สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ความสุขของกะท

  LINK : รายละเอียดนักแสดง       สัมภาษณ์ผู้กำกับและทีมงาน
   
 

 

 

กำหนดฉาย                                  8 มกราคม 2552
ประเภทภาพยนตร์                         ครอบครัว-อบอุ่นประทับใจ
อำนวยการสร้าง                            สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง                           จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ, สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา
ดำเนินงานสร้าง                             อังค์วรา  พึ่งธรรม
กำกับภาพยนตร์                            เจนไวยย์ ทองดีนอก
บทภาพยนตร์                                งามพรรณ เวชชาชีวะ, เจนไวยย์ ทองดีนอก
กำกับภาพ                                     ธนนท์  สัตตะรุจาวงษ์
ออกแบบงานสร้าง                          เอกรัฐ  หอมลออ
ผู้กำกับศิลป์                                   ธรรมรงรัตน์ วานิชสมบัติ
ออกแบบเครื่องแต่งกาย                   กรกนก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ดนตรีประกอบ                                นภ พรชำนิ
ลำดับภาพ                                      ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล
แต่งหน้า                                        วรโชติ อุปปิง
ทำผม                                            พรเทพ มงคลสกุลกิจ
ทีมนักแสดง                              สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์, จารุวรรณ ปัญโญภาส, ภัสสร คงมีสุข, รัชนก แสงชูโต, เข็มอัปสร สิริสุขะ, กฤษฎา สุโกศล แคลปป์, ไมเคิล เชาวนาศัย, นิธิศ โค้วสกุล


 

เรื่องย่อ

“กะทิ” (น้องพลอย-ภัสสร คงมีสุข) เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่ต้องผ่านประสบการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อ “แม่” (รัชนก แสงชูโต) ต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคร้ายที่มิอาจรักษา กะทิต้องผ่านขั้นตอนความสุขและทุกข์ ความผูกพันและการพลัดพราก ความสมหวังและความสูญเสีย ที่มากเกินกว่าที่เด็กวัยเดียวกันนี้จะรับไหว

ถึงกระนั้น กะทิก็ได้เรียนรู้ผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่แม่เตรียมไว้ให้ก่อนสิ้นลมหายใจว่า ความทุกข์จากการสูญเสียนั้นมิอาจพรากความสุขจากความรักและความผูกพันของแม่ที่มีต่อเธอได้

เด็กน้อยเติบโตขึ้นจากประสบการณ์นี้ด้วยความเชื่อมั่นและกำลังใจในการดำรงชีวิตจากบุคคลใกล้ชิด...ผู้ที่เธอรักและรักเธอ
ไม่ว่าจะเป็น “ตา” (สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์) และ “ยาย” (จารุวรรณ ปัญโญภาส) ผู้ที่รักหลานกะทิดุจชีวิต, “น้าฎา” (เข็มอัปสร สิริสุขะ), “น้ากันต์” (กฤษฎา สุโกศล แคลปป์), “ลุงตอง” (ไมเคิล เชาวนาศัย) และ “พี่ทอง” (นิธิศ โค้วสกุล) ที่ต่างเข้ามาสร้างสีสันและเติมเต็มชีวิตให้หนูน้อยกะทิรู้สึกว่า เธอไม่ได้ขาดอะไร และสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้เฉกเช่นเด็ก ๆ ในวัยเดียวกัน

ใครจะรู้ว่า แท้จริงแล้วในความโศกเศร้านี้ ก็มี “ความสุขจริงแท้อันยิ่งใหญ่” ที่ได้เบ่งบานในหัวใจของ “เด็กหญิงกะทิ” อยู่เช่นกัน

 

