สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

แนะนำผู้กำกับหนังสั้น ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กับผลงานหนังยาวของเธอ(หรือเขา) Phone Mood

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล
  6 มิถุนายน 2550
  LINK ผลงาน Insects In the Backyard
   
 

 

เรื่องราวของธัญญ์วาริน

หลายคนอาจจะรู้จักเธอ(หรือเขา) คนนี้ในนามของ ชุมพล ทองทาบ ที่กำกับหนังสั้นเรื่อง “ เปลือก ” และหนังรวมถึงตัวเธอได้เดินทางไปที่เทศกาลหนังสั้นแคลมองต์ แฟรองต์เมื่อสี่ปีก่อน หรืออาจจะรู้จักเธอในชื่อ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่ร่วมแสดงในหนังสตูดิโอ “ อสุจ๊าก ” งานกำกับของทวีวัฒน์ วันทา และนำหนังสั้นที่ชื่อว่า “ รัก/ผิด/บาป ” ที่กำกับร่วมกับนิกร ศรีพงษ์วรกุล ไปร่วมงานที่แคลมองต์ แฟรองต์อีกครั้งในปีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจเป็นอย่างดี แต่ไม่ว่าคุณจะรู้จักจากชื่อไหนก็ตาม ทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน หญิงในร่างชายที่เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเพราะมุ่งหวังว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นตามคติความเชื่อแบบไทยๆ แต่ไม่ว่าเธอจะเปลี่ยนไปกี่ชื่อ ผลงานของเธอก็ยังคงมีความสด ดิบ และสะท้อนโลกของเพศที่สามในมุมมองที่น่าสนใจอยู่เสมอ

 

 

ก่อนจะลงมือทำหนังสั้นอย่างจริงจัง ธัญญ์วารินเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โคราชแห่งหนึ่งอยู่หกปี แต่ความรักหนังและการแสดงซึ่งสั่งสมจากการเป็นคนชอบหนัง ผลักดันให้เธอลงมือทำหนังสั้นประมาณปี 2543 และเมื่อมุ่งมั่นที่จะเดินตามฝันของการเป็นคนทำหนัง และทำงานผู้ช่วยผู้กำกับละครโทรทัศน์ และหาหนทางที่จะทำหนังตามสไตล์ของตน แต่ละครทีวีก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ เธอก็ก้าวออกจากงานเดิมไปลองทำหนังวีซีดี ซึ่งเมื่อทำเสร็จก็มีปัญหากับนายทุน ทำให้ไม่ได้ออกวางจำหน่าย จนจับผลัดจับผลูได้มาแสดงหนังของสหมงคลฟิล์ม “ อสุจ๊าก ” และในวัย 30 ต้นๆ ก็ป็นแอ็คติ้งโค้ชของ “ เขาชนไก่ ” ที่กำกับโดยวิทิต คำสระแก้ว

 

Phone Mood หลากหลายสายโทรศัพท์กับหญิงสาว

 

 

Phone Mood เป็นหนังดิจิตอลขนาดยาวของเธอ ที่เป็นกึ่งๆ การทดลอง เพราะหนังจะไม่มีพล็อต แต่จะนำเสนอสถานการณ์การคุยโทรศัพท์ของหญิงสาวหลากหลายวัย หลากหลายสถานที่และต่างเรื่องราว บางคนอาจจะโทรไปด่าเมียน้อย บางคนอาจจะทะเลาะกับแฟน แต่ละเรื่องราว แต่ละการพูดคุย จะถูกตัดสลับไปมาจนไม่อาจแน่ใจได้ว่าใครกำลังสื่อสารกับใคร และถ้าอย่างนั้น อะไรคือสิ่งที่ธัญญ์วารินต้องการสื่อ

