สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

Truth Be Told ความจริงที่จะบอกกล่าวจาก พิมพกา โตวิระ

  อัญชลี ชัยวรพร สัมภาษณ์
  25 มิถุนายน 2550
  บทวิจารณ์ “ The Truth Be Told ” - มิติที่หายไป
   
 

เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงคนแรก ๆ ที่เริ่มตำนานผู้กำกับหญิง ......   ประวัติศาสตร์หน้าที่แทบจะขาดหายไปจากวงการหนังไทยอย่างสิ้นเชิง  ก่อนที่จะตามมาอีกนับสิบ  และหล่นหายไปเช่นเดียวกัน ด้วยผลงานเพียงเรื่องเดียว

....พิมพกา โตวิระ ก็เกือบจะเป็นเช่นนั้น  หลังจากที่ผลงานเรื่องแรก "คืนไร้เงา" หรือ One Night Husband ออกฉายใน 2545

แต่สำหรับวงจรหนังอินดี้ด้วยแล้ว เธอกลายเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตา ไม่ว่าจะในฐานะคนทำหนังสั้น  คนสอนหนัง   คนทำกิจกรรมหนัง  หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ....ทางเลือกที่เธอรู้ว่าเป็นหนทางเดียวที่เธอจะต้องเดิน หลังจากพยายามทดลองสไตล์แบบนอกกระแสกับเนื้อหาในกระแสอย่างฆาตกรรม

ห้าปีผ่านไป   เธอกลับมาอีกครั้ง กับหนังยาวเรื่องที่สอง The Truth Be Told หนังที่เธอบอกว่าเปลี่ยนวิธีการทำหนังของเธออย่างสิ้นเชิง  กับเนื้อเรื่องของสุภิญญา กลางณรงค์  ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ถูกบริษัทชินคอร์ปฟ้อง  และเป็นคนแรก ๆ ที่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของอดีตนายกผู้ไร้ีแผ่นดินอยู่

สุภิญญา กลางณรงค์ ชนะคดี   แต่มันคือชัยชนะที่แท้จริงหรือไม่ บางสิ่งบางอย่างที่คุณจะต้องค้นหากับ The Truth Be Told และผู้กำกับสาวพิมพกา โตวิระ

 

 

หนังเรื่องนี้ The Truth Be Told มีชื่อภาษาไทยไหม
ยังเลย กำลังคิดอยู่เหมือนกัน

โปรเจ็คเริ่มอย่างไร
จริง ๆ แล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะทำ มันเริ่มประมาณ 3 ปีที่แล้ว เราไปเจอเก๋ …. สุภิญญา กลางณรงค์ ที่งาน Young Leader Forum ที่สิงคโปร์ ตอนแรกที่เจอกันก็ตลกดี เราขึ้นเครื่องคันลำเดียวกัน แล้วเราเปิดหนังสือพิมพ์มา เห็นเขาในข่าวว่ากำลังถูกฟ้อง ตอนนั้นแค่โดนฟ้อง คดีของเขาก็เลยเป็นประเด็นในการคุยกัน มันทำให้เรารู้สึกว่า เอ้อ มันมีเรื่องแบบนี้ด้วยนะ ตอนแรกที่อ่านหนังสือพิมพ์ มันไม่ชัดเจนว่าถูกฟ้องเรื่องอะไร พอมาอยู่ตรงนั้น ก็เลยรู้ว่าเขาโดนฟ้อง 2 ศาล ทั้งแพ่งและอาญา เป็นคดีหมิ่นประมาท

พอดีในงานนั้นมีคนไทยอยู่ 2 คน ก็เลยอยู่ด้วยกันตลอด ได้คุยกันเยอะ เราก็คิดว่าเรื่องของเขาน่าสนใจ ตอนนั้นเราเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนะ ส่วนตัวก็ไม่ได้มีความรู้สึกไม่ดีต่อทักษิณ เราแค่รู้สึกว่ามีเรื่องบางเรื่องเกิดขึ้นอยู่ เป็น conflicts of interest ได้ยินแต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันมารบกวนจิตใจถึงขนาดจะไปทำเรื่องนี้ แต่เหตุผลที่เราสนใจทำ ก็เพราะเรารู้สึกว่าเขาก็ไม่ได้พูดอะไรเสียหาย ทุกคนก็สงสัยเรื่องนี้กันอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นประเด็นทักษิณยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ในกระแสสังคม เขายังไม่โดนต่อต้านเท่าไร กำลังเริ่ม ๆ อยู่ เราก็เลยรู้สึกสนใจ ไปว่าทักษิณมันจะผิดตรงไหน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า มันน่าจะมีมุมในงานที่เราอยากจะทำเป็นสารคดี เรากลับมาเราก็บอกเขาว่าเราสนใจเรื่องคดีของเขา แต่ว่าเรายังไม่รู้เลยว่าเราจะทำได้หรือเปล่า ยังไม่รู้เลยจะเอาเงินที่ไหนมาทำ ตอนแรกมันยากอยู่

เอื้ออารีโดยคนใจดีที่ไม่ใช่นักการเมือง : กลับมาก็เลยมาปรึกษากับเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เล่าให้เจ้ยฟัง เขาก็เห็นว่ามันน่าสนใจ ก็เลยได้ไปคุยกับคนลงทุนคนนี้ เอ่ยชื่อไม่ได้ แต่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองเลย แค่เขารู้สึกอยากสนับสนุนงานแบบนี้ เขาก็เลยช่วยมาก้อนหนึ่ง ก็ไม่ได้เยอะมาก จากงบทั้งหมดก็ประมาณสักครึ่ง ซึ่งมันก็ช่วยทำให้เริ่มงานได้ ก็ต้องรีเสิร์ชมากขึ้น คือ ถ่ายสารคดีมันเหมือนเราต้องตามตัวคนในเรื่องมากขึ้น แล้วเราก็เริ่มเข้าไปในเรื่องราวพวกนี้ พอเริ่มเข้าไปมากขึ้น คดีเขาก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงแรกที่ยังไม่มีการนัดไต่สวน แค่ศาลเรียกไปเฉย ๆ ยังไม่มีนักข่าวไป คนไปถ่ายรูปเสร็จแล้วก็กลับบ้าน ไม่มีนักข่าวเยอะอะไรอย่างนี้