 
หนังสือ "ความสุขของกะทิ" ในภาษาต่าง ๆ

“ความสุขของกะทิ เป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์องค์ประกอบอย่างหมดจดงดงาม สื่อแนวคิดซึ่งเป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนอ่านหลากหลายไม่ว่าอยู่ในวัยและวัฒนธรรมใด เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่องที่ค่อย ๆ เผยปมปัญหาทีละน้อย ๆ ผ่านมุมมองของตัวละครเอก ด้วยภาษารื่นรมย์แฝงอารมณ์ขัน สอดแทรกความเข้าใจชีวิตที่ตัวละครได้เรียนรู้ไปตามประสบการณ์ ความสะเทือนอารมณ์จะค่อยๆ พัฒนาและดิ่งลึกในห้วงนึกคิดของผู้อ่าน นำพาให้ผู้อ่านอิ่มเอมกับรสแห่งความโศกอันเกษมที่ได้สัมผัสประสบการณ์ของชีวิตเล็ก ๆ ของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง”
คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ พ.ศ. ๒๕๔๙

ภาพยนตร์ชูใจ

ภาพยนตร์ชูใจ คือกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม คลุกคลี และคร่ำหวอดในแขนงงานต่าง ๆ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ล้วนแล้วแต่ต่างผ่านโมงยามในการเรียนรู้ หลงใหล ในเสน่ห์ของภาพยนตร์ในฐานะคนรักหนังมาแรมปี โดยหวังไว้สักวันหนึ่งว่าจะได้มีโอกาสถ่ายทอดความคิด ผลักดันไอเดียที่แล่นผ่านเข้ามาในชีวิต ออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ที่มุ่งสื่อสารกับผู้คนกลุ่มใหญ่
และในวันนี้ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกในนามของกลุ่มภาพยนตร์ชูใจกำลังจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ได้รับเกียรติจากนวนิยายเรื่อง “ความสุขของกะทิ” วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ปี ๒๕๔๙ มาสร้างเป็นผลงานภาพยนตร์เปิดตัวเรื่องแรก เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาดีตรงตามแนวทางของกลุ่มที่เน้นการสร้างภาพยนตร์ที่ช่วยเชิดชูยกระดับจิตใจและสร้างสรรค์สังคม โดย “ความสุขของกะทิ” เป็นหนังสือที่มีการขมวดปมทางอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างความประทับใจ อบอุ่นอบอวลให้กับแฟนหนังสือได้อย่างลงตัวที่สุด
และนอกจากนี้ทางภาพยนตร์ชูใจยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ ในการถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กหญิงกะทิผ่านบทภาพยนตร์ร่วมกับผู้กำกับ คุณเจนไวย์ ทองดีนอก เป็นครั้งแรกอีกด้วย และยังมี ๒ สาวเก่งผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ไทยอย่าง คุณจาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ และ คุณสุฐิตา เรืองรองหิรัญญา  รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ 

 

 

***จุดเริ่มต้น...วิ่งกลบน้ำตา***
“คือถ้าถามตัวเอง ในเรื่อง ‘ความสุขของกะทิ’ เนี่ย เราชอบ ‘ฉากกะทิร้องไห้’ ซึ่งกะทิจะร้องอยู่แค่ฉากเดียวในหนังสือ แต่ในหนังขอไม่บอกว่าร้องไห้กี่ฉาก แต่ว่าในหนังสือที่เขียนว่า ‘กะทิร้องไห้จนตัวโยน วิ่งอย่างสุดแรง’ อะไรแบบนี้จะมีอยู่แค่ฉากเดียว และเราจะชอบฉากนี้มาก ๆ ก็คงเหมือนกับตัวเองแหละ เวลาเสียใจเราก็ชอบวิ่งไป แล้วเราก็ชอบให้ลมมันพัดเข้ามา ก็รู้สึกว่ามันช่วยทุเลาความเศร้าความโศกลงไปได้ ก็จะเห็นภาพตลอดเวลาว่าจะถ่ายฉากนี้ยังไง  เราจะถอยกล้องจากตรงนี้ ให้กะทิวิ่งมาตรงนี้ แล้ววิ่งไกลซักประมาณ 500 เมตรอะไรอย่างนี้ ภาพมันจะคิดทุกวัน ๆ ทำให้รู้สึกว่าภาพฉากนี้มันประทับอยู่ในใจเรา เราอยากจะถ่ายทอดออกมามาก มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะทำหนังเรื่องนี้”