สำหรับที่มาที่ไปของหนังเรื่องนี้ เกิดจากความรู้สึกของธัญญ์วารินที่ “เวลาที่เดินถนนแล้วเห็นคนโทรศัพท์เยอะมาก และทุกคนเวลาคุยโทรศัพท์ก็เหมือนอยู่ในโลกส่วนตัว เราก็อยากรู้ว่าเขาคุยอะไรกัน เพราะบางคนเวลาเขาคุยก็แบบเครียด บางคนคุยแล้วก็ตลก ขำ บางคนก็นั่งร้องไห้กับโทรศัพท์ มันเหมือนกับว่าเป็นอวัยวะชิ้นที่มนุษย์ต้องมีแล้ว แล้วแถมมันก็เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ติดกับตัวเราที่รองรับอารมณ์คนด้วย มันต้องมีขาดไม่ได้ ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราเอาอารมณ์ทุกอย่างที่เราเห็นมารวบรวมไว้ในหนังเรื่องนี้ ”

“ถามว่าเป็นแนวไหน ก็ถือว่าทดลองนะสำหรับตัวเรา ” ธัญญ์วารินกล่าวถึงเรื่องสไตล์ของหนัง “ เล่าเรื่องไหม ไม่รู้เหมือนกัน สารคดีไหม? ก็กึ่งๆ ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรแต่จะไม่เรียกว่ากำกับ แต่คิดว่าเป็นการสะสมอารมณ์ต่างๆ เอาไว้แล้วเอามารวบรวม เหมือนการเปิดอัลบั้มรูปหรือคอลเล็กชั่นอะไรสักอย่าง ทั้งหมดเนี่ย มันเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวกับโทรศัพท์ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอามาวางต่อๆ กันเนี่ย แล้วคนดูๆ จบแล้ว จะต้องปะติดปะต่อกันเอาเองว่าตัวละครตัวไหนมีปฎิสัมพันธ์กับตัวไหน อีกอย่างหนึ่ง ตัวหนังก็จะเหมือนจำลองสภาพสังคมของผู้หญิงไทยด้วย ”

 

โทรศัพท์เป็นเหมือนอวัยวะอย่างหนึ่งในชีวิต

 

หนังเรื่องนี้ไม่มีบทล่วงหน้า นักแสดงล้วนต้องด้นสดเองตามไอเดียของธัญญ์วาริน “ แต่ก็จะมีคิดไว้ในใจว่า เอ๊ะ เราอยากดูอารมณ์แบบไหนบ้าง มีสถานการณ์แบบไหน แล้วก็ไปเจอพ่อแม่เพื่อนฝูง น้องหรือหลาน เราก็บอกว่า โทรศัพท์ให้ดูหน่อยสิ แล้วก็อัดเทป สถานการณ์นี้นะ ลองโทรหาแฟนให้ดูหน่อย หรือสมมุติว่าผู้ชายบอกเลิก อ่ะโทรหาแม่ให้ดูหน่อย หรือทะเลาะกับเพื่อน เพื่อนแย่งผัว เขาก็เล่นไปตามสถานการณ์โดยที่ไม่ได้ไปบอกเขาว่าต้องแสดงยังไง มันเลยไม่เรียกว่ากำกับ เพราะตั้งสถานการณ์ให้เขาแล้วเขาก็คุย เราก็ถ่ายเก็บมา แล้วก็เอามาตัด ในเครดิตจะไม่ใส่ว่า directed by อยู่แล้วล่ะ บางคนเขาก็คุยจริงๆ เลยนะ บางคนก็จินตนาการเอาเอง ”

“หัวข้อเรื่องที่คุยก็เป็นคนกำหนดให้เขาแหละ บางคนก็สองอย่างบางคนก็สามอย่าง บางคนก็อย่างเดียว เพราะเขาไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพนี่ ไม่ได้ให้เขาเล่นด้วย ให้เขาโทรคุยจริงๆ ก็มีโทรจริงมั้งเฟคมั้ง เราก็ไม่รู้ เราก็ถ่ายเก็บไว้ แล้วเวลาเราจะถ่ายก็ดูคาแร็กเตอร์ของแต่ล่ะคนว่า เออ คนนี้มันน่าจะอกหักมา คนนี้มันน่าจะแย่งผัวเพื่อนได้น่ะ คนนี้น่าจะคุยกับแม่แล้วกัน หรือคนนี้น่าจะโทรจิกลูกอยู่ คือ ดูตามลักษณะท่าทางความเหมาะสมของแต่ล่ะคนน่ะ ”