ก็เลยเริ่มจากตรงนั้นมา เริ่มเข้าไปรู้จักเขาในมุมอื่นด้วย เพราะเราไม่อยากให้สารคดีมีแค่เรื่องขึ้นศาล เราไปศาลบ่อยมาก ทั้งศาลอาญา ศาลแพ่ง แล้วก็ไปนั่งฟังเขาคุยกับทนาย ตั้งแต่ก่อนขึ้นศาลเป็นปีเลยนะ ตอนนั้นมีคนพยายามหากองทุนมาช่วยคดีเขา จากตรงนั้นทำให้คดีเขาเริ่มเป็นที่สนใจ มีการจัดงาน หาทุนอะไรอย่างนี้ ก็ตามไปดูบางช่วง ถ่ายได้ก็ไปถ่าย เราไปเก็บข้อมูลไง ไม่งั้นมันจะเป็นแค่การนั่งคุยเฉย ๆ เสร็จแล้วเราก็พยายามเข้าไปในมุมที่เป็นส่วนตัวของเขา เพราะเราตั้งประเด็นไว้ว่าทำไมเรื่องส่วนตัวเขากลายเป็นเรื่องสาธารณะได้ เหมือนคนเราทำไมอยู่ดี ๆ เราพูดสิ่งที่เราคิด แล้วมันกลายเป็นเรื่องที่เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆในเวลาเดียวกัน ก็เลยพยายามที่จะเข้าไปในมุมที่เป็นส่วน เรื่องชีวิตเขา เข้าไปบ้านเขา ไปเจอพ่อแม่อะไรอย่างนี้ มีบางช่วงที่เรายุ่ง เราก็อาจไม่ได้ไปตาม ก็จะไม่ได้ถ่ายเขาตลอดนะ เราก็จะเช็คเขาทางโทรศัพท์คุยกันแล้ว บางทีก็ให้เด็กเราช่วยตาม เพราะว่าเราต้องทำอย่างอื่นด้วย หนังมันใช้ระยะเวลาเยอะ แล้วเราก็ต้องหาเงินตัวอื่นมาช่วย SUPPORT

คดีเขามาดังขึ้นก็ตอนที่เริ่มมีการประท้วงขึ้น เรื่องสนธิ (ลิ้มทองกุล) ขึ้นมาพูดเรื่องทักษิณ พอดีคดีเขาอยู่ในช่วงที่จะต้องตัดสินแล้ว มันประจวบเหมาะพอดี คดีเขากับเหตุการณ์ทางการเมืองเหมือนไปด้วยกัน ตอนแรกเราไม่รู้ว่ามันจะจบอย่างไร เราคิดว่าเขาจะแพ้ เราขึ้นไปฟังไต่สวนหลาย ๆ นัด เราก็กลัวว่าเขาจะแพ้ มันตอบไม่ได้ ในศาลมันมีกระแส เช่นคนนั้นก็พูด คนนี้ก็พูด เราประเมินไม่ได้ว่าเอ๊ะหนังเราจะทำไงดี ตอนแรกมันแบบงง ๆ เราจะไปโฟกัสที่คดีเขาดีหรือเปล่า เราจะแค่มองว่าเผชิญหน้าอย่างไร

 


จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เขาให้การ แค่รอคำตัดสิน ช่วงที่รอคำตัดสินนี่แหละ ถึงเริ่มมีกระแสว่าคดีเขามันอาจจะพลิก เพราะเหตุการณ์เรื่องประท้วงมันเข้ามา สนธิย้ายมาประท้วงที่สนามหลวง ช่วงประมาณกุมภา มีนา คดีเขาตัดสินวันที่ 15 มีนา คดีเขาถูกมาใช้ในตอนประท้วงด้วย สถานการณ์มันเริ่มเปลี่ยนไป ก่อนจะตัดสิน ทนายฝ่ายโจทย์เข้ามาขอประนีประนอม วันนั้นเก๋เขาก็นั่งกังวล คนเริ่มมายุ่งกับเขาเยอะ ก่อนหน้านี้เราคุยกับเขาได้มาก แต่หลัง ๆ คนมายุ่งกับเขาเยอะ เพราะว่าคดีเขามันถูกโฟกัสแล้วแหละ ณ เวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองมันเริ่มพลิก สุดท้ายเขาตัดสินใจว่าเขาจะไม่ยอม

เมื่อเรื่องกลายเป็นรหัสการเมือง – ชัยชนะของคนแพ้ : ศาลตัดสินว่ายกฟ้อง กลายเป็นว่าวันนั้นที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากตอนแรก เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันคนละแบบ นี่เราไม่ได้พูดในมุมการเมืองนะ เราชัดเจนได้มากกว่าในช่วงที่ไม่มีนักข่าว แต่ตอนนี้มันกลายเป็นการเมือง หนังเราก็

เปลี่ยนไปจากตอนแรก นี่เราไม่ได้พูดในมุมการเมืองนะ เราไม่ได้เข้าใจในมุมการเมืองเท่าไร เราแค่คิดว่าการที่เราอยู่ส่วนตัวกลายเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อะไรบางอย่างหรือเปล่า ซึ่งเราก็เลยมานั่งถามว่าผลประโยชน์มันคืออะไร มันอาจจะไม่ใช่เรื่องของทักษิณ แต่มันเป็นผลประโยชน์ของการใช้อำนาจบางอย่าง บางทีเราไม่รู้ว่าอำนาจมันอยู่ฝ่ายนั้นตอนนั้น พอคดีชนะ ทุกคนก็เฮไชโย เพราะว่าประท้วงสำเร็จ