***กล้า-ไม่กล้า...นิ่ง-ไม่นิ่ง***
“เมื่อหนังสือมันนิ่ง แต่หนังเราจะทำยังไงให้มันไม่นิ่ง นั่นเป็นโจทย์หนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็คือ ถ้าเราถอดแบบมาเป๊ะ ๆ บรรทัดต่อบรรทัด แน่นอนมันก็จะเหมือนหนังสือเกินไป คือไม่ได้ห่วงว่าจะนิ่งเหมือนหนังสือนะ แต่ห่วงว่าจะเหมือนหนังสือจนเกินไป มันก็จะขาดสีสัน ขาดความสนุกอะไรอย่างนี้ เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีการดัดแปลงแบบจริงจัง ก็คือไม่เรียงตามลำดับ 1-2-3 ซึ่งถ้าได้อ่านหนังสือแล้วก็จะรู้ว่าในหนังสือมันไม่ได้พูดอะไรเลย ทีนี้เราก็พยายามเขียนบทให้มันมีความสนุกขึ้น ว่ากันง่าย ๆ ก็คือมันจะมีความสนุกขึ้น มีสีสันมากขึ้น ร้อยเรียงใหม่ให้มีจังหวะที่น่าสนใจมากกว่าที่จะนิ่ง ๆ แบบในหนังสือนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่ดีนะครับ การแก้ปัญหาในการทำหนังเรื่อง ‘ความสุขของกะทิ’ จากหนังสือเนี่ย คือนอกจากจะต้องเพิ่มบทสนทนา ก็ต้องมีการเพิ่มเรื่องราวใหม่ ๆ เพิ่มตัวละครใหม่ ๆ เพิ่มเซอร์ไพร้ส์ต่าง ๆ ที่จะทำให้คนอ่านหนังสือพอมาดูแล้วเนี่ยสนุกมากกว่าที่อ่านหนังสือนะครับ”

***ผนึกฝีมือเขียนบท...แน่นปึ้ก***
“คนที่จะรักษากลิ่นอายบทประพันธ์ ‘ความสุขของกะทิ’ ได้ดีที่สุดก็คือ ‘คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ’ เจ้าของบทประพันธ์นั่นเอง ซึ่งถ้าเราได้เจ้าของบทประพันธ์มาร่วมเขียนบทด้วย มันก็จะคงความรู้สึกในหนังสือ มีเสน่ห์แบบหนังสืvและไม่หลุดกรอบจากสิ่งที่คนอ่านคาดหวัง แต่ว่าถ้าจะให้เจ้าของบทประพันธ์เขียนคนเดียวไปเลยมันก็จะก้ำกึ่ง เพราะว่าจริง ๆ แล้วเจ้าของบทประพันธ์ก็เขียนแต่หนังสือ หรือไม่ก็แปลหนังสือ ผมก็รู้สึกว่ามันต้องผสมกันระหว่างวรรณกรรมกับภาพยนตร์ใช่มั้ยครับ เราก็จะดูเรื่องทางด้านภาพ เทคนิคต่าง ๆ หรืออารมณ์ หรือศิลปะด้านอื่น ๆ ผสมกับบทสนทนา คาแร็คเตอร์ตัวละคร ที่มาที่ไป ที่มันจะต้องผสมกันให้ลงตัวที่สุด เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่า ผู้กำกับและเจ้าของบทประพันธ์เขียนบทร่วมกัน ถ้าจะบอกว่ามันเป็นสูตรก็ได้ มันก็เป็นสูตรที่ลงตัวที่สุด”

 

 