ธัญญ์วารินขนเอาคนรอบตัวมาเป็นนักแสดงหมด เพราะทำให้การทำงานของเธอเป็นไปได้โดยง่าย โดยมีอิสระในการถ่ายเพียงแค่มีกล้องตัวเดียวและตัวเธอเพียงคนเดียว ก็สามารถถ่ายทำได้ ตลอด 2 ปีของการถ่ายทำ เธอแทบจะไม่ได้ใช้งบประมาณใดๆ นอกจากอาจจะเลี้ยงข้าวนักแสดง ส่วนกล้องวีดีโอก็อาศัยหยิบยืมคนโน้นคนนี้คนล่ะหนสองหน อุปสรรคของธัญญ์วารินจะไปอยู่ที่การตัดต่อเป็นหลัก นั่นคือจะตัดอย่างไรให้ดูหนัง 80 นาทีแล้วสนุกไม่มีเบื่อ นอกนั้นธัญญ์วารินก็ทำหนังเรื่องนี้ไปอย่างสบายๆ

ธัญญ์วารินคิดว่าผู้ชมเมื่อดูหนังเรื่องนี้เสร็จก็มีสิทธิตีความตามใจตนอย่างเต็มที่ “ เราว่าขึ้นอยู่กับว่าคนดูแต่ล่ะคน ดูจบแล้วเขาจะเก็บเกี่ยวอะไรไปได้บ้าง ประเด็นหลักๆ ที่ทำเรื่องนี้คืออยากให้เขาดูเฉยๆ ว่า โทรศัพท์เป็นเหมือนอวัยวะอย่างหนึ่งในชีวิต บางครั้งเราปิดโทรศัพท์ไป ไม่ได้รับสายเราอาจจะพลาดวินาทีที่สำคัญไปได้ ”


โลกของเพศที่สามผ่านหนังของธัญญ์วาริน

โปสเตอร์หนัง "รักไร้ราก"

 

ธัญญ์วารินมักจะทำหนังสั้นที่เล่าเรื่องของเพศที่สาม   เช่น “ เปลือก ” ที่เล่าถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ของคนสามคน   ภายใต้ภาพปรกติอาจจะมีความลับดำมืดซ่อนอยู่   ตัวเอกหนึ่งในนั้นเป็นกระเทยที่เธอรับบทเอง   เรื่อง “ แหวน ” เธอก็เล่นเป็นกระเทยที่หลงรักวินมอเตอร์ไซค์หนุ่ม   หรือ “ รัก/ผิด/บาป ” ก็เป็นเรื่องของครูที่ต้องแอบซ่อนความเป็นกระเทยของตนเอง   ในขณะที่เริ่มมีใจให้แก่ลูกศิษย์ของตน   ส่วน Phone Mood ก็ยังคงเล่าเรื่องของเพศที่สามด้วย   แม้ว่าตัวละครหลักๆ จะเป็นผู้หญิงก็ตาม
  รัก/ผิด/บาป

“ส่วนมากเราจะพูดเรื่องเพศที่สามผ่านทางหนัง เพื่อที่จะบอกทุกคนว่า เพศที่สามเป็นคนปรกติ ไม่ได้เป็นเพศพิเศษหรือคนพิเศษอะไร ส่วน Phone Mood ที่พี่ใส่เพศที่สามเข้าไป เพราะเขาก็เป็นผู้หญิงปรกติคนหนึ่งสำหรับพี่ อย่างเรื่องก่อนๆ ของเรา ก็จะมีเพศที่สามซึ่งมีรัก โลภ โกรธ หลง มีความสุข มีอารมณ์ต่างๆ มีตัณหาเหมือนกัน มีมุมมองชีวิตเหมือนกัน ไม่ได้ดีกว่า ไม่ได้ด้อยกว่า เป็นแค่ปรกติ หนังแต่ล่ะเรื่องก็ใส่ไว้เหมือนคนปรกติธรรมดาคนหนึ่ง ”


