันทึกเสียงให้ใหม่ทั้งหมด และ “ เดอะโพสต์ บางกอก” ร่วมสร้างสรรค์ผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างครั้งใหม่ โดยมี ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล,สุเทพ ตันนิรันดร์ ร่วมตัดต่อและจัดทำโปสเตอร์ และ แบนเนอร์สื่อโปรโมททั้งหมด และคุณ เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร รับหน้าที่โปรดิวเซอร์งานในครั้งนี้

          นี่เป็นเจตนารมณ์อันยิ่งยวดของ “ คนทำหนังไทย” ที่ร่วมกันทำเพื่อ “ ในหลวง” เนื่องในปีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปี เพื่อย้ำเตือนความโชคดีเป็นที่สุดที่ได้อยู่ร่วมแผ่นดินไทย เป็นประชาชนของพระองค์

          ภาพยนตร์ “ ด้วยเกล้า” เปรียบเสมือนตัวแทน และ สื่อความหมายของ “ ความรู้สึก" ของ “ คนหนังไทย” ที่มีต่อพระเจ้าแผ่นดินของเรา เนื้อหาของหนังบอกเล่าเรื่องราว “ ในปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานข้าวเปลือกจากแปลงทดลองในวังสวนจิตรลดา สู่พิธีจดพระนังคัลแรกนาขวัญ “ เสาคำ” (จรัล มโนเพ็ชร) ชาวนาจากภาคเหนือได้มาเก็บกอบไป 1 กำเล็กๆ ด้วยความรักเทิดทูนและศรัทธาใน “ ข้าวของพ่อ” เขาหว่านข้าวเหล่านั้นลงในผืนดินที่แห้งแล้ง ต่อสู้กับความไร้น้ำใจของนายทุน ความดูหมิ่นจากคนในครอบครัว และธรรมชาติที่โหดร้าย

          “ จนวันหนึ่งที่ “ ฝนหลวง ” ซึ่งไม่ใช่ “ น้ำฝน” ธรรมดา แต่คือ “ น้ำพระทัยของในหลวง ” ที่ได้ชโลมแดนดินกันดาร “ เสาคำ” ผู้เหมือนว่าจะพ่ายแพ้จึงกลับมาหยัดยืนได้พร้อมรวงข้าวสุกอร่ามเต็มอ้อมแขน....ดวงตาที่เปี่ยมประกายความสุข”

          “ ด้วยเกล้า ” จึงเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากโรงภาพยนตร์ เอสเอฟ , เมเจอร์ และ อีจีวี ในการนำหนังเข้าฉาย 10 แห่ง

          รายได้ทั้งหมดในการฉายภาพยนตร์สัปดาห์แรก วันที่ 9 กันยายน-15 กันยายน พ.ศ.2549 ทางสมาคมฯ จะนำเงินร่วมสมทบทุน “ มูลนิธิชัยพัฒนา” ทั้งหมด

เรื่องย่อ

ปีที่ฉาย พ.ศ.2530

ความยาว 110 นาที

นำแสดง จรัล มโนเพ็ชร , จินตหรา สุขพัฒน์ , สันติสุข พรหมศิริ

กำกับการแสดง บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

          ในปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานข้าวเปลือกจากแปลงทดลองในวังสวนจิตรลดาสู่พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ “ เสาคำ” ชาวนาจากภาคเหนือได้มาเก็บกอบไป 1 กำเล็กๆ ด้วยความรักเทิดทูนและศรัทธาใน “ ข้าวของพ่อ” เขาหว่านข้าวเหล่านั้นลงในผืนดินที่แห้งแล้ง ต่อสู้กับความไร้น้ำใจของนายทุน ความดูหมิ่นจากคนในครอบครัว และธรรมชาติที่โหดร้าย

          จนวันหนึ่งที่ “ ฝนหลวง” ซึ่งไม่ใช่น้ำฝนธรรมดา แต่คือ “ น้ำพระทัยของในหลวง” ได้ชโลมแดนดินกันดาร “ เสาคำ” ผู้เหมือนว่าจะพ่ายแพ้ จึงกลับหยัดยืนได้พร้อมรวงข้าวสุกอร่ามเต็มอ้อมแขน และดวงตาเปี่ยมประกายด้วยความสุข

รางวัล ภาพยนตร์เกียรติยศแนวสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม พ.ศ.2530

รางวัล เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2530

          นี่เป็นภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่โปรดเกล้าฯ พระราชทาน 9 เพลงพระราชนิพนธ์คือ สายฝน, ลมหนาว, ชะตาชีวิต, อาทิตย์อับแสง , ยามเย็น, แสงเดือน, แสงเทียน, ใกล้รุ่ง และ ยิ้มสู้

          สิ่งสำคัญที่สุด นี่คือ ภาพยนตร์ไทยเฉลิมพระเกียรติที่หาชมได้ยากยิ่ง และเหมาะสมที่สุดที่พวกเราชาวไทยจะได้ชมในปีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติ 60ปีนี้ เพื่อย้ำเตือนความโชคดีเป็นที่สุดที่ได้อยู่ร่วมแผ่นดินไทย เป็นประชาชนของพระองค์ จึงเป็นภาพยนตร์ที่เมื่อชมจบแล้ว สมควรที่เราต้องยืนขึ้นร้องเพลง “ สรรเสริญพระบารมี” ร่วมกันอีกคำรบหนึ่ง

