
จักรวาล นิลธำรงค์ เป็นใครกัน
คำถามที่อาจจะเริ่มผุดขึ้นในใจของคนหลายคน ชื่อคุ้น อาจจะเป็นคำตอบของคนส่วนใหญ่
แต่สำหรับกลุ่มคนทำหนังสั้นด้วยกันแล้ว ชื่อของเขาเริ่มเปิดเผยต่อชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ ด้วยผลงานที่มักจะได้รับเชิญไปหลากหลายเทศกาล ใกล้เข้าไปอีกนิด จักรวาล คือหนึ่งในชื่อผู้กำกับที่จะอำนวยการผลิตด้วยพิมพกา โตวิระ หรือเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิน คราวนี้คุณคงจะร้องอ๋อกันมากขึ้น
A Voyage of Foreteller งานนำร่องที่เขาตั้งใจจะพัฒนาเป็นหนังยาว ว่าด้วยโลกของอดีตกับอนาคตที่ซ้อนทับกัน, Parallrel Journey โลกคู่ขนานของชายสองคนจากอีกมุมหนึ่งของโลก ที่ดำเนินเรื่องด้วยอารมณ์ผ่อนคลายและสนุกสนาน หรือ Dripping หนังทดลองสุดหลอน ที่มีแรงบันดาลใจจากการทรมานนักโทษสมัยสงครามโลก งานพวกนี้ล้วนมีสไตล์ภาพที่โดดเด่น และมีเทคนิคการสื่อสารที่ตรึงความสนใจแก่คนดูได้ แม้จะไม่มีเรื่องเป็นแก่นหลักอย่างหนังปรกติก็ตาม และล่าสุด Man & Gravity เป็นหนังสั้นไทยที่เข้าประกวดที่เทศกาลหนังร็อตเตอดัมในปีนี้
จุดเริ่มต้น
..
จักรวาลจบการศึกษาปริญญาตรีที่เมืองไทย จากคณะจิตรกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กว่าจะสมัครเข้าเรียนที่ Pratt Institute ได้ เขาต้องหมดเวลาไปกับการเรียนภาษาเพิ่มเติมและทำพอร์ต(ตัวอย่างงาน)อยู่หลายปี หลังจากเรียนที่ Pratt Institute เขาก็ต่อปริญญาโทที่ School of the Art Institute of Chicago และช่วงที่เรียนที่นี้นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจด้านภาพยนตร์ คือก่อนหน้านั้นผมตั้งใจว่าจะไปเรียนพวก Media Arts จึงสมัครเข้าไปเรียนคณะ Art and Technology Studies แต่เผอิญว่าคณะที่ผมเรียนมันอยู่บนตึกชั้นเดียวกันกับคณะ Film / Video / New Media จึงทำให้มีโอกาศคลุกคลีกับอาจารย์แล้วก็เพื่อนที่เรียนภาพยนตร์ พอผ่านไปหนึ่งปีผมก็เลยเปลี่ยนเลือกลงวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์มากขึ้น จนสุดท้ายตอนที่ Thesis ก็ทำเป็นหนังยาว 50 นาทีครับ

A Voyage of Fortuneteller

Patterns of Transcendence

Orchestra
และหลังจากงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนั้น จักรวาลก็ต่อด้วยผลงานอีกนับสิบเรื่อง ทั้งที่เป็นวิดีโออาร์ตกับอินสตอลเลชั่น (แสดงตามนิทรรศการ) และผลงานบางส่วนอย่าง Dripping ก็ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสั้นครั้งที่ 10 ของมูลนิธิหนังไทย A Voyage of Foreteller เคยได้รับรางวัลเล็ก ๆ ที่เกาหลี Patterns of Transcendence ไปฉายที่ร็อตเตอดัม ผลงานเหล่านี้เคยไปร่วมในเทศกาลระดับนานาชาติอย่าง Oberhausen, Clermont-Ferrand, Rotterdam และแสดงในแกลอรี่ กับ Art Exhibition ในยุโรป