แล้วพอสักพักทำไปเรื่อย ๆ ปฏิวัติอีก ตอนแรกหนังเริ่มเสร็จก่อนปฏิวัติ หนังตัดไป 50% แล้ว อยู่ดี ๆ มันก็หายไป คราวนี้เราก็รู้สึกว่าหนังมันพาเราไปสู่เรื่องหนึ่ง พาไปสู่คำถามอันอื่น มันก็เลยทำให้หนังตอนเริ่มกับตอนนี้ มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันแล้ว มันกลายเป็นไอเดียอีกแบบหนึ่งไป ผ่านช่วงเวลาที่มันเปลี่ยนแปลง ก็เลยเราก็ไปคุยกับเก๋ เราบอกเก๋ว่าหนังพี่มันไม่จบแบบนี้แล้วนะ มันต้องจบอีกแบบหนึ่ง ต้องแบบขอคุย ขอถ่ายอะไรเพิ่ม เขาก็โอเค

สุดท้ายก็เลยไปคุยกัน เพราะว่าเรารู้สึกว่า หนังเราที่ดูเหมือนจะจบแบบชัยชนะตอนแรก แต่มันไม่ใช่ชัยชนะแล้ว กลายเป็น ชัยชนะของคนแพ้ วันที่ปฏิวัติ เราเศร้ามาก คือเรารู้สึกค่อนข้างเยอะ แล้วเขาก็รู้สึกตรงกับเรา ช่วงที่เราไปถ่ายก็ไปประท้วง เหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ สถานการณ์ พูดตรง ๆ เราไม่ได้มีความคิดว่าว่าเราเกลียดใครนะ แต่สถานการณ์บางอย่างมันต้องออกไปเพื่อให้เกิดพลัง การที่ทุกคนไปประท้วง อาจจะไม่ได้รู้สึกรุนแรงเท่าคนบางคน แต่ออกไปเพื่อที่จะใช้พลังบางอย่าง แสดงออกว่าเราไม่ต้องการอะไร แต่คราวนี้พลังอันนั้นมันถูกใช้ไปแล้ว แต่เสร็จแล้วอยู่ ๆ มีอะไรอีกอย่างหนึ่งเข้ามา แต่มันกลับกลายไปว่า พลังอำนาจตรงนั้น ที่ประชาชนออกไปนั่นมันมีความหมายหรือเปล่า มันถูกใช้ไปแล้ว นั่นคือพ้อยท์ของหนังเราตอนนี้

ตกลงยังเป็นหนังเกี่ยวกับสุภิญญา กลางณรงค์ หรือเปล่า
มันคือเรื่องของเก๋ ของคน ๆ หนึ่งในสังคม เขาก็เหมือนกับมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูก พอสิ่งที่ตัวเองพูดไปกระทบกับอำนาจอะไรบางอย่าง แล้วตัวเองก็โดนกระทำ แต่จริง ๆ แล้วคุณก็ต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นแบบเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เรารู้สึกว่าไม่ต่างอะไร คือเก๋ก็เหมือนคนทุก ๆ คนที่ออกไปประท้วง แต่คดีเขากลายเป็นคดีสาธารณะ คุณมีอำนาจทันที แต่อำนาจคุณถูกใช้

 

แล้วหนังช่วงครึ่งหลังเปลี่ยนไปเยอะไหม
จริง ๆ คนอาจจะด่าก็ได้ เพราะมันเป็นหนังแบบไม่ด่าทักษิณ คือพูดตรง ๆ เรามีทักษิณน้อยมาก หนังเรื่องนี้พูดแค่มนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งคุณมีชีวิตประจำวันแล้ววันหนึ่ง ชีวิตคุณก็ถูกเปลี่ยนไป เพราะว่าคุณพูดในสิ่งที่คุณคิดว่ามีสิทธิเสรีภาพในการพูด เขาเชื่อในเรื่องนี้มาก เขาสงสัยว่าสิ่งที่เขาพูดมันไม่ได้ผิดอะไร แต่เขาถูกกระทำเพราะสิ่งที่เขาพูดมันไปกระทบกับอำนาจ เขาต้องต่อสู้กับสิ่งเหลานี้มา 2- 3 ปี แต่เขาก็ไม่ได้ชัยชนะในสิ่งที่เขาเรียกร้องเสรีภาพ มาตอนนี้เขาจะพูดอะไรก็โดน หาว่าถูกใช้ ในแง่หนึ่งตัวเขาถูกใช้เหมือนกัน มันเป็นอำนาจที่ย้ายมาอีกข้างหนึ่ง คือหนังเราก็เป็นแบบเรื่องของมนุษย์ มันเป็นเรื่องแค่คน ๆ เดียวทั้งเรื่อง ซึ่งคุณอาจจะเบื่อก็ได้

คนมาบอกว่า เฮ้ยด่าทักษิณใช่ไหม มันไม่ใช่ประเด็นที่เราสนใจ เราคิดว่าตัวเราก็เหมือนเขา เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้ มีผลกระทบเท่าเขา เรารู้สึกว่าเสรีภาพของเรามันหายไปไหน เมื่อเขาชนะคดี มันเหมือนเขาได้ชัยชนะและเสรีภาพ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่

