สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
เบื้องหลังแบบอินดี้
  อัญชลี ชัยวรพร และ ณัฎฐ์ธร กังวานไกล ชูพลังอินดี้ไทยไปเขย่าโลก   / 3 กันยายน 2550
  ©thaicinema.org
  LINK : คนทำหนังอินดี้เปิดบริษัททำหนังกันยกใหญ่
   
 

หลังจากที่ได้แนะนำบริษัทหนังอินดี้ที่เปิดใหม่ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริษัทที่เปิดจากตัวผู้กำกับกัน อาทิตย์นี้ เราจะมาแนะนำคนทำงานเบื้องหลังในกลุ่มอินดี้ที่น่าสนใจหรือน่าจับตามองกันต่อไป คนทำงานเบื้องหลังคือกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนวงการหนังไทยของเราต่อไปในวันข้างหน้า ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวผู้กำกับเอง

โสฬส สุขุม ผู้ควบคุมการผลิต หรือ โปรดิวเซอร์

เป็นตำแหน่งซึ่งหาคนทำงานได้ยากที่สุด แม้ถือได้ว่ามีหน้าที่สำคัญก็ตาม เพราะเป็นผู้คุมหัวเรือ จะต้องหาเงินมาทำหนัง ทั้งนี้และทั้งนั้น ตำแหน่งโปรดิวเซอร์ค่อนข้างจะมีหลายระดับ ตั้งแต่ผู้หาเงิน เจรจากับนายทุน ซึ่งส่วนใหญ่ เรียกว่า executive producer จนถึง ผู้จัดการระดับปฎิบัติการในกองถ่าย หรือที่เรียกว่า line producer หรือ production manager

เท่าที่ผ่านมา ผู้กำกับในกลุ่มอินดี้ จะทำหน้าที่ executive producer ของตนไปด้วย เนื่องจากจะต้องเจรจากับนายทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล พิมพกา โตวิระ หรืออาทิตย์ อัสสรัตน์ หรืออโนชา สุวิชากรพงษ์ เพราะฉะนั้นคนอินดี้ที่ตัดสินใจจะโปรดิวเซอร์หนังเป็นหลัก ก็เลยมีคนเดียว ได้แก่ โสฬส สุขุม

โสฬสเป็นหนึ่งในคนที่ทำงานในแวดวงหนังสั้นและหนังอิสระในเมืองไทยมานาน แต่ชื่อของเขาอาจจะยังไม่ได้ลงทะเบียนในต่างประเทศอย่างแพร่หลายนัก งานของเขา จะผสมผสานระหว่างหน้าที่ของ line producer ที่ควบคุมระดับกองถ่าย จนถึงวางแผนงานร่วมกับผู้กำกับ เชื่อว่าเขามีสิทธิ์ที่จะเติบโตได้ต่อไป


Graceland

เขาเป็นคนกรุงเทพแต่กำเนิด จบภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากนั้นเขาก็เข้าไปทำงานที่บริษัท Firecracker บริษัทสร้างหนังที่ก่อตั้งโดย ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล โดยโสฬสทำงานหลักๆ ในฐานะผู้ช่วยของ ม.ล.มิ่งมงคล ได้เข้าไปทำหน้าที่ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ให้กับหนังหลายเรื่อง เช่น “Mysterious Object at Noon” ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล, “ คืนวันพระจันทร์เต็มดวง” ของ ม.ล.มิ่งมงคล, “ คืนไร้เงา” ของพิมพกา โตวิระ และ “Three Friends” หนังกึ่งสารคดีที่แสดงโดยมะหมี่

ปัจจุบัน โสฬสเลือกที่จะเดินหน้าในสายโปรดิวเซอร์ ให้กับหนังสั้นหลายเรื่องของอาทิตย์ อัสสรัตน์ เช่น “Boy Genius” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาลหนังเอเชียน่า เกาหลี ปี 2006 และผลงานของอโนชา สุวิชากรพงษ์ “ Graceland ”

โสฬสได้ชื่อว่าเป็นคนที่ทุ่มเทให้แก่การทำหนังแต่ล่ะเรื่องอย่างถึงลูกถึงคน เขามีน้ำใจอันดีแก่ทีมงานทุกคน และสุภาพอ้อนน้อมกับใครต่อใคร ซึ่งนี่น่าจะถือเป็นคุณสมบัติอันดีที่คนทำงานโปรดิวเซอร์น่าจะมีกัน