เมื่อปีที่แล้ว เทศกาลหนังบริสเบนได้จัดโปรแกรมพิเศษของหนังไทย โดยคัดเลือกผู้กำกับหนังสั้นและหนังยาวที่เขาคิดว่าเป็น "อุกกาบาตไทย" จักรวาล กับ A Voyage Fortuneteller ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 5 อุกกาบาตไทย ได้แก่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นเอก รัตนเรือง วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง และ อุรุพงษ์ รักษาศาสตร์
สำหรับจักรวาล หนังเป็นศิลปะที่แตกต่างจากจิตรกรรมที่มี 2 มิติ หรือปฎิมากรรมที่มี 3 มิติ เขามองว่าหนังเป็น Art Medium อย่างหนึ่งที่มีเรื่องเวลาบวกเข้ามาเป็นมิติที่ 4 พื้นเพผมไม่ได้สนใจเรียนทางด้าน Narrative Film(หนังเล่าเรื่อง) มาตั้งแต่ต้น ครั้งแรกๆ ที่ได้ทำหนังจากไอเดียของตัวเอง ผมคิดถึงฟิล์มในฐานะที่มันเป็น Material(วัตถุดิบ) ที่เราจับต้องได้ เอามันมาขูดขีดได้ ไม่ได้เรียนเรื่อง Directing หรือ Acting เลยพอได้ก้าวขามาทำจริงๆ มันเลยไม่ค่อยจะเป็นหนังที่มีโครงสร้างแบบหนังทั่ว ๆ ไปเท่าไหร่
หนังกับวิดีโออาร์ต : สับสนบ้างไหม?
สำหรับเรื่องความแตกต่างของหนังทดลอง และวีดีโออาร์ตกับสื่อประเภทนี้รูปแบบอื่นๆ เขาให้ความเห็นว่า ผมเดาว่ามันน่าจะแยกกันโดยจุดประสงค์?ในการทำและการจัดแสดงครับ Video Artist หลายๆ คนที่แสดงงานใน Museum หรือ Art Space จะไม่ค่อยนำเรื่อง Duration ของงานมาเป็นเงื่อนไขในการผลิตหรือออกแสดง คือคนดูสามารถเดินเข้าออกห้องแสดงงานได้ แม้ยังดูไม่จบ แต่ถ้าเรียกว่าเป็นหนังแล้วผู้ชมคงต้องมั่นใจพอสมควรที่จะเข้าไปนั่งเงียบๆ อยู่ในห้องมืดเป็นเวลาสองชั่วโมง แต่ภาพกว้างๆ โดยรวมแล้วผมเห็นว่าแนวโน้มของเทศกาลหนังและงานเทศกาล ศิลปะใหญ่ ๆ อย่าง Documenta หรือ Venice Biennale ก็เริ่มที่จะผสมผสานโลกสองฝั่งนี้เข้าด้วยกัน อย่างล่าสุดที่ Rotterdam เขาก็มีไอเดียที่จะเชิญคนทำหนัง มาทำ Installation Arts
เมื่อถามถึงความยากง่ายในการทำงานแต่ล่ะชิ้น จักรวาลกล่าวว่ามันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการที่เขาทำ รายละเอียดของเรื่องราวและความแตกต่างของฉากและผู้แสดงที่ไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วหนังของเขาก็ไม่ต่างจากหนังทุนต่ำทั่วไปๆ ที่มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ รอบตัวมาช่วยกันทำหน้าที่หลังกล้องต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันไป โดยคนเหล่านี้มักจะมาจากสายโปรดักชั่นในหนังไทยอยู่ก่อนแล้ว เหมือนผมมีแต่ไอเดีย แล้วก็ต้องขอให้เพื่อนๆ เอาประสบการณ์ที่มีเข้ามาผสมช่วยทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง บางครั้งทำให้เราได้เรียนจากเขาไปด้วยในตัว
แรงบันดาลใจ : อภิชาติพงศ์ เป็นเอก และอื่น ๆ
สำหรับสไตล์ภาพที่มีเอกลักษณ์ของจักรวาล มีงานของผู้กำกับหลายคนที่เขาถือว่าเป็นอาจารย์ อย่างเช่น Tarkovsky, David Lynch, Bunnel, Ozu, Chris Marker หรืออย่างอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุลและเป็นเอก รัตนเรือง สำหรับผม เขานำเอาแรงบันดาลใจจากผลงานของคนเหล่านี้มาผสมผสานออกมาเป็นรูปแบบของเขาได้อย่างลงตัว