เราแค่ใช้ชีวิตเขาเป็นตัวที่จะบอกเรื่อง หนังเรามันพูดตรง ๆ เลยนะ มันก็ไม่ได้มีอะไรมาก มันเป็นเรื่องของเก๋คนเดียว แค่ผู้หญิงคนเดียวที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัด เด็กที่เรียนต่างจังหวัด พ่อแม่ทำงานอะไร ครอบครัวเป็นอะไร ครอบครัวก็เชียร์ประชาธิปัตย์ทั้งบ้าน แค่นี้ แต่ตัวเขาต่างหากต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง แต่สุดท้าย เขาก็ไม่แน่ใจ แต่หนังมันไม่ได้จบเศร้านะ

 

 

กลัวจะมีปัญหาตอนหนังฉายไหม
มันอยู่ที่คนดูแล้วตีความหรือเปล่า คือเราก็รู้สึกว่าคนจะคิดว่าเราเป็นหนังแบบ

ด่าทักษิณ
ซึ่งเราอยากจะเคลียร์ตรงนี้ หนังไม่ได้ออกมาด่าใคร แต่หนังมันทำหน้าที่ในการแสดงออกของคนทำว่ารู้สึกอย่างไง กับเรื่องนั้น ประเด็นนั้นมากกว่า

จริง ๆ แล้วตอนแรกวางเรื่องไว้เป็นอย่างไร
ตอนแรกหนังเราเหมือนเป็นการต่อสู้ว่าจะชนะหรือแพ้เท่านั้นเอง ไม่ได้คิดไกล ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร คิดว่าหนังมันจะจบ แค่วันตัดสิน คิดตอนจบไว้ก่อน คือวันที่เขาตัดสินคดี แล้วทักษิณจะได้รับการเลือกมาอีกครั้งหนึ่ง ภาพตอนจบคือการเลือกตั้งครั้งใหม่

แต่ปรากฎว่ามันเปลี่ยนไปปุ๊ป มันมีคำถามเยอะกับตัวเราเลยว่าเรื่องมันไม่ใช่แค่นี้ มันไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ สารคดีมันไม่เหมือนหนังเล่าเรื่องละเนอะ ขณะที่ทำไปตัวเราเองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยในความคิด แล้วอย่างในกรณีนี้ เราถามว่าเราเข้าข้างเก๋หรือเปล่า เราฟังความข้างเดียวหรือเปล่า มันก็เหมือนกับใช่นะ เพราะเราไม่ได้แทบเอามุมอื่นเลยนะ เราไม่ได้สนใจว่าเราทำหนังว่า ใครถูก ใครผิดนะ

เก๋ก็ยังไม่ได้ดูหนังเลยด้วยซ้ำ ยังบอกเขาเลยว่า ท้ายสุดมันเป็นมุมมองของเรานะ ไม่ใช่หนังเชิดชู เขา เขาจะเป็นมนุษย์ธรรมดาในหนังของเรา ตอนไปศาล พ่อเขายังนั่งคุยนั่งเล่น โทรศัพท์มือถือของพ่อยังใช้ AIS แต่เก๋ใช้ DTAC แต่ถูกชินคอร์ปฟ้อง มันเป็นความจริง เราไม่อยากจะทำให้เป็นแบบผู้หญิงออกมาและประกาศต่อสู้ เราอยากเห็นเขาเป็นคนธรรมดา เราก็ไม่ต่างกันกับเขานะ แต่ในอนาคตเราอาจจะโดนแบบเขาก็ได้ ทุกคนมีโอกาสโดนอย่างเขาได้หมด ถ้าคุณพูดอะไรแล้วไปกระทบอำนาจบางอย่าง หรืออำนาจที่เราไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้

ตอนแรกเห็นบอกว่าหนังไม่ได้ใช้วิธีสัมภาษณ์
มีสัมภาษณ์เป็นช่วง ๆ เราจะสัมภาษณ์เขาเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ระหว่างคดี จนจบคดี แต่เราไม่ได้ใช้ เราแค่ใช้เสียง ทุกครั้งที่สัมภาษณ์ เขาก็จะพูดในอารมณ์ตอนนั้น เราก็ได้คำพูดเขาในแต่ละอารมณ์ มันเหมือนการเฝ้าสังเกตตัวเขามากกว่า แล้วก็มีเรื่องบนศาล

เข้าไปถ่ายศาลได้หรือ ส่วนใหญ่ศาลทั่วโลกจะเป็นสถานที่ไม่ให้สื่อเข้าไปถ่าย
ก็ขออนุญาติ แต่เข้าไปไม่ได้นะ ข้างนอกก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แล้วเราก็ไปบ้านเขาที่ สุราษฎร์ ไปดูบ้านเขา ไปบ้านพ่อแม่เขา

แสดงว่าถ่ายทุกคนที่อยู่ใกล้ตัวเขา
โดยเฉพาะพ่อแม่เขาจะมีหมด

เวลาถ่าย เขามีปฏิกิริยาอย่างไง คนใช้ชีวิตอยู่ดี ๆ แล้วก็มีกล้องมาตาม
ตอนแรกก็ยากอยู่นะ ยอมรับว่าต้องใช้เวลาเยอะ ต้องสังเกต บางทีรู้ว่าเขาแบบไม่ปกติ ก็ให้คนอื่นถ่าย นุชจะไม่อยู่ตรงนั้นตลอด เหมือนเขาจะรู้สึกได้ว่าเราอยู่ที่นั่น บางทีก็แอบถ่าย บางวันก็ถ่ายจังหวะที่เขายุ่ง จะรีบเก็บของเตรียมเดินทาง เขาก็จะทำปกติ เราก็จะถ่ายเขาอย่างนั้น คือเรารู้สึกว่าไปถ่ายแบบตอนสบาย ๆ คนจะรู้สึกว่ากล้องอยู่ด้วยตลอด