โลกในการทำหนังของธัญญ์วาริน

นอกจากเรื่องนี้ หนังสั้นหลายๆ เรื่องของธัญญ์วารินมักจะมีแค่เธอและกล้องตัวเดียวเช่นกัน บางคนอาจจะมองว่าการทำงานของเธอไม่มีระบบระเบียบเอาซะเลย บางคนอาจจะมองว่ามักง่ายไปด้วยซ้ำ แต่สำหรับตัวธัญญ์วารินเอง เธอคิดว่าการทำหนังแต่ล่ะเรื่องย่อมมีวิธีการของมันเอง “ อย่างการทำงานคนเดียวสำหรับ Phone Mood เพราะมันกึ่งๆ สารคดี มันใช้การด้นสด ถ้าคนเยอะๆ เขาจะเล่นตามนั้นไม่ได้ เขาจะโทรศัพท์ไม่เป็นธรรมชาติ มีคนรุมเยอะๆ มีบูมมีอะไรเขาจะโทรศัพท์แบบนั้นไม่ได้แน่ๆ อย่างที่เราใส่ไปในหนังค่อนข้างจริง เพราะมันไม่มีใคร เราก็ถ่ายๆ ไป ”

“ถ้าทำแบบมีระบบก็ทำได้ค่ะ แบบมีผู้ช่วยผู้กำกับ มีการวางแผนการถ่ายทำ ก็เคยทำ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ล่ะเรื่องไป สำหรับเรานะ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่าเรื่อง วิธีการตัดต่อ วิธีการทำงาน มันจะมีจุดมาจากเรื่อง คือเรื่องนั้นๆ มันจะบอกเราเองว่าเราต้องทำงานแบบไหน อย่างเช่นเรื่อง Phone Mood มันจะบอกพี่ว่าต้องไม่ใช่คนเยอะไม่งั้นเขาไม่กล้าเล่น หรือเรื่อง “ รัก/ผิด/บาป ” ก็จะเต็มที่ขึ้นมาหน่อย มีผู้ช่วยผู้กำกับ มีการจัดไฟ เพราะว่าหนังมันต้องการแบบนั้น มันขึ้นอยู่แต่ล่ะเรื่องน่ะ อย่างการตัดต่อ “ เปลือก ” จะต้องตัดต่อแบบไหน เรื่องนี้จะต้องตัดต่อแบบไหน ทุกอย่างมีเรื่องมาเป็นตัวกำหนด ”

ส่วนเมื่อได้มาลองทำงานกับหนังในระบบสตูดิโอ ผ่านการเป็นนักแสดงใน “ อสุจ๊าก ” ทำให้เธออยากมาทำหนังกับสตูดิโอแบบนี้บ้างไหม แน่นอนว่าเธอย่อมอยากให้คนมาดูหนังที่ทำออกมาเยอะๆ และแน่นอนว่าเธออยากทำงานกับระบบสตูดิโอ แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับเรื่องอีก “ ถ้าเรื่องมันต้องทุนต่ำมันก็ไม่ควรจะไปอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าหากเป็นเรื่องที่เราอยากทำ ต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งเราไม่มี ก็ต้องทำในระบบสตูดิโอ ก็เคยมีเหมือนกันเคยเอาเรื่องไปเสนอค่ายหนัง แต่ก็ยังไม่ได้ทำ เพราะบางทีเขาก็ไม่ได้มองเห็นเรื่องเดียวกับเรา เขามองว่าเรื่องที่เราจะทำมันไม่ขาย เขาก็ไม่ให้เราทำ ซึ่งโอเคไม่เป็นไร ”

ธัญญ์วารินไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องได้ทำหนังในระบบสตูดิโอ เพราะเท่าที่เป็นอยู่เธอก็มีความสุขดี เธอทำหนังเพื่อจะเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ถ้าได้ทำก็โอเค แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่มีผลต่อชีวิตใดๆ เลย เธอมีความตั้งใจว่า ยังไงซะต่อไปก็คงจะยังทำหนังในแบบที่ตัวเองอยากทำ ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น เธอไม่อยากจะดิ้นรนไปเป็นผู้กำกับหนังสตูดิโอแล้วสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองเพื่อที่จะทำหนังขาย


