สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
บ้านผีสิง
  เทรลเลอร์                  รายละเอียดตัวละครและนักแสดง
  บทวิจารณ์ บ้านผีสิง - อะไรคือเรื่องจริง- อะไรคือเรื่องแต่ง
   
 



 


แนวภาพยนตร์ Mystery-Thriller (ลึกลับ-ซ่อนเงื่อน)
สร้าง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
ผลิต บริษัท อาวอง จำกัด
อำนวยการผลิต มณฑล อารยางกูร , จันทิมา เลียวศิริกุล
พล็อตเรื่องโดย มณฑล อารยางกูร
บทภาพยนตร์ สมภพ เวชชพิพัฒน์

เรื่องย่อ


ระหว่างที่ “ ชาลินี ” (ทราย - อินทิรา เจริญปุระ) นักข่าวทีวี ไปถ่ายทำสกู๊ปรายการ “ รื้อคดี ” ที่หยิบเอาฆาตกรรมครึกโครม 6 ปีก่อนที่อาจารย์แพทย์ชื่อดัง หมอวสันต์ (วรพจน์ นิ่มวิจิตร) ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมอำพรางศพภรรยา “ พญ. ผุสรัตน์ ” (วิบูลย์ศิริ คงพูล)

“ ชาลินี ” ถ่ายเก็บภาพบ้านพักแพทย์ที่หมอวสันต์เคยพักอาศัยไว้ บรรยากาศบ้านวังเวง มืด ๆ ชวนให้คิดถึงหลุมศพมากกว่าที่อยู่อาศัย ชาลินีถ่ายติดภาพเลือนรางคล้ายเงาผู้หญิงในชุดสีฟ้าอยู่ในบ้านนั้นด้วย ภาพนั้นรบกวนจิตใจชาลินีเรื่อยมา ชาลินีรู้สึกลึก ๆ ว่า เป็นเงาของหญิงสาวดูเศร้า นัยน์ตาโตไร้แวว แต่จ้องมองเธอเหมือนจะบอกบางอย่าง

ขณะที่ชาลินีเจาะลึกไปกับคดีของหมอวสันต์ เธอพบข้อมูลใหม่ที่ชวนตกตะลึง ยังมีฆาตกรคนอื่นเคยอาศัยอยู่ในบ้านพักแพทย์หลังเดียวกัน ...

“ หมอเฉลิม ” (คมสัน นันทจิต) ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมอำพรางศพแฟนนักศึกษาสาว “ จามจุรี ” (ณัฎฐกันย์ ทยุตาจารุวิชญ์) เมื่อ 8 ปีก่อน “ หมอเฉลิม ” เป็นผู้ต้องหาเพียงรายเดียวที่ยอมให้ชาลินีสัมภาษณ์ แต่เมื่อไปถึงเรือนจำ ชาลินีกลับเป็นฝ่ายถูกคุณหมอเฉลิมซักถามแทน โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับบ้านหลังนั้น ถ้อยคำของหมอเฉลิมบ่งบอกถึงอาถรรพ์บางอย่างซ่อนในบ้านหลังนี้ เป็นเหตุให้เขาลงมือฆ่าแฟนสาว

ชาลินีทุ่มเทสืบค้นคดีฆาตกรรมอย่างหนักจน “ ภาณุ ” (เอก - ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์) สามีของชาลินี เกิดความหวาดระแวงความสัมพันธ์ของชาลินีกับ “ เชน ” (ณัฐวัฒน์ เปล่งศิริวัธน์) โปรดิวเซอร์รายการ ทั้งที่ ภาณุเคยเป็นสามีที่แสนดี เข้าใจการทำงานของชาลินีมาตลอด...

ชาลินีค้นรายชื่อแพทย์ที่เคยพักอยู่บ้านหลังนี้ไล่ย้อนกลับไป เธอแทบช็อคเมื่อพบว่า “ หมออุทิศ ” (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ผู้ต้องหาคดีฆ่าอำพรางศพ คุณนวล (ณัชฌา รุจินานนท์) นางพยาบาลสาวเมียรักในคดีฆาตกรรมโด่งดังเมื่อ 45 ปีก่อน ทั้งคู่เคยอาศัยอยู่บ้านพักแพทย์หลังนี้เช่นกัน  !!!

“ มีอะไร ” มากกว่า ความบังเอิญ ... ?

“ อะไร ” สิงอยู่ในบ้านพักแพทย์หลังนี้ ?

“ หญิงสาวในชุดสีฟ้า ” เกี่ยวข้องอะไรกับ “ เหยื่อ ”  และ “ การฆาตกรรรม ” ???


ความเป็นมา
“ บ้านผีสิง ” บังเอิญ หรือ อาถรรพ์

“ บ้านผีสิง ” ภาพยนตร์เขย่าขวัญว่าด้วย “ บ้าน ” กับ “ คดีฆาตกรรม ” ทั้งสองอย่างมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ?

โปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมงานสร้าง จันทิมา เลียวศิริกุล (เอมี่) และเป็นคนเดียวในทีมงานที่มีครอบครัวแล้วจะเป็นผู้ไขปริศนาความเป็นมา

 

“ ช่วงที่เรารีเสิร์ชข้อมูลสถานที่ของหนัง “ ผีคนเป็น ” เพื่อหาบรรยากาศ หารูปแบบคดี เราเก็บข้อมูลแวดล้อมของสถานที่ต่าง ๆ เยอะมาก เราเกิดความประทับใจว่า แค่ข้อมูลของสถานที่ มันก็เซอร์ไพรส์เราได้ตลอด สถานที่บางแห่ง มันมีรูปแบบซ้ำ ๆ มีความซ้ำซ้อน ประวัติศาสตร์ซ้ำ ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ต่างปี ต่างเวลา ผนวกกับเราอ่านพิศวาสฆาตกรรมตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็รู้สึกว่าหลาย ๆ คดี รูปแบบคดีมันเหนือธรรมชาติมาก หลายคดีก็มีความซ้ำซ้อน ความต่อเนื่อง ทั้งที่ต่างคน ต่างปี ต่างเวลา เหมือนกัน

อย่างรูปแบบคดี ความซ้ำซ้อนของฆาตกรในอาชีพเดียวกัน ความเหมือนของเหยื่อ ความพ้องของสถานที่ คดีฆาตกรรมที่ความซ้ำซ้อนมีเกิน 3 ข้อ เป็นไปได้อย่างไร ที่มีฆาตกรรมรูปแบบต่อเนื่อง โดยไม่ใช่ตัวฆาตกรคนเดียวกัน หยิบเอาความน่าสนใจของแบล็คกราวน์ของบ้าน เป็นไปได้ไหม ที่สถานที่จะมีเบื้องหลัง มีผลกับความรู้สึกกับพฤติกรรมของคน ที่มีกับสิ่งเหนือธรรมชาติ อาจจะเรียกได้ว่า ผี หรือ เจ้าที่เจ้าทางอะไรก็ตามแต่คนจะเชื่อ

น่าสนใจว่า ทำไมคนที่พักอาศัยอยู่บ้านหลังหนึ่ง จากครอบครัวอบอุ่น ทำไมกลับกลายเป็นครอบครัวแปลกแยกจนถึงฆ่ากันตาย คนที่รักกัน ทำไมหันมาทำร้ายกันได้มากขนาดนี้ มันเป็นความขมขื่นที่สุดที่คนรักกันทำร้ายกันได้แล้ว มันเกินความเป็นปัญหาครอบครัวปกติแล้ว เราเลยตั้งข้อสงสัย

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่ ๆ เราเดินอยู่ เราเหยียบอยู่ ไม่มีตำนาน ไม่มีประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายทับถมอยู่

แล้วเราจะอธิบายความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ได้อย่างไร เป็น บังเอิญ หรือ อาถรรพ์ ... ”

 

แรงบันดาลใจจากหน้าหนังสือพิมพ์ ปากคำผู้กำกับ ฯ อ๊อฟ - มณฑล อารยางกูร

“ ความที่เราเห็นข่าวหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา คดีฆาตกรรมด้วยความรัก มักเป็นคดีที่ลึกลับซับซ้อนและมีเบื้องหลังแทบทุกคดี เราก็เกิดแรงบันดาลใจ

ยิ่งได้ศึกษารีเสิร์ชข้อมูลคดีคนรักฆ่ากัน เรามีความรู้สึกอัศจรรย์ใจมากขึ้น ทำไมรูปคดีถึงสอดคล้อง มีความซ้ำซ้อน อย่างคดีฆาตกรรมที่คนลงมือ ดูเป็นคนดี ๆ ไม่น่าฆ่าใครเลย เราก็รู้สึก เอ๊ะ...ทำไมล่ะ ทำไมคนรักกันทำไมถึงทำอย่างนี้ แค่วูบเดียวก็เกิดเหตุ อย่างที่เราพูดกันว่า “ ไม่รู้อะไรเข้าสิง ” อย่างนั้นหรือ ?

เราก็จินตนาการเรื่องขึ้นมา ตั้งใจให้หนังออกมาดูสมจริงมาก ๆ เป็นเรื่องราวของนักข่าวไปทำสกู๊ปเจาะลึก ไปพบเห็นเรื่องราวอย่างที่เราเห็น สืบสวนเรื่องราวอย่างที่เราทำ จะไปขอสัมภาษณ์เขาก็ไม่ให้ ถ้าอย่างนั้นไปบ้านเขาดีกว่า ไปดูพยานแวดล้อม ถ่ายทอดความรู้สึกเหมือนเราเห็นเหมือนเราอยู่ในเหตุการณ์

 

ประวัติและผลงานผู้กำกับภาพยนตร์ อ๊อฟ - มณฑล อารยางกูร
การศึกษา ปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ ภาควิชาศิลปการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, ผู้กำกับมิวสิควีดีโอ
ปัจจุบัน พ.ศ. 2550 ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลยุทธ์การตลาด สายงานภาพยนตร์ บมจ. อาร์เอส
พ.ศ. 2545 กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.โอ.วี ( พอยท์ ออฟ วิว ) จำกัด บริษัทในเครือของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
พ.ศ. 2540 ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น (1992) จำกัด
พ.ศ. 2535 เริ่มเข้าทำงานที่ บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น 1992 จำกัด