แต่ก็ต้องยอมรับนะว่ามันยากเหมือนกัน ยิ่งเวลาผ่านไป คนที่ถูกสัมภาษณ์บ่อย ๆ จะระวังมากกว่าปกติ เป็นอัตโนมัติ ก็ต้องหาวิธีเหมือนกัน ก็ต้องมีวิธีหลอก แต่ตอนหลัง เขาก็สบายใจกับเรา มันก็จะง่ายขึ้นแรก ๆ เขาก็เขินนะ มีเขิน ๆ มี

 

นุชเป็นคนถ่ายเองด้วยไหม
ไม่ ๆ จะไม่ถ่ายเอง ให้ตากล้องถ่าย แต่ว่านุชจะอยู่ด้วย ก็จะมีผลทำให้เขาระวัง บางช่วงก็ต้องหามุม นุชก็จะคิดตลอดเวลา สมองต้องคิดตลอดเวลา มันเริ่มรู้แล้วว่าเขารู้สึกอะไรแล้วเราต้องเปลี่ยนวิธีไป มีอยู่ฉากดีมาก นุชไม่อยู่ เขาเป็นธรรมชาติมาก

เท่าที่ดูหนังของนุชมา นุชจะมีวิธีการแบบหนึ่งว่า คือ วางภาษาหนังกระแสหลักเป็นที่ตั้ง แล้วนุชจะเลี่ยงไปอีกทางตรงข้าม
ใช่ ๆ

แล้วเรื่องนี้วางหลักไว้เป็นแบบนี้หรือเปล่า
เราพูดจริง ๆ นะ หนังนี้เปลี่ยนวิธีการทำงานของเราอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อก่อนเราเป็นคนคุมงานไว้มาก เราต้อง CONTROL ทุกอย่าง เพราะว่าเราคิดตั้งแต่ concept แต่เรื่องนี้ คิดไว้แค่คร่าว ๆ ว่ามันจะออกมาประมาณไหน แต่ว่าพอทำไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างมันพาเราไป เราต้องเปลี่ยนหมดเลย เราต้องล้างความคิดเดิม เพราะฉะนั้นหนัง มันแทบจะไม่ ….. เอ้างี้เลยดีกว่าเราไม่เคยทำหนังแบบถ่ายไม่เนี้ยบ เรื่องนี้เราก็ต้องยอม ต้องปล่อยแบบ OK ช่างมัน แบบกล้องสั่นบ้าง แสงน่าเกลียด มันเริ่มยอมแล้ว เรื่องมันต้องพาเราไปหาทางเอง อย่างเช่นทั้งหมดพูดตรง ๆ เลยนะตอนตัดไว้คิดไว้อีกแบบเลยนะ ครั้งแรกจะมีความคิดแบบหนึ่ง  ตัดไปครึ่งชั่วโมงที่บอกพี่ พอมันหายปุ๊บ ก็ไปดูใหม่หมด

เปลี่ยนใหม่หมดเลย ให้มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นวิธีการที่แบบเรารู้สึกชอบกับมัน เรื่องนี้จะเป็นหนังของเราที่ง่ายที่สุดเลย แต่เราจะไม่ได้จัดลำดับเรื่องนะ สลับไปสลับมา แต่มันจะเป็นวิธีการที่ง่าย ๆ เราตัดแบบง่ายมากนะ ตัดแบบคัทชนคัท ให้มันเป็นส่วน ๆ ไม่ได้หวือหวาเลย

ถ้าพี่ดูหนังเราก่อนหน้านี้ จะเห็นเรื่องภาพ เรื่องวิช่วลมาก พวกนี้ต้องคิดมากตั้งแต่ตอนที่ถ่ายแล้ว จะเป็นภาพเหมือนแบบกึ่งเซตหน่อย แต่เราก็จะวางแผน ไม่เป็นสารคดีที่ต้องไปสัมภาษณ์ เราจะถ่ายไกล เราจะไม่ชอบสารคดีสัมภาษณ์ ไม่ชอบคำบรรยาย แล้วหนังเรามันไม่ฉีกแนวมากนัก สิ่งที่เราขบคิดมากก็อยากให้ทุกคนรู้ว่าคดีนี้มันเป็นอย่างไร จะเล่าอย่างไง คนดูที่ไม่ใช่คนไทยจะรู้เรื่องได้อย่างไร จะไปเล่าบรรยายวัน เดือนที่เขาถูกฟ้องมันก็ไม่ได้ นั่งพูดเฉย ๆ ก็ไม่ได้ มันก็ต้องหาวิธีที่จะใส่เข้ามา อาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ก็พอใจ แต่เราก็ไม่อยากให้เขานั่งพูดหรือว่าให้คนอื่นมาพูดอะไรอย่างนี้ ภาพข่าวก็ไม่อยากใช้

ตกลงก็ไม่ใช้ทั้งภาพข่าวจากปากคำของเขา
มีเสียงของเขาเป็นวอยซ์โอเวอร์ แต่ว่าภาพมันจะเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ให้เขามาเล่า ไม่ ๆ และก็ไม่ใช่บรรยายพรรณนาโวหาร ไม่มี

แล้วตกลงจะเป็นวิธีไหน
มันเป็นเสียงที่เขาพูด แต่เอามาใช้กับภาพอื่น ตอนแรกเราคิดว่าจะเอาตัวเองเข้าไปยังไง เพราะมันมีเสียงเราอยู่ในหนัง เราก็คิดตั้งนานนะ สุดท้ายก็เอาภาพหนึ่งมา แล้วสัมภาษณ์เขา มีเสียงเราด้วย เหมือนเปิดด้วยว่าเราอยู่ในหนังเรื่องนี้ หนังเปิดออกมา 10 นาทีแรกจะดูไม่ออกเลยว่าเป็นสารคดีหรือเปล่า เหมือนเป็นเรื่องปกติ เขานั่งคุยกับพ่อแม่บนรถอะไร เราทำให้รู้ว่ามีเราอยู่ในนั้น ด้วยการใส่อะไรบางอย่างเข้าไป เราเป็นคนสัมภาษณ์ เราเป็นคนถาม เราเป็นคนทำให้เกิดคำถามเหล่านี้ในชีวิตเขา

