สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทสัมภาษณ์ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับ(ร่วม) “ โลกปะราชญ์ ”

 

ณัฎฐ์ธร เรียบเรียง/อัญชลี ชัยวรพร สัมภาษณ์     copyrights ©thaicinema.org   

   
 


อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนของบ่ายวันหนึ่ง ดูจะสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้คนในการเดินทาง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับการที่เราจะพาผู้อ่านมารู้จักกับ นนทวัฒน์ เขาคือชายหนุ่มท่าทางสุภาพที่อยู่ในวัยระหว่างวัยรุ่นและกำลังจะก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ เขามีทั้งด้านที่มุ่งมั่น ด้านที่ดูมีมุมมองต่างจากคนอื่น และด้านสนุกสนาน จนไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเขาถึงสร้าง “ โลกปะราชญ์ ” ผลงานที่เขากำกับร่วมกับ อาทิตย์ พันธ์นิกุล สารคดีที่ว่าด้วยภาพของการเล่นสเก็ตบอร์ดประกอบบทเพลงหลากหลายขึ้นมาได้

งานชิ้นที่นนท์วัฒน์กล่าวว่าเขาและเพื่อนไม่ได้แค่อยากให้นักสเก็ตดู แต่อยากให้คนทั่วๆ ไป รวมถึงพ่อแม่ของนักสเก็ตได้ดูด้วย เผื่อว่าจะเกิดความเข้าใจในโลกของนักสเก็ตขึ้น

ผลงานสารคดียาวเรื่องนี้ของนนทวัฒน์ได้รับความสนใจพอสมควร และได้ไปร่วมฉายในเทศกาลหนังที่ต่างแดนในระดับหนึ่ง ซึ่งในบทสัมภาษณ์นี้ นนทวัฒน์จะเล่าถึงที่มาของสารคดียาวเรื่องแรกของเขา,หนังสั้นของเขา อันประกอบไปด้วย “ Bangkok noise ” และหนังสั้นที่ไม่ใช่สารคดี “ ระเหย ” รวมไปถึงเหตุผลและมุมมองของเขาที่นำมาใช้ในการเล่าเรื่องแต่ล่ะเรื่อง

ช่วยเล่าประวัติของตัวเอง
ผมเรียนจบจากที่รังสิต ออกแบบนิเทศศิลป์ visual communication design แต่ว่าตอนนี้ไม่ได้ทำด้านกราฟฟิคอาร์ตแล้ว มาเป็นช่างภาพนิ่งแทน เพราะมีพื้นฐานอยู่แล้ว เคยทำงานกราฟฟิคแต่ผมเบื่อลูกค้า ทำมาอย่างหนึ่งแล้วชอบให้แก้ แก้ไปเรื่อยแต่สุดท้ายก็กลับมาใช้แบบแรก คือทำจนเรารำคาญน่ะ แต่ว่าการถ่ายภาพมันจบตรงนั้น

จุดเริ่มต้นของการทำหนังเรื่องนี้
มาจากตอนที่เรียนน่ะครับ พอถึงปีสามเทอมสองมันเริ่มที่จะต้องส่งโปรเจ็คท์ธีซิสแล้วน่ะครับ ผมเบื่อทำพวกกราฟฟิคที่เรียนมาน่ะครับ ก็เลยทำหนังส่งอาจารย์เพราะว่ามันเป็น visual communication design มันก็ทำอะไรที่เป็นภาพได้น่ะครับ ก็เลยมองว่าไม่อยากทำหนังแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องหนัง ช่วงๆนั้นก็เล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ แล้วมันมีกลุ่มเพื่อนที่เล่นสเก็ตบอร์ดเก่งๆ หลายคน พอคุยกันถูกคอปุ๊บ ผมก็เจอฟุตเตจที่เขาถ่ายๆ เก็บไว้ 4-5 ปีดองเอาไว้ในบ้านของเขาน่ะครับ 30-40 ม้วนน่ะครับ ก็เลยลองเอามาเปิดดู ก็คิดว่ามันน่าจะเหมาะดีที่จะเริ่มเอามาทำหนัง ก็เลยลองเอามาตัดส่งอาจารย์ดู ก็ตัดส่งอาจารย์ได้สิบนาที ตัดเสร็จส่งปุ๊บก็อยากจะทำต่อ ก็เลยลองหาทุนดู ลองไปยื่นที่ ค่ายหนังค่ายหนึ่งดู แล้วปรากฏว่าเขาสนใจ

