สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล
  NARESUAN HOME
   LINK:   บทวิจารณ์หนัง ภาค 1 และ ภาค 2                   
   LINK: "นเรศวรก็เป็นคนตัวเล็กเหมือนกัน": สัมภาษณ์ท่านมุ้ย      ของที่ระลึกจากหนัง
   สารบัญของหน้านี้ : รายชื่อทีมงานเบื้องหลังทั้งหมด   เรื่องย่อ      ฉากสำคัญ      
   
 
สมเด็จพระนเรศวร รับบทโดย ร.อ . วันชนะ สวัสดี

ชื่อภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

กำกับการแสดง ม . จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ช่วยกำกับการแสดง มือ 1
   เปี๊ยก โปสเตอร์, กิตติกร เลียวศิริกุล,  พุฒิพงศ์ สายศรีแก้ว

ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง
   วชิระ ชอบเืพื่อน, พีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริ,  เบญจพร ปัญญายิ่ง, ไพโรจน์ ประสารทอง,  จารุพงษ์ อินทรวงษ์,  มูฮำมัดนิแบ ซูยีนิรันดร เลาะนะ,   จักราวุธ ชวลิตเสวี,  อาทิตย์ พยอมยงค์,  ภานุพงษ์ มีจั่น,  พยุงศักดิ์ นฤภัย

อำนวยการสร้าง 
 หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา   และ คุณากร เศรษฐี

บทภาพยนตร์
ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล และ ดร . สุเนตร ชุตินทรานนท์

ออกแบบงานสร้าง
ประสพโชค ธนะเศรษฐ์วิไล    ประเสริฐ โพธิศรีรัตน์

กำกับภาพ
   ณัฐวุฒิ กิตติคุณ  และ Stanislav Dorsic

ดนตรีประกอบ
       Richard Harvey

Visual Effect Supervisor
  วรภัณฑ์ ลีละชาติ

Visual Effect Producer
วิไลวรรณ ลีละชาติ

ลำดับภาพ
  ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล และ ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล

กำกับศิลป์
กสิ แพ่งรอด และ วรวุฒิ ปัญญายิ่ง

ควบคุมงานสร้างฉาก
    อานุภาพ บัวจันทร์   ศิริวัฒน์ ท้าวประยูร   ทวีศักดิ์ ทศพร

บันทึกเสียง
   Conrad Bradley Slater

คัดเลือกนักแสดง
 เบญจพร ปัญญายิ่ง

ผู้กำกับภาพ
Stanislav Dorsic และ ณัฐวุฒิ กิตติคุณ

ออกแบบเครื่องแต่งกาย
  หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา

เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ
  ฐิติกรณ์ ศรีชื่น และ สุกัญญา มะเรืองประดิษฐ์

ออกแบบฉาก
ธิติกร ศรีเชิญ  สุกัญญา มารุ่งประดิษฐ์

ช่างแต่งหน้า และช่างแต่งผม
มนตรี วาดละเอียด   ฑิฆัมพร แซ่ลิ้ม

ทุนสร้าง 700 ล้านบาท
ระยะเวลาดำเนินการ 2546 – 2549
ระยะเวลาถ่ายทำ ปลายปี 2547 – 2550


เรื่องย่อ

          พุทธศักราช 2106 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับ ได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยา อันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรหรือพระองค์ดำ ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลก จำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตราย และจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรส โดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง ก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา

          สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญ สบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักร ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรส คือ มังเอิน ( พระเจ้านันทบุเรง ) และพระราชนัดดามังสามเกียดนัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรม อันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้าง และทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรส มังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดี บุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น

          พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่อง – พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณ และเจนจบ ในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานคร ยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญา อันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า

          พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่า หัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้น เกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนาสมเด็จพระมหินทร์ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ ถึงกับหันไปสมคบกับสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็น เชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสา แต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุง ด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญ ซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณา ประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึก พุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

          ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิด ครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคง เด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดิน จึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงถวายพระสุพรรณกัลยา พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวร แก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลกสืบต่อมา ครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลก เป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง

          เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อ และได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของ พระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดี พระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้น สมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึก หมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

ฉากใหญ่ / ฉากสำคัญ

- ฉากการเจรจาหย่าศึกระหว่างอโยธยากับหงสาวดี
           หลังจากพม่าเข้าตีพิษณุโลกได้ โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาจำต้องยอมสวามิภักดิ์ ด้วยเกิดโรคระบาดและขาดไพร่พล พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงขอตัวพระนเรศ ( สมเด็จ พระนเรศวร) ซึ่งยังทรงพระเยาว์เพียง 9 พรรษา ไปเป็นตัวประกัน จากนั้นได้ยกทัพมาเตรียมเข้าตีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงขอเจรจาหย่าศึก โดยฝ่ายพม่าขอตัวพระราเมศวรและพระยาจักรี พร้อมกับช้างเผือก 4 เชือกด้วย ( ฉากนี้เป็นการรวมนักแสดงรุ่นใหญ่ทั้งฝ่ายอโยธยาและฝ่ายพม่า)

- ฉากประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง

         เมื่อแผ่นดินหงสาวดีผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง   สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน  ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่    มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร
 และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรง  
แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครู   ลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ   สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช     หลั่งทักษิโณทกตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี   และกวาดต้อนครัวไทยครัวมอญ   ข้ามแม่น้ำสะโตง กลับคืนพระนคร   ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรง   เปิดมหายุทธสงครามส่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นเป็นต้นมา   (เป็นฉากสำคัญตามประวัติศาสตร์ที่ทำให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของคำว่า“ อิสรภาพ”)

- ฉากการซุ่มโจมตีที่ช่องเขาขาด



         
หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงหลั่งทักษิโณทกประกาศอิสรภาพแล้ว ทรงให้ไพร่พลเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสะโตงเพื่อนำชาวไทยชาวมอญทั้งหลายกลับอยุธยา ระหว่างนั้นกองทัพพม่าก็ติดตามมา จึงทรงมอบหมายให้ออกพระราชมนูทหารเอกนำกำลังบางส่วนไปยั้งทัพไว้โดยซุ่มโจมตีทัพพม่าที่ช่องเขาขาด โดยใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร ด้วยฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่าพม่ามาก นอกจากจุดนี้แล้วก็ยังมีกองกำลังของออกพระชัยบุรี และออกพระศรีถมอรัตน์ที่จัดไว้ยั้งทัพพม่าอีกเป็นระยะ เพื่อถ่วงเวลาให้การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสะโตงแล้วเสร็จ
          ( เป็นฉากรบที่น่าตื่นตาตื่นใจ และมีการใช้เทคนิคพิเศษหลายรูปแบบ ทั้งในขณะถ่ายทำ โดยใช้ลูกไฟซึ่งท่านมุ้ยคิดค้นวิธีการขึ้นเอง ทำจากฟางเคลือบชันหุ้มด้วยโครงไม้ไผ่สาน และในช่วงตัดต่อโดยการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิคช่วยให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ)

- ฉากพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง

          หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงแล้ว ก็ทรงกวาดต้อนชาวไทยชาวมอญพาข้ามแม่น้ำสะโตงเพื่อกลับสู่อโยธยา ฝ่ายพม่าก็ส่งทหารออกติดตามมาทันกันที่แม่น้ำสะโตงนี้ และเกิดการสู้รบกันครั้งใหญ่ โดยสมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ ยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุระกำมา- แม่ทัพของพม่าตกจากคอช้างเสียชีวิตอันนับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก ด้วยแม่น้ำกว้างเหลือกำลังปืน เมื่อกองทัพพม่าเห็นว่าแม่ทัพของตนตายด้วยพระบรมเดชานุภาพจึงเลิกติดตาม สมเด็จพระนเรศวรจึงนำไพร่พลกลับอโยธยาได้
           ( ฉากยิ่งใหญ่ที่มีนักแสดงหลักและนักแสดงประกอบมากมาย และใช้เทคนิคการถ่ายทำอย่างน่าสนใจ)

 
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.