ยากกว่าตอนทำหนังทดลองอื่น ๆ ไหม
ยาก แต่สนุกกว่า แต่มันก็ดีนะพี่ เราก็ไม่รู้ว่าหนังมันจะออกมาดีหรือเปล่า แต่มันทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นการล้างตัวเองออกเลยนะ คือคนทำหนังเรื่องมา มันจะประสาทกินนะ ต้องคอนโทรลมัน ไม่งั้นเป็นบ้า คือเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว พอถ่ายหนังใหญ่ เราจะกลัวอย่างรุนแรง ไม่รู้สิ่งที่เรากลัวเราวางแผนมาอย่างดีมันจะเกิดอะไรขึ้น พอมันเป็นสารคดี ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา มันต้องรอ มันต้องค่อย ๆ มอง อย่างสิ่งที่เราชอบด้วยหนัง คือฉากเปิด มันเป็นอารมณ์เดียวกับตอนที่ถ่ายเลยนะ

ตอนนี้เรายืดหยุ่นมากขึ้น การทำหนังไม่ควรจะ คอนโทรลมาก ควรเปิดทางออกอะไรไว้ แต่มันอาจจะเหนื่อยกว่าปกติ เพราะว่าหนังเรามันไม่ได้ใช้เงินเยอะ หนังมันถ่ายนานมาก ถ่ายแบบเรื่อย ๆ วันไหนอยากจะถ่ายก็ออกไปถ่าย ไม่มีค่าจ้างคนทำงานประจำ คนที่ทำงานกับเราก็มีค่ารถ ค่าอาหาร ให้เขาเท่านั้นเอง ไม่ได้ให้ค่าตัวใครเลย แบบเชื่อถือกัน อยากช่วยกันอะไร มันอาจจะไม่เพอร์เฟ็ค อุปกรณ์ก็มีได้ประมาณหนึ่ง มันก็ทำให้หนัง OK มันมีความดิบ ๆ อะไรบางอย่าง คือไม่รู้สิ เราก็คิดว่ามันเป็นการทดลองทำอะไรอีกแบบหนึ่ง

เราไม่แน่ใจเลยนะที่ทำสารคดี เพราะมันเป็นขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่เราทำมาตลอด ตั้งแต่ทำหนังสั้น และก็เป็นหนังทดลอง เราทำทุกอย่างเพราะเรามีภาพอยู่ในหัว เราคิดทุกอย่างเป็นภาพ ต้องมีแผนการถ่ายตลอดว่า ต้องถ่ายภาพ ต้องตั้งกล้อง มีกล้องอะไรอย่างนี้

แต่สารคดีมันถ่ายอย่างงั้นไม่ได้ แบบอย่างมีม็อบ และมีกล้องตัวเดียว ทำอย่างไงดี แล้วแบบเอาไปดักข้างหน้าสุดเลย เราไม่ได้ถ่ายเองด้วย ไม่สามารถถ่ายเองได้จริง ๆ เพราะในหัวเราคิดแต่ว่าเราจะไปไหนต่อ มันเหมือนเวลาทำหนัง ต้องคิดเรื่องไปด้วยในเวลาเดียวกัน ตัดต่อได้มั้ย ต้องคิดตลอดเวลา

แต่ตอนถ่ายหนังยาว ไม่ต้องคิดขนาดนี้
เพราะมันวางแผนและแยกย่อยออกมาหมดแล้ว มันออกมาช็อต ๆ มาหมดแล้ว เช่นเราวางแผน เช่นต้องถ่ายมาสเตอร์ก่อนถ่ายเจาะใช่ปะ เราก็รู้อยู่แล้ว อย่างมากเราก็กำกับ ดูเหตุการณ์เกิดขึ้นดูมอนิเตอร์ เสร็จแล้วเช็คภาพดูว่า OK

สารคดีมันไม่ใช่ เช่นตอนประท้วง ตอนแรกที่เดินตอนกลางคืน เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นว่า มันจะมีเรื่องร้ายหรือเปล่า มันต้องเตรียมคิดในใจแล้ว สมมุติว่ามันมีเรื่องไม่ดี เราจะทำยังไงจะถ่ายต่อหรือเปล่า แล้วเราจะดูแลคนถ่ายเราได้ยังไง

ตอนสัมภาษณ์สุภิญญา เราก็คิดไปเรื่อย ๆ ว่าคำถามนี้ มันไปแล้วหรือยัง คำถามนี้ควรจะอย่างไร ทุกอย่างมันสดไง ต้องฝึกให้คิดตลอดเวลา ว่าเราจะอะไรอย่างไงต่อ บางวันคนถ่ายเหนื่อยมาก เพราะว่ามันหยุดไม่ได้ เดินขบวนทีแรกก็ถ่ายกันตลอดเวลาถึงเที่ยงคืน บางช่วงก็อาจจะไม่มีอะไร รอ ๆ แต่วันไหนมันต้องถ่ายมันหยุดไม่ได้ แล้วฉากม็อบก็ไม่ได้ใช้เยอะนะ

ตอนศาลก็ถ่ายยากมาก เพราะว่าศาลมันถ่ายให้ดูดียาก ลองไปเรื่อย ๆ จริง ๆ ก็มีช่วงหนึ่งไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะจบยังไง มันแย่ตอนนั้นนะเครียดตรงที่ไม่รู้ว่าหนังจะจบยังไง สองจะเล่ายังไงดี พวกข้อมูลจะเล่ายังไง นี่คือปัญหาใหญ่ของการทำเรื่องนี้