หนังเริ่มต้นทำเมื่อไหร่

ประมาณสามปีกว่าน่ะครับ

แต่หนังเพิ่งฉายบ้านเราเมื่อปีที่แล้ว
ใช่ครับ เมื่อปีที่แล้ว พอผมได้ทุนปุ๊บ เขาก็ตกลงสนับสนุน โลกปะราชญ์ ผมก็ไปถ่ายหนัง และช่วงนั้นเนี่ย เพื่อนผมที่ทำด้วยกัน เขาทำทีมสเก็ตบอร์ด เขาได้งบมาจากสวิซเซอร์แลนด์ ก็เลยมีงบสองตัวนี้ ก็เลยไปทัวร์ ถ่ายกันทั่วประเทศไทยน่ะครับ

ไปเมืองนอกด้วย
ไปถ่ายเมืองนอกนี่ผมไม่ได้ไปด้วยน่ะครับ เขาไปๆ กัน ผมตามไปถ่ายตอนเขาทัวร์ทั่วประเทศ ก็ประมาณสองเดือนน่ะครับ แล้วก็เริ่มตัด เริ่มคุยแล้วก็เอาไปให้พี่ที่ ค่ายหนังดู ตัดไปถ่ายไปน่ะครับ แล้วผมก็เริ่มอยากจะหาที่ฉาย เพราะว่า ค่ายหนังเขาคงยังไม่คิดที่จะฉาย ทำไปแล้วเขาก็รอดูอยู่ ก็เลยไปรู้จักทาง พี่กลุ่มไทยอินดี้ ก็เลยลองเอาไปให้เขาดู เขาดูแล้วเขาก็ชอบ เขาก็เลยหาที่ฉายให้ ก็ฉายเรื่อยมาตั้งแต่ประมาณปี 2005 หนังก็ฉายๆ ก็ตัดไปเรื่อย ตัดไปสิบนาที ตัดไปเป็นชั่วโมง แล้วก็ได้ 90 นาที มาเสร็จจริงๆ เลย ตอนฉายที่เวิล์ดฟิล์มปีที่แล้ว

ตอนนั้นก็ฉายเป็นระยะอยู่แล้ว
ฉายไปเรื่อย ตามเทศกาลต่างๆ ส่วนทาง ค่ายที่สนับสนุน เขายังไม่มีโครงการที่จะฉายน่ะครับ เขาไม่มั่นใจ มันเป็นสารคดี ไม่รู้ว่ามันจะไปได้ไกลขนาดไหน ตอนนั้นหนังอย่าง “ Final score ” เขาก็ยังไม่มั่นใจเลยว่ามันจะยังไง ผู้ใหญ่ที่ได้ดูเขาก็ให้ความเห็นต่างๆ กันไป แต่ล่ะฝ่ายก็อยากให้หนังออกมาแตกต่างกันไป ก็พยายามรับฟังความเห็นของผู้ใหญ่แต่ล่ะฝ่ายน่ะครับ

คิดว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะฉายตามโรงปรกติ
ตอนนั้นก็คิดนะ หวังว่าเขาคงจะเอาไปฉายวงกว้าง

เกี่ยวกับตัวหนัง คือทำมาเป็นระยะๆ แล้วก็ตัดมาเป็นระยะๆ แล้วก็มาเสร็จฉายที่เวิล์ดฟิล์ม
ใช่...

แล้วอย่าง “ โลกปะราชญ์ ” มีช่วงไหนที่ถ่ายเอง
ก็เป็นตอนที่เล่นสเก็ตบอร์ดน่ะครับ ที่ไม่ได้อยู่บนสเก็ต

พอเราจะเริ่มทำหนังแล้วเราไม่มีพื้นความรู้ ทำยังไง?
ก็มั่วเอา ทำแล้วก็ทำไปเลย แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ อยากทำหนังก็ทำ ตอน ม.6 ก็เอนท์เข้าภาพยนตร์ที่ลาดกระบัง แต่ว่าไม่ติด

งานที่ตัดต่อออกมา เป็นตัวของเราเองหมดเลยหรือเปล่า?
อ่า เพื่อนผม(ผู้กำกับร่วม)จะดูในเรื่องการเรียงภาพสเก็ต ถ้าเกิดเด็กสเก็ตดูหนังก็จะรู้ว่า ภาพ