Man and Gravity เป็นหนึ่งในผลงานล่าสุดของจักรวาล และได้เป็นหนังสั้นไทยเรื่องเดียวที่ไปประกวดที่เทศกาลหนังร็อตเตอดามปีนี้ เขาเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสั้นเรื่องนี้ว่า เป็นโปรเจคที่เริ่มต้นเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยได้ไอเดียมาจากการอ่านหนังสือของท่านพระพุทธทาส มีตอนหนึ่งท่านเขียนเรื่องแรงโน้มถ่วงเปรียบเทียบได้กับกรรมที่อยู่รอบตัวเราแต่เรา มักไม่ได้ตระหนักถึงที่มาที่ไปของกิจวัตรที่ก่อให้เกิดทุกข์ ผมมีความคิดที่จะนำโควตที่เป็นบทกวีของท่านมาทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหว โดยในวิดีโอจะเป็นภาพของมนุษย์ (อาจเป็นคนเดียวหรือกลุ่ม) พยายามทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อเอาชนะแรงโน้มถ่วง (หรือกรรม) โดยในส่วนที่ไปประกวดที่ Rotterdam เป็นส่วนที่ถ่ายบริเวณโรงงานระเบิดภูเขาที่จังหวัดสระบุรี โดยให้เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งพยายามขนขยะรีไซด์เคิลขึ้นไปยังเนินเขาสูงที่ถูก ระเบิดจากการผลิตปูนซีเมนต์ คล้าย ๆ กับเป็นการเปรียบเทียบในเชิงภาพในเรื่องการเวียน ว่าย ตาย เกิด กับสถานที่คือภูเขาที่ถูกย่อยสลายมาทำเป็นสสารอีกอย่าง ประกอบกับไอเดียนี้มันไปพ้องกับเรื่องนิทานโบราณของกรีกเรื่องหนึ่งเรียกว่า Sisyphean ซึ่งเป็นเรื่องของกษัตริย์องค์หนึ่งที่ถูกลงโทษให้กลิ้งหินขนาดมหึมาขึ้นภูเขาแล้ว ปล่อยลงมาใหม่ตลอดกาล ผมจึงรู้สึกว่ามันเป็นหัวข้อค่อนข้างสากล จึงพยายามหาทางจะขยายไปทำในเมืองต่าง ๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวยครับ
จักรวาลนอกจากเป็นนักทำหนังตัวยงแล้ว เขายังเดินทางไปประเทศต่างๆ อยู่บ่อยๆ เพื่อทำหนัง เมื่อถามว่าการไปต่างประเทศบ่อยๆ มีผลกับงานของเขาไหม จักรวาลตอบออกมาว่า คงมีผลในส่วนของแนวคิดที่จะสะท้อนออกมาใน concept ของงานแต่ละชิ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาผมหมกหมุ่นอยู่กับเรื่อง Alienation หรือความรู้สึกแปลกแยกของคนกับ สภาวะแวดล้อมรอบตัว ก็คงเป็นมาจากการที่ต้องไปอยู่ที่ที่เราไม่คุ้นเคยนานๆ บางครั้งมันทำให้ตัวเองเหมือนกับมนุษย์ล่องหน แล้วคอยสังเกตุความเป็นไปรอบ ๆ ตัวอย่างเงียบๆ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มันค่อย ๆ สะท้อนออกมาในงานศิลปะ ในบทภาพยนตร์โดยเราไม่รู้ตัว
ขณะนี้ จักรวาลได้เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อทำโครงการเล็กๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณสองเดือน และเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกับ โปรเจ็คท์ Man and Gravity ส่วนสำหรับหนังยาวนั้น จักรวาลก็พัฒนาเรื่องและผลักดันหาทุนอยู่เรื่อยๆ หลายโครงการทีเดียว จะได้ทำเรื่องไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องไหนจะหาทุนได้ก่อน
|