***ทีมนักแสดงในฝัน...เป็นจริง***
“คือจริง ๆ แล้วผมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกก็ทำงานตามสัญชาตญาณก่อน คือว่าก็อยากทำงานกับใครเราก็รู้สึกว่าเราต้องจูนภาพความฝันกับความจริงให้อยู่ตรงกลางให้ได้ ส่วนตัวเราชอบ คุณอาสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ติดตามหนังเขามาตลอดรู้สึกว่าเขาเหมือน Clark Gable เมืองไทย อยากทำงานกับอาสะอาดซักครั้ง พอได้อาสะอาดมันก็เหมือนเป็นแพ็คเกจคู่ขวัญในสมัยอดีตก็คือ คุณจารุวรรณ ปัญโญภาส บทในเรื่องยายของกะทิ บทค่อนข้างจะดุแต่ใจดียิ้มแล้วโลกสดใส ป้าแมวไม่ได้เล่นหนังมากนักส่วนตัวเราก็ชอบมาตั้งนานแล้ว ถ้าได้จับคู่กันอีกซักครั้งหนึ่งก็คงจะดี

 ส่วนตัวละครอื่น ๆ อย่างพวกพี่น้อย, เชอร์รี่,  พี่ไมเคิล และพี่รัชนกเนี่ยก็จะเป็นสีสันของเรื่อง  เพราะบทของแต่ละคนจริง ๆ ก็เป็นบทที่สำคัญมาก ทุกคนจะอยู่รายล้อมตัวกะทิอยู่ตลอด  ฉะนั้นนอกจากฝีมือการแสดงที่อยู่ในขั้นดีแล้ว เห็นหน้าก็รู้สึกว่าต้องชอบและทำให้ผู้ชมคล้อยตามแล้วก็ติดตามเรื่องไปได้ตลอดเวลา  ซึ่งทุกคนก็สามารถแสดงฝีมืออย่างสมบทบาทและสร้างสีสันให้กับเรื่องราวได้มากมายเลยครับ ทั้งหมดก็เป็นทีมนักแสดงมืออาชีพแถวหน้าของวงการที่ผมภูมิใจและถือว่าเป็นเกียรติมากครับที่ได้มาร่วมงานกันในงานกำกับเรื่องแรกของผม”

***ทีมงานเบื้องหลัง...มืออาชีพแถวหน้า***
“คือเราทำหนังเรื่องแรกก็อยากได้หนังที่ออกมาสมบูรณ์ดีที่สุด ให้คนดูได้อะไรกลับไปมากที่สุดในเรื่องของลักษณะงานสร้างที่ประณีตสมบูรณ์ เพราะว่างานภาพยนตร์มันไม่ใช่กำกับการแสดงอย่างเดียว การที่จะทำให้เราเหนื่อยน้อยลงก็คือ การเลือกคนที่ดีที่สุดมารับผิดชอบในด้านต่าง ๆ แทนเราด้วยส่วนหนึ่ง

เริ่มจาก ‘ผู้กำกับภาพ’ ก่อน เราก็ได้เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันชื่อ ‘ธนนท์ สัตตะรุจาวงษ์’ เค้าได้รับทุนอานันทมหิดลไปเรียนที่ NYU ปริญญาโทด้านภาพยนตร์ที่อเมริกา กลับมาก็มาเป็นตากล้องโฆษณา เป็นผู้กำกับโฆษณา ไปถ่ายหนังที่เปรู ที่อาร์เจนติน่า ก็ได้รับการยอมรับจากทุกวงการ และเขาก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกล้องภาพยนตร์ค่อนข้างดี แล้วก็เป็นเพื่อนเคยร่วมงานกันมา แค่มองตาก็รู้ใจ คุยกันรู้เรื่องว่างั้นเถอะ และนนท์ก็สนใจที่จะถ่ายหนังสไตล์แบบนี้ ทำให้งานภาพของหนังเรื่องนี้เป็นงานภาพที่สวยงามมาก ละเอียดมากครับ