การสเก็ตตั้งแต่ต้นจนจบจะเรียงกัน แบบเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ไปจนถึงอันสุดท้ายจะค่อยๆ ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนอื่นๆ ก็จะเป็นผม เรื่องทัศนคติมุมมอง ส่วนเหตุผลที่ใช้เพลงเยอะๆ เพราะว่าตอนแรกผมจะประยุกต์วีดีโอสเก็ตบอร์ดแบบเมืองนอกกับสารคดีเข้าด้วยกัน เพราะว่าวีดีโอสเก็ตเมืองนอกนี่จะมีคนเล่นสเก็ต แล้วก็มีเพลง หมดคนหนึ่งก็ต่อด้วยอีกคนหนึ่ง อะไรแบบนี้ คนทั่วไปดูแล้วก็ต้องรู้สึกว่าน่าเบื่ออยู่แล้ว เพราะว่ามีแต่สเก็ตๆๆ พอเราได้แล้วว่าเรามีสไตล์ที่จะนำเสนอแบบนี้ เราก็เอาสไตล์ของสารคดีมารวมเข้าด้วยกัน มันก็ออกมาเป็นอย่างนั้นครับ

ฟุตเตจที่เราใช้กับ “ โลกปะราชญ์ ” มีทั้งหมดกี่ม้วน
ตอนไปถ่ายใหม่ก็มีทั้งหมด 100 กว่าม้วน ตัดอยู่ปีสองปีน่ะครับ

ก่อนจะที่เราจะตัดหรือไปถ่ายเพิ่มอะไรน่ะ หรือตอนที่เราทำงานแต่ล่ะชิ้น มีคิด concept อะไรไว้แค่ไหน
วางนะครับ เพราะว่า เริ่มแรกอย่างผมเล่นสเก็ตบอร์ดนี่ แม่ไม่สนับสนุนเลยด่าทุกวัน ตอนเด็กๆ ถ้าอยากได้อะไรแม่ก็จะซื้อให้ แต่สเก็ตบอร์ดเนี่ยถ้าอยากได้แม่จะไม่สนับสนุน ว่าๆ ทำอะไรไร้สาระไม่มีประโยชน์ แล้วมันก็เล่นยากมาก ผมเล่นเท่าไหร่ก็ไม่เก่งสักที พอเล่นได้แบบบ้านๆ น่ะครับ แล้วพอไปให้เพื่อนในกลุ่มที่เล่นกันอยู่ เขาเล่นกันเก่งมาก ทำท่าที่อลังการมาก ผมก็แบบรู้สึกว่า เขาเล่นเก่งแบบนี้มันน่าจะมีอะไรแน่ ในขณะที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไอ้เด็กพวกนั้นก็จะมองว่าสเก็ตบอร์ดมันเป็นชีวิตเขาน่ะครับ เขาอยากใช้ชีวิตไปกับมัน ใช้เป็นอาชีพให้ได้ เป็นเหมือนศาสนาของเขา เหมือนการดำเนินชีวิตของเขามันได้รับอิทธิพลมาจากสเก็ตบอร์ดหมดเลย คือมันน่าสนใจตรงมันมี conflict contrast อะไรของมันอยู่ระหว่าง คนนอกมองเข้ามา กับคนที่เล่น มันก็เลย เอานี่มาเป็นชื่อเรื่อง เอาคำว่า “ ประหลาด ” ที่คนทั่วไปมองพวกนี้ กับพวกเด็กสเก็ตที่มองว่าเป็นเหมือนสิ่งที่เป็น “ ปราชญ์ ” ก็ออกมาเป็นชื่อเรื่อง “ โลกปะราชญ์ ” พอผมมีไอเดียวิธีที่จะนำเสนอแล้ว ตอนนั้นผมก็พยายามจะมองจากสองมุม ในการทำเป็นหนังน่ะครับ

แล้วหลังจากนั้น “ โลกปะราชญ ” ก็ไม่ได้ทำอะไรอีก?
ที่เอาไปฉายดูเหมือนจะเสร็จแล้ว แต่พอเราไปนั่งดูก็อยากแก้อีก แต่หลังจากนั้นพอแก้มันก็ไม่ได้ดีไปกว่านี้แล้ว ผมก็พอ