ผลงานกำกับภาพยนตร์
พ.ศ. 2550 ภาพยนตร์ “ บ้านผีสิง ”
พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์ “ ผีคนเป็น ”
พ.ศ. 2547 ภาพยนตร์ “ ปักษาวายุ ”

 

ต่างคดี ต่างเวลา แต่..สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน

 

เพราะ “ บ้าน ” เป็นหัวใจหลัก “ บ้านผีสิง ” จึงให้ความสำคัญกับสถานที่ถ่ายทำหลัก ที่ต้องเปลี่ยนแปลงถึง 3 ยุค 3 สมัย ทีมงานเสาะหาโลเคชั่น ต้องออกค้นหาบ้าน ที่ให้ใกล้เคียงที่สุดกับความตั้งใจของผู้กำกับ ฯ จนในที่สุดก็พบ บ้านไม้ ทรงโบราณ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบ้านข้าราชบริพารเก่าแก่นับ 100 ปี ซึ่งใกล้เคียงตรงตามต้องการของ อ๊อฟ - มณฑล ผู้กำกับฯ

“ เพราะ “ บ้าน ” เป็นสถานที่ศูนย์รวมของเรื่องราว เราจึงให้ความสำคัญ ต้องหาบ้านที่ใช้ถ่ายทำให้ได้อย่างที่ต้องการ แล้วเราก็เจอที่ฉะเชิงเทรา เป็นบ้านที่ดูเก่า เหมือนจริงและดูมีชีวิต มองเข้าไปเหมือนมีตา มีปาก มีแถบไม้เรียง ๆ เหมือนปาก เราไม่ได้ปรับอะไรมาก ดัดแปลงต่อเติมภายใน ห้องน้ำกับห้องพระตรงกัน และเวลาถ่ายทำเราต้องไล่เปลี่ยนเซ็ต 3 ยุค 3 สมัย เป็นบ้านที่ให้ความรู้สึกถึงความพลุกพล่านของอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ จะเรียกผี เรียกพลัง เรียกอารมณ์ หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่

อกจากโลเคชั่นบ้านแล้ว เราภูมิใจการคัดเลือกนักแสดงมาก ภูมิใจทีมนักแสดงทุกคนเป็นนักแสดงที่ใครเห็นก็ยอมรับว่า ใช่เลย และในระหว่างถ่ายทำ เราขออะไรไป ให้มาเกินทุกครั้ง ”มณฑล อารยางกูร ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวถึงความสามารถนักแสดง

หันมาถามความรู้สึกนางเอกเจ้าแม่หนังผี “ ทราย - อินทิรา เจริญปุระ ” ที่มารับบท ชาลินี นักข่าวสาวที่เอาตัวเข้าไปพัวพันความสะพรึงกลัวแท้ ๆ

“ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกจริง ๆ ทรายจะขี้เกียจเล่นเรื่องผีแล้ว แต่ “ บ้านผีสิง ” ทรายฟังเรื่องบ้าน ฟังเรื่องคดีฆาตกรรม 3 คดี เรื่องน่าสนุก พออ่านบท เรารู้สึก ฉันเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ ถ้าเป็นฉันก็ทำอย่างงี้ ด้วยนิสัยของทรายกับตัวชาลินี คิดแทนกันเลย ก็ยิ่งรู้สึกน่าเล่น

เมื่อก่อน ทรายอ่านข่าวพิศวาสฆาตกรรม ก็รู้สึก ทำไมคนเราฆ่ากันได้อย่างไร แต่พอมารับบทชาลินี เริ่มเข้าใจว่า ทำไมคนดี ๆ ถึงได้ฆ่าคนได้ และที่เราคิดว่า เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ วันหนึ่งทรายก็อาจจะฆ่าคนก็ได้

พูดง่าย ๆ ทรายเชื่อว่า ไม่มีผู้หญิงคนไหนหรอกคิดว่า เราจะเป็นแฟนกับคนที่มีแฟนแล้ว คิดว่า ฉันอยากเป็นเมียน้อย แต่เรื่องแบบนี้ มันมีให้เห็นอยู่ทุกวัน ไม่มีใครคิดหรอก แต่วันหนึ่ง คนเรามันเป็นไปแล้ว แค่นี้เราก็เปลี่ยนจากสิ่งที่เราคิดว่า ตัวเองควรเป็นไปแล้ว พอเริ่มเปลี่ยนอย่างหนึ่ง ก็ต้องเปลี่ยนไปได้อีก จนวันหนึ่งเราก็กลายเป็นคนอีกคนหนึ่งไปเลย วันหนึ่งเราอาจจะขึ้นหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไปตบกับคน

ทรายว่า ความน่ากลัวของ “ บ้านผีสิง ” มันอยู่ที่ตรงนี้ คือ ตัวเราเอง วันหนึ่งก็อาจจะเป็นอย่างฆาตกรในข่าวได้ เราอาจจะขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เองได้ ”

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.