 

 

งานเก่า ๆ ของนุชก่อนหน้านี้ จะต้องเซ็ตงานไว้ทั้งหมด
ก็มีนิด ๆ นะ แต่พอไปถึงแล้วมันทำอะไรไม่ได้จริง ๆ อย่างแบบศาล ก็ต้องปล่อยหมด ๆ ทุกอย่าง แรก ๆ เราก็งงนะ

งงมากไม่รู้เหมือนกัน เอ๊ะเราจะไปทางไหนดีวะ เพราะช่วงแรก ๆ มันอยู่ที่ศาลตลอด อยู่ที่ศาลแล้วก็ประชุมทนาย ซึ่งมันก็ไม่มีอะไร แล้วบางช่วงเขาก็อยากจะคุยส่วนตัว เขาไม่อยากจะให้เราเอากล้องเข้าไป เช่นประชุมคดี เขาก็อยากจะให้เป็นความลับ บางช่วงเราก็ต้องออกมานั่งข้างนอกมาดูว่าจะคิดอะไรต่อ

ช่วงแรก ๆ เป็นช่วงที่ต้องหาหนทางเยอะมากว่าจะถ่ายยังไงอยู่เหมือนกัน แล้วก็มีบางช่วงที่เราอาจจะไม่ได้ตามคดีเขาละ เราไปตามเรื่องอื่น เราก็เหมือนกับได้ผลบางอย่าง

แล้วกรอบแรกสุดของหนังที่คิดไว้ตอนนั้นเป็นอย่างไร
กรอบแรกสุดของเราก็โฟกัสที่เขาแหละ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนจากกรอบแรกก็คือ อยากให้เขาดูเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ผู้หญิงแบบ อะไรนะ

วีรสตรี
เออ ไม่ใช่วีรสตรี อยากให้คิดให้เห็นว่าเขาคือคนธรรมดา ผู้หญิงธรรมดาที่มีความฝันเหมือนเรา ที่มีชีวิตเหมือนเรา และมีอาชีพทำงานประจำวันปัจจุบันเหมือนกัน แต่คนละสาย แต่ผลกระทบเขามันใหญ่หลวงมาก แล้วเขาจะสู้มันยังไงนี่คือกรอบแรกของเรา แต่ก็โฟกัสที่เขานะ แต่จริง ๆ ตอนนั้น คือคิดได้ว่ามันน่าจะมีส่วนของทักษิณบ้าง คือจะมีไปติดต่อสัมภาษณ์ด้วยนะ กับทนงทนายอะไร มีไปแอบถ่ายทนายด้วยนะ ช่วงคดีก็ติดต่อไม่ได้ ช่วงนั้นแบบมันเข้าทางนั้นยากมาก ตอนเลือกตั้งครั้งที่ 2 ก็ไปถ่ายเก็บเอาไว้ และสุดท้ายช่วงสนธิ ลิ้มทองกุล พูดเราก็ชั่งใจอยู่นานนะว่าเราจะเก็บภาพสนธิหรือเปล่า คิดไปคิดมามันไม่ใช่มันจะไปกันใหญ่ เพราะเราเริ่มเห็นแล้ว เริ่มเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้น แล้วเราก็เริ่มเห็นว่าเราต้องโฟกัสกับสิ่งที่เราคิดก่อน เออถ้าไม่อย่างนั้นมันจะมีเรื่องอื่น ๆ เข้ามาด้วย ซึ่งท้ายสุดมันจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราอยากจะพูด

การที่มองเห็นเขาเป็นคนธรรมดา ได้มาจากไหน
ก็วันที่เราไปสิงคโปร์ เราคุยกับเขาแบบติดกัน 2 วัน คือเก๋นะจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนแบบ เขาไม่ได้เป็นคนแบบหรูหรานะ เวลาสัมภาษณ์ เขาพูดอะไรชัดเจน พูดแบบเป็นผู้ใหญ่ แต่เวลาอยู่กับเราในวันแรก ๆ เขาเป็นเหมือนเด็ก ๆ ทั่ว ๆ ไป มีอะไรกุ๊กกิ๊ก เดินไปไหน พี่นุชถ่ายรูปให้หน่อย คือก็เหมือนคนปกติ คนชอบติดภาพว่าคนที่ต้องต่อสู้มันต้องเป็นภาพอีกแบบใช่ไหม เรารู้สึกเหมือนเราเห็นมุมอื่นของเขา คิดคล้าย ๆ เรา เช่น อายุ 30 แล้ว สิ่งที่อยากทำคือแต่งงาน ตอนที่เราผ่าน 30 ก็คิดอย่างนั้น ท้ายสุดมันอยากมีชีวิตครอบครัว เป็นเรื่องพื้น ๆ คงไม่มีใครคิดว่าฉันอยากจะต่อสู้ เพื่อการเมือง เพื่ออะไรไปตลอดชีวิตหรอก แต่ว่าเผอิญเขาเชื่อในเรื่องนี้ เหมือนเรา ๆ เชื่อในเรื่องหนึ่ง

แต่ความเชื่อของเราก็ไม่ได้ทำให้เราไม่อยากจะมีครอบครัว ไม่อยากจะแต่งหน้า ทำผม ทาเล็บ คือ เราก็อยากสวย มันเป็นเรื่องปกติของคน พอมีภาพว่าฉันจะต้องต่อสู้ มันต้องกลายเป็นผู้หญิงอีกแบบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์ ผู้หญิงทุกคนสามารถลุกขึ้นมาสู้หมด ต่อให้คุณเป็นชาวบ้าน แบบพนักงานบริษัท เออมันสามารถเป็นได้