พอดีผมว่างๆ ตอนนั้นไบโอสโคปมีงาน “Pecha Kucha” ก็เลยลองส่งโปรเจ็คท์ “Bangkok Noise” คือเรามีมุมมองสารคดีอยู่แล้ว เรื่องนี้จะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง สารคดีจะมีการเล่าเรื่องแบบปรกติ คือ ทดลองเล่าด้วยการเก็บเสียงทั่วกรุงเทพฯ เรื่องนี้เล่าเป็นอารมณ์มากกว่าเนื้อหาน่ะครับ เรื่องนี้ทำเสร็จเมื่อปีที่แล้ว และก็เอาไปฉายที่นิวยอร์คด้วย

ส่วนหนังสั้นอีกเรื่อง “ ระเหย ” ทำเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม พอทำเสร็จปุ๊บ อยู่ว่างๆ ก็เลยลองโทรไปขอ งานพี่ๆ ที่รู้จักน่ะครับ งานถ่ายภาพในกองถ่ายน่ะครับ เพราะว่าผมอยากลองทำงานในกองถ่ายดู มันไม่เคยมีความรู้ มองภาพไม่เห็นน่ะ พอเข้าไปอยู่ในกอง ถึงมองภาพออกว่ามันต้องมีการทำงานแบบนี้ๆ นะ พอเสร็จงานนั้นมาก็อยากลองกำกับดู เลยชวนเพื่อนๆ มองซ้ายมองขวา จะให้มากำกับใครก็ไม่รู้นี่ อาจจะยังไม่ได้ ก็เลยหาเพื่อนที่มีประสบการณ์เล่นหนังมาบ้าง ชวนเขามาเล่น

ถ่ายทั้งเรื่องเองหรือคะ?
ถ่ายเฉพาะตรงที่ไม่ใช่นักแสดงน่ะครับ

เราเป็นคนวางลักษณะของกล้องเองทั้งหมดในหนังหรือเปล่า มันเหมือนมีการดีไซน์ภาพอยู่ จากเรื่องแรก (โลกปะราชญ์) พอมา “ ระเหย ” ดูเหมือนวางเฟรมคล้ายภาพสไลด์ ที่มีภาพวงๆ มีสีดำมาล้อมรอบ ..ตั้งใจดีไซน์แบบนั้นหรือเปล่า
ก็...เหมือนอย่างเรื่อง “ โลกปะราชญ์ ” มันทำโดยคนที่ไม่รู้อะไรเลยน่ะครับ พอทำๆ ไปอะไรที่ได้มาโดยบังเอิญ มันก็ติดไปกับเราน่ะฮะ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาก็ได้รับอิทธิพลจากโลกปะราชญ์น่ะครับ

พอมาทำ “ ระเหย ” ผมอยากให้มันดูห่างด้วย สร้างระยะห่างระหว่างตัวละคร อยากให้มันรู้สึกด้วยว่ามองผ่านกล้องน่ะครับ มองผ่านวิวไฟน์เดอร์ของกล้อง เพราะตัวพระเอกก็ถือกล้องเข้ามาในห้องแล้วก็ถ่าย แบบว่าอยากจะเก็บความทรงจำไว้ก่อนที่จะจากกัน

ในซ็อตนั้นเป็นการมองผ่านมุมกล้อง แล้วตอนที่ตัวผู้ชายอยู่ด้วยล่ะ ที่ผู้ชายอยู่ในภาพ ตอนนั้นถ่ายยังไง?
พอจากภาพที่พระเอกถ่าย ตัวละครก็เดินมาบังกล้อง แล้วก็เปลี่ยนเป็นเห็นผู้ชาย แต่ก็มีบางคนอย่างพี่เจี๊ยบ กฤติยา เขาบอกเราว่า ไม่ว่าดูกี่เรื่องๆ เขาก็จะจำแต่เสียง เสียงในหนังแล้วก็ภาพในหนังว่าเออ น่าสนใจ ผมเป็นคนที่จะชอบดีไซน์เสียงเหมือนกันน่ะครับ อย่าง Bangkok noise ผมก็จะเล่นแบบว่า เสียงเยอะๆ เพื่อที่จะทำให้มันดูอึดอัด แต่พอมาถึง “ ระเหย ” ผมก็ทำให้มันตรงข้ามกันไปเลย ไม่ใช้เสียงเลย ว่ามันจะอึดอัดไหม ก็ได้ข้อพิสูจน์ว่า อะไรที่มันอยู่ตรงข้ามกันมากๆ นี่ก็จะให้ผลเหมือนกันได้