‘โปรดักชั่นดีไซเนอร์’ เราก็ได้ ‘คุณเอกรัฐ หอมลออ’ ซึ่งผ่านงานโปรดักชั่นมาเยอะแยะมากมาย อย่างงานของคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ เขาก็จะถนัดงานแบบชนบท งานแบบไทย ๆ ผลงานของเขามีคุณภาพ เพราะว่าดูจากงานหลาย ๆ เรื่องคือออกจะเป็นแนวน้อยแต่สวยงามมากครับ

ต่อมาเรื่อง ‘เสื้อผ้า’ เนี่ย ‘คุณกรกนก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา’ จะเป็นคนที่อยู่ในใจที่อยากร่วมงานตลอดเวลา บังเอิญว่าพี่นกอ่านหนังสือแล้วก็ชอบมาก ก็เลยตกลงออกแบบเสื้อผ้าให้ อยากทำให้เชอร์รี่ดูสวย ทำให้พี่น้อยดูเท่ คุณรัชนกดูเป็นแม่ มันท้าทายในงานออกแบบเสื้อผ้าด้วย เพราะว่ามันมีเสื้อผ้าสำหรับเด็ก จริง ๆ แล้วหนังเด็กบ้านเราการดีไซน์เสื้อผ้าขาดความละเอียดและพิถีพิถัน แต่ว่าเรื่องนี้พยายามทำให้เสื้อผ้าของน้องกะทิคือว่าไม่ได้สวยอย่างเดียว แต่มันสามารถใช้ได้สมจริงกับสภาพแวดล้อมของประเทศด้วย

เรื่องของ ‘คนตัดต่อหรือลำดับภาพ’ เราอยากได้คนตัดต่อที่เก่งมากซึ่งคนตัดต่อเก่ง ๆ ที่มีประสบการณ์ก็หนีใครไปไม่ได้นอกจาก ‘ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล’ ลูกสาวท่านมุ้ยที่ตัดหนังมาตั้งแต่ผมยังเด็ก ๆ อยู่ พี่หญิงนุ้ยเป็นคนเก่งมาก สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเอาแกนหลักของเรื่องออกมาได้ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวไหน ทำให้เราเห็นว่าแกทำให้หนังทุกอย่างมันดูสนุกได้ หลังจากมีการพูดคุยในแนวทางที่น่าจะไปด้วยกันได้ เลยตกปากรับคำกันครับ

มาถึง ‘เพลงและดนตรีประกอบ’ อันนี้ก็ได้มืออาชีพมาทำให้เลยครับ ก็คือ ‘พี่นภ พรชำนิ’ มันได้จังหวะพอดีเพราะแกก็ชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน พออ่านเล่มนี้แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ อยากทำเพลงอะไรแบบนี้ ไอเดียที่ตรงกันก็คือ เพลงจะไม่เยอะมาก แต่เพลงมันจะคลอทั้งเรื่องอยู่แล้ว แต่ที่บอกเพลงไม่เยอะมากคือเครื่องดนตรีจะน้อยชิ้น เริ่มจากหนึ่งชิ้นบ้าง สองชิ้น สามชิ้น คือจะไม่เต็มวงไง มันจะมาเต็มวงจริง ๆ ก็คือตอนท้ายเรื่องตอนเครดิตมา ทุกอย่างมันจะเต็มวง คือมันจะค่อย ๆ ซ่อนมาตลอดเรื่อง คือจริง ๆ แล้วเพลงร้องมี 2 เพลงคือ ‘ดีใจที่มีเธอ’ ซึ่งเป็นเพลงที่พี่นภกับ
พี่บอยแต่งไว้ ฟังแล้วรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของความรักของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีต่อใครสักคนของทั้งแม่และกะทิในการสื่อความหมายของความรักครอบครัวที่อบอุ่นที่มีต่อกันในเรื่องได้ เวอร์ชั่นในหนังเป็นเสียงร้องของ ‘คุณแมรี่ อึ้งรังษี’ ส่วนอีกเพลงคือ ‘ความสุข’ ที่พี่นภทั้งแต่งและร้องครับ นี่ก็คือบุคคลเด่น ๆ ทีมงานหัวกะทิทั้งนั้นเลยครับ”