เก๋เขาเป็นคนมีความเป็นตัวของเขาเองสูงนะ เราคิดว่าเขาเป็นคนที่น่าสนใจ สิ่งหนึ่งที่เราคิดในการทำหนัง มันต้องเลือกคนที่น่าสนใจมาทำเป็นสารคดี นอกจากจะมีแง่มุมที่พอจะนำเสนอได้ อันนี้พูดในมุมทำหนังนะ หรือ

แม้จะเป็นหนังเล่าเรื่อง มันก็ต้องหาคนเล่นที่น่าสนใจ

ถ่ายฟุตเทจเยอะไหม
ไม่เยอะมาก น่าจะประมาณ 80 ชั่วโมง

ใช้กล้องอะไรถ่าย
ใช้กล้องดิจิตอลที่เป็นรุ่นพานา รุ่นพานาโซนิค DVX100 เราเคยใช้แล้วเราเคยถ่ายขึ้นจอปรเจกเตอร์แล้ว คิดว่าโอเค แต่ช่วงโพสต์โปรดักชั่น อาจจะต้องทำให้ดีกว่านี้ ต้องลงเบต้าหรืออะไร แล้วเราอาจจะต้องแก้สี ทำมิคเสียงด้วย เพราะเราอยากให้คุณภาพมันดีหน่อย

แล้วทีมจริง ๆ ทั้งหมดมีใครบ้าง
ตั้งแต่แรกเลย ลูกศิษย์เรา 2-3 คนชื่อฟู แต่สองคนนี่เขาไปทำหนัง ลูกศิษย์เราที่เรียนรังสิตกับเราก็มา หลังๆ ก็มีต้อย อุรุพงษ์ เข้ามาช่วยถ่าย ซีที่มูลนิธิหนังไทยก็ช่วย มันเหมือนหนังผ้าป่า คือทุกคนที่มาช่วยเรามานับถือ มันจริงใจกัน ทุกคนรู้สึกมันเป็นงานของเราแล้วต้องช่วย อารมณ์แบบนั้นมากกว่า ช่วงแรก ๆ เราชลิดา (มูลนิธิหนังไทย) ก็ช่วยซัพพอร์ท ไปใช้อุปกรณ์ตัดต่อของเขาที่มูลนิธิ หรืออย่างซีเขา ก็ออกไปถ่ายกับเราตอนไปม็อบ เป็นอีกกล้องหนึ่งอะไรอย่างนี้

หนังสรุปยาวเท่าไร
จริง ๆ เราตัดยาวมันได้ประมาณ 110 นาทีนะ นี้คือตัดแบบที่มัน OK ที่สุดแล้วนะ แต่ว่าอยากจะตัดให้มันได้สัก 100 นาที เพราะมันกำลัง OK สำหรับหนังที่กำลังจะฉายงัย แล้วหนังมันก็ไม่ได้มีอะไรหวือหวามาก มันเป็นหนังที่เรียบ ๆ เรื่องหนึ่งสำหรับเรา ไม่เหมือนตัดหนังเรื่อง เราเหมือนเขียนเรื่องใหม่ คือเนื่องจากเราตัด 2 รอบ พอเรามาตัดรอบใหม่เราก็เลยเปลี่ยนใหม่ พอเรามาดูภาพแล้วเรามาเลือกใหม่อีกรอบหนึ่ง ไม่ได้แบบตัดทีเดียวยาว และก็มาทยอย ๆ เราเหมือนเราเขียนเรื่องใหม่หมดแล้วเราก็ตัดตามเรื่องที่เราเขียน

กลัวผลตอบรับไหม
เราไม่กลัว แต่เราไม่รู้ว่าเก๋เขาจะรับตรงนี้ได้หรือเปล่า เราก็ไม่รู้เพราะเราก็พยายาม เขาเชื่อใจเรานะ าคงไม่มีใครที่เข้าไปยุ่งกับมากขนาดนี้ เราบุกไปถึงบ้านเขา ห้องนอนเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว เราไปพื้นที่ส่วนตัวเขาเยอะ เขาเชื่อใจ เราก็คิดว่าเราคิดดี เราไม่คิดว่าจะทำร้ายในสิ่งที่เป็นเจ้าของเรื่อง แต่เราไม่รู้ผลของการฉายจะเป็นอย่างไร ตัวเราน่ะรับได้ แต่ทีนี้เราไม่เคยทำสารคดีซึ่งมีตัวคนจริง ๆ เขาจะรับได้ไหมถ้ามีฟีดแบ็คในเรื่องส่วนตัว

อืม นึกถึงอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล ตอน 14 ตุลา สงครามประชาชน แกก็โดนก่อนเพื่อน ไม่ใช่ผู้กำกับ
เราคิดว่าตัวซับเจกจะโดนก่อนคนอื่น ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบเหมือนกัน แต่เราก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ว่าเรานะเลือกแล้ว เราเลือกสิ่งที่เราถ่ายเขาแล้ว เราก็เลือกในสิ่งที่คิดว่าไม่ทำร้ายเขา เพราะเราก็รู้สึกว่า อย่างน้อยหนังเรื่องนี้มันเกิดไม่ได้ถ้าเขาไม่ยอม เขายอมให้เราเข้าไปในพื้นที่ของเขา ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันก็คาดการณ์ไม่ได้

ผลตอบรับของ The Truth Be Told จะเป็นเช่นไร คงเป็นสิ่งที่จะต้องคอยดูต่อไป เท่า ๆ กับที่ยังไม่แน่ชัดว่าหนังจะผ่านระบบการฉายในเมืองไทยอย่างไร และจากผลงานเรื่อง คืนไร้เงา ก่อนหน้านี้ Truth Be Told น่าจะไปปรากฏตัวในเทศกาลใดเทศกาลหนึ่ง เราได้แต่หวังว่า ความจริงที่จะบอกกล่าวนี้ จะไม่ประสบพบกับอุปสรรคใดมากนัก

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.