 

แต่เมื่อได้มีโอกาสสัมผัสการทำงานในระบบสตูดิโอ ธัญญ์วารินก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำดีๆ อาจจะเพราะเธอได้ร่วมงานกับคนที่มีพื้นเพความชอบหนังในสไตล์อิสระเฉกเช่นเดียวกัน “โชคดีที่เราคุยกันรู้เรื่องหมดเลยน่ะ ก็เลยไม่รู้สึกแปลกแยกอะไร หวังว่าคงจะมีโอกาสได้ทำงานกับคนเหล่านั้นอีก ทำงานด้วยแล้วไม่ได้กดดันอะไรมีความสุขตลอด อย่างปุ้ม (ดลรส เตชะปทุมวัน) ถึงเขาจะโด่งดังไปแล้ว(ปุ้มร่วมแสดงใน “ สวยลากไส้ ” ด้วย) แต่ก็ยังเป็นเพื่อนกัน

“เมื่อทำงานกับหนังเรื่องนี้เราก็ไม่ได้เข้าไปรู้เรื่องระบบ เวลาที่เขามีปัญหาอะไรกัน เราก็ไม่รู้ เราเป็นนักแสดงเราก็แค่ทำหนังที่ของเรา เราได้เงินครบก็โอเค เราไม่รู้ว่าเขามีปัญหาอะไรกัน รู้แต่ว่าแรกๆ ก่อนถ่ายมีเลื่อนเปิดกล้องเปลี่ยนตัวนักแสดงอะไรบ่อย เราเตรียมตัวเพื่อบทมาก (รับบทเป็นมือกลองมาดห้าว) เราต้องไว้หนวดไว้เครา มันก็ลำบากหน่อย แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี ”

อนาคตของ Phone Mood และหนังดิจิตอล

หลังจากทำหนังเรื่องนี้เสร็จ นอกจากจะส่งฉายในสายดิจิตอล โมเม็มตั้มในงานหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยแล้ว เธอยังได้นำหนังเรื่องนี้ไปวางขายที่ร้านอ็อด ตลาดนัดจตุจักร หน้าประตู25 ตามหลังหนังสั้นเรื่องต่างๆ ของเธอเช่น “ เปลือก ” , “ แหวน ” , “ รัก/ผิด/บาป ” และอีกหลายๆ เรื่องที่เธอทำขึ้นเป็นดีวีดี เธอทำขายเพื่อคนที่อยากดูหนังเธอแม้มันจะไม่ใครคุ้มทุนเธอนักก็ตาม ส่วน Phone Mood ถ้าพูดถึงในเชิงเทศกาลอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ตัวธัญญ์วารินเองก็ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ เธอยังไม่รู้ว่าคนดูส่วนใหญ่จะเข้าใจหนังเรื่องนี้หรือเปล่า แต่เธอตั้งใจว่าคงจะส่งตามเทศกาลต่างๆ ไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็อาจจะจัดฉายเองเลยก็เป็นได้ หากมีความพร้อมและสามารถที่จะทำได้

สำหรับอนาคตของหนังดิจิตอลขนาดยาว เธอให้ความเห็นว่า “ คิดว่าน่าจะเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น บางคนเขาก็เริ่มรู้จัก เพราะหนังโรงทั่วไปหลายเรื่องก็ถ่ายและฉายด้วยดิจิตอล ถ้ามันดีจริงในตัวเองก็ได้ฉาย มันน่าจะไปได้ยาวไกลขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ มันคงไม่อยู่แค่วงแคบๆ คุณภาพของภาพมันก็ยังสำคัญน้อยกว่าเรื่องราวที่เราจะเล่าน่ะ ต่อให้ถ่ายมาภาพแตกยังไง แต่มันเหมาะกับเรื่องที่เราจะเล่า แล้วมันมีคนดูอยากจะดู เขาชอบเขาโดน มันก็ไปได้เรื่อยๆน่ะ ”

 

 

 

 

 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.