จากใจ ปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

ทำไมต้องทำโครงการนี้ และทำไมต้อง “ ด้วยเกล้า”
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ก็เหมือนประชาชนชาวไทยทุกคนในปีนี้ที่ “ อยากจะทำอะไรดี ๆ สักอย่าง” เพื่อในหลวง ในปีมหามงคลที่พระองค์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ก็เลยประชุมกันในบรรดาสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยผู้กำกับภาพยนตร์จากทุกค่าย ก็ลงความเห็นว่า “ อะไรดี ๆ” นี้ก็น่าจะเกี่ยวกับภาพยนตร์ ก็คิดเห็นกันไปหลากหลายในตอนแรก จะระดมทุนทำหนังใหม่ก็คงใช้เวลาและขั้นตอนหลายขั้นตอน จะทำหนังพระราชกรณียกิจก็เกรงว่าไม่ครอบคลุมเท่าที่ทางรัฐบาลจัดแสดงที่เมืองทองธานี.. คุยกันไปมา บางคนก็เริ่มพูดถึงหนัง “ ด้วยเกล้า” ซึ่งเป็นงานมาสเตอร์พีซของ บัณฑิต ฤทธิถกล เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับพระอัจริยภาพและพระเมตตาธรรมของในหลวง ผ่าน ข้าวหลวงและ ฝนหลวง เป็นภาพยนตร์รางวัลเกียรติยศของปี 2530 ด้วย น่าจะเอามาฉายให้ประชาชนรุ่นนี้ได้ชมและร่วมซาบซึ้งกัน แล้วมอบรายได้ถวายในหลวง ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ก็เลยนำไอเดียนี้ไปปรึกษากับทางไฟสตาร์ โปรดักชั่น ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์นี้ ทางคุณเจริญ เอี่ยมพึ่งพร (คุณเชน) ก็ยินดีมาก สั่งการให้คุณโจ๊ก ( เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร)ช่วยดูแลด้านโปรดักชั่น และติดต่อกับโรงหนังเรื่องการจัดฉาย

          สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากของการทำโครงการนี้ก็คือ ไม่ว่าจะขอความช่วยเหลือจากใคร ฝ่ายใด ค่ายใด ก็ได้รับความร่วมมือ และการอาสาทำให้แบบไม่คิดค่าแรง ค่าใช้จ่าย เช่น กันตนาก็ให้ใช้แล็บฟรี ฟูจิก็ให้ฟิล์ม ห้องเสียงรามอินทราก็ทำเสียงให้ฟรี ฯลฯ บริษัท พรานทะเลก็สนับสนุนกำลังเงินค่าทำสื่อ ที่สำคัญมากคือผู้กำกับทุกค่ายก็ช่วยกันทำงานที่ตัวเองถนัด คือ ทันทีทันใด “ ด้วยเกล้า” ก็ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ “ การรวมใจ” ของคนทำหนัง

          ก็เลยยิ่งเชื่อว่า กว่าจะถึงวันที่ภาพยนตร์ฉาย การรวมใจคงขยายผลจาก “ คนทำหนัง” ถึง “ คนบันเทิงทุกสาขา” และ “ ประชาชนทั่วไป”

ทำไมต้องมูลนิธิชัยพัฒนา
เพราะมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นมูลนิธิที่ทำงานด้าน “ ฝนหลวง”

จากใจ “ เจริญ เอี่ยมพึ่งพร” ผู้บริหาร บ.ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จก.

ทำไมจึงยินดีให้ภาพยนตร์ “ ด้วยเกล้า” จัดกิจกรรมครั้งนี้ “ ตั้งแต่ต้นปีที่ทราบข่าวจะมีการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปี ผมในฐานะพสกนิกรคนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ อยากจะตอบแทนความจงรักภักดีแด่พระองค์ท่าน ตัวผมในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ มีภาพยนตร์ “ ด้วยเกล้า” ตัวฟิล์มที่มีคุณค่า จึงมีความคิดที่อยากจะนำมาปัดฝุ่นใหม่ พอดีกับทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว ทราบเรื่อง แล้วมาพูดคุยกันพอดี และมีความคิดเห็นตรงที่กัน อยากจะทำอะไรเพื่อ “ ในหลวง ” และเพื่อให้ศักยภาพการทำงานที่เติบเต็มจึงตัดสินใจร่วมมือกับทางสมาคมฯนี้

          “ หนังเรื่องนี้มีการเดินทางมายาวนานถึง 19ปีเต็ม เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเกียรติจากในวัง ขอนำภาพยนตร์ไปฉายที่ “ สนามหลวง ” ทุกวันที่ 5 ธค.ของทุกปี เพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวที่บอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระองค์ท่าน

          “ การนำ “ ฟิล์ม” มาปัดฝุ่นทำใหม่ในครั้งนี้ แตกต่างจาก “ ของเดิม” ที่มีอยู่แน่นอน ตั้งแต่การเรียงภาพใหม่ ทำสี เสียง ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ที่ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศและการเล่าเรื่องของผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ในเวอร์ชั่นนี้จะมีภาพที่สดใส เสียงที่ดียิ่งขึ้น อารมณ์การบอกเล่าไม่แพ้หนังไทยในยุคปัจจบัน

          “ ผมเชื่อว่าภาพยนตร์ที่มีอายุยาวนานเกือบ 20ปีเรื่องนี้ คุณภาพไม่ด้อยกว่าหนังใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคการทำเสียง และที่สำคัญคือ “ ตัวบทภาพยนตร์” ที่เป็นความดีของเรื่อง ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี “ ด้วยเกล้า” ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ไม่เคยตกหล่นในทุกยุคทุกสมัย หากจะพูดถึง “ น้ำพระทัย” ของ “ ในหลวง ” ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ผมจึงภูมิใจที่จะเห็น “ ด้วยเกล้า” กลับมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้งในโรงภาพยนตร์” ผู้บริหารไฟว์สตาร์กล่าว

 

 

 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.