 

 

***เมื่อกะทิ...กลายเป็นหนัง***
“คือจริง ๆ คล้ายกับหนังสือ คือซาบซึ้งประทับใจ เรียบง่าย สงบงาม เป็นภาพยนตร์ที่มีความประณีตในการถ่ายทำ มีความสวยงามในด้านความรู้สึกและอารมณ์ และก็สะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามในความเป็นไทย”

***ความสุข...แบ่งปันกันได้***
“ตั้งแต่วันแรกที่ผมเปิดกล้อง ผมบอกว่าความสุขแบ่งปันกันได้ อยากให้ทุกคนทำงานด้วยความสุข ขอบคุณทุกคนที่ช่วยมาแบ่งปันความสุขให้งานของเราลุล่วงไปด้วยดีเหมือนกับชื่อเรื่อง ‘ความสุขของกะทิ’ เป็นความสุขของทุกคน หลังจากที่ทำงานกันมาแล้ว นิยามของความสุขมันก็ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่มันอาจจะมีหลากรูปแบบหลากมิตินะครับ ผมว่าชีวิตของคนเรา ความสุขของเราอยู่ที่เราต้องทำงาน รู้จักเล่น แล้วก็รู้จักแบ่งปัน ผมว่านี่แหละคือความสุขของการมีชีวิตอยู่ ต้องทำงานแล้วก็ต้องเล่นด้วย ต้องแบ่งปันด้วย นี่แหละคือความสุขครับ”

 

บันทึกผู้กำกับ

 

ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีเวลาของมัน การเตรียมพร้อมที่ดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การอดทนและรอคอย
พ่อผมเคยบอกว่า ตอนผมยังเล็ก คราวใดที่ผ่านหน้าโรงภาพยนตร์ ผมจะร้องไห้งอแง
นั่นอาจเป็นเพราะผมอยากจะดูหนัง หรือไม่ก็เพราะว่าในสมัยก่อนบริเวณหน้าโรงฯ
มีแตรวงบรรเลงเรียกร้องความสนใจอยู่ก็เป็นได้
นั่นเป็นเหตุผลที่ผมนำมาอ้างเสมอเมื่อมีใครถามถึงจุดเริ่มในการสนใจศาสตร์แขนงนี้ 
และก็เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ช่วยสะกดจิตตัวเองให้เป็นนักทำหนัง

แรกเริ่ม “ความสุขของกะทิ” ที่ผมรู้จักยังไม่มีคนสนใจมากนัก
ผมใช้เวลากับกะทิในมุมมองของตัวเองและจินตนาการเป็นภาพต่าง ๆ นานา
โดยไม่เคยนึกว่า วันหนึ่ง จินตภาพเหล่านั้นจะได้สัมผัสบนจอเงินจริง ๆ
เป็นสัมผัสที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของความสุขทุกอณูเฟรม

...การได้ทำงานกับแสงช่างวิเศษนัก...