อย่าง โลกปะราชญ์ นี่มีเงินทุนพอสมควร แล้วหนังสั้นสองเรื่องนั่นล่ะ
ไม่ได้ใช้เลยสักบาทครับ กล้องที่ใช้ก็แฮนดี้แคม ก็รุ่นไม่ได้บ้านมาก ตัวก็ดีเหมือนกัน กล้องเล็กๆ แต่ก็ใช้ได้ คอมตัดก็ตัดที่บ้าน “ ระเหย ” เพลงในเรื่องก็ให้เพื่อนมาช่วยทำ เขาจะออกเทป

มีบางช่วงที่พี่ดูจากโลกปะราชญ์ ที่ฟุตเตจมันมีฉายซ้ำเยอะ
ใช้ซ้ำหลายตอนเหรอครับ มันเป็นเรื่องของอารมณ์ตอนที่ตัดน่ะครับ..จริงๆ แล้วอยากมีเหตุผลนะครับ แต่จำไม่ได้ว่าตอนไหนบ้าง

แล้วเราวางอารมณ์ของเหตุการณ์ในเรื่องไว้ก่อนหรือเปล่า
อารมณ์มันก็ เหมือนตอนที่ไปทัวร์กับเขามา สิ่งที่เรานำเสนอก็คืออารมณ์ที่เราได้มา อย่างโลกปะราชญ์ ที่พี่บอกว่ามันจะเห็นภาพซ้ำๆ น่ะ ในหนังมันก็จะมีพูดอยู่ว่า ถ้ารักทำอะไรจริง ทำไปเหอะ สักวันมันก็ได้ดี มันก็เอาไปใช้ในเรื่องการตัดแล้วตัดอีก ก็มาคิดว่าถ้าเราตั้งใจตัดเป็นเรื่องแล้วมันก็จะได้ของมันเองถ้าเราไม่เลิกล้มไปซะก่อน

อย่างระเหยนี่จะเล่นกับสไตล์ของภาพเยอะจนไปถึงตอนจบด้วย
อาจจะเป็นเพราะว่าผมจบออกแบบนิเทศศิลป์มาด้วยน่ะครับ มีพื้นฐานในด้านการออกแบบวิช่วลพอสมควรน่ะครับ

แล้วอย่างหนังสั้นแบบ “ Bangkok noise ” กับ “ ระเหย ” ความคิดที่จะทำมาจากอะไร?
ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อย่าง Bangkok noise ก็จะมาจากความอยากทดลองเล่นๆ อย่างลองดูว่าถ้าเราถ่ายเสียง เปลี่ยนภาพไปเรื่อยๆ ทุกภาพแต่เสียงมันจะยังอยู่ไปเรื่อยๆ หนังมันจะออกมายังไง ส่วนระเหยเป็นอารมณ์อยากทำหนัง ปัญหาของผมก็คือ ตัดต่อได้แล้ว ภาพได้แล้ว ที่นี่เรื่องบท ผมยังแบบไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไหร่ ที่นี่อยากทำหนัง ผมก็ทำไงดี? เราก็มองรอบๆ กายว่าเรามีวัตถุดิบอะไรบ้าง เรามีเพื่อนเป็นนักแสดง เรามีโลเคชั่นที่เราอยากจะใช้แล้ว เรามีอารมณ์ของเราที่อยากจะนำเสนอ แล้วก็ มีมุมมองชีวิตที่เราสรุปผ่านมาจากโลกปะราชญ์ ที่นี่เราจะนำเสนอยังไงเมื่อเราเขียนบทไม่เป็น ผมก็ลองที่จะนำเสนออารมณ์มากกว่าเนื้อหาของมัน พยายามที่จะเสนอมุมมองทางอารมณ์มากกว่า ก็เลยเริ่มจะเขียนบทเป็นสตอรี่บอร์ดด้วยตอนที่ทำ

จริงๆ พี่ว่าเรื่องนี้ไม่ชัดเจนเท่าสองเรื่องแรก (โลกปะราชญ์กับ Bangkok noise)