คนตัดต่อ
- ลี ชาตะเมธิกุล

ภาพลีที่หน้าเว็บ นำมาจาก http://www.nangdee.com/name/?person_id=2785

ส่วนภาพนี้ นำมาจาก www.thaishortfilm.com ลีคือคนขวาสุด

มือตัดต่อคนสำคัญของหนังไทยหลายๆ เรื่องที่มีแนวทางแตกต่างกันออกไป ทั้งหนังอินดี้เล็กๆ และหนังสตูดิโอ อาทิเช่น “ สุดเสน่หา ” , “ สัตว์ประหลาด ” และ “ แสงศตวรรษ ” ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล, “ อสุจ๊าก The Sperm ” , “ ซัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ” , The Elephant Kings หนังอเมริกันกำกับโดย Seth Grossman , “Graceland” ของอโนชา สุวิชากรพงษ์ และ “ คืนไร้เงา ” ของพิมพกา โตวิระ

ลีเคยทำหนังสั้นเป็นธีซิสสมัยเรียน ซึ่งมีชื่อว่า “ เมืองมายา กรุงธิดา ” และได้รับความสนใจจากเทศกาลหนังสั้นในเมืองไทยและนานาชาติไม่น้อย ลีเกิดและเติบโตที่เมืองไทย และไปศึกษาต่อที่ Hampshire College ที่ Amherst , Massachusetts สหรัฐอเมริกา ด้านภาพยนตร์และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือศึกษา

ระหว่างที่เรียนเขาพบความสนุกในการตัดต่อมากกว่าจะเป็นผู้กำกับแบบเต็มตัว เขาทำงานในนิวยอร์คสักพัก แต่หนังอินดี้อเมริกันไม่ทำให้เขาตื่นเต้น เขาจึงกลับมาเมืองไทย ซึ่งเริ่มมีชื่อของอภิชาตพงศ์ เขาจึงมีโอกาสได้ทำงานให้แก่คนเหล่านี้

ลีพร้อมเปิดรับความท้าทายใหม่ๆ โดยกระโดดไปมาระหว่างหนังอินดี้กับหนังจากสตูดิโอ และที่สำคัญ ลีเลือกทำหนังจากผู้กำกับมากกว่าบทภาพยนตร์ เขาตื่นเต้นที่ได้ตัดต่อหนังให้กับผู้กำกับที่จะทำให้เขามีโอกาสได้เห็นการทำงานและมุมมองความคิดของผู้คนเหล่านั้น ลีมีบริษัทรับทำโพสต์ โปรดักชั่นของเขาเองชื่อว่า Houdini studio และเพิ่งได้รับรางวัล Asian Screen Award ในฐานะมือตัดต่อยอดเยี่ยมจาก แสงศตวรรษ เมื่อต้นปีนี้

ตากล้อง (ถ่ายภาพ) และว่าที่ผู้กำกับ ธนนท์ สัตตะรุจาวงษ์

เป็นชาวราศีตุลย์ จบปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล เพื่อไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโทด้านภาพยนตร์ที่ NYU ( New York University) เขาถ่ายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Total Bangkok ให้เป็นเอก รัตนเรือง และหนังสั้นเรื่อง เหมือนเคย (Always) ของศิวโรจน์ คงสกุล หนังชนะรางวัลประกวดหนังสั้นอัลไซเมอร์ และเทศกาลหนังสั้นจากมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 11

ความสนใจในหนังของธนนท์เริ่มจากความประทับใจในภาพถ่ายสารคดี และตั้งใจไว้ว่าจะเป็นช่างภาพ ถึงกับระบุสถานที่ทำงานชัดเจนว่า เนชั่นแนลจีโอกราฟิก เมื่อสอบเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ได้ เมื่ออยู่ปีสอง ธนนท์รู้ว่าเขาจะเรียนต่อด้านกำกับภาพยนตร์ แต่ก็ยังถ่ายรูปอยู่เสมอ ถ่ายหนังให้เพื่อนเมื่อมีโอกาส เป็นผู้กำกับศิลป์

ให้ละครเวทีของคณะ เข้าค่ายยูนิเซฟสอนเด็กทำรายการโทรทัศน์ หนังสารนิพนธ์ของเจาได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสั้นจากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติเมื่อปี 2543 และไปเรียนต่อด้วยทุนอานันทมหิดลในที่สุด