เมื่อความตั้งใจคือถ่ายทอดสาระของความสุข สิ่งที่ห้ามละเลยคือการสร้างบรรยากาศแห่งสุขให้จงได้   
ความสุขบนแผ่นฟิล์มย่อมเกิดจากรายละเอียด

นอกแผ่นฟิล์มที่แปรผันตามกันดังสมการลบลบเป็นบวก
เพราะการสร้างภาพยนตร์เป็นเรื่องใหญ่ วุ่นวาย เป็นงานหนักที่ต้องทุ่มเทหมกมุ่นในสติตลอด
การกระทบกระทั่ง กดดัน และความเครียดจึงอาจแสดงตัวชัดเจนเมื่อลงมือทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา
การวางแผนที่จะลบสิ่งต่าง ๆ ในด้านลบ
จึงเป็นเป้าหมายแรกในการถ่ายทำ ผลที่ได้คือทุกวันเราทำงานกันด้วยความสุขใจ เข้าใจ ไร้ซึ่งการด่าทอ
แต้มรอยยิ้มเติมอารมณ์ชวนหัวเราะ
น้ำเสียงที่ส่งผ่านกันจึงเย็นฉ่ำชูใจไร้สารปลอมปน
เมื่อบรรยากาศได้ ก็ไม่ยากที่จะถ่ายทอดเรื่องราวอย่างได้บรรยากาศ

วันสุดท้ายของการถ่ายทำที่บ้านไทยในอยุธยา พวกเรามีช่วงพักเที่ยงยาวเพื่อรอคอยการมาของแสงยามเย็น
ทุกคนต่างหามุมของตัวเองเพื่อเอนกายพักผ่อน
แต่ผมไม่ได้นอน ไม่ใช่ว่าไม่ง่วง ไม่รู้ทำไม คงเพราะช่วงเวลาของการถ่ายทำที่อยุธยากำลังจะหมดลงกระมัง
บ้างอยู่ใต้ต้นไม้ บ้างก็บนศาลาริมน้ำ บ้างก็บริเวณระเบียงนอกชาน
หลายคนนึกถึงวันที่ผ่านมาและเริ่มดื่มด่ำกับช่วงเวลาสุดท้ายด้วยการนอนและฝันไป

ผมถามตัวเองเหมือนกะทิว่า “ตัวเองต้องการอะไร”
เมื่อมองไปรอบ ๆ กาย ณ นาทีนั้นผมก็ได้คำตอบ ...

ขอบคุณทุกคนที่อยู่ด้วยกันมาตลอด ขอบคุณที่ไว้ใจและศรัทธากัน
ขอบคุณทุกคนที่แสดงออกว่ามีความสุข และขอบคุณที่รัก...“กะทิ”

เจนไวยย์ ทองดีนอก บ้านชูใจ
เก้าโมงสามสิบเจ็ดนาที วันพุธ แรมสิบสามค่ำ เดือนสิบสอง ปีชวด

ประวัติย่อผู้กำกับ เจนไวยย์ ทองดีนอก (GENWAII THONGDENOK)

 

 

เกิด - อังคาร 25 กุมภาพันธ์ 2518 ปีเถาะ
การศึกษา

  1. ประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่ จ.สกลนคร
  2. มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแม่พระฟาติมา กรุงเทพฯ
  3. มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จ.ชลบุรี
  4. ปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจกรรม

  1. ประธานคณะกรรมการคณะวารสารศาตร์และสื่อสารมวลชน
  2. ประธานชุมนุมถ่ายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  3. ผู้กำกับละครประจำปีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

เกียรติประวัติ

  1. ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “มี” ชนะรางวัลขุนวิจิตรมาตรา งานประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย
  2. ภาพยนตร์สารคดี “เพื่อนตาย” ชนะรางวัลรชฏเสมอ จากงานมหกรรมภาพยนตร์กรุงเทพฯ Bangkok Film Festival

ประวัติการทำงาน

  1. ผู้สร้างสรรค์รายการ บริษัท รถไฟดนตรี จำกัด
  2. ผู้สร้างสรรค์รายการ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
  3. ผู้ช่วยกำกับฯละครโทรทัศน์
  4. ผู้ช่วยกำกับฯ ภาพยนตร์โฆษณา
  5. ผู้ช่วยกำกับฯ ภาพยนตร์
  6. ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง Production Supervisor บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด

และกำกับภาพยนตร์ “ความสุขของกะทิ” เป็นเรื่องแรก

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.