ระเหยมันเป็นเหมือนกับวัฎจักรของความรัก พอพูดถึงวัฎจักรก็เอามาเปรียบกับอากาศ เมฆ ฝน ฟ้า น้ำ มันตกลงมาแล้วก็ระเหยขึ้นไป รวมไปเมฆ แล้วก็ตกมาเป็นฝน ทีนี้ถ้าพูดถึงความรักผมก็เอาช่วงที่มันระเหย จับอารมณ์ช่วงระเหยมาอยู่ในหนัง พอจับอารมณ์ช่วงนั้นได้ปุ๊บ อารมณ์ช่วงก่อนระเหยมันต้องมีการร้อน เจอแดดเผา เป็นช่วงชีวิตที่ไม่น่าจะสบายสักเท่าไหร่ คือว่า..ตัวละครสองตัว ตัวผู้ชายสองตัว ให้สังเกตว่ามันจะทำอะไรตรงข้ามกันตลอด อย่างตัวไอ้เป้ ตัวตอนแรก ตัวนี้จะเดินออกมาทางซ้าย อีกตัวจะเดินออกมาทางขวา ตัวหนึ่งเดินเข้าตัวหนึ่งเดินออก ตัวหนึ่งรักอีกตัวเลิก ผมคิดว่าชีวิตเรามันก็มีอยู่แค่นี้ ก็มีเกิดมีตาย มีขาวมีดำ

แล้วหนังสั้นสองเรื่องหลังนี่เราทำในด้านไหนบ้าง?
Bangkok noise ก็ทำเองแทบหมดเลย ถ่ายเอง อัดเสียงเอง ตัดต่อเอง ส่วนระเหยนี่ ได้เพื่อนมาช่วยถ่ายอีกคนหนึ่ง เขาทำหนังสั้นเรื่อง “ เหตุผลที่คนเราทะเลาะกัน ” รู้จักกันในกองถ่ายหนัง ก็ชวนมาทำ ถ่ายฉากที่เรามีคน เพราะผมเห็นว่าเขาถ่าย portrait สวย ที่เหลืออย่างในซีนที่มีภาพฝนตกฟ้าร้อง ผมไปเที่ยวไหนผมก็ถ่ายฟุตเก็บเอาไว้แล้วก็เอามายำ มีกึ่งๆ เทคนิคจากสารคดีเหมือนกัน

มีความคิดที่จะทำหนังยาวบ้างหรือเปล่า?
คิดอยู่เหมือนกันครับ แต่ว่ายังคิดไม่ออกว่าเราจะทำอะไรแล้วเขาเห็นด้วย

แล้วทางค่ายหนังเขาดูงานของเราไปแล้วกี่เรื่อง
เขาดูโลกปะราชญ์ไปตอนแรกเขาก็ชอบ แต่พอดูไปตอนหลังตัดไปตัดมา มีความเห็นของอีกด้านเข้ามา ก็เริ่มมีหลายอย่างที่เขาไม่คลิ๊ก เขาเห็นว่าพลังมันลดลงจากเวอร์ชั่นที่เขาได้ดู ตอนทำโลกปะราชญ์ผมก็เหนื่อยเพราะคิดจากข้างนอกมาข้างใน แต่พอทำระเหย ผมก็แบบ ข้างในมาข้างนอกแล้ว ตอนนี้ขี้เกียจที่จะแคร์ ขี้เกียจที่จะแบบแคร์คนเยอะๆ ยังอยากทำอะไรที่แคร์แต่ตัวเอง

มองระยะยาวไว้อย่างไร
ก็อยากทำหนังที่กำกับแบบเป็นหนังยาวอยู่ ก็เขียนบทอยู่แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรชัดเจน

แต่วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาที่อยากทำจริงๆ คิดว่าพร้อมไหมที่จะทำงานกับสตูดิโอ
วันหนึ่ง ก็ต้องดู วันหนึ่งก็อยากไปทำอะไรกับสตูดิโอใหญ่ๆ ที่มันจะต้องผ่านกระบวนการเยอะเหมือนกัน แต่ ณ ตอนนี้ผมคิดว่าผมยังเด็กเกินไปที่จะต้องผ่านอะไรอย่างนั้น

ติดตามงานของนนทวัฒน์ได้ที่บล็อกของเขา      http://filmme.exteen.com/ 

 

copyrights ©thaicinema.org  

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.