“ อุปสมบท ” ภาพยนตร์วิทยานิพนธ์ของเขาได้รับรางวัล Best Film และ Best Director จากเทศกาล First Run Film ปี 2004 และได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์หลายประเทศ หนังเล่าเรื่องราวของเรย์ ฝรั่งที่อยากบวชเป็นพระ แต่กระเป๋าถูกขโมยเสียก่อน เขาตามหากระเป๋า จนพบหัวขโมยตัวน้อยนอนอยู่ใต้สะพาน เรย์ได้เรียนรู้เรื่องธรรมะนอกขอบรั้วใบเสมา ธนนท์ในฐานะผู้กำกับ ตั้งคำถามกับสังคมเกี่ยวกับพิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา และความหมายที่แท้จริงของคำว่าเมตตา

ปัจจุบัน ธนนท์เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกำลังพัฒนาบทสำหรับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของตนเอง ที่ชื่อ “ การเดินทางสู่ทิศใต้ ”

เขาเคยเป็นตากล้องให้กับภาพยนตร์เรื่อง ความสุขของกะทิ

(เนื้อหาตัดตอนมาจาก Image Portraits สัมภาษณ์โดย แป้งร่ำ ถ่ายภาพโดย ชัยวัฒน์ กังสัมฤทธิ์ อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารอิมเมจ ฉบับเดือนมีนาคม 2007 ตีพิมพ์โดยได้รับอนุญาติจากบรรณาธิการนิตยสารอิมเมจ)


นิกร ศรีพงศ์วรกุล

นิกรชอบถ่ายภาพมาตั้งแต่เรียนปี 1 ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ และถ่ายภาพให้กับหนังสั้นของวิทิต คำสระแก้วหลายเรื่อง จนวิทิตดึงไปถ่ายให้ “ กั๊กกะกาวน์ ” หนังยาวถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม.โปรเจ็คท์ที่ทำกำลังจะเรียนจบ ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนโดยบาแรมยูและสหมงคลฟิล์ม จนได้ออกฉายวงกว้างในประเทศไทย

นิกรเล่าให้ฟังว่า “ สมัยเรียนเป็นคนชอบจัดแสง เพื่อนๆ เลยขอให้มาช่วยถ่ายหนัง บวกกับการได้เจอคนเก่งๆ เลยพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ” ต่อมาเขาคลุกคลีกับแวดวงหนังสั้นและหนังอิสระ ถ่ายหนังเหล่านั้นด้วยกล้องดิจิตอลหลายเรื่อง เช่น “ กอด ” ที่กำกับโดย ศนิพงษ์ สุทธิพันธ์ หนังสั้นที่ได้ไปร่วมฉายในเทศกาลหนังแคลมองต์ เฟอรองต์ ประเทศฝรั่งเศส ปี 2006 และค่าย canal plus ชื้อไปจัดจำหน่ายออกฉายในประเทศแถบแอฟริกาและฝรั่งเศส และ “Kiss the machine” ที่กำกับโดย ปริญญ์ วัฒนวีร์ ซึ่งได้ฉายตามเทศกาลหนังต่างประเทศบางเทศกาล

ล่าสุดมีผลงานถ่ายภาพและกำกับร่วมให้กับ “ รัก/ผิด/บาป ” In the name of the sin ร่วมกับธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งได้ร่วมประกวดสายอินเตอร์เนชั่นแนล ในเทศกาลหนังแคลมองต์ เฟอรองต์ ปี 2007 ล่าสุดและช่วยงานกองถ่ายหนัง “ เขาชนไก่ ” และ “ คนหิ้วหัว ” ของสหมงคลฟิล์ม นิกรมีความถนัดในการถ่ายหนังเล็กๆ ด้วยกล้องดิจิตอลเป็นหลัก ส่วนสำหรับการถ่ายฟิล์มเขากำลังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้เพิ่มเติม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนเบื้องหลังเหล่านี้ รู้จักยืดหยุ่นระหว่างการทำงานทั้งวงการหนังกระแสหลัก เพื่อให้อยู่ได้  และมาทำหนังอินดี้เพื่อสนองใจของตนเอง  นับเป็นการต่อรองที่ชาญฉลาดในวัฒนธรรมภาพยนตร์ของไทย

นอกจากนี้ เรากำลังติดต่อคนเบื้องหลังที่น่าสนใจอีก 2 ท่าน คาดว่าจะนำมารายงานให้ท่านทราบต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

  ©thaicinema.org 
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.